วิถีแห่งความจริง ความดี และความงามในยุคโพสต์โมเดิร์น
ในกระบวนการแสวงหา องค์ความรู้ ต่างๆ ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งกินเวลานับพันๆ ปี ผ่านอุปสรรคความยากลำบากนานัปการกว่าที่มวลมนุษยชาติจะได้ค่อยๆ เรียนรู้ ที่จะแยกแยะ ความจริง ออกจากการสร้างภาพ แยก ความดี ออกจากการโกงกิน แยก ความงาม ออกจากความต่ำช้า แยก ความจริงใจ ออกจากการหลอกลวง
แต่แม้กระนั้น การสร้างภาพ การโกงกิน ความต่ำช้าเลวทราม การหลอกลวงก็ไม่เคยหมดสิ้นไปจากสังคมมนุษย์ ราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องดำรงอยู่ เพื่อให้มนุษย์จำต้องแสวงหา มาตรฐานในการตรวจสอบความจริงประเภทต่างๆ เพื่อที่จะได้สามารถแยกแยะ และจำแนกความจริง ความดี และความงามออกจากสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายให้จงได้
มาตรฐานในการตรวจสอบความจริง และองค์ความรู้ประเภทต่างๆ ที่เราได้กล่าวไปแล้วนั้น แยกออกจาก "ภาษา" ที่มนุษย์ใช้ในการเรียนรู้สื่อสาร และสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งจักรวาฬไม่ได้
"ภาษา" ที่มนุษย์ใช้ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อเข้าถึงความจริงแห่งจักรวาฬนั้น มีแค่ 3 ชนิดเท่านั้นคือ ภาษา "มัน" ("it" language), ภาษา "ฉัน" ("I" language) และภาษา "เรา" ("We" language)
ภาษา "มัน" เป็น ภาษาแห่งองค์ความรู้ในเชิงภาววิสัย (ภาคซีกขวาบน) และ เชิงภาววิสัยร่วม (ภาคซีกขวาล่าง) มันมีลักษณะเป็นกลางที่ภายนอกดูปลอดจากการให้คุณค่า ภาษา "มัน" นี้ จึงเป็น ภาษามาตรฐาน ที่ใช้ในงานวิเคราะห์ วิจัยเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบเช่น วิชาฟิสิกส์ วิชาชีววิทยา วิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทั้งปวง รวมทั้งวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ที่ใช้วิธีการเชิงประจักษ์นิยมเป็นหลักในการค้นคว้าวิจัย
ภาษา "มัน" เป็นภาษาแห่งองค์ความรู้ที่ใช้ตรรกะโทนเดียว โดยมุ่งอธิบายสิ่งที่เป็นผิวเปลือกที่จับต้องได้ทางภายนอก ที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก หรือด้วยอายตนะทั้งห้าของมนุษย์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ภายในร่างกายเราเช่น สมอง หัวใจ ตับ ปอด หรือจะอยู่นอกตัวเราเช่น ระบบนิเวศน์ วัตถุสิ่งของ ภาษา "มัน" จึงเป็น เครื่องมือ ในการใช้ศึกษา "ความจริง" อย่างวิทยาศาสตร์
ในขณะที่ ภาษา "ฉัน" เป็น ภาษาแห่งองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตัวฉัน ของจิตสำนึกของฉัน และของการรับรู้ในเชิงอัตวิสัยของฉัน ภาษา "ฉัน" จึงเป็นภาษาเชิงอัตวิสัยที่เกี่ยวกับ โลกภายใน ทั้งปวงของตัวฉัน ซึ่ง "สุดแสนลึกล้ำเหลือกำหนด" และไม่สามารถบรรยายได้ด้วยภาษา "มัน" ถึงจะพยายามอธิบายด้วยภาษา "มัน" ก็ไม่อาจเข้าถึงได้ เช่น ภาวะ บรมสุข ซึ่งเป็นเรื่องของภาษา "ฉัน" ขณะที่ถ้าใช้ภาษา "มัน" ก็จะอธิบายภาวะบรมสุขได้แค่ว่า เป็นภาวะที่สมองหลั่งสารเอ็นโดฟีนออกมาเท่านั้น จะเห็นได้ว่า อัตวิสัยเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ แต่ภาววิสัยเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ การปกครองจัดการบริหารดูแลมนุษย์ที่มีความเป็นอัตวิสัยสูงกว่าสัตว์ใดๆ ด้วยวิธีการแบบภาววิสัยล้วนๆ อย่างที่ระบอบทักษิณมีแนวโน้มจะทำเช่นนั้น คือ ความผิดพลาดที่ไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนส่วนน้อยที่คิดต่าง เห็นต่างไปจากท่านผู้นำอย่างร้ายแรง และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ลำพังแค่การที่ ระบอบทักษิณ และ ลัทธิทักษิณ หรือ ทักษิโณมิกส์ ได้พยายาม แปลง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่ควรมีคุณค่าทางจิตใจโยงใยกัน ให้กลายเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ "บัญชา" นำ "ปัญญา" หรือไม่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่อิงกับวัตถุนิยม บริโภคนิยม และผลประโยชน์นิยมล้วนๆ ก็ทำให้สังคมนี้ไม่น่าอยู่พอแล้ว
ภาษา "ฉัน" จึงเป็น เครื่องมือ ในการศึกษา "ความงาม" อย่าง ศิลปะ
ภาษา "เรา" เป็น ภาษาแห่งองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโลกทัศน์ของพวกเรา ว่าพวกเรามองโลก มองชีวิต มองสังคมอย่างไร อันเป็นองค์ความรู้เชิงอัตวิสัยร่วม ภาษา "เรา" จึงเป็นภาษาแห่งองค์ความรู้ที่เป็นโลกทัศน์รวมหมู่ของพวกเราในช่วงเวลาและสถานที่ที่แน่นอนหนึ่งๆ ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมหนึ่งๆ นั่นเอง ภาษา "เรา" จึงเป็นเครื่องมือในการศึกษา ความดี อย่างคุณธรรม จริยธรรม
จะเห็นได้ว่า การจะมีความรู้ความเข้าใจในสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาฬ หรือการจะมีองค์ความรู้แบบองค์รวมแบบบูรณาการได้ บุคคลผู้นั้นจะต้องใส่ใจในภาษาแห่งองค์ความรู้ทั้ง 3 ภาษานี้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งแต่ละภาษาทั้ง 3 ภาษานี้ ก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยที่แต่ละภาษาต่างก็ครอบครอง ปริมณฑลแห่งองค์ความรู้ ที่ชัดเจนของตนในองค์ความรู้ทั้งหมดด้วย
ความล้มเหลวในการจำแนกความต่างในภาษาแห่งองค์ความรู้ทั้ง 3 ชนิด จะนำมาซึ่งความสับสนอย่างใหญ่หลวง ในการชี้นำและบริหารประเทศอย่างที่ผู้นำในระบบทักษิณ กำลังเผชิญอยู่ เพราะผู้นำในระบอบทักษิณ มองข้าม เพิกเฉย ละเลย หยามเหยียด มองไม่เห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่เป็นภาษา "ฉัน" และภาษา "เรา มุ่งแต่จะครอบงำปกครองประเทศนี้ด้วยภาษา "มัน" อย่างเกินพอดี จึงทำให้ชี้นำประเทศอย่างเริ่มผิดทิศผิดทาง
หลักการในการชี้นำการพัฒนาประเทศ สมควรที่จะครบองค์ประกอบแห่งองค์ความรู้ทั้งของภาษา "มัน" ภาษา "ฉัน" และภาษา "เรา" ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า จะต้องครบองค์ประกอบแห่งศาสตร์, ศิลป์ และจริยธรรม หรือครบองค์ประกอบแห่งความจริง ความดี และความงาม โดยไม่ลดทอน ละเลยด้านใดด้านหนึ่งจนขาดตกบกพร่อง คือไม่ละเลยมิติด้านที่เป็น ความงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรับรู้ด้วยภาษา "ฉัน" ไม่ละเลย มิติด้านที่เป็น ความดี ซึ่งต้องรับรู้ด้วยภาษา "เรา" โดยไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่มิติด้านที่เป็น ความจริง ซึ่งต้องรับรู้ด้วยภาษา "มัน" เท่านั้น
สุดยอด ของ ความงาม ในภาษา "ฉัน" อันเป็น ตัวฉันที่สูงส่งที่สุด ก็คือ พุทธะ หรือ ธรรมจิต (spirit) เมื่อใดก็ตามที่ท่านซื่อตรงอย่างที่สุดต่อตัวเอง ท่านก็จะตระหนักได้เอง และกล้ายอมรับได้ว่า "ฉันคือพุทธะ ฉันคือ ธรรมจิต" ส่วนการเป็น อย่างอื่น ของฉันไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐี ฯลฯ คือ การหลอกลวง ของ อัตตา เพื่อให้เกิดการ แบ่งแยก ตัวเองกับ "คนอื่น" เท่านั้น
