จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (20) 10/1/49

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (20) 10/1/49



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (20)



20. ว่าด้วยอัตตาในทักษิณาธิปไตย


"ผู้รู้แจ้งอยู่ เบื้องหลัง ดังนั้น จึงอยู่ เบื้องหน้าปล่อยวาง
จึงเป็นหนึ่งเดียวกับทั้งมวล ทำอย่างไร้ตัวตน จึงเพียบพร้อมสมบูรณ์"

(เต๋าเต็กเก็ง)



คงคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ในสังคมที่ผู้คนขาดสติกันเป็นจำนวนมากในทุกระดับชั้นว่า การหลีกเลี่ยงอารมณ์ตึงเครียด จะทำให้เกิดศานติขึ้นภายในจิตใจได้ และจะเป็นหลักประกันว่าคนผู้นั้นจะมีสุขภาพดี และอายุยืนตามธรรมชาติได้


ผู้ใดก็ตามที่ดำเนินชีวิตสวนทางกับหลักการนี้จะถูกทำลายจากอวัยวะภายในอย่างรุนแรง "ผู้นำ" ที่ลืมตน เจ้าอารมณ์ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอารมณ์เสียมากเกินไปบ่อยครั้งไป นานวันเข้าเขาผู้นั้นย่อมตกเป็นเหยื่อของโลภะ โมหะ โทสะ สมองที่ตึงเครียดเกินไป จะบ่อนทำลายศีรษะของเขา อารมณ์ที่ปั่นป่วนมากเกินไปจะบั่นทอนหัวใจของเขา ความหลงตัวเอง และความโลภของเขาจะกัดกร่อนกระเพาะของเขา ร่างกายของเขาจะทรุดโทรมจากภายในอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้


เมื่อใดก็ตามที่ ความโกรธ ปะทุขึ้น มันจะบั่นทอน อวัยวะตับ ของคนผู้นั้น ทำให้ร่างกายของผู้นั้นสูญเสีย หยิน อย่างรุนแรง ถ้าทำได้คนเราควรเข้าถึงสภาวะจิตที่สามารถเผชิญกับทุกสถานการณ์ได้โดยปราศจากความโกรธ หรืออย่างน้อยควรมีสติรู้เท่าทันความโกรธของตนเองให้จงได้


คนที่ชอบ วิตกกังวลมากเกินไป จะมีผลต่อ หัวใจ และ ม้าม ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย สุดท้ายจะหมดพลัง และขาดสมาธิ


คนที่ชอบ เร่งรีบมากเกินไป จะทำให้ร่างกายสึกหรอเร็ว


คนที่ชอบ คิดมากเกินไป จะทำให้สูญเสียความแจ่มใสของสมอง


คนที่มี ความปรารถนามากเกินไป จะทำให้สมองและจิตวิญญาณสับสนเสื่อมถอย


ในช่วงห้าปีมานี้ เป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดว่า จุดตันเถียนบนของ "ผู้นำ" คนนี้ของเราอ่อนแอลงมาก จนตกอยู่ในสภาพการณ์ที่คล้ายกับรถที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ตัวคนขับไม่รู้ว่าจะควบคุมรถอย่างไร ซึ่งสุดท้ายย่อมอาจเป็นอันตรายกับคนอื่นทำร้ายตัวเอง และทำลายรถด้วย ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และผลด้านลบทางจิตใจของเขา เช่น ความโกรธ ความเครียด จะส่งผลกระทบหลายระดับในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ "ผู้นำ" คนนี้ของเรากำลังตกอยู่ในสภาวะ "เสียสมดุลภายใน" อย่างรุนแรง แล้วกำลังทำให้สังคมไทยของเรา "เสียระบบ" อย่างรุนแรง


