การเมืองเชิงภาพลักษณ์กับบทเรียนจากระบอบทักษิณ
จะว่าไปแล้ว การเมืองในยุคโพสต์โมเดิร์น อย่างยุคปัจจุบันนี้เป็น การเมืองของ "ภาพลักษณ์" หรือ การเมืองของ "ความรู้สึกนึกคิด" (perception) เสียยิ่งกว่าการเมืองในระบอบรัฐสภา หรือแม้แต่นอกรัฐสภาเสียอีก
สิ่งที่ผู้คนรู้สึกนึกคิดต่อ ผู้นำ จึงมีความสำคัญพอๆ กับสิ่งที่ ผู้นำ รู้สึกนึกคิดต่อตนเอง หรือบางกรณีอาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำ สิ่งที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปนี้เป็นเรื่องของ ความรู้สึกนึกคิดที่ "เปลี่ยนไป" ของผู้คนในระดับปัญญาชนของบ้านเมืองนี้ที่มีต่อ ผู้นำ ของพวกเขา และเป็น บทเรียนอันมีค่าที่ผู้นำแบบบูรณาการในยุคหลังทักษิณ จะต้องจดจำใส่ใจไว้เป็นอุทาหรณ์อย่าได้พลั้งพลาดทำผิดซ้ำรอยอีกเป็นอันขาด
"ฟองสบู่ทางการเมืองแตกแล้ว!" (เกษียร เตชะพีระ)
ไม่มีคำพูดไหน ประโยคไหนจะสาธยาย ความเป็นจริงของการเมืองไทยในขณะนี้ดีเท่าประโยคนี้อีกแล้ว คิดไปคิดมาช่างน่าประหลาดใจเป็นยิ่งนัก เพราะปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่าง "ทักษิณขาลง" เช่นนี้ มันมาเร็วเกินความคาดนึกของผู้คนมากโขอยู่ จนแทบเรียกได้ว่า เหลือเชื่อก็เห็นจะไม่ผิดนัก
เพราะก่อนหน้านี้ไม่ถึงหนึ่งปี เหล่าปัญญาชนไทยหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งยังเพิ่งสัมมนากันเรื่อง "ระบอบทักษิณ" (นิตยสาร, ฟ้าเดียวกัน, ม.ค.-มี.ค. 2547) อย่างจริงจังด้วยความหวาดวิตกว่า ระบอบทักษิณสามารถ "ครอบครองความคิดจิตใจ"(hegemonic formation) ของผู้คนส่วนใหญ่ไปถึงระดับเศรษฐกิจ (พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์) อย่างที่ (ตอนนั้น) ไม่รู้ว่าจะไปสู้รบตบมือกับระบอบทักษิณนี้ได้อย่างไรดี
จะเห็นได้ว่า ในตอนนั้น แม้แต่พวกปัญญาชนหัวก้าวหน้าเอง ภาพของระบอบทักษิณ ยังดูเป็นภาพของยักษ์ใหญ่ตัวมหึมาที่ทรงอำนาจยากแก่การต่อกรด้วย และดูราวกับว่า "ผู้นำ" แห่งระบอบทักษิณมีอำนาจราวกับ "เทวดา" หรือมีอำนาจล้นฟ้าที่สามารถจะทำอะไรก็ได้ดังใจปรารถนาเลยทีเดียว
แต่ คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต! เพราะนับตั้งแต่ย่างเข้าปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ปัญหาต่างๆ ได้เทประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มิหนำซ้ำปัญหาต่างๆ เหล่านี้ (ไข้หวัดนก, วิกฤตน้ำมัน, ผู้ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้ ฯลฯ) ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ยากแก่การควบคุม หรืออยู่เหนือการควบคุมของนายกรัฐมนตรีแทบทั้งสิ้น
อำนาจที่เคยดูล้นฟ้าของนายกฯ ทักษิณ กลับกลายเป็นดูไร้พลัง ไร้น้ำยาไปอย่างเหลือเชื่อภายในช่วงเวลาหนึ่งปีนี้ ยิ่งคุณทักษิณพยายาม ดิ้นรน ในเชิง "การตลาด (นุ่งผ้าขาวม้า, จัดทัวร์นกขมิ้นไปทั่วประเทศ, ออกนโยบายเหนือเมฆ) มากเท่าไหร่ ภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นสู่สายตาของผู้คนดูไปแล้วแทบไม่ต่างไปจาก ภาพของชายวัยกลางคนที่เริ่มชราคนหนึ่งที่พยายามดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์ในการกอบกู้ "ความนิยม" "ความน่าเชื่อถือ" ที่สูญเสียไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับให้กลับคืนมาเท่านั้น โดยที่เขามิได้ตระหนักเลยว่า มนต์ขลังของเขาที่เคยสะกดผู้คนทั้งประเทศให้คลั่งไคล้หลงใหลฝากความหวังของชาติไว้กับตัวเขาเมื่อ 3 ปีก่อน มันได้เสื่อมคลายมนต์ขลังไปเกือบหมดแล้ว
ฟ้าอยู่ค้ำคน คนมิได้อยู่ค้ำฟ้า!