สุดยอด ของ ความดี ในภาษา "เรา" อันเป็น พวกเราที่สูงส่งที่สุด ก็คือ กลุ่มคนที่รวมตัวกันเป็น ชุมชนทางจิตวิญญาณ ด้วยความตระหนักว่า พวกเราทั้งหมดล้วนเป็นสมาชิกของเพื่อนร่วมโลก ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตาย พวกเราทุกคนล้วนมีพุทธภาวะ หรือจิตสำนึกแห่งพระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ในตัวกันทุกคน
สุดยอด ของ ความจริง ในภาษา "มัน" อันเป็น ความจริงเชิงปรมัตถ์ ก็คือ พุทธธรรม ที่ชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นการแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งของ สุญตา หรือ ธรรมจิต เท่านั้น
สิ่งที่สูงสุดสูงส่งที่สุดในโลกนี้ ไม่ว่าคนเราจะเรียกขานมันว่า พระเจ้า, ธรรมจิต, พุทธภาวะ, พรหมมัน, จักรวาฬ, เต๋า หรือสิ่งนั้นก็ตาม มันย่อมสามารถอธิบายและควรอธิบายด้วย 3 ภาษาไปพร้อมๆ กันทั้งหมดคือ ภาษา "ฉัน", ภาษา "เรา" และภาษา "มัน" หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า
สิ่งที่สูงสุดสูงส่งที่สุดในโลกนี้จะเป็นที่เข้าใจสำหรับมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อคนเรานั้นเข้าใจ "สิ่งนั้น" ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความในทุกๆ ความหมายของความจริง ความดี และความงาม การศึกษา องค์ความรู้ สรรพวิชาทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้จะว่าไปแล้วก็เพื่อให้ตัวผู้ศึกษานั้น สามารถที่จะเข้าถึงความจริง ความดี และความงาม ในความหมายที่สูงสุดได้นั่นเอง
แต่ภายใต้ยุคที่อารยธรรมทางวัตถุ ลัทธิบูชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นใหญ่อย่างในยุคปัจจุบัน "ความจริง ความดี และความงาม" กลับถูกลดทอนเหลือเพียงแค่ อาณาจักรแห่งภาษา "มัน" หรืออาณาจักรแห่งข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ขณะที่องค์ความรู้ในปริมณฑลอื่น อย่างเรื่อง จิตวิญญาณ ซึ่งอยู่ในอาณาจักรแห่งภาษา "ฉัน" หรืออย่างเรื่อง วัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในอาณาจักรแห่งภาษา "เรา" กลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรหรือถูกประเมินค่าให้ต่ำต้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำเช่นนี้ได้นำมาซึ่งวิกฤตครั้งใหญ่ในทุกๆ ด้านของมนุษยชาติอย่างที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการย่ำรอยทับซ้ำความผิดพลาดอันก่อนของโลกทัศน์ด้านเดียวแบบบริโภคนิยม วัตถุนิยม เทคโนโลยีนิยม และผลประโยชน์นิยมนี้เท่านั้น
ในโลกตะวันตกยุค ก่อนทันสมัย องค์ความรู้แห่ง "ความจริง ความดี และความงาม" ถูกผูกขาด กินรวบอยู่ในกำมือของ ศาสนจักร โดยไม่มีการจำแนก (differentiation) วิทยาศาสตร์, ศิลปะ และจริยธรรมออกจากกัน หรือไม่มีการจำแนกตัวตน (self), วัฒนธรรมและธรรมชาติออกจากกัน คุณูปการ ที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของ ความทันสมัย (modernity) คือการจำแนกวิทยาศาสตร์, ศิลปะ และจริยธรรม ออกจากกันอย่างเด็ดขาด คือให้แต่ละปริมณฑลของ "ฉัน", "เรา" และ "มัน" ต่างก็แสวงหาองค์ความรู้ในแต่ละปริมณฑลของตน โดยไม่ถูกแทรกแซง ลงโทษ ปราบปรามจากปริมณฑลอื่น
