18 ปริศนาของระบอบทักษิณ

18 ปริศนาของระบอบทักษิณ


ปริศนาของระบอบทักษิณ



ปริศนาข้อที่ (1) ทำไมฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมกับฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งแต่เดิมทีมีความเห็นแตกต่างกันในการพัฒนาประเทศ ต่างก็ออกมาวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างรุนแรงเหมือนกัน?


ในปัจจุบัน ระบอบทักษิณถูกวิพากษ์จาก 2 ระดับ ซึ่งประชาชนควรแยกให้ออก ระดับแรก เป็นการวิพากษ์จากระดับจิตหรือระดับมีมสีเดียวกันกับระบอบทักษิณ (มีมสีส้ม) ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการวิพากษ์จากกรอบทันสมัยนิยม (โมเดิร์น) ก็ได้ ประเด็นวิพากษ์ในระดับนี้ จะรวมศูนย์ไปที่เรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์ที่คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ การเล่นพวกพ้องเส้นสาย เป็นต้น


ระดับที่สอง ซึ่งสูงกว่าระดับแรกหนึ่งขั้น เป็นการวิพากษ์จากระดับมีมสีเขียว ซึ่งสูงกว่าระดับมีมสีส้มของระบอบทักษิณหนึ่งขั้น แต่ก็ยังไม่ใช่ระดับที่บูรณาการอย่างแท้จริง (ซึ่งต้องเป็นระดับมีมสีเหลือง) ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการวิพากษ์จาก กรอบหลังทันสมัยนิยม (โพสต์โมเดิร์น) ก็ได้ ประเด็นวิพากษ์ในระดับนี้จะรวมศูนย์ไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชน จริยธรรมของผู้นำ เสรีภาพของสื่อ คัดค้านการสนับสนุนสงครามอิรัก ลัทธิบริโภคนิยม ไม่สนใจเศรษฐกิจพอเพียง ขาดความลุ่มลึกและความใส่ใจในภูมิปัญญาตะวันออก การเตือนสติประชาชนไม่ให้ไปหลงใหลกับการสร้างภาพลักษณ์เชิงการตลาดของผู้นำเหล่านี้ เป็นต้น


แม้ระดับการวิพากษ์จะต่างระดับกัน แต่ปัญญาชนทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบอบทักษิณเป็นกระแสปฏิรูปแบบอำนาจนิยมที่เป็นความก้าวหน้าแบบกลายพันธุ์


โดยปกติ ความก้าวหน้าหรือวิวัฒนาการที่แท้จริง จะต้องมีลักษณะ "ก้าวข้ามและหลอมรวม" คือ ก้าวข้ามสิ่งเก่า แต่ไม่ได้ทอดทิ้งสิ่งเก่า หาก "หลอมรวม" มันอยู่ในตัวเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างก็มีร่างกายเหมือนกัน แต่มนุษย์เหนือกว่าสัตว์ตรงที่มี "จิต" ซึ่งจิตก้าวข้ามความเป็นกาย แต่ยังมีกายอยู่ ส่วนอริยบุคคลเหนือกว่าปุถุชน ทั้งๆ ที่ต่างก็มี "ใจ" เหมือนกัน เพราะอริยบุคคลมี "จิตวิญญาณ" ที่ก้าวข้าม "ใจ" ได้แล้วแต่ก็ยังมี "ใจ" อยู่นั่นเอง


ขออธิบายอีกอย่างหนึ่งเพื่อเสริมความเข้าใจในเรื่องนี้ อย่างเช่น จักรวาลได้ให้กำเนิดชีวิต โดยการก้าวข้ามและหลอมรวมวัตถุ แต่จักรวาลก็ได้ให้กำเนิดจิตใจ โดยการก้าวข้ามและหลอมรวมชีวิตเช่นกัน ไม่แต่เท่านั้น จักรวาลยังให้กำเนิดจิตวิญญาณหรือธรรมจิต โดยการก้าวข้ามหลอมรวมจิตใจด้วย


เมื่อเอามุมมองของวิวัฒนาการข้างต้นนี้ไปพิจารณาการก่อเกิดของระบอบทักษิณ จะเห็นได้ว่า ระบอบทักษิณเป็นกระแสปฏิรูปที่ "หลอมรวม" อำนาจนิยมอยู่ในตัวโดยมิได้ "ก้าวข้าม" อำนาจนิยม


จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ระบอบทักษิณจะไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปการเมืองจนเสร็จสมบูรณ์ได้ เพราะตัวมันเองได้กลายเป็นอุปสรรคหรือตัวปัญหาที่ต้องถูก "ปฏิรูปการเมือง" ส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน


ในขณะนี้ จึงเกิดการผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 จาก ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2537-2540 โดยเขาเรียกร้องให้ตั้งพรรคการเมืองที่สามจากคนนอกระบบการเมืองปัจจุบัน ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เสนอแนวทางทางการเมืองในกรอบ 5 ประการเท่านั้น คือ


(1) แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2


(2) ทบทวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภค และการแปรสัญญาสัมปทานที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด โดยจะแก้ไขพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542


(3) ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน


(4) ทบทวนนโยบายประชานิยม ที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม


(5) ทบทวนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โดยมีหลักการว่า คนมีเงินต้องจ่ายเงิน


