การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 2) 7/12/2547

การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 2) 7/12/2547



การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 2)



จะว่าไปแล้ว ความล้าหลังของภาคชนบทไทย ที่ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องมาจาก ตัวนโยบายของรัฐไทย นี้แหละ ที่ทำให้ชาวนาไทยต้องจมปลักอยู่กับวิถีการผลิตที่ล้าหลัง การพัฒนาที่ผลักดันโดยรัฐไทยที่ผ่านมา (รวมทั้ง รัฐบาลทักษิณ ที่ใช้ นโยบายประชานิยมอย่างสุดโต่งด้วย) ยังมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นแค่การผลักดันให้ชาวนาชาวไร่ไทยเข้าสู่ เศรษฐกิจทุนนิยม ด้วยแบบวิถีการผลิต และเทคโนโลยีที่ยังล้าสมัยอยู่เท่านั้น


ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่รายได้จากภาคเกษตรต่ำ แต่ถนนหนทางที่เข้าสู่เมืองแสนจะสะดวก ประกอบกับ ตลาดแรงงาน ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ก็มีส่วน "ดูด แรงงานของคนหนุ่มคนสาวในภาคชนบทจำนวนมากให้พากันอพยพเข้าสู่เมืองในรูปของ แรงงานราคาถูก หรือไม่ ก็ผู้ขายบริการทางเพศ ทำให้ชนบทถูกทอดทิ้งให้จมปลักอยู่กับความล้าหลังอย่างยากที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ เพราะกลไกของรัฐก็ดี กลไกตลาดแรงงานของเศรษฐกิจทุนนิยมก็ดี ล้วนแต่ทำงานในทิศทางที่ทำให้ชนบทยังคงล้าหลังอยู่ทั้งสิ้น


เพราะทิศทางการพัฒนาทุนนิยมของประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ทำให้แม้แต่ ทุนไทย เองก็ยังเริ่ม "ข้ามชาติ" ไปลงทุนที่จีนและเหล่าประเทศอินโดจีนมากกว่าที่จะเลือกมาลงทุนในชนบทไทย จึงเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่ทิศทางของ "แรงงาน" เท่านั้นที่ทอดทิ้งชนบท แม้แต่ทิศทางของ "ทุน เองก็ยังไม่มุ่งสู่ชนบทไทยเท่าไหร่นัก จริงอยู่การมุ่งส่งเสริม สินค้าโอทอปของรัฐบาลทักษิณ เป็นความพยายามในการสวนกระแสทิศทางการไหลของ "ทุน" ได้บ้างในระดับหนึ่ง แต่มันไม่มากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางการไหลของทุนนี้ได้หรอก


ขณะที่ อิทธิพลของข่าวสารจากโทรทัศน์และวิทยุ ในยุคสังคมข่าวสารกลับไปกระตุ้นลัทธิบริโภคนิยมในหมู่คนชนบทไทย ทำให้พวกเขากลายเป็น "ผู้บริโภค" เต็มตัวมากยิ่งขึ้น และมีความต้องการใช้ "เงิน" มากขึ้นกว่าในอดีตที่ยังพอมีลักษณะเศรษฐกิจยังชีพ กึ่งเลี้ยงตัวเองได้ดำรงอยู่บ้าง สิ่งนี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาละทิ้งชนบทและท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้นจนถึงขั้น "ลอดรัฐ" ไปทำงานที่ไหนก็ได้ที่ให้ค่าจ้างสูงสุด โดยไม่จำกัดตัวเองว่าจะต้องทำงานในประเทศตัวเองเท่านั้น


นอกจากนี้ อิทธิพลและการก่อตัวของ "เศรษฐกิจฟองสบู่" ที่เริ่มต้นตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้ ทำให้ที่ดินเพื่อการเกษตรถูกเปลี่ยนไปเป็นโรงงาน สนามกอล์ฟ และรีสอร์ต จนที่ดินมีราคาสูงขึ้นมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แรงจูงใจที่ชาวนาชาวไร่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมต่อไปจะน้อยลงทุกๆ ที เพราะไม่คุ้มกับมูลค่าที่ดิน


ครั้นหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ "ฟองสบู่แตก" วิถีการผลิตที่ล้าหลังของชนบทผนวกกับความต้องการเงินที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผลักดันให้ชาวนาชาวไร่ต้องหารายได้เพิ่มทางลัด โดยการเข้าไปผูกพันกับเศรษฐกิจใต้ดินหรือเศรษฐกิจนอกระบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้า "ยาบ้า" ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงหลังฟองสบู่แตก จนรัฐบาลทักษิณต้องประกาศสงครามต้านยาเสพติดมีการฆ่าตัดตอน ผู้ค้ายาบ้าจำนวนหลายพันคน แต่ก็ยังไม่สามารถปราบปรามได้อย่างถอนรากถอนโคน แต่ก็มีผลทำให้ชาวนาชาวไร่ส่วนใหญ่หันไปคลั่ง "หวยบนดิน" แทนได้


นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมผสมธนาธิปไตยของทักษิโณมิกส์ ของพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นภายใต้บริบททางเศรษฐกิจดังข้างต้นนี้ที่มีความล้าหลังของภาคชนบทขนาดใหญ่เป็นตัวกำหนด การเมืองสองหน้า อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ พ.ต.ท.ทักษิณเองเมื่อคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ต้อง "ทิ้ง" พรรคพลังธรรม ซึ่งอุดมคตินิยมเกินไปจนไม่ติดดิน แล้วหันไปสร้างพรรคไทยรักไทยของตัวเองที่ยอม "ดูด" ส.ส.ทุกประเภทเข้ามาในพรรคของตน ขอให้ได้เป็นพรรคเสียงข้างมากเท่านั้น แต่พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นสัจนิยมจนเกินไปจนขาดอุดมคติในเรื่องประชาธิปไตยที่ประชาชนปกครองตนเอง และเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนทางการเมือง


