กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ โดย จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย

กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ โดย จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย



กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ

(Integral Criminal Justice Process)


โดย จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย


 

บทนำ (Introduction)

ในศาสตร์แต่ละแขนงมีหลักความจริงของศาสตร์นั้นๆในการแก้ไขปัญหาดุจเดียวกับ "กุญแจ" ที่ไขสู่ทางออกใดๆได้ แต่เนื่องจากสรรพศาสตร์ล้วนมาจากรากเหง้าต้นตอเดียวกัน ภาพปรากฏของการแยกส่วนคิดเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในศาสตร์เฉพาะนั้น เป็นเพียงวิวัฒนาการระยะหนึ่งที่พลัดหลง กระจัดกระจาย แตกแขนง จนหาแก่นสารที่เป็นองค์รวมมิได้ อันที่จริงสรรพศาสตร์ล้วนมีหนึ่งเดียวที่หลอมรวมกันแบบบูรณาการ (Integral Science) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บรรดาสรรพศาสตร์ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ถักทอความคิดเพื่ออธิบายธรรมชาติของสรรพสิ่งไว้ด้วยกันในลักษณะ "สหวิทยาการ" (Integrated Science) ไม่มีศาสตร์ใดเป็นพื้นฐานของศาสตร์ใด ดังนั้น "กุญแจแม่" (Master Key) ที่ใช้สำหรับไขความจริงในทุกสรรพศาสตร์ คือ "ธรรม หรือ ธรรมชาติ หรือคำสอนของพุทธองค์ที่เรียกว่า 'พุทธธรรม' ที่สามารถกลืนสรรพศาสตร์ไว้ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น ด้วยความเป็น "ปรมัตถสัจจะ" หรือ "แก่นแท้ของความจริง" เมื่อนำเศรษฐศาสตร์มาอธิบายแนวพุทธ ก็สามารถแก้ปัญหา ชี้ทางออกได้อย่างแนบเนียนกลมกลืนกับ "ธรรมชาติและชีวิต" เมื่อนำรัฐศาสตร์มาผสมผสานแบบมุมมองของชาวพุทธ ก็สามารถใช้ปกครองบังคับบัญชา นำพาสังคมสู่เสรีภาพ สันติภาพ และภารดรภาพได้อย่างแท้จริง และเมื่อนำอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมมาเชื่อมโยงเข้ากับพุทธธรรม ก็สามารถไขสาเหตุที่มาแห่งอาชญากรรม ย้อนทวนกระแสความประพฤติของผู้คนได้โดยปราศจากข้อสงสัย เช่นกัน

หากจะกล่าวว่าในโลกยุคปัจจุบันนี้มีผู้คิดค้นทฤษฎีที่ใช้อธิบาย "ธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง" ได้อย่างชัดเจน ครอบคลุม และมีความเป็นสากลเทียบได้กับ "กุญแจแม่" ที่ตอบคำถามในเรื่องต่างๆได้อย่างปราศจากข้อสงสัยแล้ว คนๆนั้นต้องเป็น "เคน วิลเบอร์" (Ken Wilber) อย่างแน่นอน โดยเรื่องที่สามารถอธิบายขยายความได้โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ เรื่อง "โครงสร้างของจิต" (Conscious) ซึ่งโทนี่ สจ๊วต (Tony Schwartz cited in Ken Wilber, 1996 p.xii) เขียนถึงประวัติของวิลเบอร์ ว่า เป็นชาวอเมริกันผู้สนใจ เต๋า เซน พุทธ ที่เขียนหนังสือ เรื่อง "แถบแสงแยกสีของโครงสร้างของจิต หรือ การจัดจำแนกลำดับชั้นของโครงสร้างของจิต" (The Spectrum of Consciousness) เมื่ออายุเพียง 23 ปี โดยผสมผสานศาสตร์และแนวคิดต่างๆทางโลกตะวันตกและโลกตะวันออกเข้าด้วยกันได้อย่างแนบเนียน จากนั้นได้เขียนหนังสือเล่มล่าสุด คือเรื่อง "ภาพรวมประวัติความเป็นมาของสรรพสิ่ง" (A Brief History of Everything) ซึ่งครอบคลุมทุกสรรพสิ่งตั้งแต่ The Big Bang จนกระทั่ง Postmodern ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางฟิสิกส์ อารมณ์ความรู้สึก สติปัญญา คุณธรรม และจิตวิญญาณ คือมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับปรัชญา และศาสนาได้อย่างลงตัว

อันที่จริงวิลเบอร์ไม่ใช่นักปรัชญาคนแรกที่กล่าวถึงเรื่องของการจัดจำแนกประเภท หรือ ที่เรียกว่า "ประเภท หรือ ปทารถะ" (Category) ซึ่งหมายถึง ประเภทของสิ่งต่างๆและหลักความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานแห่งความเข้าใจของมนุษย์ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2543, น.25) แต่เป็นอริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวตะวันตก ที่แบ่งอัญรูปแห่งภาวะ (Modes of Being) ออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่ 1. สาระ (Substance) 2. ปริมาณ (Quantity) 3. คุณภาพ (Quality) 4. ความสัมพันธ์ (Relation) 5. สถานที่ (Place) 6. กาล (Time) 7. ลักษณาการ (Position) 8. สถานะ (State) 9. กัตตุภาวะ (Action) และ 10. กัมมภาวะ (Passion) โดยการจัดแบ่งสรรพสิ่งตามวิธีการดังกล่าวครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น แต่เป็นการจัดแบ่งแบบสสารนิยมหรือวัตถุนิยม (Materialism)ที่หมายถึงเฉพาะสรรพสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเป็นสำคัญตามแบบปรัชญากรีก ในช่วงเวลาร่วมสมัยกันกับที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกจัดจำแนกสรรพสิ่งแห่งโลกระดับประสาทสัมผัสซึ่งเชื่อว่าคือ "ทั้งหมดทั้งสิ้นของสรรพสิ่ง" นั้น 'พระสัมมาสัมพุทธเจ้า' ได้สั่งสอน "พระอภิธรรม" ซึ่งจำแนกสรรพสิ่งทั้งหมดทั้งสิ้นเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเภทสิ่งต่างๆในประสบการณ์โลกและชีวิตของบุคคลอันเป็นรากฐานระบบความคิดของคน (อ้างถึงใน ระวี ภาวิไล, 2544, น.176-178) ไว้ 10 ลักษณะ ดังนี้ 1. สรรพสิ่ง 2. สิ่งมีจริงตามธรรมชาติ 3. สิ่งมีอยู่เองดำรงอยู่เหนือกาลอวกาศ 4. สิ่งถูกปรุงแต่ง 5. รูป 6. นาม 7. วิปัสสนา 8. สมมติบัญญัติ 9. อัตถบัญญัติ และ 10. สัททบัญญัติ โดยลำดับที่ 2-7 เป็นประเภทของแท้ตามธรรมชาติ เรียกรวมว่า ปรมัตถ ลำดับที่ 8-10 เป็นประเภทสิ่งที่จิต (หรือ 'นาม' ในข้อ 6) ปรุงแต่งขึ้น รวมเรียกว่า สมมติบัญญัติ ส่วน สรรพสิ่งในลำดับที่ 1 นั้นคือการประมวลทั้งสองพวก คือ 'ปรมัตถ์' กับ 'สมมติ' บัญญัติ เข้าด้วยกัน ดังนั้นการจัดแบ่งสรรพสิ่งตามหลักพุทธธรรมจึงครอบคลุมทั้งโลกุตระและโลกียะไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น และถูกบักทึกไว้ในประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตกว่า วิธีคิดตามแบบปรัชญาตะวันออกรวมทั้งวิธีคิดของพระสมณโคดมนี้คือหนึ่งใน "รหัสยลัทธิ" ที่มีผู้นำเข้ามาเผยแพร่จากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อบรรดาสรรพศาสตร์ต่างแยกย้าย แตกแขนงสร้างอาณาเขตและหลักเกณฑ์ในการคิดค้นอธิบายเรื่องราวต่างๆตามวิธีการแห่งศาสตร์ของตนในลักษณะเฉพาะเจาะจงลึกลงไปทุกทีเป็นเวลากว่า 300 ปี โดยรับเอาแนวคิดแบบ "แยกส่วนและกลไก" ของ "เดส์คาตส์-นิวตัน" มาใช้ในการทำให้ศาสตร์ของตนมีความใกล้เคียงกับความเป็นวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด ทำให้ศาสตร์ต่างๆขาดตอนจากกันโดยต่างก็มีขอบเขต-อาณาจักรแห่งศาสตร์ของตนที่เป็นอิสระแก่กันจนหาองค์รวมแท้จริงมิได้ ส่งผลให้สามารถนำศาสตร์แต่ละแขนงมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วน ไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์เชื่อมโยงครอบคลุมมิติความหลากหลายและความซับซ้อนของปัญหาได้เท่าที่ควร การจัดจำแนกสรรพสิ่งเพื่อศึกษาวิเคราะห์ทำความเข้าใจภาพที่เห็นในลักษณะองค์รวม (Holistic) จึงถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องของ 'จิต' เช่น ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) คาร์ล จุง (C.G.Jung) ยีน เพียร์เจ (Jean Piaget) ฯลฯ ก็สนใจที่จะศึกษาเพื่ออธิบายเรื่องของจิตเพียงเรื่องเดียว ทำให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องจิตสำนึก จิตใต้สำนึก ฯลฯ อย่างมาก แต่ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรม วัฒนธรรม และสังคมในภาพขององค์รวมได้อย่างชัดเจน หรือกรณีของ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) และ จอห์น วัตสัน (John Watson) ต่างให้ความสนใจศึกษาเรื่องราวของพฤติกรรมและการวางเงื่อนไขพฤติกรรมตามวิธีการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างมากจนละเลยเรื่องของจิตไป และในขณะที่ แม็ก เวเบอร์ (Max Weber) โทมัส คุณ (Thomas Kuhn) ฯลฯ ให้ความสนใจกับเรื่องของค่านิยม วัฒนธรรม และกระบวนทัศน์เป็นสำคัญเพียงเรื่องเดียว และ เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดของออกัส ค็องส์ (August Comt) หรือ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) ก็ให้ความสำคัญกับการอธิบายสังคมส่วนรวม หรือสังคมเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว นับว่าเป็นความสำเร็จของการนำวิธีคิดแบบแยกส่วน-กลไกมาใช้โดยแท้ จนกระทั่งในยุคสมัยปัจจุบัน เคน วิลเบอร์ได้เสนอแนะวิธีการตามแบบปรัชญาตะวันตกที่จัดจำแนกสรรพสิ่งทั้งหมดทั้งสิ้นที่ครอบคลุมทั้งปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออกและครอบคลุมเรื่องของ 'จิต-พฤติกรรม-วัฒนธรรม-สังคม' เข้าด้วยกันอีกครั้งในรูปของ "กระบวนทัศน์เชิงบูรณาการ" (Integral Paradigm of Ken Wilber)

