30. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 30) 6/11/2550

30. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 30) 6/11/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 30)



30. ดอกไม้กับปลายปืน

...วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ณ กองบัญชาการทหารบก

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รู้สึกว่าตัวเขากำลังกลับมาเป็น “นาวิก บุญยรัตน์” ซึ่งเป็น ชื่อจัดตั้ง ของเขา ขณะที่ได้รับมอบหมายให้ไป ปฏิบัติราชการลับ ที่เขมรเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนอีกครั้ง

ก่อนที่เขาจะมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน 2548 เส้นทางของเขาคือ เส้นทางของนักรบพิเศษ หรือ หน่วยรบพิเศษ มาโดยตลอด โดยที่หัวหน้าของเขาคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

หลักการของหน่วยรบพิเศษที่ตัวเขาได้ฝึกฝนมาตลอดทั้งชีวิตคือ วินัย-ใจเย็น-สู้ตาย และเป็นพลังเงียบที่เฉียบขาด อีกทั้ง มุ่งที่จะชนะโดยไม่ต้องรบ แต่ถ้ารบต้องชนะ

โดยส่วนตัวแล้ว พล.อ.สนธิ มีความเห็นว่า วิถีของหน่วยรบพิเศษ มีความคล้ายคลึงกับ วิถีเหยี่ยว เป็นอย่างมาก

วิถีเหยี่ยว นั้น จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความโดดเดี่ยวอ้างว้าง และสามารถอดทนรอคอยโอกาสได้

เมื่อเหยี่ยวกำหนดเป้าหมายแน่วแน่แล้ว เหยี่ยวจะรอคอยจังหวะโอกาส เมื่อได้จังหวะเหยี่ยวจะหดเท้า ลู่ปีกหดเข้าแนบกับลำตัว พร้อมกับปักหัวดิ่งสู่เป้าหมายอย่างมุ่งมั่นแน่วแน่ พร้อมกับกางกรงเล็บเหยี่ยวออก ให้กรงเล็บเหยี่ยวทำหน้าที่ของมัน

พล.อ.สนธิ รู้ดีว่า ขณะนี้ “โอกาส” นั้นมาถึงแล้ว บัดนี้ “นาวิก บุญยรัตน์” กำลังหวนกลับมาปฏิบัติการเสี่ยงตายอีกครั้งเพื่อแผ่นดินและพิทักษ์ราชบัลลังก์ “กรงเล็บเหยี่ยว” จะกางออกในค่ำคืนนี้เพื่อปฏิบัติการลับที่เฉียบขาด สามารถกำชัยชนะโดยไม่ต้องรบ และไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

คงไม่มีใครรู้ว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเขา และเพื่อนร่วมตายไม่กี่คนนี้จะสำเร็จหรือไม่ พล.อ.สนธิ รู้ดีว่า คนที่กล้าตัดสินใจอย่างนี้มีไม่กี่คน แต่ชีวิตการเป็นทหารและหน่วยรบพิเศษของเขาที่เคยผ่านเส้นความเป็นความตายในสงครามเวียดนาม จนได้รับเหรียญกล้าหาญมาแล้ว ทำให้ตัวเขากล้าที่จะตัดสินใจเช่นนั้นได้ ความจริงแล้ว ความตายกับความเป็นมันมีเส้นแบ่งเขตนิดเดียวเท่านั้น ประสบการณ์ในสนามรบบอกกับตัวเขาเช่นนั้น มันอยู่ที่จะกล้าข้ามไปบนเส้นความเป็นความตายนั้นหรือไม่ ตรงนี้มีคนไม่มากที่จะกล้าข้ามไป แต่เขาเคยเป็นผู้บังคับหน่วยที่ผ่านการรบมาค่อนข้างมาก เมื่อเขารู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องเดินข้ามไป เขาจึงไม่ลังเลที่จะเดินข้ามไป แม้จะต้องตาย เขาก็จะเดินข้ามไปให้ได้

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีชื่อมุสลิมว่า “อับดุลลอฮ์ อหะหมัดจุฬา” ที่สืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลคือ “เฉก อหะหมัด” หรือ “ชีค อาหมัด” ที่ขึ้นชื่อในเรื่องเป็นตระกูลที่จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พล.อ.สนธิ จึงภูมิใจมากที่ต้นตระกูลของเขา เป็นตระกูลที่จงรักภักดีมายาวนานหลายร้อยปี เพียงแค่เหตุผลนี้เหตุผลเดียว เขาก็จะไม่ยอมให้กรงเล็บเหยี่ยวพลาดเป้าไปได้เป็นอันขาด เพราะปฏิบัติการลับในคืนนี้ของพวกเขา มีอนาคตของประเทศชาติเป็นเดิมพัน