"ความยิ่งใหญ่" ที่คุณทักษิณและบริวารได้เพียรพยายามสร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากในทุกวิถีทางในช่วง 3 ปีมานี้ จนก่อเกิด "อาณาจักรแห่งความกลัว" ว่าเป็น ระบอบทักษิณ นั้น สุดท้ายเอาเข้าจริงๆ แล้วก็เป็น ความยิ่งใหญ่ที่จอมปลอม ที่มีเนื้อใน กลวง แทบทั้งสิ้น
เพราะแค่ "ความรู้สึกนึกคิด" (perception) ของผู้คนที่มีต่อคุณทักษิณ "เปลี่ยนไป" เท่านั้น เหมือนคู่รักที่เคยรักกันอย่างดูดดื่มแล้วมีจุดพลิกผันให้กลับกลายเป็น คู่ร้าง อย่างทางใครทางมันไม่มีวันหันกลับมาคืนดีกันได้ "ความยิ่งใหญ่" ของคุณทักษิณในสายตาของผู้คนก็ดูจางหายไปอย่างรวดเร็วดุจหยาดน้ำค้างยามเช้า หรือดุจ เพลงฮิต ที่เคยฮิตอย่างเป็นบ้าเป็นหลังอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เงียบหายไป ไม่มีใครพูดถึงนึกถึงอีกเลย นี่ย่อมแสดงว่า "ความยิ่งใหญ่" ที่ผ่านมาของคุณทักษิณ ยังมิใช่ ของจริง แม้แต่น้อย แต่เป็นแค่สิ่งที่ถูกสร้างภาพขึ้นมา หรือคิดเข้าข้างตัวเองอย่างหลงตัวเองทั้งนั้น มันยังมิใช่ความยิ่งใหญ่ที่ดำรงอยู่ภายในจิตใจของผู้คนมิรู้ลืม ให้ผู้คนได้ระลึกถึงตลอดไป แม้คนผู้นั้นจะจากโลกนี้ไปแล้ว
ไม่มีห้วงเวลาไหนเลยเท่ากับตลอดปี พ.ศ. 2547 นี้ ที่นายกฯ ทักษิณจะถูกทดสอบ "ภาวะผู้นำ" อย่างหนักหน่วงที่สุดมากขนาดนี้ และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ตัวนายกฯ ทักษิณก็ "พลาด" ในการผ่านบททดสอบนี้อย่างที่ไม่เคยพลาดขนาดนี้มาก่อนในชีวิตก็ว่าได้ โดยเฉพาะ บททดสอบในเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์ ตบะ และขันติ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้นำที่แท้จริง
- ลำเลิกหมอประเวศ วะสี ว่ามีอาวุโสน้อยกว่าบิดาของตน
- บริภาษครูบาอาจารย์หลายสิบคนที่เขียนข้อเขียนในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ" (1-2) ว่า โง่!
- เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ออกมาวิจารณ์พรรคไทยรักไทยว่าอยู่ในช่วงขาลงก็พูดปัดเฉยๆ ว่า "แค่คนรู้จักกัน" รวมทั้งไฟเขียวให้รัฐมนตรีเนวินตรวจสอบมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง ในเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. จนถูกมองว่าเป็นการ "เอาคืนทางการเมืองของคนเนรคุณ"
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สร้าง รอยด่างพร้อย ให้กับภาวะผู้นำของนายกฯ ทักษิณทั้งสิ้น ซึ่งข้อผิดพลาดในเรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนแทบกลายเป็น "ขาประจำ" ของคุณทักษิณไปแล้ว
คนเรายิ่งอยู่สูง ยิ่งหนาว ยิ่งเดียวดาย!
