46. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 46 วิถีชีวิตแห่งการภาวนา 13/3/2550

46. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 46 วิถีชีวิตแห่งการภาวนา  13/3/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 46)



46. วิถีชีวิตแห่งการภาวนา

วิถีชีวิตแห่งการภาวนาตามแบบพุทธะนั้น คือการมีชีวิตอยู่เพื่อการภาวนาเป็นสำคัญ มีลมหายใจเข้าออกเป็นการภาวนาอยู่ทุกขณะจิต เพราะมีแต่การใช้วิถีชีวิตแบบนี้เท่านั้น คนเราถึงจะสามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ในทุกๆ มิติ และในทุกๆ ทางออกมาอย่างบูรณาการได้ ไม่ว่าในเชิงศิลปะหรือเชิงกิจกรรมเพื่อสังคมก็ตาม

วัฒนธรรมควรเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และงดงามที่ได้มาจากการภาวนาเป็นสำคัญ ถึงจะเกิดการสานต่อในสิ่งดีงามได้

คนที่จะล่วงทุกข์ได้นั้น จำเป็นมากที่คนผู้นั้นจะต้องอุทิศตนให้กับการฝึกฝนตนดุจศิลปินที่ฝึกปรือในสิ่งที่ตัวเองกระทำด้วยวินัยชั้นสูงเพื่อเข้าถึงศิลปะนั้นๆ ฉันใดก็ฉันนั้น หากคนเราปราศจากการเจริญภาวนาอย่างต่อเนื่อง ที่ละเอียดอ่อนแล้ว การที่คนผู้นั้นจะกลายมาเป็นคนที่ฉลาดลึกซึ้ง และล้ำลึกนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อคนเราหันมาทางธรรม ตัวเขาควรจะมีสัมผัสที่ละเอียดอ่อนขึ้นจนสามารถมองเห็น "ช่องว่าง" ที่ล้อมรอบตัวเขาอยู่ได้ชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน เขาควรมีความไวต่อสัมผัสต่างๆ เช่น เสียงน้ำค้างหยด กลิ่นดินที่ระเหยขึ้นมาขณะกำลังนั่งภาวนาใต้ต้นไม้ในยามรุ่งเช้า หากยังไม่ละเอียดในสิ่งบริสุทธิ์เล็กๆ เหล่านี้ ก็คงยากที่จะเข้าถึงธรรมชั้นสูงซึ่งคนเราสามารถบรรลุถึงได้ในตัวเอง โดยไม่ต้องอิงอาศัยอะไรเลย

กิริยาภายนอกของผู้ปฏิบัติธรรมกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมนั้น สังเกตความแตกต่างได้ยาก เพราะเป็นกิริยาเดียวกัน แต่ที่ผิดแผกแตกต่างกันอยู่ตรงที่ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงนั้นมี ความรู้สึกตัว อยู่เสมอ ซึ่งด้วยการทำอย่างนี้จะนำไปสู่ผลที่แตกต่างกันอย่างเหลือเชื่อ

บุคคลที่มีชีวิตอยู่โดยไม่เจริญภาวนานั้น ในที่สุดชีวิตของผู้นั้นจะค่อยๆ ขัดข้อง มืดมน ถูกอารมณ์ต่างๆ เข้ามารุมเร้า และมีทุกข์เป็นที่หมาย ส่วนผู้เจริญภาวนาอยู่เสมอนั้น เมื่อฝึกฝนสติความรู้สึกตัวจนเข้มข้น สมาธิชนิดที่เป็นไปเองตามธรรมชาติจะปรากฏขึ้น ความทุกข์ทั้งหลายจะลดน้อยลงไปเอง ที่สุดก็จะเข้าถึงที่สุดของทุกข์ได้ในตัวเอง

เมื่อมีการเจริญสติให้ต่อเนื่อง จนมีกำลังสติที่มีกำลังนั้น ย่อมกลายเป็นสมาธิที่มีความแน่วแน่ มั่นคง ไม่วอกแวก สมาธินี้ย่อมแปรสภาพไปเป็นปัญญาเอง เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นอย่างเดียวกัน หรือเป็นลำดับของการบรรลุถึงวุฒิภาวะต่างกันเท่านั้น

