การแสวงหาองค์ความรู้ 4 ระดับ กับพันธกิจแห่ง "บูรณาปัญญาชน"
"ชีวิตเขาอ้างว้าง แต่หัวใจเขาอบอุ่น
ความรักของเขารันทด แต่จิตใจเขาทรงพลัง
ดวงใจนั้น รานร้าว แต่เขายังมุ่งมั่นกร้าวแกร่ง"
จาก "ไฟชีวิต : ตำนานแห่งรักและแรงบันดาลใจของอัจฉริยะศิลปิน ฟินเซนท์ ฟานก๊อกฮ์"
(เออร์วิง สโตน เขียน กิติมา อมรทัต แปล, สำนักพิมพ์คุณพ่อ, 2545)
"ไม่มีการสร้างสรรค์ใดที่ไม่แฝงไว้ซึ่งความปวดร้าวของผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมา"
(นิรนาม)
มนุษย์เราต่างกับสัตว์เดรัจฉานตรงไหน? คงตอบได้อย่างไม่ลังเลใจเลยว่า ต่างกันตรงที่มี จิต (consciousness) ที่สามารถวิวัฒนาการได้หรือไม่นี่เอง ว่ากันว่า ในขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษยชาติขั้นตอนนี้ ระยะทางที่มนุษย์สามารถวิวัฒนาการตัวเองไปสู่จิตระดับเทพเจ้า (gods) นั้นยังสั้นกว่าหรือยาวนานน้อยกว่าระยะทางที่สัตว์เดรัจฉานสามารถวิวัฒนาการตัวเองไปเป็นมนุษย์มากต่อมากนัก
แล้วอะไรคือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษยชาติสามารถวิวัฒนาการตนเองมาได้จนถึงระดับนี้ และยังสามารถพัฒนาตัวเองในเชิงจิตหรือจิตสำนึกไปได้อีกจนกว่าจะถึงระดับของพุทธะหรือธรรมจิต (spirit)?
คำตอบก็น่าจะเป็น ความรู้ (knowledge) ตัวความรู้นี้เองแหละที่เป็นปัจจัยและเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพจิตใจของปัจเจกและสังคมให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้อย่่างแน่นอนที่สุด
โดยปกติเวลาพูดถึง ความรู้ ผู้คนจะนึกถึงหนังสือก่อนเป็นอันดับแรก แต่ความรู้จากหนังสือ (book knowledge) ซึ่งแม้จะเป็นประเภทของความรู้ที่สำคัญที่สุดในยุคข่าวสารนี้ก็จริง แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของความรู้ที่จะนำไปสู่การยกระดับจิตสำนึกของผู้คนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอความรู้ 4 ระดับ และ/หรือ 4 ประเภทที่คนเราควรแสวงหาอย่างบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การยกระดับพัฒนาจิตใจได้อย่างแท้จริง คือ
(1) body knowledge หรือความรู้ทางกายของคนเรา ซึ่งเป็นทั้งความรู้แฝง (embedded knowledge) และความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้ที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันให้ความใส่ใจน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ พหุปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาทางกาย-ปัญญาทางศิลปะดนตรี และในยุคทุนวัฒนธรรม-ทุนกีฬาอย่างในยุคปัจจุบันนี้ ความรู้ทางกายหรือปัญญาทางกายนี้ ได้กลายเป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว
ความสำเร็จของนักเทนนิสอย่างภราดร นักแสดงบทบู๊อย่าง จาพนม, เฉินหลง นักกอล์ฟอย่างไทเกอร์วูดส์ นักฟุตบอลอย่างเบ็คแฮม ล้วนเป็นผลพวงจากปัญญาทางกายหรือความรู้ทางกายทั้งสิ้น
