ละครแห่งชีวิต กับกลไกการยกระดับขั้นตอนทางจิต
เราได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วเกี่ยวกับบันได, ผู้ปีนบันไดและทิวทัศน์ในวิวัฒนาการทางจิตของปัจเจก สิ่งที่พึงตระหนักในเรื่องนี้ก็คือว่า
ลำพังแค่การมี "บันได" เป็นขั้นๆ (คือมีแค่โครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิต) มันยังไม่เป็น และไม่ก่อให้เกิด "ละครแห่งชีวิต" หรือ "เรื่องราวแห่งชีวิต" ของปัจเจกและของสังคมขึ้นมาได้ มันยังจำเป็นต้องมี "ผู้ปีนบันได" (ตัวตนหรือ self) ที่ไต่บันไดแห่งวิวัฒนาการทางจิตของตนขึ้นไปด้วย จึงจะทำให้เกิด ละครแห่งชีวิตที่หลากหลายขึ้นมาแบบ "ร้อยเนื้อทำนองเดียว" ในความหมายที่ว่า แม้เนื้อหาแห่งชีวิตของผู้คนจะต่างกันแค่ไหนก็ตาม แต่ใน ระดับโครงสร้างเชิงลึก แล้วก็ยังคงเป็นเรื่องของผู้ปีนบันไดที่ไต่บันไดแห่งวิวัฒนาการทางจิตเหมือนเดิมและเหมือนกันอยู่ดี
ใน ละครแห่งชีวิต บางเรื่อง...บางคนอาจก้าวพลาดตกบันได (ป่วยทางจิต) บางคนอาจย่ำอยู่กับที่ (เติบโตถึงจุดหนึ่งแล้วไม่เติบโตอีกเลยจนวันตาย) บางคนอาจก้าวพลาด (ป่วยใจ) แล้วเลิกปีนต่อ (หดหู่หรือหมดไฟ) หรือทำร้ายตนเอง (ฆ่าตัวตาย) บางคนเคยก้าวพลาดแต่สามารถเยียวยาตนเองได้แล้วก้าวปีนต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ (มีการพัฒนาต่อ)
บางคนที่เป็นคนจำนวนน้อยนิด สามารถไต่ไปได้จนถึงขั้นสูงสุด (บรรลุธรรม) บางคนยังวนเวียนอยู่กับขั้นเดิมๆ มาไม่รู้กี่ปีกี่ชาติแล้ว...ชีวิตของพวกท่านหนีไม่พ้นที่จะคล้ายคลึงกับเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งในละครแห่งชีวิตเหล่านี้ โดยแตกต่างในรายละเอียดเท่านั้น
เห็นแล้วหรือยังว่า "ตัวตน" (self) ของ "ผู้ปีนบันได" นี้ต่างหากที่ทำให้เกิด "ละคร" หรือ "เรื่องราว" ขึ้นมาในวิวัฒนาการทางจิต มิใช่ตัวบันไดเอง ผู้ปีนบันได จึงต่างกับบันไดตรงที่มันมีลักษณะพิเศษหรือมีความสามารถพิเศษที่ตัวบันไดหรือโครงสร้างของจิตไม่มี นั่นคือ มันมี "ตัวตน" ที่สามารถ "รับรู้" เกี่ยวกับตัวเองได้
โดยที่ ถ้า "ตัวตน" หรือ จิต (ในความหมายที่เป็น "อัตตา") มันเอาตัวเองเข้าไปแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียว (identify) กับขั้นตอนของจิตในระดับใด มันก็จะติดอยู่กับจิตระดับนั้นไปตลอด จนกว่าตัวตนนั้นจะเห็นซึ้งจนสามารถเลิกแนบแน่น เลิกละการเป็นหนึ่งเดียวกับขั้นตอนของจิตระดับนั้นได้ ตัวตนนั้นถึงจะสามารถวิวัฒนาการไปสู่ขั้นตอนในระดับจิตขั้นต่อไปได้
พัฒนาการของจิต จึงเป็นเรื่องของการเลิก ละ และก้าวข้ามขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งเสมอ ในโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิต
สิ่งที่จะกำหนด ทิศทาง ของ ตัวตน ที่เป็น โฮลอน (หน่วยองค์รวม) อย่างหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับ ความสัมพันธ์เชิงกำลัง 4 อย่าง ที่ดำรงอยู่ในโฮลอนทุกชนิดในสรรพสิ่ง ซึ่งได้แก่
(ก) พลังในการรักษาความเป็นตัวเอง (agency)
(ข) พลังในการปรองดองกับส่วนอื่น (communion)