สำหรับผู้ที่กำลังเดินอยู่บนวิถีชีวิตแห่งการภาวนา การกระทำทั้งหมดของเขาจะต้องถูกสำรวจ และประเมินค่าจากความรู้สึกตัวตามธรรมชาติ จากความผ่องแผ้วภายในที่เบาตัว ปลอดโปร่ง งดงาม บริสุทธิ์ ไม่หนักใจ ไม่กังวล มันจะต้องเป็นความรู้สึกตัวชัดๆ ที่มีสภาพต่อเนื่อง เห็นอยู่ รู้อยู่ สัมผัสอยู่ ซึ่งความจริงอย่างง่ายๆ ตามธรรมชาติที่เป็นอยู่แล้ว จนกระทั่งผู้นั้นตระหนักได้เองว่า ตัวเขานั่นแหละคือความสว่างของตัวเขาเอง และเป็นความสว่างของการดำเนินชีวิต

วิถีชีวิตแห่งการภาวนา มิใช่การตัดขาดจากโลก แต่เป็นการเปิดตาสัมผัสกับความจริงอย่างตรงไปตรงมา ดำรงอยู่ตื่นอยู่อย่างไม่มีเจตนาที่จะดูสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะตื่นอยู่เช่นนี้แล้วปล่อยให้กระแสธรรมชาติอันบริสุทธิ์ พรั่งพรูไหลผ่านโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ลมพัดน้ำไหล ผู้ภาวนาจึงต้องเปิดรับสัมผัสนี้อย่างรู้สึกตัว ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างให้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ แต่มีสติเข้าไปรู้มัน

ด้วยกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา จักรวาฬได้วิวัฒนาการตัวเองมาจนบังเกิด มนุษย์ผุดกำเนิดขึ้นมา การที่คนเราเกิดมาจนมีรูปร่างเช่นนี้ ในแง่มุมหนึ่งย่อมกล่าวได้ว่า จักรวาฬได้เผยตัวจนบรรลุถึงวินาทีนี้ ณ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ และห้วงยามนี้ คือสิ่งที่จักรวาฬทั้งหมดได้กลั่นกรองมาเป็น "สภาพรู้" ให้คนเราได้ตระหนักรู้ เพราะผู้ที่ "รู้" จักรวาฬนั้นด้วยความรู้ตัวอย่างสดบริสุทธิ์ย่อมคือตัวจักรวาฬนั้นเอง ณ ห้วงยามนั้น

ผู้ที่อยู่บนวิถีชีวิตแห่งการภาวนา จนกระทั่งการภาวนาของเขาอยู่ในกระแสของธรรมชาติ หรือของจักรวาฬอย่างเป็นไปเอง ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวของเขา ย่อมเผยตัวออกมาเอง เป็นความตระหนักรู้อันสดบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมค้นพบช่องว่างที่สง่างามในภายใน...ช่องว่างอันเวิ้งว้างที่เป็นความเงียบในภายในที่เป็นอันเดียวกับอิสรภาพที่ไร้ขอบเขต

* * *

...ปี 2526 (ค.ศ. 1983)

สุดท้ายของการแสวงหาคือ สงัดกายและสงบใจ ความสงัดที่แผ่กว้างจากช่องว่างอันเวิ้งว้างปกคลุมแผ่ไปทั่วตัวของ สมณะจิตรกร 'เขมานันทะ' เขาบรรจงหยิบพู่กันขึ้นมาจุ่มหมึกดำ แล้ววาดภาพลงในกระดาษฟาง...นี่เป็นภาพวาดสุดท้ายที่ตัวเขาจะวาดออกมาในฐานะที่เป็นภิกษุ เขาจะมอบภาพวาดภาพนี้ให้กับอินทปัญโญ ครูทางจิตวิญญาณคนแรกของเขา โดยมุ่งหวังที่จะให้ภาพวาดนี้บรรยายแทน เหตุผลการลาสิกขาบทของตัวเอง