ต่อให้ไม่มุ่งหวังความสำเร็จทางวัตถุเป็นหลัก ความรู้ทางกายที่ได้จากการฝึกศิลปะการต่อสู้ การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี และการฝึกศิลปะแขนงต่างๆ ก็สามารถให้ "ความหมาย" แก่ชีวิตของคนผู้นั้น จนกระทั่งอาจเป็นวิถีของคนผู้นั้น ซึ่งแม้อาจไม่สามารถยกระดับจิตของคนผู้นั้นให้ไปสู่ขั้นสูงสุดเท่าที่ศักยภาพของมนุษย์จะบรรลุถึงได้ แต่ก็ย่อมสูงส่งกว่าผู้ที่ไม่อยู่บนวิถีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ผู้ที่มีความรู้ทางกาย ย่อมง่ายต่อการฝึกรวมกายกับใจให้เป็นหนึ่งเดียว เมื่อเขาเริ่ม "ปฏิบัติธรรม" ซึ่งจะทำให้ผู้นั้น ง่ายต่อการพ้นจากสภาวะปรุงแต่งของอารมณ์ ทำให้มีพลังและเข้าถึงแหล่งพลังอันไม่มีวันสิ้นสุดได้ ในทางพุทธนั้นสอนว่า จิตกับกายที่รวมกันได้จะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ชนะต่อสรรพสิ่ง เนื่องจากจะสามารถควบคุมจิตใจของตัวเองได้ด้วย "สติ" ผู้ที่รวมกายกับจิตให้เป็นหนึ่งได้เสมอย่อมมีพลังไปสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคม ตัวผู้เขียนเองฝึกความรู้ทางกายตั้งแต่เด็ก โดยผ่านการฝึกศิลปะการต่อสู้ของตะวันออก โดยเฉพาะมวยจีน จนกระทั่งมันได้กลายมาเป็นวิถีของผู้เขียน ครั้นเมื่อผู้เขียนเริ่มปฏิบัติธรรม มันก็ช่วยให้ผู้เขียน "เข้าถึง" คำสอนขั้นสูงต่างๆ ของเหล่าคุรุได้ง่าย ล่าสุดเมื่อผู้เขียนเริ่มฝึกดนตรี "กู่เจิง" (พิณจีนโบราณ) ตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน ความรู้ทางกายที่สะสมมาจากศิลปะสายอื่นทำให้การเรียนดนตรีโบราณชิ้นนี้ในวัยนี้ของผู้เขียนมิได้เป็นอุปสรรคแต่ประการใด ผู้เขียนได้สัมผัสกับปีติอันล้ำลึกที่ได้จากโลกแห่งคีตาการนี้ และเกิดความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ศิลปะเป็นวิถีที่สำคัญในการยกระดับจิตใจของผู้คนโดยผ่านความรู้ทางกาย
(2) book knowledge หรือ ความรู้จากหนังสือ ซึ่งเป็นประเภทของความรู้ที่สำคัญมากในการพัฒนาสติปัญญาของผู้คนส่วนใหญ่ ลำพังความรู้จากหนังสืออย่างเดียว สามารถทำให้คนธรรมดากลายเป็น "ปัญญาชน" (ผู้มีความรู้) ได้เท่านั้น แต่หากไม่ประกอบด้วยความรู้ทางกายแล้ว เขาก็ไม่อาจเป็นศิลปินหรือเป็นปราชญ์คุรุ (sage) ได้ ปัญญาความรู้ของเขา จึงยังเป็นปัญญาความรู้ทางโลกเท่านั้น ตัวผู้เขียนเองได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (ทุนมอมบูโช) ไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท และเอกแล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลยจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าตลอดชีวิตของผู้เขียนอยู่กับหนังสือมาโดยตลอด จนกระทั่งแลเห็นทั้งความงามและความคมของตัวอักษรที่ถ่ายทอดออกมาจากหนังสือทรงคุณค่าจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตัวเองได้ผ่านมา จนแทบกล่าวได้ว่า ตอนนั้นไม่มีโลกไหนน่าหลงใหลเท่าโลกแห่งหนังสือ และโลกแห่งความคิดอีกแล้ว แต่ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้รับปริญญาเอกแบบ "รอมบุน ฮาคาเซะ" อันเป็นปริญญาเอกระดับสูงสุด และได้รับยากที่สุดในวงวิชาการญี่ปุ่นจากงานเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น เรื่อง "ทุนนิยมไทยกับบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่น" ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่า ลำพังแค่โลกวิชาการมันไม่ได้ท้าทาย ความกระหายใน "ความรู้" ของผู้เขียนอีกต่อไปแล้ว จากนั้นผู้เขียนก็กระโจนเข้าสู่ "โลกแห่งจิตวิญญาณ" เสาะหาความรู้เชิงญาณทัสนะ (intuitive knowledge) อย่างเอาเป็นเอาตาย