(ค) พลังในการข้ามพ้นตัวเอง (self-transcendence)
(ง) พลังในการสลายตัวเอง (self-dissolution)
เพราะฉะนั้น ในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการของจิตทั้งของปัจเจกและของรวมหมู่ การที่ "ตัวตน" ของจิตแห่งปัจเจกหรือสังคมนั้น มันจะพัฒนาไปในทิศทางไหน หรือมันจะปีนป่าย "บันได" ในลักษณะอย่างไร ด้วยอาการใด มันจึงขึ้นอยู่กับ ความสัมพันธ์เชิงกำลัง ทั้ง 4 อย่างข้างต้น และขึ้นอยู่กับ การเลือก ของ "ตัวตน" นั้นว่า เลือกอะไร และเลือกอย่างไรด้วย
หากพลังอันไหนขาดสมดุล คืออ่อนแอเกินไป หรือแรงเกินไป มันจะนำไปสู่การขาดดุลยภาพของ "ตัวตน" นั้นในระดับขั้นตอนทางจิตนั้นๆ และเป็นที่มาของความป่วยความไม่สบายทางกายและจิต (pathological trouble) ประเภทต่างๆ ส่วนจะเป็นความไม่สบายแบบไหน และควรจะบำบัดรักษาเยียวยาอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับว่า "ตัวตน" นั้น เกิดปัญหาในขั้นตอนระดับใดของจิต
การที่เรากล่าวเช่นนี้ จึงมีนัยว่า แม้ปัจเจกผู้นั้นจะมีพัฒนาการทางจิตที่สูงกว่าปุถุชนคนทั่วไป เช่น มีระดับจิตที่สูงกว่าระดับที่ 7 ขึ้นไปแล้วก็ตาม ก็ยังมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเดินสะดุดขั้นบันได และเกิดปัญหาความไม่สบาย หรือ "ป่วยใจ" ได้เสมอ
สิ่งที่ผู้ศึกษาพึงสำเหนียกอยู่เสมอ ในการศึกษาแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการทางจิตในมนุษย์ทุกคนก็คือ เมื่อ "ตัวตน" ไต่บันได (โครงสร้างของจิต) ไปสู่ขั้นสูงยิ่งๆ ขึ้นไป "ตัวตน" นั้น ย่อมมีโอกาสที่จะสะดุดหรือพลัดตกบันไดจนแข้งขาหักได้ทุกเมื่อ ในทุกๆ ขั้นของบันไดนี้ และ หากการเลื่อนขั้นบันได (การยกระดับ) ของจิตของ "ตัวตน" นั้น เกิดสะดุดหรือไม่ราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นในขั้นใดๆ ก็ตาม นั่นก็หมายความว่า "บางด้าน" ของ "ตัวตน" นั้นจะถูกทำร้าย ถูกเก็บกด ถูกละเลยจนเป็นที่มาของความแปลกแยก แตกแยก ถดถอยทางจิตเกิดขึ้นภายใน "ตัวตน" ของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความเจ็บป่วย หรือพยาธิสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะจำเพาะของขั้นตอนนั้น และต้องการการบำบัดที่มีลักษณะจำเพาะเหมาะสมกับขั้นตอนนั้นด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ในแต่ละขั้นบันไดของวิวัฒนาการของจิต จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "จุดค้ำ" (fulcrum)
จุดค้ำ คือ กระบวนการที่สำคัญมากของการสร้างความต่าง และการบูรณาการในการเติบโตพัฒนาของมนุษย์
เพราะ จุดค้ำ เป็นเสมือน ทางแพร่ง ที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในการพัฒนาของมนุษย์ผู้นั้น เนื่องจาก "ตัวตน" จะต้องเลือกด้วยตนเองว่า จะเดินไปทางไหนบนทางแพร่งนี้ ซึ่งมันจะกำหนด "ชะตาชีวิต" ของมนุษย์ผู้นั้นหลังจากนั้นเลยทีเดียว
แต่ละขั้นบันไดที่ "ตัวตน" ไต่ขึ้นไปคือ "จุดค้ำ" ของแต่ละขั้นบันไดนั้น โดยที่จุดค้ำทุกอันจะมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 3 ส่วน (phase) เสมอคือ