พล.อ.สนธิ รู้ดีว่าสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างกองทัพกับรัฐบาลทักษิณ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก นับตั้งแต่ที่นายกฯ ทักษิณเปิด “ยุทธการชนฟ้า” เรื่อง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในเดือนกรกฎาคม 2549 แล้ว

สถานการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างพลังประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับระบอบทักษิณ ที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นมานั้น กลายเป็นปัญหาความมั่นคงที่กองทัพไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไปแล้ว กองทัพรู้ดีว่าอีกไม่นาน กองทัพก็ต้องตัดสินใจเลือกข้างว่า จะอยู่ข้างเดียวกับประชาชน หรือจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน โดยอยู่ใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของระบอบทักษิณ “ยุทธการชนฟ้า” ของฝ่ายทักษิณทำให้ “ผู้นำ” กองทัพบกอย่าง พล.อ.สนธิ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกอยู่ข้างใด เมื่อสถานการณ์นั้นมาถึง

และแล้วสถานการณ์นั้นก็มาถึงจนได้ เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองถึงทางตัน และความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคนไทยได้หยั่งรากลึกเกินกว่าที่คิด และมีท่าทีว่าจะลุกลามบานปลาย เนื่องจากในวันที่ 20 กันยายน 2549 ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะระดมพลครั้งใหญ่เพื่อขับไล่ทักษิณโดยไม่มีกำหนด

แต่เดิมทีนั้น พล.อ.สนธิ ได้นำแผนปฏิบัติการลับมาปรึกษาหารือกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นระดับคุมกำลังระนาบแม่ทัพภาคจำนวน 3-4 คน ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าจะต้อง “ปฏิวัติ” เพื่อล้มล้างระบอบทักษิณ โดยพล.อ.สนธิ อาสาเป็นหัวหอก แผนปฏิวัติทีแรกกำหนด วันยึดเมือง เป็นวันที่ 22 กันยายน 2549 เวลา 19.00 น. สาเหตุที่เขากำหนดเอาวันที่ 22 กันยายน เป็นวันยึดอำนาจ เพราะเป็นช่วงที่นายกฯ ทักษิณ เดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก และมีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 23 กันยายน

เขาจึงคิดใช้ วิธีของหน่วยรบพิเศษ ที่เขาถนัดช่ำชอง โดยการชิงลงมือตอนที่นายกฯ ทักษิณไม่อยู่ แต่ครั้นเมื่อนายกฯ ทักษิณได้เปลี่ยนโปรแกรมเดินทางกลับเมืองไทยมาเป็นวันที่ 21 กันยายน ประกอบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศนัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่ทักษิณเป็นวันพุธที่ 20 กันยายน อีกทั้งเขายังได้รับข่าวกรองชิ้นสำคัญมาอีกว่า

นักการเมืองที่ใกล้ชิดนายกฯ ทักษิณได้เตรียมซ้อนแผนตอบโต้กลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยการเกณฑ์และจ้างม็อบต่างจังหวัดในภาคเหนือ และภาคอีสานบางจังหวัดเข้ามานับหมื่นคน บางกลุ่มถึงกับมีการตระเตรียมอาวุธเพื่อประจัญบานกับกลุ่มผู้ชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรฯ

มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะเกิดการนองเลือด คนไทยจะเข่นฆ่ากันเอง และในวันที่ 21 กันยายน เมื่อนายกฯ ทักษิณเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ทักษิณจะแสดงบทบาทเป็นผู้ระงับเหตุ และถือโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉิน ออกคำสั่งปลด พล.อ.สนธิ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยอ้างว่ารักษาความสงบภายในประเทศไม่ได้

พล.อ.สนธิ จึงปรับแผนโดยตัดสินใจชิงจู่โจมก่อนในวันที่ 19 กันยายนแทน แผนปฏิวัติยึดอำนาจ ของเขาเป็นการปรับปรุงมาจาก “แผนปฐพี 149” ของกองทัพซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการที่สั่งให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมตลอดเวลากับกำหนดการกระจายกำลังในการยึดจุดยุทธศาสตร์ของกรุงเทพฯ

กองกำลังหลักที่ พล.อ.สนธิ จะใช้ในการยึดอำนาจคือ กองพลและกองพันในสังกัดกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 3 และศูนย์สงครามพิเศษ โดยการเคลื่อนกำลังพลจะมาในหลายรูปแบบ หน่วยที่ล่วงหน้ามาก่อนจะมาในชุดพลเรือน โดยรถบัส รถตู้ เริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมายตั้งแต่ช่วงเช้ากำหนดเวลาลงมือ 19.00 น.