(3) intuitive knowledge หรือความรู้ในเชิงญาณทัสนะ อันเป็นความรู้ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการคิด แต่เป็นความรู้ที่รู้ขึ้นมาได้เองแบบสว่างแวบเข้าไปในหัวใจ ซึ่งเป็นผลของการฝึกจิตและกายอย่างเข้มงวด เที่ยงตรง ต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งจิตได้รับการพัฒนาจนถึงระดับ "intuitive mind" ซึ่งสูงกว่าจิตระดับ "higher mind" (อันเป็นจิตระดับ vision-logic ของปัญญาชน)
ประสบการณ์ในการแสวงหาความรู้ในเชิงญาณทัสนะของผู้เขียนปรากฏอยู่ในหนังสือชุด "มังกรจักรวาล" (สำนักพิมพ์ไอโอนิค) ถึง 7 เล่ม ก่อนที่จะเกิดเรื่องราว "อาจารย์กู้กับเปรตคำชะโนด" ที่ผู้เขียนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยคนหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2543 หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ยุติการแสวงหาความรู้ประเภทนี้อย่างสิ้นเชิง เหตุการณ์นั้นจากแง่มุมของผู้เขียนเป็นดังนี้
ปลายเดือนมกราคม 2543 มีนักธุรกิจระดับหลายร้อยล้านบาทที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลได้ติดต่อมายังผู้เขียน ขอให้ผู้เขียนสืบหาอาจารย์กู้ ซึ่งหายสาบสูญจากวงการทางจิตโดยไม่ได้ข่าวคราวมา 3 ปีแล้ว อันที่จริงนักธุรกิจท่านนี้เคยเจอกับอาจารย์กู้ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องพลังจิตมาแล้วตั้งหลายปีก่อน และได้เคยเห็นอาจารย์กู้แสดง "ฤทธิ์" (มายากล?) ตั้งหลายครั้ง ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ตัวเขาจะประสบปัญหาหนี้สินทางธุรกิจ
ตัวผู้เขียนเองก็เคยได้ยินกิตติศัพท์ "พระกู้" มาก่อนแล้วว่าเป็นพระลึกลับที่มีฤทธิ์เดชมากเป็นที่โจษจันในหมู่ทหารชั้นผู้ใหญ่ มีด็อกเตอร์บางคนเคยเขียนหนังสืออ้างถึง "พระกู้" ว่ามีฤทธิ์ในการเสกของเทียบเท่าไสบาบาของอินเดีย ควรแก่การยกย่องสนับสนุน
ในช่วงนั้น ผู้เขียนเป็นที่ร่ำลือในวงการทางจิตว่า มักเจอกับ "เรื่องบังเอิญ" ที่เป็นประสบการณ์ทางวิญญาณเป็นประจำ และดูเหมือนว่าผู้เขียนจะพัฒนา intuitive mind ได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว คงด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ทำให้ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากนักธุรกิจผู้นั้น โดยผู้เขียนขอให้เขามาหาผู้เขียนที่บ้านโดยให้เขานำพระพุทธรูปที่เขาบอกว่า "พระกู้" เสกจากดินให้เขามาให้ผู้เขียนใช้ในการ "สื่อ" ด้วย
นักธุรกิจผู้นั้นมาหาผู้เขียนที่บ้านในเช้าวันอาทิตย์ ท่ามกลางลูกศิษย์หลายสิบคนของผู้เขียน (ในตอนนั้น ผู้เขียนยังทำชมรมปฏิบัติธรรมที่บ้าน) ผู้เขียนหยิบพระพุทธรูปที่นักธุรกิจคนนั้นบอกว่า "พระกู้" เสกให้ขึ้นมากำไว้ในมือ แล้วกำหนดจิตถึงเหล่าคุรุของผู้เขียน"