หาก "เดส์คาตส์" เกิดมาเพื่อเสนอความคิด "แยกส่วนสรรพสิ่งในโลกนี้" ออกเป็นวัตถุที่เล็กที่สุดจนไม่อาจแยกได้ต่อไปแล้ว "วิลเบอร์" ก็เกิดมาเพื่อ "บูรณาการสรรพสิ่งในโลกนี้" เข้าด้วยกัน ซึ่งวิธีคิดใหม่นี้เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นไปตามธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากกว่าวิธีคิดที่ฝืนธรรมชาติ และมุ่งมาดปรารถนาที่จะเอาชนะธรรมชาติเช่นที่เป็นมา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน ทำให้วิธีการดำเนินการสู่เป้าหมายเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยมีการเปลี่ยนแปลงทัศนะแม่บท ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในแก่นทางความคิด การรับรู้ และคุณค่าต่างๆซึ่งทำให้เกิดทัศนะการมองภาพความจริงที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะจากการที่เคยให้ความสำคัญกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การคิดแบบแยกส่วนวัตถุต่างๆให้ขาดออกจากกันเป็นเศษเสี้ยว ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าวิธีคิดแบบนี้มีข้อจำกัดอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีการทบทวนใหม่อย่างถอนรากถอนโคนในทุกสรรพศาสตร์ รวมทั้งในเรื่องของ "กระบวนการยุติธรรม" ซึ่งเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการ "เข้าถึงความยุติธรรม" (Access to Justice) แห่งสังคมของประชาชนทุกคน แต่เป็นช่องทางที่ "เป็นทางการ" (Traditional) และมีอำนาจหนุนหลังชุด "ความจริง" นี้ ซึ่งในเรื่องนี้ควรได้รับการทบทวน "แนวคิดแบบแยกส่วน-กลไกในกระบวนการยุติธรรม" ตามแบบวิธีคิดของเดส์คาตส์-นิวตัน ว่าก่อให้เกิดผลกระทบในทางเสียหาย หรือก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาเป็นลูกโซ่อย่างไร และนำแนวคิดของการใช้ "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ" (Integral Criminal Justice Process) ที่มุ่งให้ "ผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม และสังคม สมานฉันท์เป็นเนื้อเดียวกัน" โดยตระหนักว่าแต่ละส่วนต่างก็เป็น "ส่วน/ทั้งหมด" (part/whole) ของสังคมเดียวกันตามแบบวิธีคิดของ เคน วิลเบอร์


ดังนั้น ในการศึกษาเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ" (Integral Criminal Justice Process) โดยใช้มุมมองแบบ "สหวิทยาการ" (Integrated Science) ครั้งนี้ ผู้ศึกษาจึงสนใจศึกษาวิเคราะห์ "กระบวนการยุติธรรม" และ "อาชญากร" ผู้เป็น ลูกค้าของกระบวนการยุติธรรม โดยใช้ "กระบวนทัศน์เชิงบูรณาการของเคน วิลเบอร์" (Integral Paradigm of Ken Wilber) พิเคราะห์ประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

- วิเคราะห์ "กระบวนการยุติธรรม" ในมิติของ "โฮ-ลอน" (Holon)
- วิเคราะห์ "อาชญากร" ในฐานะ "ลูกค้า" ของกระบวนการยุติธรรม โดยใช้ "กระบวนทัศน์เชิงบูรณาการของเคน วิลเบอร์" และ
- วิเคราะห์การปรับเปลี่ยน แก้ไข และเยียวยา "บุคคล" และ "สถาบัน" สู่ "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ"



กระบวนทัศน์เชิงบูรณาการของเคน วิลเบอร์
(Integral Paradigm of Ken Wilber)

เพื่อให้เห็นภาพรวมของ "กระบวนทัศน์เชิงบูรณาการของเคน วิลเบอร์" ก่อนที่จะนำหลักการและวิธีคิดไปใช้วิเคราะห์ "กระบวนการยุติธรรม" ต่อไปนั้น จะขอกล่าวถึงสาระสำคัญเกี่ยวกับ "เคน วิลเบอร์: กับความเป็นเคน วิลเบอร์" กับ "แนวความคิด 'ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด' (part/whole) ของ เคน วิลเบอร์" โดยสังเขปเป็นลำดับไป

เคน วิลเบอร์: กับความเป็น เคน วิลเบอร์
แฟรงค์ วิสเซอร์ (Frank Visser, cited in http://members.ams.chello.nl/ f.visser3/Wilber/esseng1.html, 1998) กล่าวถึง เคน วิลเบอร์ ไว้ในเว็บไซด์เกี่ยวกับเคน วิลเบอร์ เรื่อง "The Seven Faces of Ken Wilber" โดยอธิบายถึงคุณลักษณะความรู้ความสามารถ 7 ประการของ วิลเบอร์ ไว้ว่า ดังนี้ คือ

1. ความเป็นนักทฤษฎี (Theoretical) แกนหลักสำคัญของงานเขียนของวิลเบอร์ คือแบบจำลองขั้นตอนต่างๆทางทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งวิลเบอร์มีความผูกพันกับสังคมศาสตร์ จิตวิทยาพัฒนาการ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม และจิตวิทยาคลินิกอย่างมาก

2. ความเป็นนักสังเคราะห์ (Synthethical) งานเขียนชิ้นล่าสุด วิลเบอร์ได้ใช้แนวคิดที่แตกต่างออกไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทฤษฎีที่ใช้อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้ ครอบคลุมประสบการณ์ทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ โดยประมวลความจริงต่างๆที่เป็นเศษเสี้ยวอยู่ตามที่ต่างๆของโลกมาใส่ไว้ในแบบจำลองภาพบูรณาการของเขา

3. ความเป็นนักวิพากษ์ร่วมสมัย (Critical) เพราะเหตุที่วิลเบอร์ไม่เคยละทิ้งสายตาจากภาพรวมใหญ่ จึงให้ความสนใจกับการปะติดปะต่อความจริงที่เป็นเศษเสี้ยวต่างๆเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว และอธิบายเชิงวิพากษ์อย่างตรงๆ พุ่งตรงสู่เรื่องราวที่อยู่ในกระแสนิยม เช่น นิเวศวิทยา เรื่องผู้หญิง ฟิสิกส์ และองค์รวม ซึ่งมีลักษณะไม่มาก-ไม่น้อยเกินไป และไม่สับสนปนเปกัน

4. ความเป็นผู้นำทางความคิดอย่างมีศิลปะในการโต้แย้ง (Polemical) เป็นคุณลักษณะทางความเฉลียวฉลาดข้อสุดท้ายของวิลเบอร์ที่งานเขียนซึ่ง Critical เหล่านั้นของเขาไม่ปรากฏว่ามีผลกระทบต่อวัฒนธรรม หรือ วัฒนธรรมรอง (Sub-culture) ใดๆ ทั้งๆที่รวบรวมเอาสรรพเหตุผลอันหลากหลายมาไว้ในแบบจำลองของเขา จะมีผู้ท้วงติงก็เฉพาะเรื่องการอ้างอิงผิดพลาดเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

5. ความเป็นบัณฑิต (Pandit) งานทางปัญญาของวิลเบอร์ ได้จุดประกายความคิดต่อเรื่องราวชีวิตของผู้คนอย่างมาก ดังนั้นวิลเบอร์จึงได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาศาสนา โดยครั้งหนึ่งวิลเบอร์เคยอธิบายลักษณะของตนเองว่าเป็น "นักจิตวิญญาณที่ถูกกฎหมาย แห่งโลกสมัยใหม่" นอกจากปรัชญาแล้ววิลเบอร์ยังสนใจวิทยาศาสตร์ว่าสร้างสรรค์สิ่งใดใหม่ๆออกมาบ้าง แต่ความสนใจดังกล่าวมิใช่เป้าหมายสูงสุดของเขา เพราะในท้ายที่สุดวิลเบอร์เชื่อว่า "จิตใจ คือหลักฐานสำคัญเพียงสิ่งเดียวของจิตวิญญาณ" (Spirit is only evidence for Spirit)

6. ความเป็นนักปราชญ์ (Guide) แม้ว่าวิลเบอร์จะไม่ต้องการให้ใครๆเรียกว่า "นักปราชญ์" แต่บางส่วนของงานเขียนของวิลเบอร์ก็มีลักษณะของการสอน การแนะนำอย่างมีคุณภาพไปด้วยในลักษณะเดียวกับการสอนธรรมะ

7. ความเป็นผู้เข้าถึงฌาณสมาบัติ (Mystic) ส่วนที่ลึกที่สุดของงานเขียนของวิลเบอร์ ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อเขาอธิบายประสบการณ์การปฏิบัติส่วนตัว จากการที่เขาสามารถเขียนเรื่องราวต่างๆได้อย่างสบายๆโดยปราศจากความตึงเครียดกดดันใดๆและเขียนได้อย่างถูกต้องชัดเจน เพราะนั่นคือจุดยืนของเขาเอง แต่สำหรับผู้อ่านแล้วจะรู้สึกราวกับว่าตัวอย่างเหล่านั้นที่ถูกหยิบยกขึ้นต่างก็ตรงกับเรื่องราวที่พวกเขาอยากรู้เลยทีเดียว นับเป็นความสามารถทางจิตวิญญาณของเขาที่เข้าถึงความลึกลับแห่ง "ชุดความจริง" ของสรรพสิ่งได้อย่างปราศจากข้อสงสัย

ด้วยคุณลักษณะต่างๆของวิลเบอร์ที่กล่าวถึงนี้ทำให้มองเห็นภาพ "ผลิตภาพทางความคิด" (Productivity) อันได้แก่งานเขียนต่างๆของเขาว่าจะมีความชัดเจน ถูกต้อง ละเอียดละออ หลอมรวมเอามิติแห่งความกว้างและความลึกไว้พร้อมสรรพเพียงใด

 

แนวความคิด เรื่อง "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" ของ เคน วิลเบอร์


โฮ-ลอน(cited in Wilber, Ken.<http://members.ams.chello.nl/f.visser3/ Wilber/ holons.html>, 13 September 2001) เป็นแก่นแนวคิดของ อาเธอร์ โคลสเลอร์ (Arthur Koestler) ซึ่งวิลเบอร์ขอยืมมาใช้ในปรัชญาของเขา สาระสำคัญของแนวคิดนี้ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เป็นเพียง 'ทั้งหมด' (whole) เท่านั้น แต่ยังเป็น 'ส่วนหนึ่ง' (part) ของ 'ทั้งหมดที่ใหญ่กว่า' (a large whole) เรียกว่า "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" (part/whole) หรือ "โฮ-ลอน" (hol-on) ด้วย (Everything is not only a whole, but also part of a larger whole, so a 'part/whole' or 'hol-on' is a part of other wholes)

