พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 35)
35. อภิธรรม
"วิชา อภิธรรม เป็นความรู้เรื่องจิต ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า"
ศ.ดร.ระวี ภาวิไล จาก "อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่"
อะไรคือ จิตของพุทธะ? จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างกระจ่างได้ จะต้องเข้าใจ วิชาอภิธรรม อันเป็นแหล่งความรู้ซึ่งเป็นประทีปส่องสว่างให้ผู้ศึกษา เห็นโลกตามเป็นจริงโดยเป็น ขุมปัญญาสูงสุดของมนุษย์ ที่มีที่มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อน
อภิธรรมเป็นวิชาการที่มีเนื้อหาครอบคลุมประสบการณ์ทั้งหมดทั้งสิ้นของมนุษย์อย่างเป็นระบบ เกี่ยวโยงกันเป็นโครงสร้างสมบูรณ์ตามหลักความเป็นเหตุเป็นผลมีรากฐานที่เป็นประสบการณ์โดยตรงของตัวมนุษย์เองมาใช้ตรวจสอบได้ ที่สำคัญอภิธรรมมีคำตอบต่อปัญหาสำคัญที่สุดในชีวิตของผู้คน ที่เกี่ยวข้องกับความหมายของชีวิต ธรรมชาติของโลกและชีวิต ในลักษณะที่สามารถนำไปเป็นหลักดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ
วิชาอภิธรรมเป็นเสมือนแผนที่แสดงการปรากฏของสรรพสิ่ง (everything) ในประสบการณ์ของบุคคล โดยจำแนกแยกแยะให้สามารถ เรียนรู้และเข้าใจได้อย่างเป็นระบบแห่งเหตุผล เช่นเดียวกับแผนที่ต้องอาศัยสัญลักษณ์ที่ผู้ใช้จะต้องเรียนรู้ให้ถูกต้อง
อภิธรรมมีภาษาและศัพท์วิชาการที่อาจจะยากสำหรับผู้ศึกษาที่ยังไม่เคยชิน และต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างสูงในเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจ แต่เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจศัพท์อภิธรรมแล้ว มันจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตของผู้นั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า อภิธรรมเป็นเพียงแผนที่ไปสู่นิพพานหรือความเป็นพุทธะของผู้ศึกษา ยังไม่ใช่ภูมิประเทศจริง และไม่อาจทดแทนกันได้ มันเป็นแค่แผนผังที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ศึกษาสามารถเดินทางใน โลกของจิต ได้ตามที่เป็นจริง จนกว่าจะไปถึงปลายทางโดยไม่หลงทางเท่านั้น การศึกษาอภิธรรมที่สมบูรณ์ จึงต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของพระพุทธองค์เสมอ
ถ้าถามว่า "ชีวิตคืออะไร" จากระดับจิตของพุทธะ หรือถามว่า ชีวทัศน์แบบอภิธรรมคืออะไร? โดยการกำหนดความรู้ตัวทั่วพร้อมที่ฝึกฝนมาอย่างสมบูรณ์แล้วใน "ปัจจุบันขณะ" อย่างเข้าถึง บรมสันติ ที่ไร้กาลเวลา อันเป็นระดับจิตของพุทธะ ผู้นั้นย่อมได้คำตอบแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงได้คำตอบเมื่อยามตรัสรู้ว่า
"ชีวิตคือขณะอันแสนสั้นของความรับรู้ ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องกันไป"
นี่คือ คำตอบของพุทธะ อย่างรวบยอดที่สุด ที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ละเว้น และอย่างไม่มีทางโต้แย้งได้ว่า "ชีวิตคือขณะรู้" ที่ครอบคลุมจักรวาฬ (Kosmos) ประสบการณ์ชีวิตทั้งปวง ก็รวมอยู่ใน ขณะรู้ นี้แล้วทั้งสิ้น คำตอบนี้ คนเราทุกคนย่อมสามารถยืนยันได้จากประสบการณ์โดยตรงของแต่ละคน
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ภาษาพูดก็ดี ภาษาเขียนก็ดี มโนภาพก็ดี และบัญญัติสมมติทั้งหลายก็ดีที่กำหนดโครงสร้างและองค์ประกอบ อันหลากหลายและวิจิตพิสดารของโลก และชีวิตนี้ล้วน "ผุดบังเกิด" ออกมาจาก ขณะรู้ นี้ทั้งหมดทั้งสิ้น