บ่อยครั้งที่คุณทักษิณเอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ (อัตตาธิปไตย) ดูแคลนความเห็นที่แตกต่างของคนอื่นมากเท่าไหร่ คุณทักษิณก็ยิ่ง โดดเดี่ยวตัวเองจากคนอื่น มากยิ่งขึ้นเพียงนั้น นับวันยิ่งมีคน "รัก" คุณทักษิณน้อยลงทุกที ขณะที่คนที่ "กลัว" "รู้ทัน" "ชัง" คุณทักษิณกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที ยิ่งคุณทักษิณพยายามปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงอันนี้ คุณทักษิณก็ยิ่งไม่รู้จักตนเอง จนไม่สามารถแลเห็นตัวเองอย่างมีสติ และเปิดใจให้กว้างต่อโลกภายนอกด้วยทัศนคติเชิงบวกได้
ภาพลักษณ์ด้านที่ทำงานฉับไว กล้าตัดสินใจ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และคมคายของนายกฯ ทักษิณในช่วง 2 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถูกแทนที่ด้วย ภาพลักษณ์ด้านที่ขาดความลุ่มลึกทางความคิด ขาดความรอบคอบในการตัดสินใจ ไม่รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เชื่อความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ นโยบายปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ ไม่คงเส้นคงวา คลุมเครือในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปนเปผลประโยชน์ของประเทศชาติกับผลประโยชน์ของพวกพ้อง ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2547 นี้ พร้อมๆ กับการเปิดเผย ตัวตนอีกด้าน ของนายกฯ ทักษิณอย่างที่คนทั่วไปไม่เคยได้เห็นชัดแจ้งขนาดนี้มาก่อน
จึงเป็นเรื่องน่าคิดนักว่า หลังจากที่คุณทักษิณลงจากอำนาจไปแล้วมีเวลาหวนย้อนกลับไปทบทวนอดีตของตนเหมือนกับที่ตัวเขาเคยทำในสมัยที่ถ่ายทอดเรื่อง "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ออกมา คุณทักษิณจะมองปี พ.ศ. 2547 นี้ด้วยสายตาที่สำนึกเสียใจบ้างหรือไม่ หรือถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปในช่วงนั้นอีกได้ จะทำผิดพลั้งซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ หรือว่าจะกลับตัวกลับใจปรับปรุงตัวแก้ไขเสียใหม่
เพราะปี พ.ศ. 2547 เป็นปีที่ "อปิยะ วาจา" ของคุณทักษิณเองที่ได้ ขับไล่ไสส่ง เหล่าบรรดามิตรผู้หวังดีที่เคยโอบอุ้มคุณทักษิณมาก่อน จนคุณทักษิณสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ให้มายืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม กับคุณทักษิณได้เกือบหมดขบวน
ในรอบปี พ.ศ. 2547 นี้ จึงไม่มีใครคนไหนในแผ่นดินนี้ที่สามารถใช้วาจา "ทำลายมิตรและสร้างศัตรู" ได้มากมายเท่ากับคุณทักษิณอีกแล้ว
ทองแท้ไม่กลัวการถูกไฟลน!
สนิมเหล็กเกิดจากภายใน!
สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม!
คนจริงไม่ท้อ คนท้อไม่แท้!
บทเรียนของการเมืองเชิงภาพลักษณ์ ก็คือ เทคนิคการตลาดมีประสิทธิผลช่วยได้แค่ระยะสั้น หรือแค่ชั่วคราวเท่านั้น สุดท้ายแล้วตัวชี้ขาดคือ คุณภาพ ของนักการเมืองผู้นั้นว่าเป็น ของแท้ หรือไม่มีความบริสุทธิ์ใจ มีความจริงใจทางการเมืองจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่วาทศิลป์ทางการเมืองที่หลอกชาวบ้านไปวันๆ
การจะประสบความสำเร็จทางการเมืองเชิงภาพลักษณ์อย่างแท้จริงและยั่งยืนได้ จึงมีทางเดียวเท่านั้นคือ ผู้นั้นจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น "ของจริง" เป็นผู้นำที่แท้จริงอย่างที่ตัวเอง และผู้อื่นก็ไม่เคยระแวงสงสัยในความจริงอันนี้
การจะทำเช่นนี้ได้ คนผู้นั้นจะต้องทำให้สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิด และสิ่งที่เขากระทำเป็นหนึ่งเดียวกัน สอดคล้องกันอย่างไม่อาจเคลือบแคลงได้เสียก่อน ซึ่งเรื่องนี้คุณทักษิณยังไม่เคยทำได้สมบูรณ์แบบเลยตั้งแต่แรก และนับวันก็ยิ่งมีความน่าเชื่อถือน้อยลงทุกที ใน ความรู้สึกนึกคิด ของผู้คนโดยเฉพาะเรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์
ผู้เขียนทั้งเสียใจและเสียดายแทนที่จะต้องกล่าวออกมาตรงๆ ว่า ขณะนี้ โอกาสทางประวัติศาสตร์ ที่คุณทักษิณจะสามารถเป็น รัฐบุรุษ นั้น มันได้หลุดลอยไปเสียแล้ว แต่โอกาสที่คุณทักษิณจะเป็น นักการเมืองที่ดีมีความสามารถ ยังมีอยู่ จงอย่าให้มันหลุดลอยไปอีกเลย...การเมืองเชิงภาพลักษณ์ เป็นเรื่องยากเย็นจริงๆ การกอบกู้ "ภาพพจน์" ที่ย่อยยับไปให้กลับคืนมาได้เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าสามัญชนคนธรรมดาจะทำได้ ไม่มีใครตระหนักในเรื่องนี้ได้ถ่องแท้เท่ากับผู้ที่เคยเจอกับตัวเองมาแล้วหรอก