ลีลาสะบัดพู่กันของเขมานันทะแสดงถึงสภาวะจิตของผู้วาด ในขณะนั้นที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น ความไม่ลังเล ความไม่กังวล ความเบา ความปราดเปรียว ความนุ่มนวล ปราศจากซึ่งความอยากใดๆ คนที่ดู ภาพเซน เป็นจะแลเห็นศักยภาพแห่งสภาวะจิตภายในของผู้วาดคนนี้ได้ดีว่า เขาปล่อยวางแล้ว ทั้งแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว และมั่นคง

เขมานันทะมิได้ล้มเหลวในการเป็นพระ ตลอดเวลา 16 ปีของการบวช เขามีความก้าวหน้าในทางธรรมอย่างที่ยากจะหาใครเปรียบได้คนหนึ่งเลยทีเดียว แต่ทำไมเขาต้องสึกเล่า? คำตอบที่จริงใจที่สุด น่าจะเป็นเพราะว่า ตัวเขาจริงจังและจริงใจกับตัวเองเกินกว่าคนทั่วไปนั่นเอง

พรสวรรค์และความโดดเด่นในทางธรรมของตัวเขา ทำให้ตัวเขาเริ่มเป็นที่ "จับตา" ของสังคมและได้รับความคาดหวังจากสังคม ซึ่งมันทำให้เขาเริ่มรู้สึกกลายๆ ว่า วัตรปฏิบัติของเขา กำลังจะกลายเป็น "การแสดง" ให้ผู้คนชมมากยิ่งขึ้นทุกที ซึ่งตัวเขาไม่อาจยอมรับสภาพการเป็น "นักแสดง" หรือ "นักสร้างภาพ" แบบนี้ของตัวเขาได้อีกต่อไป เพราะตัวเขารู้สึกได้อย่างกระจ่างแจ้งว่า ยิ่งตัวเขาแสดงบทของ "อริยบุคคล" ได้เหมือนเท่าไหร่ ตัวเขาก็ยิ่งแย่ลง ตกต่ำลงเท่านั้นต่อการปฏิบัติธรรม และการภาวนาเพราะมันกลายเป็นการสร้างขึ้นมาโดยตัวเขามากกว่าที่จะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ตอนนั้นเองที่เขมานันทะเริ่มตระหนักได้ว่า ตัวเขาไม่อาจลอกเลียนแบบอินทปัญโญผู้เป็นคุรุของเขาได้อีกต่อไป ในวิถีของ "พุทธทาส" ไม่มีใครยิ่งใหญ่และทำได้เท่าคุรุของเขาอีกแล้ว การลอกเลียนวิถีจากผู้อื่นที่แม้จะเป็นคุรุที่เคารพรักอย่างที่สุดของตนนั้น นับว่าง่ายก็จริง แต่สำหรับเขมานันทะแล้วมันหมายถึงความล้มเหลว

เขามุ่งจะไปให้ถึงที่สุดของความเข้าใจจักรวาฬ ด้วยวิถีที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของตัวเขาเอง แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม

เขมานันทะรู้ดีและตระหนักแก่ใจตนเองดีว่า วิถีของเขาคือมรรคแห่งพุทธศิลป์ อันเป็นวิถีที่มุ่งเชื่อมโยง การศึกษาศิลปะเข้ากับพุทธธรรมอย่างบูรณาการ โดยมุ่งสำแดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ซึ่งไม่ใช่การลอกเลียนซ้ำซากอยู่กับความดีที่สั่งสมกันมาแต่อดีตของพระพุทธศาสนา แต่มันคือการศึกษาที่มุ่งให้พลังชีวิตไหลหลั่ง และสะท้อนออกซึ่ง "พุทธะ" ทั้งในกิจกรรมการงานสามัญทั่วไป และการสร้างสรรค์ศิลปะ โดยการมุ่งหาความหมาย และคุณค่าจากการงานทั้งสามัญ และเหนือกว่าสามัญจากส่วนลึกของชีวิตภายใต้เงื่อนไขของกาลเวลาด้วยใจอันอยู่เหนือกาลเวลา

หลังจากลาสิกขาบทแล้ว เขมานันทะกลายเป็นศิลปินพเนจร ผู้คนที่เขาพบเจอมักชอบถามเขาว่า "คุณทำอะไรเลี้ยงชีวิต?" คำตอบที่ออกจากปากอยู่เสมอคือ

"ผมเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ด้วยการภาวนา"





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้