ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 16)
16. อารยะขัดขืนของนักปรัชญา (ต่อ)
“จะมีอะไรเล่าที่ทำลายความเป็นมนุษย์อย่างรวดเร็วเท่ากับการคิด และรู้สึกราวกับเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติที่คอยแต่ทำหน้าที่ โดยปราศจากการเลือกที่อยู่ลึกๆ ของแต่ละคน รวมทั้งปราศจากความยินดี เพราะฉะนั้นคุณธรรมควรจะเป็นสิ่งที่ พวกเรา สร้างสรรค์ขึ้น เป็นการพิทักษ์และเป็นความจำเป็นส่วนบุคคลของ พวกเรา อย่างแท้จริง คนเราแต่ละคนจึงควรสร้างคุณธรรมของเขาเอง สร้างคำสั่งเด็ดขาดของเขาเอง...”
ไชยันต์ ไชยพร นึกถึงคำกล่าวข้างต้นของ นิทเช่ (ค.ศ. 1844-1900) ขณะที่ตัวเขากำลังเดินเข้าคูหาแล้วฉีกบัตรเลือกตั้ง เขาบอกกับตัวเองในใจว่าใช่แล้ว! เขาจะสร้างคุณธรรมของเขาเอง โดยผ่านปฏิบัติการ อารยะขัดขืน ในครั้งนี้ซึ่งเป็นการเลือกของตัวเขาที่กระทำด้วยความยินดี และเต็มใจ
“การฉีกบัตรของข้าพเจ้า จึงกลับทำให้เสียงของข้าพเจ้าไม่ถูกบิดเบือน อีกทั้งสามารถแสดงเจตจำนงของข้าพเจ้าได้ชัดเจนว่า ข้าพเจ้าตัดสินกาช่องไม่เลือกใคร เพราะต้องการปฏิเสธพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวในการเลือกตั้ง อีกทั้งต้องการแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะบริสุทธิ์ยุติธรรม”
นี่คือคำประกาศดุจ บันลือสีหนาทอย่างราชสีห์ ของ อาจารย์หนุ่มผมยาว แห่งคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้นี้ ที่ทำการฉีกบัตรเลือกตั้งแสดงอารยะขัดขืนที่มีชีวิตชีวาจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศในวันนั้น
ก่อนที่จะไปเข้าคูหาฉีกบัตรเลือกตั้ง ไชยันต์ คิดเรื่องนี้อยู่นานพอสมควร เขาคิดถึงท่านอาจารย์ โสเกรตีส นักปรัชญาการเมืองที่ยอมสละชีวิตของตนเพื่อ ชีวิตทางปรัชญา ที่ท่านเชื่อ ชีวิตทั้งชีวิตของท่านได้อุทิศให้กับชีวิตทางปรัชญาด้วยปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ เขายังคิดถึง ธอโร ปัญญาชนอเมริกันในศตวรรษที่ 19 ที่ลุกขึ้นมาต้านอำนาจรัฐบาล โดยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายภาษีให้รัฐ เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คือการไปทำสงครามกับเม็กซิโกและการมีทาส ธอโร เชื่อว่า คนเราควรเป็นมนุษย์ (ที่แท้) ก่อนสิ่งอื่นใด และจึงเป็นพลเมืองในอันดับถัดไป คงจะไม่ถูกต้องนักที่จะมอบความเคารพให้แก่กฎหมายยิ่งกว่าความถูกต้องเที่ยงธรรม ธอโร ทำการละเมิดกฎหมาย แต่ก็ยอมรับการลงโทษของรัฐ เพราะ ธอโร ตระหนักว่ารัฐมีอำนาจจำกัด แม้จะกักกายของเขาได้ก็กักขังความคิดของเขาไม่ได้
การต้านอำนาจรัฐโดยปัจเจกชนในนามของความถูกต้อง ที่เหนือกว่ากฎหมายของรัฐ จึงเป็นหนทางที่ปัจเจกชนจะสามารถใช้อำนาจของตนผลักดันรัฐไปสู่เส้นทางที่อารยะยิ่งขึ้นได้
เมื่อ ไชยันต์ ได้ตัดสินใจที่จะปฏิบัติการอารยะขัดขืนแล้ว เขาก็มาคิดว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมือง เพราะฉะนั้นก็ต้องมาคิดว่า ทำอย่างไรตัวเขาถึงจะปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเขาได้ และสามารถรักษาสิทธิไม่ให้เสียงของเขาถูกบิดเบือนนำไปใช้ในการฟอกความผิดหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่นายกฯ ทักษิณ
