45. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 45 มหาสมุทรแห่งปัญญา 6/3/2550

45. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 45 มหาสมุทรแห่งปัญญา  6/3/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 45)



45. มหาสมุทรแห่งปัญญา

...วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) ณ ยอดเขาพุทธทอง สวนโมกขพลาราม

เย็นวันนั้น เท็นซิน กยัตโส นั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่กลาง "โบสถ์แบบสวนโมกข์" บนยอดเขาพุทธทองเพียงลำพัง โบสถ์แบบสวนโมกข์ ที่ออกแบบโดยอินทปัญโญ ความจริงเป็นเพียงโบสถ์พื้นดินตามธรรมชาติอย่างที่เคยมีในครั้งพุทธกาล แมกไม้รอบข้างคือผนังโบสถ์ เมฆขาวฟ้าครามเบื้องบนคือหลังคา ยอดไม้ที่ไหวระริกล้อล่อลมคือช่อฟ้าใบระกาอันมีชีวิต เท็นซินหรือที่รู้จักกันดีในนามของ องค์ทะไลลามะ ที่หมายถึง "มหาสมุทรแห่งปัญญา" ในภาษามองโกล-ทิเบต กำลังนั่งขัดสมาธิอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปหินสีขาว ดุจกำลังเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพียงลำพัง ใจของเขาอยู่ในสมาธิภาวนาอันลึกซึ้ง เพื่อประโยชน์สุขแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง

"ตราบเท่าที่เอกภพยังไม่สิ้น
ตราบเท่าที่สรรพสัตว์ยังดำรงอยู่
ขอข้าพเจ้าคงอยู่เช่นกัน
เพื่อขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกของโลกเสีย"

นี่คือบทสวดภาวนาในแต่ละวันของเท็นซิน ผู้ตระหนักว่าตัวเขาเองคือ ธรรมทายาท ผู้สืบสายพุทธกระแส ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน

ชีวิตของเท็นซิน กยัตโส นับว่าพิสดารกว่าคนธรรมดาทั่วไปมากนักในวัยเพียงสองขวบ เขาถูกค้นพบโดยสถาบันทะไลลามะ ว่าเป็นองค์ทะไลลามะองค์ที่ 13 กลับชาติมาเกิดในหมู่บ้านที่อยู่ไกลโพ้นและงดงามแห่งเท็งเซร์ที่ชิงไห่ ใน ค.ศ. 1937 และถูกพาตัวกลับสู่นครหลวงแห่งลาซาใน ค.ศ. 1939 เพื่อรับการอบรมฝึกฝนอย่างเข้มงวดให้เป็นองค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 ผู้เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศทิเบต

หลังจากที่ได้ศึกษาพุทธศาสนาที่ยากยิ่งเป็นเวลาถึง 16 ปีเต็ม พระองค์ก็ทรงสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต ปราดเปรื่องในการสอบปากเปล่าต่อหน้าพระสงฆ์องค์ประเมินเป็นพันๆ รูป ด้วยพระชนมายุเพียง 24 พรรษา แต่อีกไม่นานหลังจากนั้น พระองค์ก็ได้ทรงสูญเสียประเทศของพระองค์ไปตลอดกาล ใน ค.ศ. 1959 โดยที่พระองค์เสด็จหนีออกนอกประเทศขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอินเดีย เพราะถูกประเทศจีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนทิเบตและเข้ามายึดครอง

ธรรมศาลา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียได้กลายมาเป็นที่ประทับถาวรของพระองค์ หมู่บ้านอพยพที่ธรรมศาลานี้อยู่ที่เชิงเขาหิมาลัย พระองค์กลายมาเป็นกษัตริย์ไร้บัลลังก์ที่ประทับอยู่ในตำหนัก ณ ดินแดนไกลโพ้นแบกภาระของชาติที่ถูกยึดครองไว้เต็มบ่า