"โฮ-ลอน" (holon) ไม่เพียงแต่ใช้ได้จริงสำหรับการอธิบายเรื่องทางอินทรียภาพ คือ อะตอม >โมเลกุล >ระบบอวัยวะ >ร่างกายมนุษย์ ว่าเป็น "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" ของสิ่งที่ใหญ่กว่าเท่านั้น ยังสามารถใช้อธิบายเรื่องราวของสิ่งที่มิใช่อินทรียภาพได้ด้วย เช่น ตัวอักษรในคำ >คำในประโยค >ประโยคในหน้ากระดาษ >หน้ากระดาษในหนังสือ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเป็นองค์รวมทั้งระบบ และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับระบบอื่นๆที่เป็น 'ทั้งหมดที่ใหญ่กว่า' เป็นลำดับชั้น

วิลเบอร์ นำ "โฮ-ลอน" มาใช้อธิบายว่าในเรื่อง เพศ ระบบนิเวศ จิตวิญญาณ และโครงสร้างของจิตของมนุษย์ (Human conscious) ต่างสามารถมองในมิติแบบ "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" ได้โดยใช้ "จตุรภาคของมนุษย์" (Four aspects or quadrants in Humans) คือ

1. ด้านในของปัจเจกบุคคล :จิตสำนึกในการใคร่ครวญ ยับยั้งชั่งใจ (Inner-individual: introspective consciousness) คือ สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของปัจเจกบุคคล

2. ด้านนอกของปัจเจกบุคคล:พฤติกรรมที่แสดงออกและสังเกตเห็น (Outer-individual: observation behavior) คือ สิ่งซึ่งปัจเจกบุคคลแสดงพฤติกรรมที่ปรากฏให้เห็นภายนอกจิตใจ

3. ด้านในของกลุ่ม :บริบทวัฒนธรรม ความเชื่อของกลุ่ม (Inner-collective: our cultural beliefs) คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งมีอิทธิพลครอบงำต่อปัจเจกบุคคลภายในกลุ่มวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของผู้คน

4. ด้านนอกของกลุ่ม :บริบทสังคมที่อาศัยอยู่ (Outer-collective: the society we live in) คือ สิ่งที่เป็นระบบ (System) กลไก (Mechanism) ที่ปรากฏอยู่ในสังคมส่วนรวมภายนอกปัจเจกบุคคล (ดูภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 แสดง "จตุรภาคของมนุษย์" หรือ "Four aspects or quadrants in Humans" ของเคน วิลเบอร์





แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ทุกสรรพสิ่งจะสามารถวิเคราะห์ได้ 4 ด้าน หรือมิใช่ "โฮ-ลอน" ทั้งหมดจะมีลักษณะทั้ง 4 ด้านรวมกันเสมอไป บางสิ่งก็มีลักษณะเพียงบางด้านเท่านั้น ซึ่ง วิลเบอร์ ได้จัด "โฮ-ลอน" เป็นสองกลุ่ม คือ

- "โฮ-ลอน" ระดับปัจเจกบุคคล (Individual Holon) กับ
- "โฮ-ลอน" ระดับสังคม (Social Holon)

ในเรื่องการแบ่งประเภทของ "โฮ-ลอน" นี้ เฟรด ค็อฟแมน (Fred Kofman, cited in <http//www.Wilber.shambhala.com>,2001) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เบิร์กเลย์กล่าวถึงการสนทนากับวิลเบอร์ เรื่อง "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด"
"กอง" และ "สิ่งประดิษฐ์" (Holon, Heaps and Artifacts) ว่า ในการวิเคราะห์เรื่องที่ว่า "ทั้งหมดเป็น 'ส่วนย่อย' ของ 'ส่วนที่ใหญ่กว่า' ไปพร้อมๆกัน" ว่า วิลเบอร์ไม่ได้แยกแยะระหว่าง "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" ที่สามารถมีความรู้สึกนึกคิดได้ หรือ "sentient holon" กับ "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" ที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด หรือ " non-sentient holon" ไว้ชัดเจนนัก เช่น

- จากกรณีตัวอย่างแรกข้างต้นในเรื่อง อะตอม โมเลกุล เซล ฯลฯ และ กาแล็กซี โลก ระบบนิเวศ เผ่าพันธุ์ ฯลฯ ถูกเรียกอย่างง่ายๆว่า "โฮ-ลอน" (Holons)

- ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีสิ่งน่าสนใจเป็นพิเศษในแง่มิติของความลึกหรือด้านในของสิ่งนั้นหรือกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง ถูกเรียกว่า "สิ่งประดิษฐ์" (Artifacts) เช่น รถยนต์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ และบ้างก็เรียกว่า "กอง" (heaps) เช่น หิน เนินทราย ฯลฯ ใน SES (Sex, Ecology, Spirituality-งานอีกชิ้นหนึ่งของ วิลเบอร์) วิลเบอร์ เน้นการกล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่าง "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด" และ สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ-กับ-ธรรมชาติของการลดหลั่นเป็นลำดับชั้นจึงทำให้นัยเงื่อนไขเกี่ยวกับ "โฮ-ลอน" (holon) กับ "ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด ที่สามารถมีความรู้สึกนึกคิดได้" (sentient holon) มีความสับสนเล็กน้อย ซึ่งภาพดังกล่าวจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นถ้าจัดแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยจะมีลักษณะ ดังนี้


ภาพที่ 2 แสดงลักษณะของ "โฮ-ลอน" (Holons)



 


อย่างไรก็ตามวิลเบอร์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดแบ่ง "โฮ-ลอน" ออกเป็น 4 ส่วน เนื่องจากลักษณะสองส่วนหลังเป็นลักษณะที่ไม่มีสิ่งที่อยู่ด้านใน (inner) หรือมิติแห่งความลึก จึงไม่มีนัยสำคัญที่จะวิเคราะห์เจาะลึกต่อไปแต่อย่างใด



ชุดความจริงเกี่ยวกับ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก"
(Series of Truth in the Mainstream Criminal Justice Process)

เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง การเกิดขึ้น เจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู ตั้งอยู่ แล้วดับไปของ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก" ในแต่ละยุคสมัยก็มีลักษณะเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ หรือ "สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น" (Artifact) ซึ่งเข้าข่ายในกลุ่มที่สามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้ทฤษฎีเดียวกันกับการวิเคราะห์ "ธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง" อื่นๆเช่นกัน

กระบวนการยุติธรรม: แนวคิด นิยาม ความหมาย
สังคมทุกสังคมต่างมีระเบียบแบบแผนธรรมเนียมปฏิบัติและบรรทัดฐานความประพฤติไว้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับสมาชิกของตนเอง ขณะเดียวกันสังคมได้กำหนดบทบังคับโทษรูปแบบต่างๆไว้ตอบโต้ต่อต้านหรือปฏิบัติต่อผู้กระทำการล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำผิดอีกโดยใช้ควบคู่กับการยกย่องชมเชยและให้รางวัลต่อพฤติกรรมที่พึงปรารถนาของสังคม ดังนั้น กลไกของสังคมที่รับผิดชอบต่อการบังคับใช้กฎหมายจึงเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่าย โดยเรียกว่า "กระบวนการยุติธรรม" (Criminal Justice Process) หรือ "
ระบบงานยุติธรรม" (Criminal Justice System)

ในแง่ของสังคมวิทยาจะมองความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ประสงค์จะศึกษากับสังคมในภาพรวมกว้างๆที่เป็นภาพครบวงจรทั้งระบบสังคม ดังนั้นระบบงานยุติธรรมทางอาญาจึงมีองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการที่สัมพันธ์สอดคล้องกัน คือ

1) ผู้กระทำผิด (Offender)

2) เหยื่ออาชญากรรม (Victim)

3) หน่วยงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และหน่วยปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในชุมชน (Community Based Program) และ

4) สังคม (Society) ซึ่งหมายถึง ประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตามระบบงานยุติธรรมทางอาญาที่มีองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ดังกล่าวในสังคมแห่งหนี่งๆอาจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอกได้ (Outside Influence) ขณะเดียวกันองค์ประกอบทั้งระบบดังกล่าวที่ได้กระทำกิจกรรมใดๆขึ้น ล้วนมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายนอกสังคมนั้น (Inference to Outside) เช่นกัน


จุดเปลี่ยนแห่งกระบวนการยุติธรรมไทย

คนไทยส่วนใหญ่มีครอบครัวและระบบการผลิตทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีความสัมพันธ์ในชุมชนแบบเป็นเนื้อเดียวกัน (Homogenous) แม้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะมีการติดต่อกับตะวันตกก็ตาม แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ที่จำกัดในวงแคบ เฉพาะกลุ่มผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆในเขตเมืองหลวงเท่านั้น มิได้แผ่ขยายครอบคลุมทั่วประเทศเช่นในปัจจุบัน และเรื่องที่ติดต่อกันส่วนใหญ่เป็นเรื่องค้าขายและเผยแพร่ศาสนามากกว่าเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองหรืออุดมการณ์ใดๆ ทั้งนี้อาจเนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ช่วงเดียวกัน คือ ช่วงที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ดังนั้นแนวคิดทางการเมืองจึงไม่แตกต่างกัน

แต่สภาพความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสังคมไทยยังมีการพัฒนาไปตามรูปแบบเดิมอย่างช้าๆตามหน้าประวัติศาสตร์ ขณะที่ตะวันตกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจของสังคมตะวันตกพัฒนาจากระบบการผลิตแบบเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในตะวันตกไปสู่ระบอบประชาธิปไตย "นั่นคือจุดเปลี่ยนของสังคมตะวันตก" ที่มีผลกระทบต่อโลกทัศน์ชีวทัศน์ และค่านิยม โดยเฉพาะในทางนิติปรัชญาที่เน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมในการปกครองเป็นสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เส้นทางการพัฒนาสังคมตะวันตกแตกต่างและก้าวล้ำทิ้งห่างไปจากตะวันออกอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น เมื่อชาวตะวันตกมาติดต่อค้าขายกับไทยสมัยปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์จึงเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการคลี่คลายของโครงสร้างสังคมแบบจารีตประเพณีมาเป็นสังคมสยามสมัยใหม่อย่างทันทีทันใด และแม้แต่ระบบกฎหมายการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่เปลี่ยนแปลงไปก็ยังหาได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยไม่ ตัวโครงสร้าง องค์การในรูปของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จึงเป็นการนำโครงสร้างระบบกฎหมายและการยุติธรรมของตะวันตกมาสวมใส่ในวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจระบบ รูปแบบ และวิธีการเหล่านั้นอย่างชัดเจน โดยเรารับเอากระบวนวิธีการพิสูจน์ความผิดแบบตะวันตกมาใช้ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกับแนวความคิดในเรื่องความรับผิดชอบตามกฎหมายธรรมชาติของชาวตะวันตกที่เน้นหนักเรื่อง "สิทธิ" (Clifford, W. อ้างถึงในอภิรัตน์ เพ็ชรศิริ, 253 :629) ขณะที่สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมว่าเป็นกระบวนวิธีพิสูจน์ความผิดบาปที่ผู้ทำย่อมได้รับผลกรรมจากการกระทำของตนไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ความรับผิดชอบต่อสังคมตามธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของไทยมีลักษณะเน้นหนักที่ "หน้าที่" โดยเฉพาะการเข้ามีส่วนร่วมกับกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ดังนั้นเมื่อมีการนำอุดมการณ์ตะวันตกที่เน้นสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย มาใส่ในโครงสร้างสังคมไทยที่ยังมีชนชั้น มีการเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น และมีจารีตประเพณีที่เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมสังคมอยู่เดิม จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีแก่นรากลึกซึ้ง จิตวิญญาณ พฤติกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนทั่วไปยังเกาะเกี่ยวกับกระบวนคิดแบบเดิม โครงสร้างของระบบต่างๆที่สร้างขึ้นไม่เคยมีบทบาทในฐานะเป็นพื้นฐานแนวคิดแห่งโครงสร้างสังคมและแม่แบบวัฒนธรรมด้านความยุติธรรมแต่อย่างใด สังคมไทยจึงต้องจ่ายด้วยราคาแพงให้กับค่าของการเปลี่ยนแปลงแห่งจุดเปลี่ยนของกระบวนการยุติธรรมไทยมาจนทุกวันนี้

นับเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปฏิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยใหม่ จาก "กฎหมายตราสามดวง" เป็น "กฎหมายตามแบบอย่างคำสอน Jurisprudence ของ John Austin" ซึ่งแพร่หลายในอังกฤษ โดยที่ พระองค์เจ้าระพี (อ้างถึงในปรีดี เกษมทรัพย์, 2543, น.242-243) อธิบายว่า "กฎหมายนั้นคือข้อบังคับของผู้ซึ่งมีอำนาจในบ้านเมือง เมื่อผู้ใดไม่กระทำตามแล้วต้องโทษ" และ "กฎหมาย" เป็นคนละเรื่องกับ "ศีลธรรมหรือความยุติธรรม" แยกออกจากกันเด็ดขาดไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้รัฐโดดเด่น มีอำนาจกฎหมายรองรับและแยกออกมาจากสังคม จารีตประเพณีและหลักธรรมนิยมและมีอิทธิพลต่อความคิดทางกฎหมายของไทยในปัจจุบัน ทั้งยังมีเปลี่ยนแปลงการดำเนินกระบวนการสืบสวนสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดีใหม่จากระบบไต่สวน (Inquisitorial System) โดยจารีตนครบาลที่ใช้วิธีการโหดร้าย รุนแรง มาเป็นระบบกล่าวหา(Accusatorial System) ดังที่ว่า "กระบวนวิธีพิจารณาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้น ศาลจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวหาจนกว่าจำเลยจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ตามระบบจารีตนครบาล" (กรรมาธิการการบริหารและการยุติธรรม วุฒิสภา, 2539, น. 8) การเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวจึงสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่ "รัฐสมัยใหม่" แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ระบบสังคมและเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้มีพื้นที่สาธารณะบางส่วนที่รัฐไม่สามารถก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชนได้ อีกทั้งกฎหมายที่รัฐสมัยใหม่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการสังคมก็มีลักษณะที่ปรีดี เกษมทรัพย์ (2523, น. 381) เรียกว่า "มีอำนาจสิทธิขาดและสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่ต้องอยู่ใต้อาณาเขตข้อจำกัดของศีลธรรม ความยุติธรรม หรือสิ่งอื่นใด" ทำให้กฎหมายของรัฐสมัยใหม่มีผลกระทบตามมา 4 ประการ คือ


- ยกย่องว่า "รัฐ" มีอำนาจสูงสุด ไม่อยู่ใต้กฎเกณฑ์ใดทั้งสิ้น

- เมื่อกฎหมายเป็นเรื่องของคำสั่ง ทำให้กฎหมายเป็นเรื่องของ "อำนาจ" แทนที่จะเป็นเรื่องของ "ความถูก-ผิด ความชอบธรรม-ความไม่ชอบธรรม ความยุติธรรม

-ความไม่ยุติธรรม" เพราะ "คำสั่ง" นั้นจะต้องเป็นของ "ผู้มีอำนาจเหนือ" สามารถที่จะบังคับผู้อยู่ใต้อำนาจให้ "จำใจ" ที่จะต้องปฏิบัติตามเจตจำนงของผู้มีอำนาจ

- ผู้สั่งจะสั่งอย่างไรก็ได้ตามอำนาจที่มี แต่ "กฎหมาย" จะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาได้

- กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากศีลธรรม ดังนั้น "ความยุติธรรมตามกฎหมาย" อาจ "ไม่เป็นธรรม" ก็ได้

วิธีการคิดดังกล่าวทำให้ กฎหมายกลายเป็นเรื่องของอำนาจที่แยกตัวออกจาก "ความยุติธรรม ความชอบธรรม และศีลธรรม" อันดีงาม ดังนั้นถึงแม้ว่าการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีคุณอนันต์ต่อการธำรงเอกราชของชาติไทย แต่นับได้ว่าเป็น จุดเปลี่ยนแห่งกระบวนการยุติธรรมไทยครั้งใหญ่ที่เข้าสู่ยุคสมัยของการคิดแบบแยกส่วนอย่างเต็มรูปในช่วงเวลาต่อมาเป็นเวลานับร้อยปี

 

แนวความคิดแบบ "แยกส่วน" ในกระบวนการยุติธรรม

พร้อมๆกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แพร่ขยายข้ามโลก ครอบโลก ปรัชญาวิทยาศาสตร์แบบเดส์คาตส์-นิวตันที่คิดแบบแยกส่วนและกลไกได้เบียดแทรกเข้าไปในทุกสรรพศาสตร์ ทุกวงการทั้งทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ทั้งหมด เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา รวมทั้งระบบคิดในกระบวนการยุติธรรมด้วย ความคิดแบบ "แยกส่วน" และมองเห็นทุกสรรพสิ่งเป็น "วัตถุ" แผ่ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำความคิดเชิงสัมพันธภาพของสรรพสิ่งอย่างสิ้นเชิง บดบังสายตาผู้คนให้มองเห็นสรรพสิ่งเพียงเศษเสี้ยว โดยไม่เห็นถึงมิติสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่สรรพสิ่งมีต่อกันไปอย่างน่าเสียดาย วิธีคิดแบบแยกส่วนจึงทำให้การป้องกันอาชญากรรม การดำเนินกระบวนการสอบสวนฟ้องร้อง พิจารณาคดี และลงโทษผู้กระทำผิด ถูกแยกไว้เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และแยกออกจากประชาชนด้วย โดยอ้างเหตุผลสนับสนุนว่าเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกัน (Check and Balance)

สำหรับสังคมไทยแล้ว จากจุดเปลี่ยนแห่งพระธรรมศาสตร์และกระบวนการยุติธรรมเดิมมาเป็นกฎหมายและรูปแบบกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งกำหนดโดยฝ่ายนิติบัญญัตินี้ ทำให้เกิดผลกระทบตามมาดังที่กิตติศักดิ์ ปรกติ (2540, น. 35) อธิบายไว้ คือเกิดลัทธิแยกส่วนในงานยุติธรรมขาดการเชื่อมโยงทั้งในแง่องค์กรความคิดและในแง่บุคลากร แยกสถาบันอัยการ ทนายความ ตำรวจ ราชทัณฑ์ กฤษฎีกา มหาวิทยาลัยออกจากกัน ระบบจึงขาดเอกภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้สอดประสานกันได้ ผลกระทบดังกล่าวปรากฏรูปร่างของปัญหาชัดเจนขึ้น เมื่อปริมาณคดีความในปัจจุบันทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเพิ่มของประชากรนั้นแต่ละหน่วยต่างก็พยายามทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะหน่วยงานของตนโดยไม่พยายามรับรู้และรับผิดชอบต่อผลลัพท์ของกระบวนระบบงานยุติธรรมทั้งระบบ รวมทั้งสังคมและประชาชนว่าจะเป็นอย่างไร หรือแม้จะรับทราบแต่ก็ผลักภาระรับผิดชอบดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่อยู่ตรงกลาง หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับ Superstructure เป็นผู้แก้ไข เพราะแต่ละหน่วยงานต่างมีอำนาจขอบข่ายความรับผิดชอบเพียงเศษเสี้ยวเฉพาะส่วนที่ถูกแยกออกมาเท่านั้น ประกอบกับระบบการเมืองที่ขาดเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลเลือกแก้ปัญหาที่ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสำคัญ ปัญหาอันเกิดจากความเจ็บป่วยของสังคม ความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมจึงถูกปล่อยทิ้งไว้ และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน ภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ของกระบวนการยุติธรรมกับสังคมจึงมีลักษณะแยกส่วนออกจากกัน ดังนี้


ภาพที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ของกระบวนการยุติธรรม สังคม และอาชญากรรม



 

การแยกกระบวนการยุติธรรมของรัฐออกจากสังคมและประชาชน

การระวังรักษาความปลอดภัยในสังคมไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในสังคมมาแต่โบราณกาล หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงชัดว่าการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมนั้นเป็นความรับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่นแต่ละชุมชนโดยอาศัยกฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราไว้เป็นหลัก เช่น การที่ประชาชนเป็นผู้ดำเนินกระบวนการฟ้องร้องคดีเองตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา และแม้แต่ครั้งสมัยรัชการที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการปรับปรุงกฎหมาย 3 เส้น 15 วา ที่มีมาแต่เดิมให้เป็นกฎหมาย 5 เส้นแทน เป็นการแสดงถึงความผูกพันของประชาชนชาวไทยในสมัยก่อนต่อภาระหน้าที่ในการช่วยกันดูแลครอบครัว ชุมชน และเพื่อนบ้านให้อยู่ในระเบียบของกฎหมายบ้านเมืองร่วมกัน ไม่มีการแบ่งขอบวงหน้าที่ของข้าราชการกับราษฎรแยกขาดจากกันอย่างในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องจากจำนวนประชากรในสมัยนั้นๆยังมีไม่มากนักเช่นเดียวกับจำนวนข้าราชการ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเกื้อกูลช่วยเหลือกัน ส่วนผู้เป็นหัวหน้าในการป้องกันและปราบปรามระดับตำบลและหมู่บ้านได้แก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็คือ ราษฎรนั่นเอง ต่อมาเมื่อระบอบการปกครองได้รับการพัฒนามากขึ้นและมีการยอมรับคติที่ว่า รัฐบาลเป็นผู้ที่ประชาชนมอบหมายให้พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน หน้าที่ในการรักษาความสงบและปลอดภัยในสังคมจึงได้รับการโอนไปสู่รัฐบาล ทำให้หน่วยงานของรัฐหรือส่วนราชการ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลายเป็นผู้รับผิดชอบไปจนเกือบจะสมบูรณ