นักธุรกิจผู้นั้นมาหาผู้เขียนตอนสิบโมงเช้าและกลับไปตอนสิบเอ็ดโมงเช้า ปรากฏว่า ในตอนบ่ายสองโมงของวันเดียวกัน เมื่อเขาแวะไปหาเพื่อนของเขา ซึ่งก็เคยเป็นศิษย์ของ "พระกู้" ก็ปรากฏว่าเกิด "เรื่องบังเอิญ" ที่ "พระกู้" ได้โทร.เข้ามาหาเพื่อนของเขาพอดี ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการติดต่อจาก "พระกู้" มา 3 ปีแล้ว
สองอาทิตย์ต่อมา ผู้เขียนได้เจอ "พระกู้" ที่ห้องผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ก่อนที่จะมีนักการเมืองชื่อดังส่งคนขับรถมารับ "พระกู้" ไป ผู้เขียนได้เชิญ "พระกู้" มาฉันเพลที่บ้าน หลังจากนั้น "พระกู้" ก็มาหาผู้เขียนที่บ้านในตอนดึกทุกคืน แสดงฤทธิ์เสกของต่างๆ (มายากล?) ให้ผู้เขียนดู รับผู้เขียนเป็นศิษย์บอกว่าจะพาผู้เขียนไปดูพญานาค แต่กลับเจอ "เปรต" (จัดฉาก) ระหว่างนั้น ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่สนใจเรื่องจิตเช่นกัน ก็ขอมาเป็นศิษย์ "พระกู้" แล้วเอาใจอาจารย์ด้วยการถ่ายวิดีโอเปรตออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อความโด่งดังซึ่งกลับกลายเป็นถูก "สื่อ" ตรวจสอบเปิดโปง "พระกู้" ที่กลายเป็น "18 มงกุฎ" ครั้นพอเรื่องราวลุกลามใหญ่โต ผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องต่างหลบหน้าไปหมดเพราะไม่อยากเสียชื่อเสียง เหลือแต่ผู้เขียนที่เอาตัวรอดไม่เป็นเพียงลำพังเท่านั้น...
อะไรคือความจริงของอาจารย์กู้? ถ้าถามผู้เขียนตอนนี้ หลังจากที่มีเวลาปลีกตัว สรุปเรื่องราวทั้งหมดเป็นปีก็คงได้ว่า อาจารย์กู้เป็นทั้ง 18 มงกุฎ นักต้มตุ๋น และเป็นทั้งผู้มีพลังจิตที่ทางปรจิตวิทยาเรียกว่า มีความสามารถทางด้านเทเลพอร์เทชัน (เคลื่อนย้ายวัตถุจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง) โดยที่ความสามารถพิเศษทางจิตนี้ อาจติดตัวมาแต่กำเนิดมากกว่าเกิดจากการฝึกฝน จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับระดับจิต ระดับสติปัญญา และระดับศีลธรรมของคนผู้นั้นแต่อย่างใด นี่เป็นบทเรียนทางจิตครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผู้เขียน และทำให้ผู้เขียน "ปล่อยวาง" เรื่องฤทธิ์และพลังจิตได้อย่างสิ้นเชิงหลังจากนั้นเป็นต้นมา
ก่อนหน้านี้ นอกจากผู้เขียนเคยถ่ายทอดเรื่องราวของ "มูซาชิ" ออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว ผู้เขียนยังได้เคยถ่ายทอดเรื่องราวของ "เค็นอิจิโร่" ซามูไรหนุ่มที่เป็นตัวละครที่อยู่ในใจผู้เขียนด้วยเช่นกัน เค็นอิจิโร่ เป็นซามูไรที่มีแผลเป็นกลางหลังเป็นรอยถูกดาบฟัน คนทั่วไปที่เห็นแผลเป็นข้างหลังของเค็นอิจิโร่ ก็มักหัวเราะเยาะ ดูถูกดูแคลนเขาด้วย คิดว่านี่คงเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นจากความขี้ขลาด พยายามวิ่งหนีเอาตัวรอดจึงถูกฟันข้างหลัง หากเค็นอิจิโร่ไม่เปิดปากเล่าความจริงออกมาก็คงไม่มีทางรู้หรอกว่า บาดแผลนั้นเกิดจากการที่เขาได้เอาตัวของเขาเข้าไปปกป้อง หญิงคนรักของเขาไม่ให้ถูกบิดาของนางสังหารด้วยความโกรธที่ทำให้ท่านขายหน้า