แต่ในอีกด้านหนึ่งของพระองค์คือ พระธรรมดา รูปหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ประพฤติต้องตามหลักพรหมจรรย์ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม และเป็นผู้หมั่นเจริญเมตตา มีในใจไม่มีประมาณเป็นผู้ดำเนินชีวิตอันประเสริฐที่เสียสละเวลาและพลัง เพื่อความสุขและความสวัสดีของสรรพชีวิตอื่น

ในแต่ละวัน พระองค์จะตื่นจากพระบรรทมในเวลาตีสามครึ่ง จากนั้นพระองค์จะสวดมนต์ และทำสมาธิภาวนาเป็นเวลาสี่ชั่วโมงเต็ม นี่คือกิจวัตรประจำวันของพระองค์ ไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ที่ไหน และในสถานการณ์เยี่ยงไร พระองค์มีความเห็นว่าในคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การุณยธรรม และในคุณสมบัติทั้งหมดของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐสุด คือ พระมหากรุณาธิคุณ อีกเช่นกัน แม้แต่ความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้าก็ขึ้นกับ การุณยธรรม เพราะด้วยพลังอำนาจแห่งการุณยธรรมเท่านั้นที่จะทำให้คนเราสามารถบรรลุถึงพุทธปัญญาอันสูงสุดได้

จิตที่การุณย์โดยไม่จำกัดขอบเขตของพระโพธิสัตว์ ย่อมสามารถพลิกผันโลกได้ เมื่อจิตใจที่เปี่ยมด้วยความรักความเมตตา ปรากฏออกมาเป็นคำพูดและการกระทำในโลกจริงๆ และในชีวิตจริง

การบรรลุธรรมเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของจิตที่สว่างโพล่งขึ้นบรรลุธรรมขั้นสูงสุด คือนิพพาน โดยที่ โพธิจิต หรือจิตที่มุ่งมั่นที่จะให้บรรลุถึงความรู้แจ้งอันเป็นไป เพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นปัจจัยหลักที่เป็นเหตุให้บรรลุธรรมได้ โพธิจิต นี้ย่อมเกิดจากการุณยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่แผ่ไปยังสรรพสัตว์ทั่วทุกตัวตนด้วยการุณยธรรมอันยิ่งใหญ่นี้ ผู้นั้นไม่เพียงแต่จะรู้สึกถึงความทุกข์ของสรรพสัตว์เสมือนเป็นความทุกข์ของตนเท่านั้น แต่ผู้นั้นยังจะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อช่วยสรรพสัตว์เหล่านั้น

ความรู้สึกนี้จะทวีมากขึ้นเมื่อใกล้จะบรรลุธรรม และจะคงอยู่กับผู้นั้นตลอดไป เพราะฉะนั้น คนเราเมื่อบรรลุธรรมแล้ว จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องออกไปช่วยเหลือสรรพสัตว์ในทุกวิถีทาง

เท็นซินใกล้จะบรรลุธรรมแล้วใน ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) เมื่อเขาอายุได้ 32 ปี จากนั้นเขาก็เริ่มออกเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปีนั้นเอง ประเทศแรกที่เขาเลือกไปเยือนคือ ประเทศไทยอันเป็นประเทศที่พุทธศาสนาสายเถรวาท อันเป็นสายที่คงคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลอย่างเอาการเอางานที่สุด ที่นั่นเขาได้พบกับอินทปัญโญเป็นครั้งแรกที่วัดเบญจมบพิตร บุคลิกของอินทปัญโญประทับอยู่ในจิตใจของเขาอย่างลึกซึ้งตั้งแต่แรกพบ เขาอยากจะศึกษาธรรมจากอินทปัญโญ แต่ไม่มีโอกาสเนื่องจากกำหนดการที่รัดตัว กว่าเขาจะได้มีโอกาสกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง ก็เป็นอีกห้าปีหลังจากนั้น คือใน ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ครั้งนี้ เขามุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปพบและแลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกับอินทปัญโญถึงสวนโมกข์เลยทีเดียว