เงื่อนไขหลักและหัวใจสำคัญที่ทุกเหล่าทัพ และนายทหารทุกนายพร้อมเสี่ยงชีวิตมาปฏิวัติยึดอำนาจในครั้งนี้ ปัจจัยหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝ่ายตรงข้ามเป็นชนวนสำคัญที่สุด

พอฝ่ายทักษิณได้ทราบข่าวการเคลื่อนไหวปฏิบัติของกองทัพ ในคืนวันที่ 19 กันยายน ก็ได้มีความพยายาม ต่อต้านการปฏิวัติ ของนายกฯ ทักษิณ และคณะโดยการใช้กองบัญชาการทหารสูงสุดที่แจ้งวัฒนะเป็นกองบัญชาการต้านการปฏิวัติ นายกฯ ทักษิณโทรศัพท์สั่งการจากทางไกลว่า เขาจะประกาศภาวะฉุกเฉินออกทีวีช่อง 9 พร้อมกับสั่งปลดพล.อ.สนธิ กลางอากาศ ว่ากันว่า น้ำเสียงของทักษิณในตอนนั้น สั่นเครือด้วยความโมโหและตกใจสุดขีด

หลังจากทีวีช่อง 9 ถ่ายทอดข่าวนายกฯ ทักษิณสั่งปลด พล.อ.สนธิ และประกาศภาวะฉุกเฉิน พล.อ.สนธิ ซึ่งดูทีวีอยู่ก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถามลูกน้องว่า ทำไมยังไม่เข้าไปยึดช่อง 9 จึงปล่อยให้มีการแพร่ภาพนี้เกิดขึ้นมาได้ พอเขาได้รับคำตอบว่า ยังเดินทางไปไม่ถึงเพราะหลงทางอยู่ เขาก็วางใจ ไม่ตื่นเต้นอะไร เพราะ เขารู้ดีว่า แผนยึดเมืองที่เขาวาง “กรงเล็บเหยี่ยว” ออกมาในค่ำคืนนี้ค่อนข้างรอบคอบและสมบูรณ์

แม้ในขณะนั้น พล.อ.สนธิ กำลังสาละวนอยู่กับการสั่งใช้กองกำลังเคลื่อนพล กำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติการ ซึ่งยังไม่สามารถบ่งบอกชี้ชัดว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ ใครจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะมันอยู่ระหว่างช่วงชิงและการสร้างความได้เปรียบ แม้นายกฯ ทักษิณจะใช้อำนาจที่มีอยู่ออกอากาศทางทีวีช่อง 9 ได้ก็จริง แต่เขาคิดว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังจากที่หน่วยรบของเขาเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ได้ สถานการณ์จะพลิกผันเป็นฝ่ายเขาที่มีความได้เปรียบโดยสิ้นเชิง

ไม่นานนัก นายกฯ ทักษิณดิ้นเฮือกใหญ่อีกครั้ง ด้วยการโทรศัพท์ข้ามทวีปสั่งการและกระตุ้นให้ฝ่ายตนฮึดสู้ด้วยการไปจับตัว “ป๋าเปรม” มาควบคุมตัวไว้ แต่สายเกินไปเสียแล้ว เพราะ ณ เวลานั้น ทหารเสือราชินีจาก ร. 21 รอ.ชลบุรี ได้เข้ามาดูแลอารักขา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เต็มพรึบไปหมด พร้อมด้วยหน่วยรถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) ที่มาช่วยตรึงไว้อีกแรง

จุดจบของรัฐบาลทักษิณ มาถึงแล้ว!

“เราขอเป็น เผด็จการวันเดียว เพื่อเป็น ประชาธิปไตยทุกวันที่เหลือ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งโดยเร็ววัน”

“เราขอทำหน้าที่ ทหารของในหลวง เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติเป็นสำคัญ กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน การปฏิบัติภารกิจในสิ่งที่ประชาชนต้องการ เป็นหน้าที่ของกองทัพ” ข้างต้นคือสิ่งที่ พล.อ.สนธิ บอกกับตนเองในขณะที่ตัวเขากำลังร่างคำประกาศของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในคืนนั้น

* * *

...การปฏิวัติยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นที่กล่าวขานในเวลาต่อมาว่าเป็น การปฏิวัติดอกไม้ เพราะมีประชาชนจำนวนมากออกมาให้กำลังใจทหาร โดยนำช่อดอกไม้ไปให้ และทหารก็เอาดอกไม้เหล่านั้นเสียบไว้ที่ปลายกระบอกปืนตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ

มีประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศทุกวัยออกมาถ่ายรูปกับรถถัง ถ่ายรูปกับทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สีหน้าของพวกเขาเหล่านั้นยินดี ปลาบปลื้ม และมีความหวังกับการผ่าทางตันของประเทศด้วยการปฏิวัติในวันนั้น






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้