พลวัตของทุนนิยมไทยก่อนทักษิโณมิกส์
"โลกทุนนิยม ทุกคนต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง
เพราะสิ่งที่อยู่ร่วมกันในระบบทุนนิยมจะกัดกินกันเอง
หากตัวเราไม่แข็งแรง เราก็ถูกกัดกินเป็นเรื่องปกติ
นี่เป็น สัจธรรมของทุนนิยม คือ การแข่งขัน ที่เขาเรียกว่า สงครามการค้าโลก"
ทักษิณ ชินวัตร (2544)
พลวัตของทุนนิยมไทยที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน เกิดจากการร่วมทุน (Joint Venture) ทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง นายทุนไทยเชื้อสายจีน ที่ผันตัวเองมาจากพ่อค้ากับ บรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่กลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญยิ่งของการพัฒนาทุนนิยม และอุตสาหกรรมของประเทศไทยมาร่วมกึ่งศตวรรษ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501
ผู้ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์จนเกิด "ระบอบสฤษดิ์" ขึ้นมาคือ พวกข้าราชการนักวิชาการ (TECHNOCRAT) จำนวนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก (ซึ่งต่างจาก "ระบอบทักษิณ" ในขณะนี้ที่ผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ คือ ผู้นำจากภาคธุรกิจเอกชนที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม ด้วยนโยบายประชานิยม)
พวกเทคโนแครตส่วนใหญ่นี้เป็น "ลูกจีน" ตัวแทนที่เด่นชัดของข้าราชการนักวิชาการที่เป็นลูกจีนในรุ่นนั้นก็คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พวกเขามีส่วนผลักดันกระบวนการเศรษฐกิจที่ก้าวข้าม "ลัทธิชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์" ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยยืนอยู่บนจุดยืนที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นทุนไทยหรือทุนจีนหรือทุนต่างชาติ ถ้าหากมีส่วนช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นรัฐชาติที่ทันสมัย ทำให้ประเทศสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้ ล้วนน่ายอมรับทั้งนั้น
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของ "ระบอบสฤษดิ์" ได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญแก่ทุนพ่อค้าชาวจีนในประเทศไทยขณะนั้น (พ.ศ. 2501) เพราะเท่าที่ผ่านมา พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจในอนาคต เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยก่อนหน้านั้นมาโดยตลอด
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูก "ตัดขาด" จากมาตุภูมิ (ประเทศจีน) ที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติจีนในปี พ.ศ. 2492 เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะรักษาสถานภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมที่พวกเขามีอยู่ พวกเขาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกลมกลืนตัวเองให้กลายเป็นคนไทย หรือพยายามมีความเป็นคนไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องฝังรกรากในประเทศไทยอย่างถาวร โดยการผันตัวเองจากทุนพ่อค้าที่มีความไม่แน่นอนไปเป็นทุนอุตสาหกรรมที่แน่นอนกว่า
พวกเขานี้แหละคือ ตัวตนที่แท้จริงของ "ทุนชาติ" ของประเทศนี้ ในเวลาต่อมาและเป็นพลังผลักดันที่สำคัญยิ่งพลังหนึ่งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศไทย จนกระทั่งถึงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540
ลักษณะทางวัฒนธรรมแบบจีนที่ยังหลงเหลือของพวกเขา ส่งผลให้พฤติกรรมทางธุรกิจและระบบธุรกิจของพวกเขายังคงมีลักษณะเชิงพ่อค้ามากกว่านักอุตสาหกรรม ยังคงพึ่งพาระบบบริหารธุรกิจแบบครอบครัวและเครือข่ายสัมพันธ์กับคนจีนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และที่อื่นๆ มากกว่ามุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อพวกเขาได้ตัดสินใจย้ายธุรกิจหลักของตนจากสาขาพาณิชยกรรมไปสู่สาขาหัตถอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทุนคงที่จำนวนมหาศาลในการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตและการสร้างโรงงานสมัยใหม่ ในขณะที่พวกเขาเองก็ไม่ค่อยมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการผลิตมาก่อน
การประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติของระบอบสฤษดิ์ จึงช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นที่จะ "ร่วมทุน" กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประสานกันอย่างลงตัวระหว่างความเชี่ยวชาญทางการตลาดภายในประเทศของพ่อค้าชาวจีนกับเงินทุนและเทคโนโลยีของบริษัทญี่ปุ่น
กลุ่มธุรกิจหัตถอุตสาหกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนที่ขยายฐานเศรษฐกิจและเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 มีอยู่ราวๆ 24 กลุ่ม นอกเหนือไปจากกลุ่มการเงินใหญ่ 4 ตระกูล (หวั่งหลี, ล่ำซำ, โสภณพนิช และเตชะไพบูลย์) ที่มีฐานะผู้นำของสังคมจีนในไทยขณะนั้น