อินทปัญโญ ต้อนรับการมาเยือนของลามะหนุ่มผู้นี้ด้วยความชื่นชม เขารู้ตัวดีว่า บัดนี้เขาแก่ตัวแล้ว กำลังวังชาของเขาที่จะรับใช้พุทธศาสนา มิได้เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อนแล้ว เขาแลเห็นศักยภาพของ "พระธรรมดา" อีกรูปหนึ่งอย่างเท็นซินที่จะมาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในระดับโลก ในอีกไม่นานนี้อย่างแน่นอน ตอนนี้สิ่งที่เท็นซินต้องการคือ เวลาเท่านั้น เวลาอีกสักช่วงหนึ่งที่จะหมักบ่มเขาให้กลายเป็นอีกหน้าหนึ่งของตำนานประวัติศาสตร์พุทธศาสนาโลกอย่างเต็มภาคภูมิ พุทธธรรมจักได้รับการเผยแพร่สู่โลกตะวันตกในวงกว้างด้วยน้ำมือของลามะหนุ่มผู้นี้อย่างไม่ต้องสงสัย นี่คือความเชื่อมั่นอย่างไม่มีวันคลอนแคลนของอินทปัญโญที่มีต่อเท็นซิน กยัตโส

เท็นซินกำลังหลับตาพริ้ม ดื่มด่ำอยู่ในสมาธิ ขณะนั้นจิตสมาธิของเท็นซินกระจ่างแจ่มใส ไม่ถูกพันธนาการด้วยความรู้สึกทางกายอีกต่อไป จิตเขา ณ ห้วงเวลานั้นคล้ายดำรงคงอยู่คู่กับฟ้าดิน คล้ายมีอายุขัยเท่ากับห้วงจักรวาฬ จิตเขาขยายออกไปเป็นไร้ขอบเขตจำกัด ความรู้สึกปลอดโปร่งสบายที่เขาได้รับสุดที่จะบรรยายออกมาเป็นวาจาคำพูดได้ หลังจากนั้น ความรู้สึกของเขาหดตัวอีกครั้ง ความรู้สึกอันเพริศแพร้วเมื่อครู่สูญสลายจนกลับคืนเป็นปกติ รับรู้ถึงการคงอยู่ของร่างกาย และข้อจำกัดของร่างกายอีกครั้ง แต่ภายในกายเขาเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตอย่างเอ่อล้น ความปราดเปรียวทางความคิดก็เหนือล้ำกว่าแต่ก่อนอีก

เมื่อเท็นซินลืมตาขึ้นอีกครั้ง จึงพบว่า อินทปัญโญก็ได้มานั่งสมาธิอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปหินสีขาวข้างๆ เขา ทั้งคู่หันมาสบตากัน และแย้มยิ้มน้อยๆ ให้แก่กันและกัน

การดำเนินชีวิตของ "พระธรรมดา" ทั้งสองรูปนี้อย่างอินทปัญโญและเท็นซิน กยัตโสผู้ต่างก็เป็น "มหาสมุทรแห่งปัญญา" ทั้งคู่ ย่อมเป็นแบบอย่างให้กับเหล่าฆราวาสได้เพียรพยายามเอาเยี่ยงอย่างเพื่อสามารถดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย และรู้ตัวทั่วพร้อมได้อย่างไม่ต้องสงสัย

วิถีชีวิตเช่นนี้ย่อมมีอิทธิพลต่อ วิวัฒนาการของจักรวาฬ ช่วยทำให้วิวัฒนาการของจักรวาฬเผยตัวคลี่คลายดำเนินไปอย่างประสานสอดคล้อง และเป็นไปในทางกุศลที่จะส่งผลสะเทือนในวงกว้างต่อสรรพชีวิตให้ได้เรียนรู้ที่จะเบียดเบียนกันน้อยลง และเกิดความกรุณาแก่กันและกันมากขึ้น

ทั้งอินทปัญโญและเท็นซิน กยัตโส ต่างก็ได้แสดงให้ทั้งโลกได้ประจักษ์แล้วว่า ความจริง ความดี และความงามไม่เพียงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่กระทำได้ด้วย ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้