การที่ "ผู้นำ" ของเราเคยเผลอหลุดปากออกมาว่า จะดูแลพื้นที่ที่เลือกคนของพรรคไทยรักไทยก่อนพื้นที่อื่น ภายหลังจากที่ทราบผลว่า พรรคของตนพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่สะท้อนลักษณะแพ้แล้วพาล ความเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นของตนออกมาอย่างล่อนจ้อนซึ่งสะท้อนภาวะการเสียสมดุลภายในของตนเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำลาย "ระบบ" ของสังคมด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเขาและรัฐบาลของเขาก็ได้ทำลาย "ระบบ" ของสังคมมาโดยตลอด ด้วยการลวงล่อปัจเจกชนให้ละโมบและชักจูงให้หลงลืมผลประโยชน์ส่วนรวมมองอะไรไม่ไกลไปกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าส่วนตน


เรื่องทั้งเรื่องล้วนมีที่มาจาก "อัตตา" ของคนเพียงคนเดียวเท่านั้น คนผู้นี้แอบอ้างว่าเคยอ่านงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุมาหลายเล่มจนเลื่อมใสถึงขนาดน้อมรับเอาธรรมะของท่านพุทธทาสมาเป็นแนวทางปฏิบัติงานของตนที่มุ่งจะเป็น นักการเมืองโพธิสัตว์


ผู้ใดก็ตามที่ศึกษางานของท่านพุทธทาสจนเข้าถึงจะรู้ดีว่า คำสอนที่ท่านพุทธทาสเน้นมากที่สุดก็คือ คำสอนเรื่อง "ตัวกูของกู" (อัตตา) จึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริงเรื่องหนึ่งที่ปัจจุบันประเทศของเรามี "ผู้นำ" ที่มีอัตตาสูงมากที่สุดคนหนึ่งในรอบหลายสิบปีมานี้ มิหนำซ้ำ เขายังเป็นคนที่พูดอย่างทำอย่าง อย่างยากที่จะหาใครเปรียบได้ด้วย


สิ่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ "ผู้นำ" ของเราต่างกับท่านพุทธทาสอย่างเห็นได้ชัด เพราะท่านพุทธทาสเป็นคนที่มี จุดยืน ชัดเจน ท่านไม่เคยปฏิเสธสิ่งหนึ่ง แล้วยอมรับสิ่งเดียวกันนั้นกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ธรรมบรรยายของท่านก็ไม่อิงกับกระแสสังคม ไม่ขึ้นกับบุคคล แม้ว่าจะตรงข้ามกับความเห็นของบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตาของสังคม หรือไม่ตรงกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ไม่ตรงกับคำสอนของพระทั่วไปก็ตาม


คนที่สามารถยืนในจุดยืนของตนเองได้ตลอดเวลาโดยไม่โอนเอนตามสังคมนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความหนักแน่น มั่นคง รอบคอบ กล้าหาญ และเคารพความจริง ซึ่ง "ผู้นำ" คนนี้ของเราไม่อาจทำให้พวกเรารู้สึก และยอมรับว่าเขาเป็นคนประเภทนี้ได้ อีกประการหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือ


ภายใต้สภาวะปัจจุบันที่เป็นอยู่ มันยากยิ่งที่จะเชื่อได้ว่า นักการเมืองโพธิสัตว์ จะมีอยู่จริง หรืออย่างน้อยคงไม่ใช่ "ผู้นำ" คนนี้แน่ที่จะมีคุณสมบัติอย่างนั้นได้ เพราะไม่ว่าจะดูยังไง หรือให้โอกาสมานานถึงห้าปีแล้ว คนผู้นี้ก็ยังคง เสียสละไม่จริง ไม่ได้มีจิตที่เมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่จำแนกจริง ยังปล่อยวางไม่ได้จริง และหาได้มีปณิธานที่ยิ่งใหญ่จริง แต่อย่างใดไม่


ในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้าโพธิสัตว์ทั้งหลายจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อปกป้องธรรมและเพื่อพิทักษ์แผ่นดิน ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า


ความมี อัตตาสูง มีความเป็น "ตัวกูของกู" สูงของคนเรานั้นดูกันที่ตรงไหน? ผู้มีปัญญาในสมัยโบราณท่านชี้แนะให้ดูที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของบุคคลผู้นั้นว่า ทำตนดุจ ตุ๊กตาหน้าโง่ ที่ปล่อยให้ "มายา" จูงจมูกด้วยเชือกที่เรียกว่า กิเลส ตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังหรือไม่?