เพราะฉะนั้น แม้พรรคไทยรักไทยจะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นในต้นปี พ.ศ. 2544 ด้วยนโยบายประชานิยมที่ขาย "ความหวัง" ให้แก่ภาคชนบทไทยที่ล้าหลังขนาดใหญ่ แต่ด้วยความบกพร่องของนโยบายเชิงประชานิยมแบบนี้กลับจะทำให้ครัวเรือนในภาคชนบทไทยเป็นหนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนโยบายประชานิยมไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ การยกระดับการศึกษาและระดับจิตสำนึกของผู้คนในชนบทให้สูงขึ้น จนกระทั่งสามารถหลุดออกมาจากพันธนาการของระบบอุปถัมภ์ได้ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทยกำลังสร้างระบบอุปถัมภ์แบบใหม่ ภายใต้ระบอบทักษิณเข้ามาครอบงำคนชนบทแทนระบบอุปถัมภ์เดิม และแทนที่รัฐบาลทักษิณจะตระหนักถึงความผิดพลาดของแนวทางที่ตนกำลังดำเนินอยู่ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเหล่าปัญญาชน นักวิชาการมาโดยตลอด แต่ด้วยความกลัวว่าตนเองจะไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย รัฐบาลทักษิณจึงกลับยิ่งโหมกระหน่ำ นโยบายประชานิยมสุดขั้วรอบสอง ออกมาตั้งแต่วันเปิดตัว "คิกออฟแคมเปญ" ในคืนวันที่ 17 ตุลาคม 2547 เพื่อหวังฉุดคะแนนนิยม "ขาลง" ให้กลับคืนมาเป็น "ขาขึ้น" เหมือนเดิมอีกครั้ง โดยหารู้ไม่ว่า นโยบายประชานิยมสุดขั้วรอบสองนี้ ถ้ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ในการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ. 2548 แล้วนำไปปฏิบัติจริง จะชักนำหายนะทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศนี้อย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว


รัฐบาลที่ดี จะต้องไม่ใช่รัฐบาลที่มุ่งแต่คอยเอาใจผู้คนเพื่อหวังคะแนนเสียงไม่ให้กลายเป็น "ขาลง" เหมือนอย่างที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยกำลังกระทำอยู่ แต่ รัฐบาลที่ดีจะต้องสามารถชักชวน และชี้นำประชาชนให้เดินไปในทิศทางที่ถูกที่ควรด้วย


บทบาทของ รัฐบาลที่ดี ที่สามารถบูรณาการการเมืองสองหน้าได้ จะต้องเป็นรัฐบาลที่หันมาทุ่มเทให้กับภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจัง มิใช่อย่างฉาบฉวยแบบประชานิยม โดยไม่ยอมแตะปัญหาโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม โดยจะต้องเน้นการสร้างงานในชนบทให้มากขึ้น สร้างรายได้ของคนในชนบทให้สูงขึ้นอย่างมั่นคงถาวร รวมทั้งสร้างงานที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในอนาคต และเกิดความภูมิใจในตนเอง และท้องถิ่นของตนเองจนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนได้ กล่าวคือ เราจะต้องมุ่งสร้างคนในชนบท (ระดับจิตมีมสีแดง และสีน้ำเงิน) ให้กลายเป็นคนชั้นกลาง (ระดับจิตมีมสีส้ม) ในภาคเกษตร คิดอะไรใกล้เคียงกับคนชั้นกลางใฝ่ฝันอะไรที่คนชั้นกลางใฝ่ฝัน ไม่ใช่แค่เลียนแบบการบริโภค และวิถีชีวิตของคนชั้นกลางเท่านั้น แต่จะต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ตื่นตัวและ "รู้ทัน" นักการเมือง รวมทั้งมีจิตสำนึกที่รักและหวงแหนประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่งด้วย พวกเขาจะต้องมองให้ทะลุว่า สุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจกับการเมือง ก็เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันเป็นส่วนๆ ที่อยู่อย่างเอกเทศไม่ได้ และจะละเลยมิติทางวัฒนธรรม และมิติทางจิตใจในการพัฒนาอย่างบูรณาการ ก็ไม่ได้เช่นกันด้วย


จะเห็นได้ว่า แนวทางการปฏิรูปเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็น ทางเลือกที่สาม ที่จะต้องดำเนินการใน ยุคหลังทักษิณ นั้น การปฏิรูปเศรษฐกิจจะต้องเป็นไปเพื่อการเมือง (การพัฒนาประชาธิปไตย) และการปฏิรูปการเมืองก็จะต้องเป็นไปเพื่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจยังจะต้องเป็นไป เพื่อยกระดับวัฒนธรรมและจิตใจของผู้คน และการปฏิรูปวัฒนธรรมและจิตใจของผู้คนก็จะต้องเป็นไปเพื่อเศรษฐกิจ เพื่อการเมือง เพื่อสังคมด้วยเช่นกัน


เพราะฉะนั้น นักการเมือง และพรรคการเมืองในยุคต่อไปข้างหน้า จึงไม่ควรเป็นแค่เครื่องจักรในการหาเสียงเลือกตั้งอีกต่อไป แต่ควรจะเป็นและ ต้องเป็นเครื่องจักรในการนำเสนอนโยบาย และแนวทางที่สามารถอธิบายให้คนทั้งประเทศเข้าใจได้ว่า ถ้าดำเนินตามนโยบายเหล่านี้แล้ว จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน และจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่พวกเราพึงประสงค์หรือไม่ ในทุกๆ ด้านไม่ว่าด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อ







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้