เมื่อถามต่อไปอีกว่า "ขณะรู้" คือรู้อะไร? อภิธรรมหรือความรู้ที่ได้มาจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องแยกการ "รู้" ออกเป็น 2 องค์ประกอบ คือ
(1) ธรรมชาติรู้ หรือ ธรรมชาติที่เป็นตัวรู้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า จิต ตัว จิต หรือธรรมชาติรู้นี้ พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า เป็นสิ่งที่มีลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปรอยู่เสมอ ถูกบีบคั้นให้ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แม้ขณะหนึ่งและไร้ซึ่งความเป็นแก่นสารตัวตน
(2) ธรรมชาติฝ่ายที่ถูกรู้ หรือ สิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า อารมณ์ ซึ่งจำแนกเป็นประเภทย่อยออกไปได้อีกเป็นจำนวนมาก
เพราะฉะนั้น ในสายตาของ พุทธะ แล้ว ปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นโลกเป็นชีวิต จึงเป็นแค่ จิตรู้อารมณ์ เท่านั้น! อนึ่ง ทั้งพุทธะกับปุถุชนล้วนมีช่องทางรับรู้โลกและชีวิต 6 ทางไม่ต่างกัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ส่วน แดนเชื่อมต่อ หรือ แดนเกิดของความรู้ที่อยู่ภายในร่างกาย เรียกว่า อายตนะภายใน 6 ทั้ง จิต และ อารมณ์ เป็นสิ่งรู้ได้โดยตรงด้วยอายตนะ 6 เหล่านี้
ด้วยเหตุนี้ การฝึกฝนอบรมพัฒนาอายตนะ 6 ให้เป็นฐานที่ตั้งแห่งความรับรู้ที่เฉียบคม ชัดเจน และถูกต้อง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้เรื่องโลกและชีวิต และการกลายเป็นพุทธะ
จิต "รู้" รูป ที่เป็น อายตนะภายนอก หรือ อารมณ์ ผ่าน ตา ที่เป็น อายตนะอายตนะภายใน หรือ ทวาร
จิต "รู้" เสียง ที่เป็น อายตนะภายนอก หรือ อารมณ์ ผ่าน หู ที่เป็น อายตนะอายตนะภายใน หรือ ทวาร
จิต "รู้" กลิ่น ที่เป็น อายตนะภายนอก หรือ อารมณ์ ผ่าน จมูก ที่เป็น อายตนะภายใน หรือ ทวาร
จิต "รู้" รส ที่เป็น อายตนะภายนอก หรือ อารมณ์ ผ่าน ลิ้น ที่เป็น อายตนะอายตนะภายใน หรือ ทวาร
จิต "รู้" สัมผัส (สิ่งต้องกาย) ที่เป็น อายตนะภายนอก หรือ อารมณ์ ผ่าน กาย ที่เป็น อายตนะภายใน หรือ ทวาร
จิต "รู้" ธรรมารมณ์ ที่เป็น อายตนะภายนอก หรือ อารมณ์ ผ่าน ใจ ที่เป็น อายตนะภายใน หรือ ทวาร
จักรวาฬ นั้นยิ่งใหญ่กว้างขวางไร้ขอบเขตทั้งในกาละและเทศะเป็น ความว่าง ที่เป็นที่ปรากฏของโลกและชีวิต หรือให้จิตได้รู้อารมณ์ คนเราจะ "รู้" ได้ก็ต่อเมื่อมันเข้ามาเป็น อารมณ์ของจิต แล้วเท่านั้น โดยที่ จิต เป็นสิ่งที่คนเราสามารถรู้ได้โดยตรง
จิต จึงเป็นอุปกรณ์รู้โลกและชีวิต พุทธะ คือผู้ที่รู้จักและเข้าใจ จิต อย่างทะลุปรุโปร่ง จนอยู่เหนือ จิต หรือข้ามพ้น จิต ได้ โดยที่พุทธะเริ่มจากการจำแนก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตประเภทต่างๆ ออกเป็น 2 จำพวกคือ
(1) สิ่งจริงแท้ หรือ ปรมัตถ์ ที่เป็นของมีตามธรรมชาติเป็นแก่นแท้ของปรากฏการณ์ สามารถตรวจสอบยืนยันได้ด้วยจิตที่ฝึกแล้วโดยทางทวาร 6
(2) สิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นโดยความสามารถสร้างสรรค์ของจิต หรือ บัญญัติ ทั้งนี้อาจเป็นไปเองหรือตั้งใจก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ เพียงแต่อาจชี้บ่งถึงสิ่งจริงแท้คือปรมัตถ์ได้หรือไม่ได้ หรือแค่บางส่วนก็ได้