ให้ดูที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของบุคคลผู้นั้นว่า รู้ทัน สมมติบนโลก ได้หรือไม่ว่า ชีวิตของเราเป็นเพียงการหยิบยืมของบนโลกนี้มาใช้ชั่วคราวเท่านั้น ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้จริง อย่างมากก็ได้แค่สิทธิครอบครองเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดสิทธิหมดเวลา ก็หมดอำนาจการครอบครองดูแล หากผู้ใดก็ตามไปหลงลืมตัวคิดว่าเป็นของตนได้จริงย่อมจะเกิดทุกข์


หากบุคคลใดก็ตาม ยังคงยึดมั่นถือมั่นในอำนาจเงินทองวัตถุสิ่งของที่มุ่งสะสมไว้ราวกับว่า ตัวเองไม่มีวันตาย ย่อมเกิดภาระทางใจที่คอยเหนี่ยวรั้งดวงจิตของผู้นั้นให้หลง ยึดติดกับอำนาจและเงินทองวัตถุสิ่งของบนโลกว่าเป็นตัวกูของกู คนผู้นั้นย่อมยากที่จะมี พัฒนาการทางจิต ได้


ท่าน "ผู้นำ" เอย ท่านได้ตระหนักบ้างหรือยังว่า การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของท่าน จมปลักอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระหาแก่นสารมิได้มากกว่า เกาะติดอยู่กับกระแสธรรม?


ท่าน "ผู้นำ" เอย ท่านเคยมีสติรู้ทันอัตตาตัวตนของท่านบ้างหรือไม่ว่า ท่านยังคงลุ่มหลงอยู่ในกิเลส ตัณหา อุปทานและอวิชชาอย่างหนาแน่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้จิตใจของท่านตกเป็นทาสของสมมติบัญญัติ เกิดอวิชชาหลงผิดคิดว่าเป็นจริงเป็นจัง ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นเพียงภาพมายาแห่งจิตเท่านั้น?


ท่าน "ผู้นำ" เอย จงอย่าเพียงพูดว่าแผ่เมตตาแต่ปาก ทั้งๆ ที่ในจิตใจของท่านยังคงโกรธแค้นอาฆาตอยู่ โดยหามีความเมตตาอยู่ภายในจิตใจเลย อย่างนี้จะแผ่เมตตาออกไปได้อย่างไรเล่า?


การที่คนเราจะเมตตาให้กับสิ่งใดได้นั้น คนเราจะต้องรักสิ่งนั้นให้ได้เสียก่อน เพราะอารมณ์เมตตานั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความรัก เสมอ โพธิสัตว์ที่แท้จะต้องรักได้แม้แต่คนที่คิดเป็นศัตรูกับตัวเอง คนเราเวลาศึกษาธรรมจะต้องไม่หลอกตนเอง จะต้องกล้าที่จะพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจตนถึงจะสามารถ "ก้าวข้าม" อัตตาตัวตนแห่งตัวกูของกูได้


อวิชชา เปรียบเหมือน ปมของเชือก ที่ผูกซ้อนกันไว้เป็นชั้นๆ ด้วย ปัญญา คนเราย่อมสามารถแก้ ปม เหล่านั้นออกได้จนมาถึง ปมสุดท้าย แต่เมื่อปมสุดท้ายของเชือกถูกแก้ออกเชือกเส้นนั้นกลับหายไป


เพราะมีปมจึงมีเชือกอยู่


พอหมดปมเชือกก็ไม่ดำรงอยู่


ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนที่เดินทางมาถึง ปมสุดท้ายของอวิชชา ซึ่งเป็น หมากตาสุดท้าย ของนักกลยุทธ์ เขาย่อมพบกับความจริงของคำว่า "อนัตตา" ว่า


ปมและเชือกมันไม่เคยมีตัวตนอยู่จริงเลยตั้งแต่ต้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้