ไชยันต์ ต้องการแสดง จุดยืน ที่ชัดเจนของตัวเขาว่า ตัวเขาไม่ยินดี ไม่เต็มใจ และไม่ยินยอมที่จะเอาตัวเขาไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรองการกระทำผิดทางการเมืองของผู้นำอย่างทักษิณที่พยายามใช้การเลือกตั้งเพื่อรับรองตัวบุคคล คือ รับรองตัวเองอันเป็นการกระทำที่ผิดหลักรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
ก่อนหน้าการฉีกบัตรไชยันต์ ได้ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ว่าการกระทำนี้ผิดหรือไม่ ก็พบว่า อาจผิดตามมาตรา 108 ของกฎหมายเลือกตั้ง แต่ตัวเขาคิดว่า มาตรานี้น่าจะมุ่งไปที่การลงโทษคนที่เข้าไปขัดขวางการเลือกตั้งมากกว่า เช่น ไปทำบัตรของคนอื่นเสียหาย แต่ในกรณีนี้บัตรเป็นของเขาเอง เขาจึงคิดว่าเขาไม่ผิด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีการฉีกบัตรเลือกตั้งมาแล้ว โดยเป็นการฉีกบัตรเพื่อประท้วงรัฐบาล ซึ่งศาลสูงก็ตัดสินว่าไม่ผิด เพราะไม่ได้ไปทำบัตรคนอื่นเสียหาย แต่ต่อให้ผิดมาตรา 108 ก็ยังมีมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท ในขณะที่กฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายลูก มาตรา 65 นี้ให้สิทธิแก่บุคคลในการที่จะต่อต้านขัดขืนการใช้อำนาจ หรือการได้อำนาจในการปกครองมาอย่างไม่ถูกต้อง แต่ต้องเป็นการต่อต้านด้วยสันติวิธีซึ่งตัวเขาคิดว่า เขาเข้าข่ายนี้
ไชยันต์ มองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือ ระบอบทักษิณ เป็นประชาธิปไตยสามานย์และทักษิณเป็นผู้ปกครองที่ฉ้อฉล โดยที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้เท่าทัน แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้เท่าทัน แล้วพยายามชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยของไทยมักเน้นไปที่เรื่องกติกา โดยไม่ดูที่เจตนารมณ์ หลักการหรือปรัชญาของประชาธิปไตย
ระบอบทักษิณ ได้ออกหรือใช้กฎหมายที่ถูกต้องตามกฎกติกาก็จริง แต่เป็นการใช้อย่างเลี่ยงบาลี ตีความกฎหมายเพื่อพวกตน ใช้กฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ อีกทั้งยังบิดเบือนกฎกติกาโดยไม่มองว่าเนื้อหาหรือเจตนารมณ์มันควรจะเป็นอย่างไร
ไชยันต์ เห็นว่า ทักษิณเป็นทรราชยุคใหม่ เงื่อนไขการเกิด ทรราช นั้น ทรราช จะเกิดขึ้นได้เมื่อกลไกที่มีอยู่ของรัฐไม่สามารถจัดการกับวิกฤตปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความท้อแท้ และโหยหาอัศวินม้าขาวหรือผู้ที่มีความสามารถเหนือคนอื่นโดยหวังให้เข้ามาช่วยพวกตน
การสร้างความชอบธรรมของทรราช ก็คือ การสร้างระบบการปกครองที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในอำนาจ ถึงแม้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นจะทำให้การมีผู้นำที่ผูกขาดการใช้อำนาจอย่างสมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ แต่ตัว ทรราช ก็มักจะใช้อำนาจเกินขอบเขตที่จำเป็นในการแก้วิกฤตที่ดำรงอยู่
ขณะเดียวกัน ทรราช ก็จะพยายามทำให้เกิดความพร่ามัว ยากที่จะแยกแยะระหว่างความกระหายอยากส่วนตัวกับความจำเป็นที่ต้องมีตัวเขาอยู่ต่อไปเพื่อบริหารประเทศ นอกจากนี้ ทรราช จะพยายาม กอบโกย เพิ่มพูนทรัพย์สินของตนอย่างไม่หยุดยั้ง และใช้มันในการให้คุณหรือสยบคนรอบข้าง ขณะเดียวกัน ทรราช ก็ใช้อำนาจอันไม่จำกัดของตนในการให้โทษทำร้ายคนที่ต่อต้านตน และที่สำคัญก็คือ ไม่เคยมี ทรราช คนไหนในประวัติศาสตร์ที่จะยอมลาออกจากตำแหน่งอำนาจของตนโดยง่ายดาย