การจำแนก ปรมัตถ์ ออกจาก บัญญัติ หรือ สมมติ ได้ เป็นการค้นพบที่สำคัญในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า สิ่งจริงแท้ หรือ ปรมัตถ์ มีเพียง 4 อย่างเท่านั้น คือ
(1) จิต (2) เจตสิก (องค์ประกอบของจิต)
(3) รูป (4) นิพพาน
จิต กับ เจตสิก รวมกันเรียกว่า นามธรรม หรือเรียกโดยย่อว่า นาม ส่วน รูป เรียกชื่อเต็มว่า รูปธรรม จิต เจตสิก และรูปเป็นธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นตามการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยที่เป็น อิทัปปัจจยตา จึงดำรงอยู่ชั่วขณะ และดับได้ตามเหตุปัจจัย สามารถรวมเรียกว่า สังขตธรรม หรือ สังขาร
ขณะที่ นิพพาน เป็นธรรมชาติซึ่งพ้นจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ เรียกว่า อสังขตธรรม หรือ วิสังขาร
ต้องขอย้ำว่า รูป ตามมุมมองของพุทธะ ไม่ใช่ สสาร ตามนิยามของวิทยาศาสตร์ เพราะ สสาร เป็นสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงสิ่งที่เชื่อว่าเป็นสาระพื้นฐานของปรากฏการณ์ทั้งหลาย ขณะที่ รูป หรือ รูปธรรม เป็นปรมัตถ์หรือของจริงแท้ที่รู้ได้ทางอายตนะ ต้องไม่เอามาปนกัน และ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์มาเข้าใจ ภูมิรู้-ภูมิธรรมของพุทธะ ซึ่งมีระบบความรู้และการรับรู้ที่สมบูรณ์ในตัวเองสำหรับการเป็นพุทธะอยู่แล้ว
รูปเป็นอารมณ์ของจิต ของเจตสิก คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แต่ตัวรูปเองไม่ใช่ธรรมชาติฝ่ายรู้ เพราะรูปไม่สามารถยึดรูปอื่นหรือนามธรรมใดหรือบัญญัติใดเป็นอารมณ์ได้
ขณะที่จิตและเจตสิกเป็นได้ทั้งฝ่ายรู้ และเป็นอารมณ์ของเจตสิกอื่นได้ด้วย
นิพพาน เป็นปรมัตถ์ที่ปุถุชนยังไม่รู้ และยังไม่เข้าใจนิพพานจัดอยู่ในฝ่ายนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม และไม่ใช่ธรรมชาติฝ่ายรู้ นิพพานสามารถเป็นอารมณ์ของจิต เจตสิกได้ ก็เฉพาะในกรณีพิเศษ ซึ่งจิต เจตสิกของบุคคลนั้นยึดนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะเกิดการประหารกิเลสขาดถึงรากเหง้า และขณะเสพผลจากการนั้น อันเป็นปรากฏการณ์ขณะเลื่อนชั้นบุคคลจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็น อริยบุคคล
คำสอนของพระพุทธองค์ที่พร่ำสอนเหล่าศิษย์ของพระองค์อย่างมิรู้เบื่อว่า
"ยามเห็น จงสักแต่ว่าเห็น"
จึงหมายถึงให้ผู้นั้นเห็น รูปปรมัตถ์ ในประสบการณ์ทางตาของผู้นั้นอยู่เสมอ
"ยามได้ยิน จงสักแต่ว่าได้ยิน"
จึงหมายถึง ให้ผู้นั้นได้ยิน เสียงปรมัตถ์ ไม่ใช่ยึดบัญญัติสมมติที่จิตปรุงแต่งขึ้นสืบต่อจากเสียงนั้น
ปรากฏการณ์ทางทวารหรืออายตนะอื่นก็เช่นเดียวกัน!
พระพุทธองค์ทรงมุ่งชี้แนะให้พวกเราฝึกตนให้สามารถแยกปรมัตถ์ และบัญญัติออกจากกันได้ในประสบการณ์ชีวิตประจำวันของตน เมื่อพวกเราทำได้เช่นนั้น เนืองๆ แล้ว ก็ย่อมสามารถรู้เท่าทันวิถีทางของโลกและชีวิต ย่อมสามารถรู้เห็น การเกิดดับสืบเนื่องของสังขตธรรมคือนามรูป และรู้ถึงความไร้แก่นสารตัวตนของนามรูปด้วย
พุทธะ คือ ผู้ที่สามารถวิเคราะห์ช่วงเวลาในชีวิต โดยแยกแยะอย่างละเอียดที่สุด เป็นขณะเวลาที่แสนสั้นที่จิต เจตสิกเกิดรู้อารมณ์และดับลง แล้วเกิดอีกสืบเนื่องกันไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา นี่คือกระบวนการที่เป็นจริงของการวิปัสสนา และเป็น วิปัสสนาญาณ ของพุทธะ