เศรษฐกิจฟองสบู่ที่คิดว่าจะควบคุมได้
"วิถีชีวิตที่ล้นเกินแบบตะวันตก เช่น ความล้นเกินในความเชื่อมั่นอำนาจมนุษย์ ความคลั่งไคล้ในการบริโภควัตถุ
การครอบงำทำลายโลกในทางนิเวศ การละเลยมิติของจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องร่วมแก้ไข"
ธีรยุทธ บุญมี "ความคิดหลังตะวันตก"(2546)
"เรือจะอับปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น หาใช่เพราะลมพายุไม่"
พุทธพจน์ (สังยุตตนิกาย สัทธัมมปฏิรูปกสูตร)
นับวันก็ยิ่งเป็นที่กระจ่างชัดขึ้นทุกทีแล้วว่า แก่นแท้ของทักษิโณมิกส์ หาใช่ "ประชานิยม" (populist capitalism) อย่างที่เข้าใจกันไม่ นโยบายประชานิยม น่าจะเป็นแค่เฟสแรกในยุทธศาสตร์แบบทักษิโณมิกส์ เพื่อการผลักดันระบอบเศรษฐกิจไทยที่ล่มสลาย เพราะฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 ให้กลับขึ้นมาผงาดอีกครั้ง โดยเป็นทุนนิยมเต็มตัวยิ่งกว่าเดิม และกระตุ้นโครงสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยหวังว่าครั้งนี้จะควบคุมมันได้ เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จาก "ฟองสบู่" ในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณ ก็เฉกเช่นเดียวกับตัวทักษิณ ชินวัตร...บิดาผู้ให้กำเนิดมันที่กล้าได้กล้าเสีย โดยครั้งนี้มีอนาคตของประเทศไทยเป็นเดิมพัน!
เพราะการล่มสลายของ "ฟองสบู่" ครั้งก่อน อาจกล่าวได้ว่า เพราะความเขลาของชนชั้นนำไทยที่ไม่สนใจศึกษาบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่เกิด "ฟองสบู่" มานับครั้งไม่ถ้วน ล่าสุดคือ ญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2533 เมื่อบวกกับความประมาทในการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางไทย จึงนำมาสู่ความล่มสลายในที่สุด
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่!
"ฟองสบู่" ลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นจากความจงใจของระบอบทักษิณ ที่สร้าง "ความเชื่อมั่น" ให้ทั้งทุนต่างชาติทั่วโลก และคนไทยทั้งประเทศ มี "ความคาดหวังว่า ราคาสินทรัพย์ในอนาคตจะสูงขึ้น" อีกครั้ง ทำให้พวกเขาเริ่มกล้าที่จะขนเงินจากปัจจุบันและอนาคตลงมาเล่น "เกมเงินตรา" ครั้งล่าสุดนี้อีกครั้ง หลังจากซาไปหลายปีหลังฟองสบู่แตก
ความมั่นใจอย่างล้นเกินของระบอบทักษิณว่า จะสามารถควบคุม "ฟองสบู่" ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไปได้อย่างยาวนานพอสมควร คือต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาพความคึกคักของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งในด้านการบริโภคสินค้าคงทน อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคขนานใหญ่ที่รัฐเป็นตัวผลักดัน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้คำรับรองว่า "การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ยืนยันได้ว่า ไม่ได้อยู่ในภาวะฟองสบู่แน่นอน เพราะผมไม่ชอบเป่าลูกโป่ง และที่ผ่านมาก็คอยดูแลเรื่องตัวเลขต่างๆ อย่างใกล้ชิด" แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังเชื่อว่า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยยังโตได้อีกเยอะ
มุมมองที่ต่างกันระหว่างผู้เขียนกับตัวท่านนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้คือ ผู้เขียนแยกแยะคำว่า "ฟองสบู่" ออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรก คือ โครงสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ที่ส่งเสริมให้ผู้คนหันหน้าเข้ามาเล่นเกมเงินตราในทุกระดับอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือหวย รวมทั้งบ่อนที่อาจถูกกฎหมายในอนาคต โครงสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่นี้ นักวิชาการบางคนก็เรียกว่า ทุนนิยมกาสิโน ซึ่งบ่งชี้ปรากฏการณ์เดียวกัน เพราะนี่คือความจริงอีกด้านของทุนนิยมในปัจจุบันที่กิจกรรมเก็งกำไร (การเล่นเกมเงินตรา) ได้กลายมาเป็นกิจกรรมหลัก (หรือสำคัญมาก) ในกระบวนการเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งระบอบทักษิณในแง่วิธีคิดและการบริหารเศรษฐกิจไม่เคยปฏิเสธสิ่งนี้!