ไชยันต์ ตระหนักดีว่า การต่อสู้กับผู้ที่เป็น ทรราช แท้ๆ อย่างทักษิณนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะ ทรราช ที่แท้ย่อมมีภาพสองภาพปรากฏต่อสาธารณะในเวลาเดียวกัน ภาพแรกคือ ภาพของ “ผู้นำอันประเสริฐ” ผู้เป็นอัศวินม้าขาวขวัญใจประชาชน ส่วนอีกภาพหนึ่งคือ ภาพของคนโกงชาติที่ฉ้อฉล ทักษิณก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2544 ได้ ภายใต้บริบทที่สังคมไทยกำลังตกอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2540 ภาพลักษณ์ของทักษิณที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์ในวงการตำรวจและทหาร แถมยังมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง ทำให้ทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กลายเป็นคำตอบสำหรับมหาชนผู้อยู่ในสภาวะสิ้นหวังทางการเมือง
คะแนนเสียงมหาศาลที่เทให้พรรคไทยรักไทยในตอนนั้น คือเสียงสะท้อนแห่งความหวังที่จะให้ทักษิณมากอบกู้ภาวะเศรษฐกิจไทยให้กลับฟื้นคืนมา โดยที่ในขณะนั้นมีน้อยคนนักที่จะตระหนักว่า คะแนนเสียงเหล่านี้ มิใช่ “เสียงสวรรค์” แต่เป็น “คำสาปจากชนบท” เพราะการใช้นโยบายประชานิยมในหลายๆ กรณีโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและความพร้อม ภายหลังจากที่ทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มันยิ่งไปทำให้ประชาชนยิ่งเพิ่มการสนับสนุนประกอบกับ “การสร้างภาพเชิงการตลาด” ของตัวทักษิณและทีมงานที่ได้ผลยิ่งในช่วงนั้น ในที่สุดก็นำไปสู่การทำลายกรอบการใช้อำนาจทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย และทำให้ทักษิณเหลิงอำนาจจนกลายเป็น ทรราช ในวิธีการใช้อำนาจของตนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ความเป็นทรราชของตัวทักษิณและระบอบทักษิณที่ก่อตัวขึ้นมาในช่วง 5 ปี ในที่สุดก็นำมาสู่วิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรงในปี 2549 แต่ถึงอย่างนั้น ไชยันต์ ก็พบว่า ทักษิณในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ก็ยังคงกุมเสียงข้างมากเอาไว้ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ทรราช มักเอาใจฐานเสียงข้างมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างไว้เสมอ เพราะพวกนี้หลอกง่าย อันที่จริงชนชั้นล่างไม่ได้โง่หรอก เพียงแต่พวกเขาถูกปิดกั้นข่าวสารและความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนเท่านั้น ถ้าหากสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ช่วยกันกระจายข่าวสารข้อมูลความจริงเกี่ยวกับระบอบทักษิณออกไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง คงทำให้คนส่วนใหญ่หูตาสว่างได้มากกว่านี้เป็นแน่
แต่เรื่องแค่นี้ก็ดูเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ไชยันต์ คำนึงและถอนหายใจออกมายาวๆ เพราะเขารู้ดีว่า หนทางแห่งการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนี้ยังอีกยาวไกลนัก การได้เรียนปรัชญา และกลายเป็นนักปรัชญา ทำให้ ไชยันต์ เป็นคนมีจุดยืนเป็นของตัวเอง เขาบอกกับตัวเองขณะที่กำลังเดินออกจากคูหาเลือกตั้งว่า
“คนเราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยของตนเท่านั้น แต่คนเรายังพ่วงเอาประวัติศาสตร์ติดตัวไปกับตนเองด้วย”
ขณะนั้นเป็นตอนสายของวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2549 แสงแดดในวันนั้นยังไม่จัดจ้าพอที่จะทะลุเมฆหมอกในยามสายลงมาได้