ข้าพเจ้าก็มีบาดแผลที่กลางหลังรอยหนึ่ง รอยแผลเก่าที่คงติดตัวข้าพเจ้าไปจนตลอดชีวิต...เค็นอิจิโร่ยังโชคดีกว่าข้าพเจ้า เพราะหญิงที่เขาเอาชีวิตเข้าปกป้องยังคงรักเขาไม่เสื่อมคลาย แต่ "ครู" ที่ข้าพเจ้าได้เอาตัวเข้าไปปกป้อง ข้าพเจ้าได้ค้นพบในภายหลังว่าได้หลอกใช้ข้าพเจ้ามาโดยตลอด ในตอนนั้น ทั่วทั้งแผ่นดินนี้ คงไม่มีใครที่เข้าใจซึ้งถึงหัวอกของเหล็งฮู้ชง แห่ง "ยิ้มเย้ยยุทธจักร" ของกิมย้งเท่ากับข้าพเจ้าอีกแล้ว! และคงด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องหันมาเล่นพิณกู่เจิงชำระจิตใจ เยียวยาบาดแผลทางใจที่บาดลึกของตนเช่นเดียวกับเหล็งฮู้ชง
(4) Transcendent knowledge หรือความรู้ในการข้ามพ้นอัตตาตัวตนของตนเอง ความรู้ในการปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นความรู้ประเภทนี้เป็นประสบการณ์โดยตรง ในการเข้าถึง "ความเป็นสิ่งนั้น" (being) ที่เป็นความจริงแท้ ความดีแท้ ความงามแท้แห่งสภาวธรรม ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดให้กันได้ แต่ชี้ทางให้ได้ บอกเล่าให้รับฟังได้ในรูปของความรู้จากหนังสือ (book knowledge) แต่คนทั่วไปมักสับสนว่าความรู้จากหนังสือเกี่ยวกับ "สภาวธรรม" นั้นคือสิ่งเดียวกับตัวสภาวธรรมนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของ "ความเป็นสิ่งนั้น" หรือเป็นประสบการณ์โดยตรง ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละสิ่งกัน เหมือนกับที่มือที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ มิใช่สิ่งเดียวกับดวงจันทร์ ความรู้ของเซน ของเต๋า คำสอนแบบอทวิภาวะ (nondual) ความจริงเป็นความรู้ในการข้ามพ้นที่ต้องเป็นประสบการณ์โดยตรงของคนผู้นั้น แต่กลับถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความรู้ที่อ่านได้ คิดได้จากหนังสือ จึงทำให้มีคนจำนวนไม่มากที่สามารถเข้าถึงความจริงของความรู้ประเภทนี้ ซึ่งต้องผ่านระดับของความรู้ทางกาย ความรู้จากหนังสือ และความรู้จากญาณทัสนะมาก่อนถึงจะเข้าถึงได้
วิชันระยะยาวของทักษิโณมิกส์ที่มุ่งมั่นจะสถาปนาสังคมแห่งความรู้ และเศรษฐกิจที่ตั้งบนฐานของความรู้ ขึ้นในสังคมไทย ยังเป็นวิชันที่อิงอยู่บนความรู้จากหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งยังคับแคบไปคิดสั้นเกินไป วิชันแบบนี้ยังไม่ใช่วิชันที่สามารถบูรณาการความรู้ 4 ระดับ ซึ่งได้แก่ ความรู้ทางกาย ความรู้จากหนังสือ ความรู้จากญาณทัสนะ และความรู้ในการข้ามพ้น จึงยังไม่ใช่วิชันที่สามารถ "ชี้นำ" สังคมนี้ให้ไปสู่สังคมแห่งความรู้ที่มีความเป็นอริยะได้ และคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำไมทักษิโณมิกส์จึงยังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ของคนไทย เพราะตัวผู้นำแห่งระบอบทักษิณมีความรู้แค่ความรู้จากหนังสือเป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการชี้นำยกระดับจิตใจของผู้คน ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ทางกาย, ความรู้ทางญาณทัสนะ และความรู้ในการข้ามพ้นด้วยถึงจะเป็นผู้นำทางจิตใจให้แก่สังคมนี้ได้ด้วย ด้วยความเข้าใจและเข้าถึงในความรู้ 4 ระดับนี้เองที่จะทำให้ผู้นั้นสามารถเป็นนักบูรณาการศาสตร์ หรือ บูรณาปัญญาชน ได้อย่างเต็มตัว
อะไรคือ พันธกิจของบูรณาปัญญาชน?