ระดับที่สอง คือความคลั่งไคล้จนคลุ้มคลั่งลุ่มหลงในเกมการเงินที่เรียกกันว่า Financial Euphoria สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วจนนำมาสู่การล่มสลายในปี พ.ศ.2540 เวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดคำว่า "ฟองสบู่" ผู้เขียนเข้าใจว่า ท่านพูดในความหมายนี้ คือในความหมายของการเล่นเก็งกำไรอย่างหน้ามืดตามัว แบบรวมหมู่คลุ้มคลั่งกันทั้งประเทศ จนนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจทั้งประเทศ แน่นอนว่า ปรากฏการณ์ "ฟองสบู่" ในระดับที่สองที่เป็น Financial Euphoria นี้ยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว แต่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ได้ถูกปลุกฟื้นให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งแล้วด้วย ระบอบทักษิณอย่างไม่ต้องสงสัย มิหนำซ้ำยังได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ในเชิง Safety Net และระบบระแวดระวังเตือนภัยฟองสบู่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การปลุกความมั่นใจของคนไทยและทุนเก็งกำไรข้ามชาติให้กลับคืนมาเล่นเกมเงินตราในประเทศนี้อีกครั้ง ด้วยบุคลิกภาพที่โดดเด่นเฉพาะตัวของ "ผู้นำเข้มแข็ง" อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ เอง
แต่ปัญหาที่ผู้เขียนอยากจะตั้งและเตือนสติเอาไว้ตรงนี้ก็คือ ถ้าพิจารณาจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หาก "ฟองสบู่" โป่งพองไปจนถึงขั้น Financial Euphoria แล้ว จะไม่มีทางควบคุมมันได้ มันจะต้องแตกอย่างแน่นอน แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ยังพอจะควบคุมได้ หรือยืดเวลาขยายตัวเบ่งพองของฟองสบู่ออกไปได้ แต่ก็ไม่ตลอดไป
พอเขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเห็นทีจะต้องขอทบทวนความจำเกี่ยวกับหลักวิชาการเรื่อง "ฟองสบู่" ที่ถูกต้องอีกครั้งเสียแล้ว เพราะตอนนี้คำว่า "ฟองสบู่" ใครๆ ก็รู้จักกันเกร่อแล้ว ไม่เหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องนี้เป็นคนแรกๆ ในสังคมไทย และได้รับความสนใจน้อยมาก แม้แต่บัดนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กระจ่างชัดนักเกี่ยวกับกลไกการเกิดฟองสบู่
ปัญหาการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ จะเกิดเฉพาะในสังคมที่เริ่มมีการสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแล้วเท่านั้น "ฟองสบู่" เกิดขึ้นในลักษณะของอาการไข้ (Fever) แบบคลั่งไคล้งมงายของตัวสังคมนั้น ในช่วงเวลาหนึ่งที่มีต่อ "เงิน" ที่ได้มาโดยง่ายจากการเก็งกำไร
โดยปกติ เงินตราจะทำหน้าที่เหมือนกับเลือดที่คอยไหลเวียนหล่อเลี้ยงร่างกายของสังคม เพื่อพยุงชีวิตของสังคมและสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ อารยธรรมของสังคมนั้น ดุจเลือดที่นำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
แต่เมื่อใดก็ตามที่สังคมนั้น ป่วยด้วยโรคติดต่อที่เรียกว่า "การเก็งกำไรอย่างคลั่งไคล้" เป็นอาจิณ เงินตราจะเริ่มเคลื่อนไหวปั่นป่วนอย่างสับสนผิดเพี้ยนไปจากหน้าที่ดั้งเดิมที่ควรจะเป็น จนทำให้ดูเหมือนว่าสังคมโดยรวมตกอยู่ในอาการไข้เพ้อเจ้อที่ควบคุมตัวเองไม่ได้เลยทีเดียว