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดผลกระทบสำคัญ 2 ประการ ประการหนึ่งก็คือ ประชาชนมีบทบาทในการรักษาความสงบและปลอดภัยในสังคมน้อยลงหรือไม่มีเลย และรู้สึกว่ามิใช่ธุระของตน หากเป็นของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงผลักภาระในการรักษาความสงบและปลอดภัยไปให้เจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจและฝ่ายปกครอง คดีความบางประเภทเป็นเรื่องที่สามารถไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทกันได้ในชุมชนกลับไม่มีใครจัดการเพราะไม่ได้รับมอบหมาย และเข้าใจว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน ผลักภาระไปให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการชี้ขาด เสียเงินทอง เสียเวลาทั้งของรัฐและประชาชนเป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือเจ้าหน้าที่ต้องรับภาระหนักทั้งๆที่จำนวนและความสามารถจำกัด การทำงานของเจ้าหน้าที่จึงมิได้ผลสมความต้องการ ทั้งของประชาชนและของเจ้าหน้าที่เอง อีกประการหนึ่ง เมื่อมีความรู้สึกเช่นนั้นเกิดขึ้น ประชาชนและเจ้าหน้าที่ห่างเหินกันและกัน ความห่างเหินทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ขาดผู้ควบคุมดูแลและเมื่อเผชิญกับความเย้ายวนรูปต่างๆเจ้าหน้าที่ซึ่งโดยหลักการและกำเนิดเป็นผู้ที่ควรจะให้บริการประชาชน ก็หันไปสนองความเย้ายวนเหล่านั้น ยิ่งห่างประชาชนออกไปเท่าใด โอกาสที่จะกลายเป็นทรราชหรือทุจริตหรือทั้งสองอย่างก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

การเสื่อมสลายของความรู้สึกผูกพันของประชาชนต่อพันธกิจในกระบวนการยุติธรรมและการป้องกันอาชญากรรมภายหลังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงอยู่ตรงประเด็นที่ว่า ไม่มีการสานต่อในเรื่องการให้ความรู้ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ทำให้ตำรวจเข้ามาทำหน้าที่ของรัฐในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้กับสังคมอย่างเป็น "รูปแบบ" และ "ทางการ" ในบทบาทของ "ผู้มีอำนาจเหนือกว่า" ขณะที่ประชาชน เป็นเพียง "ผู้รับบริการด้านการอำนวยความยุติธรรม" จากภาครัฐอย่างชัดเจนในฐานะที่เป็นรอง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เดิมประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้เองต่อมาได้ปรับเปลี่ยนการฟ้องร้องดำเนินคดีให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการแทน แม้ประชาชนจะยังคงมีสิทธิในการฟ้องคดีเองอยู่แต่ก็ถูกจำกัดให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ย่อมก่อให้เกิดความสับสนในบทบาทการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างรัฐกับสังคมต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ (จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, 2544, น. 88-89)


"คดีล้นศาล คนล้นคุก" ภาพปัญหาที่ปรากฏในปัจจุบัน

จากงานวิจัยของจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (2541) เรื่องทิศทางการวางแผนกำลังคนเพื่อรองรับการอำนวยความยุติธรรมในทศวรรษหน้า (2541-2550) พบว่าปัญหาคดีความที่เกิดขึ้นและรอรับการแก้ไขในปัจจุบันมีลักษณะที่เรียกว่า "คดีล้นศาล คนลันคุก" สรุปผลการวิจัยได้ว่า ปริมาณคดีแพ่งและคดีอาญาที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลทั่วราชอาณาจักร ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ภาค 1-3 และศาลฎีกา ในช่วง 10 ปี ข้างหน้า คือระหว่าง พ.ศ. 2541-2550 นั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน จำนวนร้อยละ 45 ถึงร้อยละ 180 หรือประมาณ 1,710,273 คดี (ณ สิ้นปี 2540 มีปริมาณคดีทั้งศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีการวมกันทั้งสิ้น 885,693 คดี)

ขณะที่ปริมาณคดีหลั่งไหลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นแต่เวทีของ "กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี" มีเท่าเดิมคือมีอยู่อย่างจำกัดทั้งในด้านเวลาและกำลังคน ทำอย่างไรประชาชนจะยังคงได้รับความยุติธรรมที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเช่นเดิมซึ่งที่จริงควรจะดีกว่าเดิม เนื่องจาก "การให้ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม" หากว่าปริมาณคดีและประเภทคดีที่เข้าสู่ศาลยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามข้อมูลที่งานวิจัยได้ฉายภาพให้เห็น และกระบวนงานศาลยุติธรรมยังคงใช้ระบบ รูปแบบ และวิธีการเช่นเดิมแล้ว ประชาชนคงจะเป็นฝ่ายที่ต้องอดทนและรอคอยการแบ่งสรรปันส่วนความยุติธรรมมากขึ้นกว่าเดิม และเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ตั้งรับอยู่ปลายทางของปัญหาสังคมจึงไม่อาจปฏิเสธไม่รับดำเนินการคดีความใดๆที่เกิดขึ้นได้ แต่หากหน่วยงานปลายเหตุของปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการวิเคราะห์ภาพรวมที่ถูกต้องและจัดกระบวนงานให้ดีหรือไม่เหมาะสมที่จะทำการดังกล่าวแล้วก็จะทำให้เกิดปมปัญหาสังคมปมใหม่ตามมาในรูปของการกระทำผิดซ้ำ กลับคืนไปประทุษร้ายสังคมวนเวียนซ้ำซากเช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น และผลผลิตที่ผ่านออกมาจากกระบวนการยุติธรรมในลักษณะนี้จัดว่าเป็นผลผลิตที่ชำรุด บกพร่อง ใช้การไม่ได้ดีเมื่อกลับคืนสู่สังคมทำให้การทำงานของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบที่ลงทุนลงแรงกับสิ่งเหล่านี้เป็นอันสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

ข้อมูลจากงานวิจัยและจากการศึกษาค้นคว้าข้างต้นเหล่านี้ วิเคราะห์ได้ว่า มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมคือการขาดดุลยภาพ เพราะปรากฏการณ์ "คดีล้นศาล คนล้นคุก" แสดงถึงอาการของปัญหาที่ไม่สมดุลกันของโครงสร้างส่วนบน ระบบ รูปแบบ ความสัมพันธ์ และวิธีการผลิตความยุติธรรมแก่สังคมที่มุ่งแยกส่วนหน่วยงานต่างๆออกจากกัน (ซึ่งเรียกกันว่า 'การดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี') ของ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก" ที่ใช้มากว่า 100 ปี รวมทั้ง "กฎหมาย" ที่เป็นเครื่องมือทางอำนาจของผู้ปกครองที่แยกออกจากความยุติธรรม ความถูกต้องชอบธรรม และศีลธรรม ว่าเริ่มจะมีปัญหา ล้าสมัย ต้องการการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ โดยใช้ทฤษฎีระบบกระบวนการซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสตร์แห่งชีวิตทั้งหมดเป็นตัวตั้งแทนใช้ "สถาบัน" เป็นตัวตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ "กระบวนการยุติธรรม" สามารถใช้กฎหมายในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและสร้างความสมานฉันท์ให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง

 

 

วิเคราะห์ "กระบวนการยุติธรรม" ในมิติของ Holons
(Analysis Criminal Justice Process by Holons)

เมื่อนำ Holon ตามแนวคิดของเคน วิลเบอร์ มาวิเคราะห์ "กระบวนการยุติธรรม" พบว่า "กระบวนการยุติธรรม" มีลักษณะเป็น Holon ชนิด Sentient ประเภท Social คือสังคมที่มีลักษณะ 'ส่วน/ทั้งหมด' ดังนี้คือ

คน (อาชญากร/ผู้เสียหาย/ผู้ต้องขัง/พยาน/พนักงานเจ้าหน้าที่/ผู้พิพากษา)

หน่วยงาน (ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ทนายความ และ คุมประพฤติ)

องค์รวมกระบวนการยุติธรรม (มีลักษณะเป็นนามธรรมไม่มีรูปธรรมปรากฏ)

สังคม

กล่าวได้ว่า ส่วนต่างๆของกระบวนการยุติธรรมต่างประกอบกันในลักษณะที่แต่ละส่วน (part) มีความสมบูรณ์ (whole) ในตัวเอง และขณะเดียวกันแต่ละส่วนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ Bigger whole ที่ใหญ่กว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อมีมิติสัมพันธ์ต่อกันในทาง "คดีความ" เกิดขึ้นซึ่งมิติสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้คนในสังคมกลายมาเป็น "ผู้รับบริการของกระบวนการยุติธรรม" ซึ่งเป็นส่วน (part) ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ-อัยการ-ศาล-ราชทัณฑ์ และกลับออกมาสู่ชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของตน ซึ่งชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการเกิดอาชญากรรมในวงกว้างร่วมกัน เป็นลำดับชั้นไป


จากองค์ประกอบของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว สามารถอธิบายและจำแนกเข้าสู่ โฮ-ลอน ลักษณะต่างๆได้ดังนี้

องค์ประกอบของกระบวนการยุติธรรม
คน (อาชญากร/ผู้เสียหาย/ผู้ต้องขัง/พยาน/พนักงานเจ้าหน้าที่/ผู้พิพากษา)
หน่วยงาน (ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ทนายความ และ คุมประพฤติ)


องค์รวมกระบวนการยุติธรรม (มีลักษณะเป็นนามธรรมไม่มีรูปธรรมปรากฏ)
สังคม

วิเคราะห์เข้าลักษณะของโฮ-ลอน
เป็นโฮ-ลอนประเภทปัจเจกบุคคล (Individual Holon) เพราะเป็นองค์รวมของอินทรีย์วัตถุรูปแบบหนึ่ง
เป็นโฮ-ลอนประเภทสังคม (Social Holon) เพราะเป็นแบบแผน (patterns) ขององค์การที่โฮ-ลอนประเภทปัจเจกบุคคล เป็นสมาชิก หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์
เป็นโฮ-ลอนประเภทสังคม เพราะเป็นสถาบันที่รวมขององค์การย่อยๆ คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ฯลฯ
เป็นโฮ-ลอนประเภทสังคม ที่มีลักษณะเป็นระบบที่มีความซับซ้อน

 


อนึ่ง การศึกษาวิเคราะห์ "กระบวนการยุติธรรม" โดยมองในลักษณะ ส่วน/ทั้งหมด(part/whole) ดังกล่าวช่วยขยายขอบข่ายความคิดและมุมมอง "กระบวนการยุติธรรม" ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมและเกิดผลดีดังนี้

ประการแรก ลบภาพความคิดที่ผิดพลาดอันเนื่องจากกระบวนทัศน์ของเดส์คาตส์-นิวตัน ที่ทำให้เกิดความคิดแบบแยกส่วนในกระบวนการยุติธรรมออกไป โดยแต่เดิมมีการแยกระบบความยุติธรรมของรัฐออกจากระบบความยุติธรรมของประชาชน แยกกระบวนการยุติธรรมของรัฐออกจากสังคม แยกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมออกเป็นส่วนๆ และใช้ความเป็นสถาบันที่มีอำนาจรัฐหนุนหลังในการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของผู้ให้บริการด้านความยุติธรรมต่อประชาชนผู้รับบริการ โดยทำให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นเพียง "ส่วนหนึ่งของความยุติธรรมในสังคม" ที่ปรากฏในรูปของ "สถาบัน" เท่านั้น มิใช่ส่วนทั้งหมด ตามวิธีคิดของ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก" ที่ครอบงำความคิดผู้คนอยู่ในปัจจุบัน