ใน 24 กลุ่มนี้มีถึง 17 กลุ่มที่เคยทำธุรกิจนำเข้าหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นมาก่อน และไม่มีกลุ่มไหนเลยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่จบสายช่างมาแล้วพัฒนาธุรกิจของตนเองจนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนอย่าง กลุ่มโตโยต้า กลุ่มมัตสุชิตะ (พานาโซนิค) กลุ่มโซนี่ ฯลฯ อย่างของประเทศญี่ปุ่น
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2503 ธุรกิจ SMEs (ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง) ในประเทศไทย เป็นปัญหาอุตสาหกรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งแทบไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดเลยกับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กล่าวคือมี SMEs เฉพาะในภาคเศรษฐกิจตลาด (MARKET ECONOMY) เท่านั้น แต่แทบไม่มี SMEs ในภาคเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่มีความสัมพันธ์เชิงแบ่งงานทางอุตสาหกรรมกับธุรกิจขนาดใหญ่เลย ปัญหา SMEs ในภาคเศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศไทย เพิ่งเริ่มปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมของประเทศนี้ และตัวชี้ขาดในความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจ SMEs ในประเทศนี้ก็ยังคงเป็นชนชั้นกลางไทยเชื้อจีนอยู่ดี
เราพอสรุปได้ว่า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมไทยเป็นผลลัพธ์ที่ลงตัวระหว่างตรรกะของทุนต่างชาติกับความต้องการอันเกิดจากความจำเป็นของรัฐไทยและจิตใจแบบ "เถ้าแก่" หรือ "ผู้ประกอบการ" ของพ่อค้าจีนในไทย
โดยที่พ่อค้าจีนในไทย โดยเฉพาะลูกจีนรุ่นต่อๆ มาสามารถฉีกตัวเองจากนายทุน นายหน้า จนกลายมาเป็นผู้บริหารอุตสาหกรรม และตัวตนที่แท้จริงของพลวัตของระบบทุนนิยมไทยได้จนถึงราวๆ ปี พ.ศ. 2530 จากนั้น พลวัตของทุนนิยมไทยก็เริ่มเสื่อมถอยลง อันเนื่องมาจากปัญหา "คน" ในระบบธุรกิจขนาดใหญ่ และปัญหาการสะสมเทคโนโลยีเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันตามแผนภูมิต่อไปนี้
ความที่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของบรรษัทข้ามชาติ โดยผ่านการร่วมทุนประกอบกับข้อจำกัดของการบริหารธุรกิจแบบครอบครัว ทำให้ในสายการผลิตเหล่าวิศวกรผู้รับผิดชอบในการควบคุมการผลิตมีแนวโน้มที่จะหันไปเรียนต่อทางด้าน MBA เพื่ออนาคตของการไต่เต้าไปเป็นนักบริหาร ด้วยตระหนักดีถึงขีดจำกัดในการไต่เต้าของตนเองภายในบริษัทในฐานะที่เป็นวิศวกร
พฤติกรรมเช่นนี้ ถ้ามองจากสายตาของบริษัทก็คือ การละทิ้งการสร้างสมเทคโนโลยีภายในบริษัท แต่ถ้ามองจากจุดยืนของตัววิศวกรเองแล้ว ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะระบบการบริหารของบริษัทไทยยังเป็นแบบครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยให้ความสนใจในการยกระดับเทคโนโลยีอย่างกระตือรือร้นนัก ทำให้ช่องทางในการไต่เต้าของวิศวกรภายในบริษัทมีจำกัด ต่างฝ่ายต่างก็เลยยิ่งมีพฤติกรรมแบบ ลัทธิฉวยโอกาส และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีแก่ทุกฝ่ายในเวลาต่อมา นั่นคือ พื้นฐานทางเทคโนโลยีของบริษัทไทยมีความอ่อนแอ จำต้องพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติทางด้านเทคโนโลยีต่อไป
ไม่แต่เท่านั้น บริษัทไทยเองยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของคนงานไทยในโรงงานอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นคนงานไทยที่ได้รับค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ จึงต้องแสวงหารายได้ที่สูงขึ้นด้วย การเปลี่ยนงานบ่อยๆ (JOB HOPPING) และยิ่งเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงานฝีมือ ก็เลยยิ่งทำให้ลัทธิฉวยโอกาสในหมู่คนงานมีมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้พื้นฐานทางเทคโนโลยีของบริษัทไทยอ่อนแอลงด้วยเช่นกัน
ในราวๆ ต้นทศวรรษที่ 2530 พลวัตในการแข่งขันของทุนนิยมไทยเริ่มอ่อนพลังลง อันเนื่องมาจากปัญหา "คน" ข้างต้น แทนที่ผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยจะหันมาปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อธำรงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ พวกเขากลับเลือก "ทางง่าย" ด้วยการขยายฐานธุรกิจของตนไปสู่ภาคบริการและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงนัก หรือไม่ก็หันไปแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการเล่นธุรกิจการเมือง หรือไม่ก็หันไปสู่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นและที่ดิน จนเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ในเวลาต่อมา ซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายครั้งใหญ่ที่สุดของระบบทุนนิยมไทยโดยรวม ในปี พ.ศ. 2540
กล่าวโดยนัยนี้ "ระบอบทักษิณ" เป็นความพยายามที่จะกอบกู้พลวัตของทุนนิยมไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยระบบการจัดการใหม่ และแนวทางใหม่ภายใต้แนวทาง ทักษิโณมิกส์ ซึ่งในระยะยาวก็ยังไม่แน่ว่าจะยั่งยืนได้หรือไม่