(1) fusion/identification "ยึดติด"
เมื่อ "ตัวตน" วิวัฒนาการไปสู่ขั้นตอนใหม่ของจิต ก่อนอื่นมันต้อง ยึดติด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระดับจิตของขั้นตอนนั้นเสียก่อน
(2) differentiation/transcendence "แยกตัว"
หาก "ตัวตน" จะพัฒนาต่อไปได้อีก มันต้องเริ่มเห็น ข้อจำกัดของระดับจิตที่ตัวเองเป็นอยู่เสียก่อน จนเริ่มคลายความยึดติด และคิด แยกตัว คิด ก้าวข้าม ขั้นตอนอันนั้นของจิต คือจิตของตัวตนนั้นเริ่มไม่เป็นหนึ่งเดียวกับระดับของจิตขั้นตอนนั้น หรือเริ่มทำตน แตกต่าง กับระดับจิตขั้นตอนนั้น ซึ่งคนรอบข้างของคนผู้นั้นจะรู้สึกว่าคนผู้นั้น เปลี่ยนไป หรือ เพี้ยนไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว คนผู้นั้น กำลังเติบโตทางจิต ไปสู่อีกขั้นหนึ่งต่างหาก แต่ก็มีบางกรณี เช่น กรณี ผู้นำ ของ ระบอบทักษิณ ที่ผู้ใหญ่หลายคนที่เคยให้การสนับสนุนแล้วรู้สึกในภายหลังว่า ผู้นำคนนี้ "เปลี่ยนไป" ในเชิง เหลิงอำนาจ กรณีอย่างนี้ถ้าจะบอกว่า ผู้นำคนนี้กำลังเติบโตทางจิตก็คงไม่ถูกต้องนัก น่าจะมองว่า "บางด้าน" ของ "ตัวตน" ของผู้นำคนนี้ที่ถูกเก็บกดมานาน ได้สำแดงออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเต็มที่มากกว่า ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง นี่ก็คงแสดงว่า "ตัวตน" ของผู้นำคนนี้ต้องเคยสะดุดหรือผ่านการเลื่อนขั้นบันไดอย่างไม่ค่อยราบรื่นนักในขั้นตอนก่อนๆ มาแล้ว
(3) integration/inclusion "หลอมรวม"
ก่อนที่ "ตัวตน" จะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนใหม่ หรือขั้นตอนที่สูงกว่าอีกได้ มันจะต้อง หลอมรวม ขั้นตอนก่อนหน้านี้เอาไว้ในตัวมันแบบบูรณาการด้วย ถึงจะเป็นการเติบโตทางจิตของ "ตัวตน" ที่สมบูรณ์จริงโดยทั่วไป ระบบการศึกษา การเลี้ยงดูของครอบครัว บริบททางวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมขององค์กรทางเศรษฐกิจ-สังคม (ที่ทำงานและเวทีทางสังคม) จะเอื้ออำนวยให้คนแต่ละคนได้มีพัฒนาการทางจิตผ่านจุดค้ำหลายจุด จนมาถึง ระดับจิตโดยเฉลี่ยของสังคม ได้อย่างไม่ยากนักอยู่แล้ว แต่แม้ การยกระดับขั้นตอนทางจิต จนถึง ระดับเฉลี่ย (มีมสีส้มหรือขั้นที่ 5) นี้ในแต่ละคนก็ยังคงมี "ละครแห่งชีวิต" ของ ผู้ปีนบันได อยู่ดี ทั้งในช่วงวัยเด็ก ช่วงวัยรุ่นและช่วงวัยทำงาน มิใช่ว่าทุกคนจะผ่านการเลื่อนขั้นบันไดแต่ละขั้นได้อย่างราบรื่นหรอก ยิ่งถ้าฐานะทางบ้านของคนผู้นั้นยากจน ไม่สามารถส่งเสียให้เรียนถึงระดับปริญญาตรีได้ ครอบครัวแตกแยกไม่อบอุ่น คบเพื่อนเลว จบมาไม่มีงานทำ ฯลฯ ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตของคนผู้นั้นทั้งสิ้น