ประการที่สอง เมื่อเห็นภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง (ส่วนหนึ่ง-part) ที่ทำให้ผู้คน "เข้าถึงความยุติธรรมในสังคม" (Access to Justice) ได้นั้น ทำให้เกิดความเข้าใจว่า "ประชาชน" ก็สามารถ "เปิดพื้นที่สาธารณะ" ในลักษณะของ "ประชาสังคม" (Civil Society) เพื่อดูแลการ "เข้าถึงความยุติธรรม" ให้กันเองได้ ในลักษณะของ "กระบวนการยุติธรรมคู่ขนาน" เฉพาะคดีที่สามารถยังให้เกิดการไกล่เกลี่ยประนอมยอมความกันได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้อง "คอยคิว" เพื่อใช้บริการของกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เวลารอคอยนาน สิ้นเปลืองเงินทองค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งๆที่ "คดีล้นศาล คนล้นคุก" ในปัจจุบัน

ประการที่สาม ความสัมพันธ์แบบ โฮ-ลอน เป็นสัมพันธภาพที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มิใช่ "ขาดตอนจากกัน" กระบวนการยุติธรรมก็เช่นกันที่ต้องตระหนักว่า "การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด" ในแต่ละขั้นตอนที่ผ่านกระบวนงานของตนนั้น มิใช่จะเสร็จสิ้นเป็นรายคดีไปตามที่เคยเข้าใจกันมา หรือเสร็จสิ้นลงเมื่อผลักไสคนเหล่านี้ผ่านพ้นกระบวนงานของตนไป เพราะ "คนเหล่านี้" เมื่อพ้นออกจากเรือนจำ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนงานยุติธรรมแล้ว ต่างก็เป็น 'ส่วน' ของ 'สังคมส่วนรวม' ทั้งสิ้น หากแต่ละส่วนมีความชำรุด บกพร่องไม่สมบูรณ์ในการจัดการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมคนเหล่านี้ หรือทิ้งร่องรอยความแปลกแยกให้เกิดกับคนเหล่านี้ องค์รวมของสังคมก็ย่อมมีปัญหา ได้รับผลกระทบวนเวียนไม่รู้จบสิ้นไปด้วยเช่นกัน โดยผลกระทบอาจเกิดจากการส่ง "ผู้กระทำผิด" ที่ยังมิได้ผ่านการขัดเกลานิสัยความประพฤติ (Re-socialization) กลับคืนสู่สังคมแทนที่จะคืนคนดีให้สังคมทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ (Recidivism) เป็นการทำร้ายสังคมซ้ำซาก และในส่วนของชุมชนเองก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อระบบงานที่ล่าช้า ซ้ำซ้อน ปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว เล่นเกมการเมืองระหว่างกันและขาดประสิทธิภาพ นำมาซึ่งการเพิกเฉยต่อการให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ การเป็นพยานศาล การมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม ฯลฯ ตามมา



 

การวิเคราะห์ "พฤติกรรมอาชญากร" (Criminal Behavior)

 

"อาชญากร" (Criminal) หรือ "ผู้กระทำผิด" (Offender) จัดว่าเป็น "ลูกค้า" คนสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่มีผู้กระทำผิด หรือ ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า "การกระทำใดเป็นความผิดตามกฎหมายและผู้กระทำต้องได้รับโทษ" แล้ว ก็จะไม่มีผู้กระทำผิดเกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ และเช่นเดียวกันที่ไม่จำเป็นต้องมี "กระบวนการยุติธรรม" เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอีกต่อไป เพราะไม่มีลูกค้ามารับบริการ

อาชญากร คือใคร?

เสริน ปุณณะหิตานนท์ (2523) ตอบคำถามที่ว่า "อาชญากรคือใคร" ไว้หลากหลายได้แก่

(1) อาชญากร คือ ผู้ที่ประกอบอาชญากรรม ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้กระทำผิดที่ได้กระทำผิดจริง ไม่ว่าจะจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะมีพยานรู้เห็นการกระทำผิดดังกล่าว หรือไม่ก็ตาม แต่ตัวผู้กระทำผิดย่อมรู้ตัวเองว่าตนได้ประกอบอาชญากรรม หรือกระทำผิดกฎหมายใดๆ ลงไป

(2) อาชญากร คือ ผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร แม้ว่า "การตราหน้า" (Labeling) จะกระทำโดยบุคคลอื่นๆในสังคม โดยกระทำต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือเป็นอาชญากรคดีใดคดีหนึ่งก็ตาม แต่ผลแห่งการตราหน้าทำให้คนคิดว่าเขาเป็นอาชญากรไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร จึงมีทั้งอาชญากรตัวจริงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของระบบและกลไกการดำเนินการของสังคม ทั้งๆที่อาจมิใช่อาชญากรตัวจริงหรืออาจกระทำความผิดที่รุนแรงน้อยกว่าข่าวที่ปรากฏต่อสังคมประกอบกัน

(3) อาชญากรเป็นผลผลิตของการตอบสนองทางอารมณ์ที่ประชาชน แสดงออกต่ออันตรายที่อาชญากรรมเกิดขึ้น การสร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วมของคนในสังคม จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย "สื่อ" เป็นตัวกลางในการส่งผ่านข่าวสาร ข้อมูล สร้างและเชื่อมโยงความรู้สึกร่วมของคนในสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันใช้คำว่า "สร้างกระแส" อย่างไรก็ตาม การสร้างกระแสต่อต้านอาชญากรรมเป็นกระแสที่ดีของสังคมที่ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมร่วมกันของคนทั้งสังคม แต่การต่อต้านคนเป็นอาชญากรนั้นย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกตามมาและกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการกลับคืนสูสังคมอีกครั้งสำหรับคนกลุ่มนี้ ในภายหลัง

(4) อาชญากรเป็น Conceptual Abstraction ที่จะแยกคนจำพวกหนึ่งออกมาจากคนทั้งหมดในสังคม หรือในบางส่วนของสังคม กรณีดังกล่าวเป็นการที่สังคมได้ให้บทบาทเพิ่มขึ้นอีกบทบาทหนึ่งแก่อาชญากรที่มีน้ำหนักและความเข้มสูงกว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนโดยทั่วไป

(5) อาชญากร เป็นสถานภาพหนึ่งที่คนอื่นมอบให้ มิใช่ภาวะทางจิต อันที่จริงแล้ว ใครๆ ก็เคยคิดที่จะขโมยของของผู้อื่นหรือคิดจะกระทำผิดในกรณีต่างๆมาบ้างแล้ว เพียงแต่ยังมิได้ลงมือกระทำหรือลงมือกระทำแล้วแต่ไม่ถูกจับได้ ดังนั้น หากผู้ใดถูกจับได้ก็จะได้รับสถานภาพใหม่ตามที่สังคมกำหนดว่าเป็น "อาชญากร" ซึ่งกลับกลายเป็นคำพิพากษาของสังคมกลุ่มที่พยายามจะแบ่งแยกอาชญากรออกจากกลุ่มคนปกติของสังคม โดยใช้บรรทัดฐานที่แต่ละสังคมกำหนดขึ้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม เพื่อที่จะ "ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่คงยึดปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดไม่กล้าประพฤติปฏิบัติแปลกแยกออกไปเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นคนนอกกลุ่มนอกสังคมไป" โดยการกำหนดสถานภาพดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกน่าสะพรึงกลัวขึ้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า อาชญากร คือ บุคคลผู้ถูกกำหนดให้มีสถานภาพเป็นอาชญากรจากการที่เขาได้กระทำในสิ่งที่ผู้มีอำนาจของรัฐและสังคมกำหนดว่าเป็นความผิดที่ต้องได้รับการลงโทษ (Sanction) โดยระบบรูปแบบและวิธีการที่บัญญัติไว้ ส่วน อาชญากรรม ก็คือ พฤติกรรม หรือการกระทำของอาชญากรตามนิยามนี้



วิเคราะห์พัฒนาการทางจริยธรรมของ "ผู้กระทำผิด"

วิลเบอร์ ได้แบ่ง "พัฒนาการทางจริยธรรม" ของบุคคลเป็น 3 ขั้น (อ้างถึงใน สุวินัย ภรณวลัย, 2543, น.128) ซึ่งสามารถอธิบายพัฒนาการทางจริยธรรมได้ครอบคลุมชัดเจน คือ

ขั้นที่ 1 ขั้นก่อนสามัญ (Preconventional) หมายถึงจริยธรรมของมนุษย์แรกเกิดก่อนที่จะรับการขัดเกลาจากสังคม หรือขั้นแบเบาะทางจิต ไม่สามารถใช้เหตุผลได้ ในทางรูปธรรมก็คือ "หลงตัวเอง" (narcissistic) สิ่งที่ตัวเองต้องการคือความถูกต้อง รับรู้โลกได้แค่เชิงผัสสะ ระดับเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน

ขั้นที่ 2. ขั้นสามัญ (Conventional) คือจริยธรรมของมนุษย์เมื่อเข้าสู่สังคมและได้รับการขัดเกลาแล้ว หรือระดับจิตแบบปุถุชนคนสามัญ ในทางรูปธรรมก็คือ ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ สนใจแต่เรื่องปากท้องเฉพาะตัว ไม่สนใจเรื่องของสังคมและโลกในแง่ของการรับรู้ยังยึดติดกับกรอบเกณฑ์ กฎ/หน้าที่อย่างแข็งทื่อตายตัว

ขั้นที่ 3. ขั้นเหนือสามัญ (Postconventional) คือจริยธรรมของมนุษย์เมื่อนำความเป็น "ปัจเจกบุคคล" เข้าสู่สังคมและเกิดการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงความเป็นปัจเจกบุคคลไปจากเดิม หรือหมายถึงระดับทางจิตที่เหนือคนธรรมดาแต่ยังไม่สูงส่งขั้นสุดยอด ในทางรูปธรรมก็คือ มีความรักที่เป็นสากล ห่วงใยโลก มีสติปัญญา มีความเป็นเหตุเป็นผลสูง

กรณี "ผู้กระทำผิด" ที่มีการกระทำความผิดขึ้นนั้น หากจะพิเคราะห์ว่าผู้กระทำผิดมีระดับจริยธรรมอยู่ในขั้นใดตามการจัดแบ่งขั้นพัฒนาการทางจริยธรรมของ วิลเบอร์ นั้น อาจจัดจำแนกได้ในระดับหยาบที่สุดโดยแบ่งผู้กระทำผิดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1 ผู้กระทำผิดที่มีเจตนากระทำ คือ กลุ่มที่กระทำผิดโดยมีแรงผลักดันจากโลภะ โทสะ โมหะสูง เป็นพวกอาชญากรอาชีพ ได้แก่ ลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้นทรัพย์ ฯลฯ ประเภทนี้ จัดว่าเป็น ผู้มีระดับจริยธรรมเพียงขั้นที่ 1 คือ ขั้นก่อนสามัญ

