จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (12) 15/11/48

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (12) 15/11/48



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (12)



12. วิกฤตราคาน้ำมันกับความไร้วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ


...ล่างฟานหวิน ทอดถอนใจคำหนึ่งกล่าวว่า

"จูหยวนจางตอนนี้ มิใช่จูหยวนจางที่ทำศึกชิงแผ่นดิน ไม่มีจิตปณิธานอันยิ่งใหญ่เช่นกาลก่อน
ตอนนี้เขาเพียงคิดถึงความเป็นอมตะ และรักษาอำนาจเสริมความมั่นคงของตนเท่านั้น
เพราะฉะนั้น หากจูหยวนจางเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายก็ไม่มีคุณสมบัติเป็นฮ่องเต้ต่อไป สมควรให้ผู้ที่ปรีชาสามารถกว่าขึ้นแทนที่"

จาก "เทพมารสะท้อนภพ" ของหวงอี้ เล่ม 9



นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันที่ถีบตัวขึ้นอย่างผิดปกติมาแล้ว 4 ครั้ง คือ ในปี 2516, ปี 2522, ปี 2533 และปี 2542-2543 ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง และเกิดการห้ามส่งออกน้ำมันจากกลุ่มประเทศอาหรับที่ใช้สิ่งนี้เป็นอาวุธทางการเมือง


เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันแต่ละครั้ง ราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัว และตามมาด้วยภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสังคมเศรษฐกิจโลกเสมอ


ถึงแม้ว่าวิกฤตราคาน้ำมันครั้งที่ห้าที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ จะเหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มาตรงที่ราคาน้ำมันได้ถีบตัวสูงขึ้นมากก็จริง แต่ก็เป็นที่สังเกตได้ว่า วิกฤตราคาน้ำมันครั้งล่าสุดนี้ เกิดจากการมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ซึ่งต่างจากที่แล้วๆ มาที่เป็นปัญหาที่เกิดจากการจำกัดอุปทานเป็นหลัก


ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า


ในปัจจุบันความต้องการบริโภคพลังงานของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะจีนกับอินเดียได้เพิ่มขึ้นสูงมาก และมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าปัจจุบันกว่าสองเท่าในอีก 25 ปีข้างหน้า กล่าวคือ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันของเอเชียในปัจจุบันอยู่ที่ 600x106 TOE และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1448x106 TOE ในปี 2030


ทั้งๆ ที่ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกได้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ การขุดเจาะหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ นับวันจะหาได้ยากขึ้น บริษัทน้ำมันขนาดยักษ์ของสหรัฐฯ ถึงกับลงโฆษณาเตือนประชาชนให้เริ่มประหยัดน้ำมันได้แล้ว โดยถึงกับระบุว่า ปัจจุบันทุก 2 บาร์เรลของน้ำมันที่โลกบริโภคอยู่นั้น อุตสาหกรรมน้ำมันสามารถค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ได้เพียง 1 บาร์เรลเท่านั้น


จึงเห็นได้ว่า วิกฤตราคาน้ำมันครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องราคาน้ำมันแพงขึ้นเหมือนอย่างที่ผ่านมาเท่านั้น แต่มันยังมี ปัญหาทรัพยากรน้ำมันของโลกที่เริ่มร่อยหรอ แฝงซ้อนกันอยู่ด้วย ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ต่อจากนี้ไป ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอย่างเป็นโครงสร้างโดยไม่ลดต่ำลงมาเท่ากับระดับก่อนเกิดวิกฤตราคาน้ำมันอีกต่อไปแล้ว


หาก ปัญหาโลกจะขาดแคลนน้ำมันอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้ เริ่มมีเค้าที่จะเป็นจริงขึ้นมาแล้ว แม้แต่ประชาชนคนทั่วไปจะไม่สนใจเรื่อง Peak Oil หรือ Hubbert Peak ก็คงไม่ได้แล้ว


ดร.มาเรียน คิง ฮับเบิร์ต เป็นนักธรณีฟิสิกส์ชาวสหรัฐอเมริกา ที่ได้ใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจ และธรณีวิทยามาคำนวณสถานการณ์น้ำมันโลก โดยเขาได้นำเสนอว่า รูปแบบของอุปทานน้ำมัน (ที่เรียกว่า เส้นโค้งฮับเบิร์ต) จะอยู่ในรูปของเส้นโค้งระฆังคว่ำคือ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า Peak จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนหมดไม่มีเหลือ


ทฤษฎีของฮับเบิร์ตระบุว่า เมื่อบ่อน้ำมันทั้งหมดถูกค้นพบแล้ว ในช่วงแรกการผลิตจะยังไม่มาก เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปการผลิตน้ำมันจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการช่วยขุดเจาะ และช่วยในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันได้มากขึ้น แต่เมื่อถึงจุด Peak (จุดสูงสุด) การผลิตน้ำมันจะเป็นไปได้ยากมาก แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ตาม จากนั้นปริมาณการผลิตจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่การเจาะน้ำมันไม่คุ้มทุน บ่อน้ำมันก็จะถูกทิ้งไม่มีการผลิตต่อ แม้ว่าจะยังมีน้ำมันในบ่อก็ตาม


แม้ว่าขณะนี้อุปทานน้ำมันโลกจะยังไม่ถึงจุด Peak แต่การค้นพบบ่อน้ำมันนั้น เริ่มหยุดนิ่งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 และถึงแม้จะยังมีการค้นพบบ่อน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ก็อยู่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล


การคำนวณตามทฤษฎี Peak Oil ได้ทำนายว่า ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปกจะถึงจุด Peak ในราวปี ค.ศ. 2015 หรืออีกสิบปีข้างหน้า ส่วนประเทศสมาชิกโอเปกก็จะถึงจุด Peak ราวปี 2025 หรืออีกยี่สิบปีข้างหน้าเท่านั้น!