แต่การเกิดขึ้นและแตกสลายของฟองสบู่ อย่างมากก็แค่ทำให้เศรษฐกิจของสังคมนั้นอ่อนแอลงเท่านั้น ยังไม่อาจทำให้ "สิ้นชาติ" ได้ (หากจะสิ้นชาติจะต้องมีสาเหตุอื่นเข้ามาประกอบ โดยเฉพาะสงคราม)
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจฟองสบู่ มิได้เป็นแค่อาการไข้แบบคลั่งไคล้การเก็งกำไรเท่านั้น ในปัจจุบันมันยังกลายเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบันนี้ ซึ่งต่างจากในอดีตในยุคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่การเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่มีขอบเขตจำกัดกว่ามากด้วยถูกจำกัดโดยตรรกะทางธรรมชาติและเศรษฐกิจจริง (real sector economy)
แต่ในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่ โครงสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่เป็นผลพวงของความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ที่ผนวกเข้ากับกิจกรรมเก็งกำไร จนมันกลายเป็นเศรษฐกิจอภิสัญลักษณ์ และเศรษฐกิจอภิมายาที่เน้นความเร็วแบบเร่งด่วน และการแข่งขันแบบลืมตัวลืมตาย โดยมี "ความคาดหวังที่สวยหรูเกี่ยวกับอนาคต" เป็นขนมหวานล่อไว้ข้างหน้าและเป็นกำลังปลุกปลอบใจ
ความเปลี่ยนแปลงรอบตัวที่กำลังเกิดขึ้นอย่างทั่วด้านในทางกายภาพและวิธีคิดภายใต้ระบอบทักษิณในขณะนี้คือ การเปลี่ยนโฉมหน้า (transformation) ระบบเศรษฐกิจแบบ "เก่า" ของสังคมไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบ "ใหม่" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกว่า เศรษฐกิจบนฐานความรู้ (knowledge-based economy) โดยที่แบบวิถีในการสร้างความมั่งคั่ง (mode of wealth creation) ของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือ "อภิสัญลักษณ์" ที่นำเสนอในรูปของวัฒนธรรมกีฬา บันเทิง การท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ ภาพลักษณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง ฯลฯ โดยมีกิจกรรมเก็งกำไรเป็นหนทางลัดไปสู่ความมั่งคั่งนั่นเอง
จุดอ่อนใหญ่ประการหนึ่งในวิธีคิดแบบทักษิโณมิกส์ ก็คือความเชื่อเรื่อง "การเติบโตทางเศรษฐกิจขนานใหญ่" ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอนและยุ่งเหยิง (chaos) อย่างในยุคนี้นั้น มันเป็นประดุจ "ปราสาททราย" ที่อาจจะล้มครืนลงมาง่ายๆ เมื่อไหร่ก็ได้ พวกเขาเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างกับพยายามปฏิเสธความจริงที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาจากธรรมชาติ และจะต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วยความตาย พวกเขาพยายามใช้ชีวิตอย่างหลีกหนีความจริงนี้อยู่ตลอดเวลา ผู้คนภายใต้ระบอบทักษิณนี้ก็เช่นกัน!
แต่ก็แปลกแต่จริงอีกเช่นกัน ที่ระบอบทักษิณที่กำลังก่อตัวอยู่ในปัจจุบันนี้ มีแนวโน้มที่จะมีพลวัตมากที่สุด และมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบการบริหารบ้านเมืองใดๆ ที่สังคมนี้เคยสร้างมา