ยิ่งถ้าคนผู้นั้นคิดจะยกระดับขั้นตอนทางจิตของตนให้ สูงกว่า ระดับเฉลี่ยของสังคม หรือสูงกว่าระดับที่ 6 ขึ้นไป มันจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะ แทบไม่มีปัจจัยภายนอกที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระดับนี้ดำรงอยู่มากนัก ตัวชี้ขาดจะอยู่ที่ เงื่อนไขภายใน ซึ่งได้แก่ ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และภูมิธรรม ภูมิปัญญาของคนผู้นั้นเป็นหลักเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เราสามารถกล่าวได้กว้างๆ ว่า เหตุที่คนเราไม่สามารถ "เลื่อนขั้น" ทางจิตได้ ก็เพราะคนผู้นั้นไม่สามารถทำให้ "จิต" ของตนไหลลื่นไปตามกระบวนการ 3 ส่วน (phase) ข้างต้นของจุดค้ำในแต่ละขั้นตอนนั้นได้อย่างเป็นไปเอง หรืออย่างเป็นธรรมชาติได้นั่นเอง
เหตุที่จิตของตนเองไหลลื่นอย่างเป็นอิสระตามธรรมชาติไม่ได้ ก็เพราะมี อุปาทาน หรือ ความไม่รู้ ปิดกั้นจิตของตนเองเอาไว้
หากคนเรา เชื่อ (เป็นอันหนึ่งอันเดียว) ใน สิ่งหนึ่ง มากเกินไปก็ ยึดติด อยู่กับระดับจิตนั้น จนไม่อาจวิวัฒนาการต่อไปได้
แต่หากคนเรา ไม่เชื่อ (สร้างความต่าง แยกตัวออก) ใน สิ่งหนึ่ง โดย ไม่อาจหลอมรวม สิ่งหนึ่งนั้นได้ ความไม่เชื่อนั้นก็จะกลายเป็นความยึดติดอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ไม่อาจวิวัฒนาการให้สูงไปกว่าระดับนั้นได้อีกเช่นกัน
คนที่มีวิวัฒนาการทางจิตสูงส่งอย่างแท้จริง จึงเป็นคนที่สามารถบูรณาการหรือสามารถหลอมรวม "ความเหมือน" กับ "ความต่าง" ได้เสมอ นี่คือ บรรทัดฐานที่สำคัญยิ่งในการพิจารณาคัดเลือก "ผู้นำ" ของประเทศ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดและผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก! คนที่ยืนหยัดแค่ความต่าง หรือยืนกรานแค่ความเหมือนย่อมไม่อาจไปจนถึงที่สุดแห่งวิวัฒนาการทางจิตได้
โลกทัศน์หรือทิวทัศน์ที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากความต่างในระดับของจิต ย่อมนำมาซึ่งอัตลักษณ์ (self-identity) ความต้องการ (self-needs) และมาตรฐานทางศีลธรรม (moral sense) ที่ต่างกันด้วย เพราะฉะนั้นใครว่า การวิเคราะห์ ระดับจิต ของผู้นำประเทศไม่สำคัญ? จริงๆ แล้วมันสำคัญอย่างยิ่งในมุมมองการพัฒนาเชิงบูรณาการ
ผู้นำเชิงบูรณาการ (integral leader) ที่แท้จริงที่อาสาจะมาเป็น ทางเลือกที่สาม หรือ ทางเลือกใหม่ ของสังคมนี้ จึงจะต้องเป็นผู้ที่ตระหนักว่า คนเรานั้นมีทั้ง "ความเหมือน" และ "ความต่าง" ดำรงกันอยู่ในตัวโดยไม่ขัดแย้งกันเลย "ความเหมือน" ที่ว่านี้คือ ความเหมือนกัน ใน โครงสร้างเชิงลึก หรือโครงสร้างขั้นตอนบันไดของจิต กับ ความเหมือนกัน ในจุดค้ำและกระบวนการ 3 ส่วน ในการขับเคลื่อนจิตจากจุดค้ำหนึ่งไปยังอีกจุดค้ำหนึ่ง
ส่วน "ความต่าง" ที่ว่านี้คือ ความต่าง ในระดับวิวัฒนาการของจิตแต่ละคน กับ ความต่าง ในโลกทัศน์ และ ความต่าง ในการไหลลื่นในการผ่านกระบวนการ 3 ส่วนในจุดค้ำของแต่ละคน
ผู้นำแบบบูรณาการขนานแท้ ที่เข้าใจ "ความเหมือน" และ "ความต่าง" ที่ดำรงอยู่ในจิตมนุษย์ทุกคนอย่างนี้แล้ว จิตใจของเขาจะบังเกิดความอาทรและเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกทุกคน และตระหนักดีถึง ภารกิจทางการเมืองเชิงพระโพธิสัตว์ ของตัวเขาได้ว่า จักนำพาผู้คนทั้งหลายให้สามารถยกระดับจิตของตนไปตามขั้นตอนวิวัฒนาการของจิต จนถึงที่สุดของมัน โดยไม่คิดเอาตัวรอดไปเพียงลำพัง