ที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันต่างๆ ก็ได้พยายามลงทุนค้นหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ เหมือนกัน แต่แหล่งที่ค้นพบกลับมีสภาพภูมิประเทศที่เสี่ยงอันตรายเพิ่มมากขึ้น ทำให้การลงทุนต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล แต่ผลการสำรวจกลับไม่พบแหล่งน้ำมันที่มีปริมาณมากพอเหมือนในอดีต


ครั้นหวนมาพิจารณาดู แหล่งน้ำมันดิบในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบียซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก คือมีน้ำมันดิบสำรอง 2.63 แสนล้านบาร์เรลหรือ 22% ของน้ำมันสำรองของโลก


ปัจจุบันโลกเราใช้น้ำมันวันละ 84 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรล (หรือ 12.5% ของการผลิตทั้งหมด)


แต่ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยบ้างแล้วว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบียมีถึง 2.63 แสนล้านบาร์เรลจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อมูลที่หาหลักฐานพิสูจน์ได้ยากยิ่ง


หากปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบียมีน้อยกว่าที่ประกาศ นั่นก็หมายความว่า จุด Peak Oil ของประเทศแถบตะวันออกกลางจะมาถึงเร็วกว่าเดิมอีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลก และระบบทุนนิยมในโลกนี้มีปัญหาแน่นอน


สมาชิกโอเปกมี แรงจูงใจแบบนักลัทธิฉวยโอกาส ที่จะอ้างว่า ประเทศตนมีน้ำมันสำรองเกินจริง เพราะถ้ายิ่งอ้างว่าตัวเองมีน้ำมันสำรองมากเท่าไร ตัวเองก็จะได้รับจัดสรรโควตาการผลิตในกรอบของโอเปกมากขึ้นเท่านั้น


ในกรณีของซาอุดีอาระเบีย บ่อกาวอร์เป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลิตน้ำมันมาได้ 50 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมามีผลผลิตมากถึง 5.5 หมื่นล้านบาร์เรล แม้ปัจจุบันนี้ จะยังผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ 5 ล้านบาร์เรล หรือ 50% ของกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียทั้งหมด


แต่ในระยะหลังๆ นี้ การผลิตน้ำมันจากบ่อกาวอร์ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้น้ำมันเข้าไปผลักดันให้ปริมาณน้ำมันออกมาในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เริ่มเป็นห่วงว่า น้ำมันที่จะนำขึ้นมาจากหลุมจะค่อยๆ ลดลงในที่สุด และถึงแม้ว่า ยังมีน้ำมันในตอนใต้ของบ่อน้ำมันที่ยังไม่ได้ขุดเจาะ แต่ลักษณะภูมิประเทศตรงนั้น ก็ขุดเจาะได้ยากกว่าบริเวณที่เป็นแหล่งผลิตในปัจจุบัน หากการผลิตน้ำมันในบ่อกาวอร์ลดลง โลกเราคงไม่สามารถแสวงหาบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้อีกแล้ว


จากมุมมองและข้อมูลที่ได้รวบรวมนำมาเสนอข้างต้น คงพอจะทำให้เห็น ภาพรวม ได้แล้วกระมังว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กับโลกใบนี้?


ถูกแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของวิกฤตราคาน้ำมันแพงเท่านั้น แต่มันหมายถึงเรื่องของอวสานของยุคน้ำมันที่จะมาถึงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน


นี่เป็น เรื่องของยุทธศาสตร์แห่งชาติที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของชาติเราในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ ที่จะต้องริเริ่มทำอะไรอย่างจริงจังต่อเนื่องเสียแต่บัดนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้!


แต่ สิ่งที่ "ผู้นำ" คนนี้ได้กระทำลงไปคือ นโยบายตรึงราคาน้ำมันแบบประชานิยม ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย และแม้แต่ตอนนี้ก็ยังมิได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาน้ำมันที่กำลังเข้าสู่จุด Peak Oil ในระดับโลกอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ จึงยังคงผลักดันแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่กระตุ้นการบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่อีก ทั้งๆ ที่หายนะทางเศรษฐกิจกำลังรออยู่เบื้องหน้า หากยังดันทุรังผลักดันแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ต่อไป


ผู้ที่จะขึ้นมาเป็น ผู้นำประเทศในยุคหลังทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อวสานของยุคน้ำมัน กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า และ ประเทศเราเหลือเวลาอีกไม่กี่สิบปีที่จะผลักดันยุทธศาสตร์แห่งการสถาปนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถทำให้ชาติเราอยู่รอดได้ในยุคหลัง Peak Oil และยุคหลังน้ำมันหมดโลก


ผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่จะมาแทนทักษิณได้ ถ้าพิจารณาเฉพาะประเด็นวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องอวสานของยุคน้ำมันนี้


บางที ผู้นำ ที่ประกาศก่อตั้ง "พรรคเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งมีแนวทางที่จะผลักดันและสถาปนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรับมือกับสถานการณ์อวสานของยุคน้ำมันในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้เท่านั้น ถึงจะนำพาประเทศนี้ให้รอดปลอดภัยได้ แต่ความเป็นไปได้นี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนจึงมิอาจเป็น พวกสุขทรรศน์ (Optimist) ได้เลย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้