การจำแนก "ฉัน" (ตัวตน) ออกจาก "เรา" (วัฒนธรรม) นำไปสู่การก่อตัวและพัฒนาของระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่ปัจเจกแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงโดยเสรีที่ปลอดจากการแทรกแซงจากรัฐหรือศาสนจักร
การจำแนก "ฉัน" ออกจาก "มัน" (ธรรมชาติ) นำไปสู่ขบวนการปลอดแอกสตรีและทาส ที่ความได้เปรียบทางสรีระ, ชาติพันธุ์ และสีผิวมิได้เป็นตัวกำหนดสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป
การจำแนก "เรา" ออกจาก "มัน" นำไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์สาขาต่างๆ เพราะความจริงมิได้ถูกครอบงำโดยความเชื่อแบบปรัมปราคติของรัฐและศาสนจักรอีกต่อไป
แต่ ข่าวร้าย ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ การคลี่คลายของความทันสมัย ก็คือ แม้ ความทันสมัย จะประสบความสำเร็จในการ จำแนก "ความจริง, ความดี และความงาม" ใน กระบวนการแห่งการพัฒนา ของมัน แต่จนถึงบัดนี้ มันยังไม่ประสบความสำเร็จในการ บูรณาการ (integration) "ความจริง, ความดี และความงาม" ใน กระบวนการแห่งการพัฒนา ของมันเลย (ระบอบทักษิณ ในฐานะที่เป็น รูปการณ์ล่าสุดของความทันสมัยในสังคมไทย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้เช่นกัน)
ทั้งๆ ที่ หลักการวิวัฒนาการ ที่จะสามารถดำเนินผ่านแต่ละขั้นตอนไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่สะดุดจะต้องมีทั้งด้านที่จำแนก และด้านที่ บูรณาการ ควบคู่กันไป
การที่ความทันสมัยประสบความล้มเหลวในการบูรณาการ "ความจริง, ความดี และความงาม" เข้าด้วยกัน จึงนำไปสู่ ภัยพิบัติของความทันสมัย ที่เกิดจากการที่องค์ความรู้แห่งภาษา "มัน" ได้เข้ามาครอบงำเป็นใหญ่ในกระบวนการสร้างองค์ความรู้ของมนุษยชาติ โดยลดทอน มองข้าม คุณค่าขององค์ความรู้แห่งภาษา "ฉัน" และภาษา "เรา" อย่างอหังการ จนเป็นที่มาของความรุ่งโรจน์แห่งวัตถุนิยม บริโภคนิยม เทคโนโลยีนิยม วิทยาศาสตร์นิยม ลัทธิลดทอนนิยม และผลประโยชน์นิยมอย่างเช่นสมัยนี้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ การกบฏของพวกโพสต์โมเดิร์น ที่มีต่อความทันสมัย จึง เริ่ม ที่การเคลื่อนไหวให้กลับมาให้ความสำคัญกับองค์ความรู้แห่งภาษา "เรา" หรือวัฒนธรรมอีกครั้ง แต่ ภารกิจที่แท้จริงของหลังความทันสมัย (postmodernity) ที่อยู่เบื้องหน้าอย่างท้าทายนักคิด นักเคลื่อนไหวแนวโพสต์โมเดิร์นทั้งหลายนั้นก็คือ
การบูรณาการองค์ความรู้แห่งภาษา "ฉัน", ภาษา "เรา" และภาษา "มัน" ได้อย่างปรองดองและมีดุลยภาพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การบูรณาการ "ความจริง ความดี และความงาม" ให้บังเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาทุกมิติ โดยไม่ละเลยมิติใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นมิติภายนอก-มิติภายใน มิติปัจเจก-มิติรวมหมู่ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม และจิตใจ
มีแต่การมุ่งบูรณาการในทิศทางดังข้างต้นนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถ "ข้ามพ้น" ข่าวร้ายของความทันสมัย และระบอบทักษิณ ไปได้ แต่การที่พวกเราจะประสบความสำเร็จในการบูรณาการ "ความจริง, ความดี และความงาม" ในยุคโพสต์โมเดิร์นนี้ได้ เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจในเรื่อง วิวัฒนาการของจิต (The Evolution of Consciousness) เสียก่อน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในตอนหน้า