บูรณาปัญญาชน คือผู้ที่สามารถบูรณาการความรู้ทั้ง 4 ระดับเข้ามาอยู่ในตัวเองได้อย่างมีดุลยภาพ บริบูรณ์ เขามิเพียงเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้งว่า จิตนอกจากสามารถพัฒนาได้จากความดีแล้ว จิตยังสามารถพัฒนาได้จากความจริง และจากความงามด้วย
บูรณาปัญญาชน จึงต้องมีคุณสมบัติของนักบวช (ผู้พัฒนาจิตจากความดี) ของนักวิชาการ (ผู้พัฒนาจิตจากความจริง) และของศิลปิน (ผู้พัฒนาจิตจากความงาม) อยู่ในตัวคนคนเดียว เขาคือ ผู้ที่สามารถบูรณาการภูมิปัญญายุคก่อนทันสมัย (pre-modern wisdom) ภูมิปัญญายุคทันสมัย (modern wisdom) และภูมิปัญญายุคหลังทันสมัย (postmodern wisdom) เข้าเป็นหนึ่งเดียวและสามารถนำเสนอวิชันเชิงบูรณาการ (integral vision) ที่แท้จริงให้แก่สังคมนี้ได้
บูรณาปัญญาชน คือผู้ที่ชี้ให้เห็นจุดอ่อนในวิธีคิดและโลกทัศน์แบบมายาคติ (magic) แบบปรัมปราคติ (mythic) แบบเหตุผลนิยม (rational) และแบบพหุนิยม (plural) ที่ดำรงปนเปกันอยู่ในสังคมนี้ และพยายามเสนอแนวทางที่ทำให้วิธีคิด/โลกทัศน์แต่ละแบบสามารถเติบโต ยกระดับข้ามพ้นวิธีคิด/โลกทัศน์ของตนได้อย่างมี "สุขภาวะดี" และเข้าถึงวิธีคิด/โลกทัศน์แบบบูรณาการ (integral) ในที่สุด
บูรณาปัญญาชน คือผู้ที่พยายามเปิด "พื้นที่" อย่างเหมาะสมให้แก่เรื่องทางจิตวิญญาณในวงวิชาการและการวิจัย เพื่อทะลุทะลวงภาวะอุดตันทางความคิดและวิชาการของสังคมนี้ที่ยังไม่สามารถค้นพบวิธียกระดับจิตสำนึก (transformation of consciousness) ของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
บูรณาปัญญาชน คือผู้ก่อให้เกิด "จุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ" (integral turn) ขึ้นในสังคมนี้ ซึ่งจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนเชิงวิธีคิด จุดเปลี่ยนเชิงโลกทัศน์และจุดเปลี่ยนทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมในที่สุด
ผู้เขียนหวังว่า ข้อเขียนชุดนี้คงมีส่วนช่วยปูทางไปสู่ "จุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ" ที่ว่านี้ได้ ดังที่ ธีรยุทธ บุญมี เคยกล่าวไว้ว่า
"นักอุดมคติทั้งปวง...ล้วนฝันจะไปให้ไกลถึงดวงดาว แต่นักอุดมคติทั้งปวง ก็มีเพียงแค่ทอดร่างอยู่กลางทางเท่านั้น ดวงดาวนั้นจะยังคงส่องประกายให้คนรุ่นหลังและรุ่นหลังต่อไปไม่รู้จบสิ้น"