2 ผู้กระทำผิดที่กระทำโดยประมาท ปราศจากเจตนา ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นกับสามัญชนได้ เช่น ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บ หรือ ถึงแก่ความตาย ฯลฯ ผู้กระทำผิดกลุ่มนี้ จัดว่าเป็น ผู้มีระดับจริยธรรมขั้นที่ 2. คือ ขั้นสามัญ
อนึ่ง การจัดจำแนกดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องที่หมายเอา "เจตนา" กับ "ไม่เจตนา" เป็นฐานคติสำคัญในการจัดแบ่งประเภทของผู้กระทำผิด แต่ในความเป็นจริง "ตัวตนของอาชญากร" ที่แสดง "พฤติกรรมการกระทำผิด" ออกมานั้นยังมีมิติที่ซับซ้อนหลายระดับ เช่น มิติทางสังคม/เศรษฐกิจ ปัจเจกบุคคล/กลุ่ม ฯลฯ เป็นต้น โดยการวิเคราะห์อย่างละเอียดในเชิงลึกจะกระทำได้ต้องอาศัยตารางแมททริกซ์หลายมิติ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของอาชญากรในลักษณะบูรณาการอันเป็นเพียงภาพรวมกว้างๆเป็นสำคัญ


การวิเคราะห์ "บุคลิกภาพอาชญากร" โดย "จตุรภาคของสรรพศาสตร์และจักรวาล" (The Four Corners of the Kosmos)

วิลเบอร์ (1996, p.69-83) ได้กล่าวถึงจตุรภาคของสรรพศาสตร์และจักรวาลในหนังสือ A Brief History of Everything ของเขาว่า สรรพสิ่งในโลกสามารถจัดระเบียบจาก "สิ่งที่ไร้ระเบียบสู่ความมีระเบียบ" ลงในตาราง 4 ส่วน (ดูภาพที่ 1) ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ภาพรวมของอาชญากรพบว่า

- ส่วนที่เป็น "จิตของอาชญากร" อยู่ในตาราง "ส่วนบนซ้าย" (The Upper Left) เป็นส่วนที่ครอบคลุมด้านในของบุคคล คือจิตสำนึกในการใคร่ครวญ ยับยั้งชั่งใจ (Inner-individual: introspective consciousness) เป็นสิ่งที่อยู่ภายในใจของผู้กระทำผิด ซึ่งแสดงว่าบุคคลเหล่านี้มีจิตสำนึกและความยับยั้งชั่งใจต่อความผิดบาปที่กระทำอยู่ในระดับต่ำ หรือ สามารถอธิบายตามแนวคิดของ ฟรอยด์ว่า จิตของอาชญากรเหล่านี้อยู่ในระดับที่ใช้ Id เป็นตัวการสำคัญที่มีอำนาจเหนือ "การตัดสินใจ" (Ego) หรือเรียกว่าเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิแทนที่จะเรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตของตนในการใช้มโนธรรม (Superego) มีอำนาจเหนือการตัดสินใจกระทำพฤติกรรมใดๆ

- ส่วนที่เป็น "พฤติกรรมอาชญากร" อยู่ในตาราง "ส่วนบนขวา" (The Upper Right) คือ สิ่งภายนอกปัจเจกบุคคล เป็นส่วนที่ครอบคลุมพฤติกรรมที่แสดงออกและสังเกตเห็น (Outer-individual: observation behavior) ซึ่งพฤติกรรมอาชญากรนั้นเห็นได้ชัดเจนว่ามีการแสดงออกซึ่งการละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่น ในรูปของการ ฆ่า ข่มขืน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฉ้อโกงทรัพย์รูปแบบต่างๆ

- ส่วนที่เป็น "ค่านิยมและวัฒนธรรมของอาชญากร" อยู่ในตาราง "ส่วนล่างซ้าย" (The Lower Left) เป็นส่วนที่ครอบคลุมบริบทวัฒนธรรม ความเชื่อของกลุ่ม (Inner-collective: our cultural beliefs) ซึ่งก็คือ สิ่งที่อยู่ภายในกลุ่ม ได้แก่ วัฒนธรรม ความเชื่อของอาชญากร ซึ่งได้แก่ค่านิยมในทางที่ผิด วัฒนธรรมรองในการกระทำผิดที่ถูกหล่อหลอมขัดเกลาจากครอบครัวที่มีบิดามารดาเป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เช่น ค่านิยมที่ผิดๆแต่แพร่หลายในสังคมไทย ได้แก่ "ซื่อถูกกินหมด ต้องคดจึงจะรวย! ลูกผู้ชายต้อง สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร!" ฯลฯ

- ส่วนที่เป็น "สังคมของอาชญากร" อยู่ในตาราง "ส่วนล่างขวา" (The Lower Right) คือสิ่งที่อยู่ภายนอกกลุ่ม ภายใต้กรอบสังคมที่อาศัยอยู่ (Outer-collective: the society we live in) เป็นส่วนที่ครอบคลุมบริบทสังคมที่บรรดาผู้กระทำผิดเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งมีอิทธิพลใน 3 ระดับ คือ ระดับมหภาค ได้แก่ ความยากจน/ความกลายเป็นเมือง/การแบ่งชนชั้น ระดับสถานการณ์ทางสังคมที่อยู่ระหว่างกลาง ได้แก่ แหล่งเสื่อมโทรมที่อยู่อาศัยของอาชญากร/ถูกไล่ออกจากงาน/ครอบครัวมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนรูปแบบต่าง และระดับความรู้สึกส่วนบุคคลต่อสภาพดังกล่าว ได้แก่ เกิดความคับข้องใจ/ได้รับการขัดเกลามาอย่างบกพร่องผิดพลาดอันนำไปสู่การกระทำผิด ฯลฯ


อนึ่ง วิลเบอร์ (1996, p.138-141) ใช้ Quadrants ทั้ง 4 อธิบายระดับของจิตสำนึกมาตรฐานจากปัจจุบันย้อนครอบคลุมไปในอดีตทั้งหมดในมิติของเวลาซึ่งมิได้ระบุถึงชั้นความลึกแต่วิลเบอร์กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในการวิเคราะห์ "โครงสร้างพื้นฐานของระดับจิตสำนึก" (The Basic Structures of Consciousness) 9 ระดับ จากระดับต่ำสุดถึงสูงสุด ซึ่ง วิลเบอร์ เน้นว่า เรื่องนี้เป็นการพูดถึงเฉพาะส่วนของจิต หรือส่วนที่เป็น บนซ้าย (UPPER LEFT) โดยเฉพาะ ดังนี้

- ขั้นที่ 9 นิรรูป (CAUSAL) เป็นระดับพรหมมัน (Spirit) คือ ระดับที่เข้าถึงความว่างเป็นพื้นฐาน และบูรณาการกับสรรพสิ่งได้อย่างสมบูรณ์

- ขั้นที่ 8 ทิพย์อย่างละเอียด (SUBTLE) เป็นระดับชีวาตมัน (Soul) คือ ระดับที่เข้าถึงความว่างเป็นพื้นฐาน

- ขั้นที่ 7 ทิพย์ (PHYCHIC) เป็นระดับชีวาตมัน (Soul) คือ ระดับที่สามารถรักษาจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้ และมีความว่างเป็นพื้นฐาน

- ขั้นที่ 6 ตรรกะวิสัยทัศน์ (VISION-LOGIC) เป็นระดับจิต (Mind) คือ ขั้นที่สามารถหยั่งรู้หยั่งเห็นวิถีทางที่จะหลอมรวม หรือ บูรณาการเข้ากับสรรพสิ่งได้

- ขั้นที่ 5 การมีปฏิกริยาสะท้อนอย่างเป็นทางการ (FORMAL-REFLEXIVE) (FORMOP) เป็นระดับจิต (Mind) คือ ขั้นที่จิตสามารถเข้าถึงและมีปฏิกิริยาสะท้อนอย่างเป็นทางการได้

- ขั้นที่ 4 การสร้างกฎเกณฑ์เชิงนามธรรม (RULE/ROLE MIND) (CONOP) (ย่อมาจาก concrete operational) เป็นระดับจิต (Mind) คือ ขั้นที่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ที่นำไปใช้ปฏิบัติการได้

- ขั้นที่ 3 สัญลักษณ์และนามธรรม (REP-MIND) (ย่อมาจาก representational mind) เป็นระดับจิต (Mind) คือ ขั้นที่สามารถรับรู้และเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้

- ขั้นที่ 2 แรงกระตุ้นและอารมณ์ (PHANTASMIC-EMOTIONAL) เป็นระดับกาย (Body) คือ ขั้นที่สามารถรับรู้ถึงอารมณ์และสิ่งที่มาเร้าหรือกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้

- ขั้นที่ 1 การรับรู้โดยประสาทสัมผัส (SENSORIPHYSICAL) เป็นระดับวัตถุทางกายภาพ (Matter) คือ ขั้นที่สามารถรับรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือ วัตถุ ได้จากผัสสะทั้ง 5


ภาพที่ 4 แสดงโครงสร้างพื้นฐานของจิตสำนึก (The Basic Structures of Consciousness)


 

จาก โครงสร้างพื้นฐานของระดับจิตสำนึกดังกล่าว วิเคราะห์โดยรวมได้ว่าผู้กระทำผิดหรืออาชญากรมืออาชีพ น่าจะมีจิตสำนึกเพียงระดับ 1 หรือ ขั้นที่ 1 คือ การรับรู้โดยประสาทสัมผัส (SENSORIPHYSICAL) เท่านั้น หรือบางคนก็เพียงระดับ 2 หรือ ขั้นที่ 2 คือรับรู้ถึงแรงกระตุ้นและอารมณ์ (PHANTASMIC-EMOTIONAL) ที่เกิดขึ้นกับกาย (Body) ของตนว่า รัก โกรธ เกลียด ชอบ และกระทำพฤติกรรมเพื่อให้ตนได้รับการตอบสนองความพึงพอใจโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม

ส่วน ผู้กระทำผิดประเภท อาชญากรรมคอเชิ้ตขาว (White-collar crime) น่าจะมีจิตสำนึกบางส่วนพัฒนาถึงขั้นที่ 4 คือจิตสามารถสร้างกฎเกณฑ์เชิงนามธรรม (RULE/ROLE MIND ได้ จึงเข้าใจกฎเกณฑ์สังคมได้ดี สามารถแสดง "บุคลิกภาพ" หรือ Pesona (คือมีการสวมใส่หน้ากาก) และบทบาทตามที่สังคมกำหนดให้แสดงหรือจำเป็นต้องแสดงได้ดี เช่น เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเกียรติยศ ขณะที่อีกด้านหนึ่งของหน้ากากบุคลิกภาพที่แสดงออกคือ "เงา" หรือ Shadow ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ทำให้มีความโลภในทรัพย์สินอยู่มาก และแสดง "ตัวตน" ที่เต็มไปด้วย กิเลสตัณหาอุปาทาน ที่แท้จริงออกมาให้เห็นในที่สุด

 

การคืน "คนดี" สู่สังคม โดย "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ"
(Returned "Good Citizen" to Society by "Integral Criminal Justice Process")

แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่หลักในการลดจำนวนอาชญากรในกลุ่มผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินคดี และมีหน้าที่ในการยับยั้งป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดโดยการจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่จากการที่ทำงานกันแบบแยกส่วนตลอด 100 ปีเศษที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตของกระบวนการยุติธรรมมีลักษณะที่ควรปรับปรุงแก้ไขซึ่งจากการวิเคราะห์กระบวนการยุติธรรมโดยใช้ โฮ-ลอน สามารถสร้างกรอบทัศนะใหม่ (Redesign) ภายใต้แนวคิดนี้ ได้ว่า

- ควรตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นเพียง "ส่วนหนึ่งของความยุติธรรมในสังคม" ที่ปรากฏในรูปของ "สถาบัน" มิใช่ หน่วยงานผูกขาดเพียงหน่วยงานเดียว

- ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ที่มุ่งให้ความสำคัญกับ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก" เพียงหน่วยเดียวมาให้ความสำคัญกับความเชื่อที่ว่าประชาชนมีศักยภาพในการอำนวยความยุติธรรมแก่กันและแก่ชุมชนได้ในคดีบางประเภทด้วยการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทในชุมชน ฯลฯ ไม่ต้องดำเนินคดีดังกล่าวในกระบวนการยุติธรรมเพียงช่องทางเดียว

- ควรให้บริการที่หลากหลายแก่กลุ่มคนที่หลากหลายให้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเด็กเยาวชน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

- ควรให้บริการเชิงเครือข่ายที่เชื่อมโยงเกื้อกูลกันระหว่าง สังคม-ผู้กระทำผิด เหยื่อ/ผู้เสียหาย-และรัฐ (หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม) ในมิติของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) โดยใช้แนวคิดของเคน วิลเบอร์ในการวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรและจัดจำแนกประเภทอาชญากรรมให้เป็นระบบในรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมที่มุ่งตรงสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจิตใจผู้กระทำผิดก่อนที่จะปล่อยตัวพ้นออกจากระบบสู่สังคมต่อไป

- สร้างสมดุลในวิถีทางสู่ "ความยุติธรรม" ระหว่าง "การเรียกร้องสิทธิ" กับ "การปฏิบัติหน้าที่"



บทสรุป (Conclusion)

ในการศึกษาวิเคราะห์เรื่องใดๆก็ตาม รวมถึงเรื่องของ "กระบวนการยุติธรรม" เช่นกันที่ควรต้องศึกษาวิเคราะห์และสามรถอธิบายได้ใน 3 ระดับ คือ

- ชั้นพื้นผิว (Surface) หรือระดับที่ปรากฏและอธิบายได้ ซึ่งในเรื่องนี้จัดว่าเป็นภาพกว้างๆโดยทั่วไป ได้แก่องค์ประกอบของกระบวนการยุติธรรมว่าประกอบด้วยหน่วยงาน หรือส่วนต่างๆอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็น "กระบวนการยุติธรรม" รวมทั้งสภาพปัญหาของการให้บริการที่ปรากฏ ตลอดจนจำนวนและประเภทของ "อาชญากร" ฯลฯ เป็นต้น

- ชั้นความสัมพันธ์หลัก-รอง ซึ่งในเรื่องนี้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิด กระบวนการยุติธรรม และสังคม โดยใช้ โฮ-ลอน ของ วิลเบอร์ ในการอธิบาย "ส่วน/ทั้งหมด"

- ชั้นแนวคิด (Abstract) หรือปรัชญารากฐานที่เชื่อมโยงร้อยเรียงเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังเรื่องที่ทำการศึกษา คือ เรื่องของ "การเข้าถึงความยุติธรรม" ของสังคม (Access to Justice) โดยกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก และจากการวิเคราะห์บุคลิกภาพและพัฒนาการทางจริยธรรมของ "อาชญากร" ลูกค้าของกระบวนการยุติธรรม โดยใช้ 'โครงสร้างพื้นฐานของระดับจิตสำนึก' รวมทั้งทำความเข้าใจภาพรวมของสรรพสิ่ง โดยใช้ 'จตุรภาคของสรรพศาสตร์และจักรวาล' ของ วิลเบอร์ ช่วยให้เข้าใจลำดับขั้นพัฒนาการทางจิตของบรรดาอาชญากรเหล่านี้ดีขึ้น ทำให้สามารถแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมในการบำบัดฟื้นฟูเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณส่วนที่ขาดหายไปหรือพัฒนาส่วนที่บกพร่องของคนกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป ทั้งทำให้เข้าใจว่า "เหตุใดผู้คนเหล่านี้ และ ผู้คนในสังคม จึงไม่สามารถ 'เข้าถึงความยุติธรรม' ได้อย่างเท่าเทียมกันตามที่ควรจะเป็น" อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อทราบถึงลำดับชั้นของสิ่งที่จะทำการศึกษาอย่างถูกต้อง เป็นสากล แล้วก็จะสามารถพัฒนา "กระบวนการยุติธรรม" ให้มีลักษณะเป็น "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ" ของมวลมนุษยชาติและสังคมได้ต่อไป ส่วนข้อสรุปสำคัญสำหรับแนวคิด "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ" ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ได้นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับ กระบวนการยุติธรรม" และ แนวคิดคำว่า "การบูรณาการ" มาสังเคราะห์เข้าด้วยกัน นั่นคือ "กระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการ" หมายถึง "การมองภาพรวม การเชื่อมโยง กระบวนงานและองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ (ซึ่งได้แก่ ผู้กระทำผิด-เหยื่ออาชญากรรม-รัฐ (หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม-สังคม) เข้าด้วยกันในลักษณะเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในความหมายของสิ่งที่เหมือนกัน แต่สามารถประสานสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างมีเอกภาพ ทั้งในความเหมือนและความแตกต่างไปพร้อมๆกัน" (Unity-in-diversity)

 

บรรณานุกรม

- กระทรวงยุติธรรม. การปฏิรูปกฎหมายและการศาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511.
- กิตติศักดิ์ ปรกติ. "การปฏิรูปกฎหมายไทยภายใต้อิทธิพลยุโรป".ใน รวมบทความในโอกาสครบรอบ 72 ปี ศ.ดร. ปรีดี เกษมทรัพย์. หน้า 261-331 กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลาคม, 2543.
- จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. "ทบทวนการจัดกระบวนงานศาลยุติธรรมไทยในบริบทของแนวโน้มอาชญากรรมยุคโลกาภิวัตน์" เอกสารประกอบการสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สิงหาคม 2541.
- จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. "อาชญาวิทยา: พัฒนาการข้ามศตวรรษ" รัฐศาสตร์ 50 ปี คณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 สิงหาคม 2541.
- จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. "New Measurement of Community and Victims Involvement to Rehabilitation" เอกสารประกอบการสัมมนาการมีส่วนร่วมของชุมชนและเหยื่ออาชญากรรมในการป้องกันอาชญากรรมระหว่างรัฐบาลไทยกับ UNAFEI. ธันวาคม 2542.
- ปรีดี เกษมทรัพย์. นิติปรัชญา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด., 2543.
- ประสาน ต่างใจ, ธรรมวิทยาศาสตร์ เรื่องของมนุษย์ โลก และจักรวาล. กรุงเทพฯ:มูลนิธิภูมิปัญญา, 2538.
- พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 3, 2543.
- ฟริตจ๊อฟ, คาปร้า จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ (The Turning Point) แปลโดย พระประชา ปสน.นธมโมและคณะ กรุงเทพมหานคร: บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2543.
- วุฒิสภา, คณะกรรมาธิการการบริหารและการยุติธรรม. รายงานการประชุมทางวิชาการและสรุปผลการพิจารณาศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมและเรื่องพัฒนาการขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและทางแพ่ง. กรุงเทพมหานคร:บริษัทเค.พี.พริ้นติ้ง จำกัด., 2539.
- ระวี ภาวิไล. ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทั้งหมด. ใน การประชุมทางวิชาการ เรื่อง "ศาสนากับสังคมมนุษย์: แก้หรือ สร้างปัญหา" ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารธรรมสถานจุฬาฯ วันที่ 25 มกราคม 2544.
- หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ. ประวัติศาสตร์กฎหมาย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2504.
- เสริน ปุณณะหิตานนท์. การกระทำผิดในสังคม: สังคมวิทยาอาชญากรรมและพฤติกรรมเบี่ยงเบน.กรุงเทพมหานคร: เดอะบิสซิเนสเพรส, 2523.
- สุวินัย ภรณวลัย, มังกรจักรวาล ภาค 3. กรุงเทพฯ:บริษัทไอโอนิค อินเตอร์เทรด รีซอสเซส จำกัด, 2540.
- สุวินัย ภรณวลัย, มังกรจักรวาล ภาค 4. กรุงเทพฯ:บริษัทไอโอนิค อินเตอร์เทรด รีซอสเซส จำกัด, 2540.
- สุวินัย ภรณวลัย และ เทวิน ชาติกุล, มังกรบูรพา กับ หลักสรรพศาสตร์วิพากษ์ ภาค 1 ตอน หัวใจมังกร. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอโอนิค อินเตอร์เทรด รีซอสเซส จำกัด, 2543.
- สุวินัย ภรณวลัย, มังกรบูรพา กับ หลักสรรพศาสตร์วิพากษ์ ภาค 2 ตอน ความเชื่อเร้นลับในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอโอนิค อินเตอร์เทรด รีซอสเซส จำกัด, 2543.
- สุวินัย ภรณวลัย, วัชรเซน สัทธรรมในสหัสวรรษใหม่. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์พระอาทิตย์, 2544.
- Bohm, David abd Peat,F. David. Science,Order & Creativity. Great Britain:Guernsey Press Co Ltd., 1989.
- Edwards, Mark. The Integral Cycle of Knowledge: Some thoughts on integrating Ken Wilber's Developmental and Epistemological Models. cited in http://members.ams.chello.nl/ f.visser3/วิลเบอร์/ edwards2.html, 2001
- Gibbons, D. Society, Crime and Criminal Behavior. Fourth Edition, New Jersey: Prentice Hall, 1982.
- Holons, cited in http://members.ams.chello.nl/f.visser3/Wilber/holons.html, 2001.
- Jeffery, C. R. Criminology An Interdisciplinary Approach. New Jersey: Prentice Hall,1990.
- Kofman, Frank. Holons, Heaps and Artifacts. cited in http//www.Wilber. shambhala.com, 2001
- Lossee, John. Philosophy of Science. Oxford: Oxford University, 1993.
- Nettler, G. Explaining Crime. New York: Mc Graw-Hill Book Company, 1974.
- Reid, S.T. Crime and Criminology. Eighth Edition. New York: Mc Graw-Hill Higher Education Group, Inc, 1996.
- Visser, Frank. cited in http://members.ams.chello.nl/f.visser3/Wilber/ esseng1.html, 1998
- Wilber, Ken. A Brief of Everything. Dublin: Gill & MacMillan, 1996.

-----------------------------






 

 

 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้