อนึ่ง พรรคการเมืองที่สามนี้จะเป็นพรรคเฉพาะกิจ ซึ่งหมายถึง "พรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลและไม่ใช่พรรคฝ่ายค้าน แต่จะเป็นพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้แก่พลังที่สาม ที่ไม่ประสงค์จะเล่นการเมือง แต่มุ่งหมายจะเข้ามาปฏิรูประบบบริหารประเทศ" ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่สามนี้มีเจตจำนงแน่วแน่ 3 ประการ คือ


(1) เพื่อให้เป็นระบบการเมือง ที่เปิดโอกาสให้คนดีได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง โดย "ไม่ผูกขาดเฉพาะผู้มีอำนาจทางการเงินที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อการเลือกตั้งเท่านั้น"


(2) เพื่อให้คนดีที่เข้าสู่อำนาจนั้นต้องใช้อำนาจรัฐภายในกรอบกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส โดย "การตราพระราชบัญญัติที่ดีเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน และขจัดวาระซ่อนเร้นและผลประโยชน์แอบแฝงของนักการเมืองที่อ้่างคำว่า ประชาชน"


(3) เป็นพรรคที่จะให้การสนับสนุนนโยบายที่ดีของพรรคการเมืองอื่นทุกพรรค


เห็นได้ชัดว่า การผลักดันการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 นี้ ก็เพื่อที่จะ "ก้าวข้าม" อำนาจนิยมของระบอบทักษิณนั่นเอง แต่หากผู้นำในระบอบทักษิณตัดสินใจปฏิรูปการเมืองให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ด้วยตัวเองตามกรอบ 5 ประการข้างต้น ย่อมจะเป็นการดีกว่าที่จะถูกโค่นทางการเมือง หรือถูก "ก้าวข้าม" จากแรงผลักดันของพลังประชาชนที่คงรุดหน้าผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการทางการเมืองอย่างแท้จริงต่อไป อย่างที่ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดสามารถหยุดยั้งได้


ปริศนาข้อที่ (2) จริงๆ แล้วผู้นำของระบอบทักษิณควรจะเป็นฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม แทนที่จะเป็นฝ่ายปฏิรูปอำนาจนิยม ถึงจะเป็นความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ในขั้นตอนนี้อย่างแท้จริง แต่ทำไมถึงติดหล่มของอำนาจนิยมไปได้?

ผู้ที่อธิบายปริศนาข้อนี้ได้แหลมคมที่สุด คือ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ในข้อเขียน ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองไทย สมัยคิดใหม่ ทำใหม่ (ใน "รู้ทันทักษิณ", 2547)


ท่านอาจารย์อคินเชื่อว่า "ไม่มีสังคมไหนที่เก่งในการทำลายผู้นำของตนเท่ากับของสังคมไทย" เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยไม่ได้เชื่อในความเสมอภาค สังคมไทยเป็นสังคมที่มีผู้ใหญ่และผู้น้อยเป็นสถานภาพที่สำคัญ ผู้น้อยจะต้องเคารพและเกรงใจผู้ใหญ่ที่ถูกกำหนดความสัมพันธ์ด้วย อำนาจทางการเมือง และอำนาจเงินตรา


นี่เป็นที่มาของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่มีบทบาทยาวนานในสังคมไทยและการเมืองไทย พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่พ้น "วังวนของระบบอุปถัมภ์" นี้ เพราะพรรคนี้ไม่ได้เติบโตจากพื้นฐานของผู้ร่วมอุดมการณ์ ร่วมปัญหา หรือร่วมชนชั้นเดียวกันเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะร่วมกัน แต่พรรคนี้เป็นพรรคแบบวันแมนโชว์ ทำให้ไม่มีความเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่มีการสร้างหลักเกณฑ์ที่หนักแน่นแน่นอน


ความเด่นอย่างโดดเดี่ยว ของหัวหน้าพรรคนี้ ทำให้น่าคิดว่าพรรคนี้ก็เหมือนพรรคการเมืองเก่าๆ ในอดีต คือเป็นกลุ่มอุปถัมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหัวหน้าพรรคนี้เป็นมหาเศรษฐีของเมืองไทย


วังวนของการเมืองแบบเก่าๆ ในแบบของระบบอุปถัมภ์ จึงยังดำรงอยู่ในรูปของการรื้อล้างกลุ่มอุปถัมภ์อื่นๆ หรือพยายามที่จะขยายกลุ่มอุปถัมภ์ของตนให้โดดเด่นอยู่เป็นพรรคเดียวจริงๆ และพยายามทำลายล้างมุ้งต่างๆ ภายในพรรคของตนโดยลดจำนวนผู้สนับสนุนหรือลูกน้องของกลุ่มต่างๆ ลง


สิ่งที่ทำให้ผู้นำเสื่อมภายใต้ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย คือการประจบสอพลอ ยกยอปอปั้น ของ "ผู้น้อย" ซึ่งต้องแข่งขันแย่งชิงความรักของผู้เป็นเจ้านายหรือผู้อุปถัมภ์ ตามมาด้วยความเกรงใจ ไม่กล้าขัดใจ "ผู้ใหญ่" พฤติกรรมเหล่านี้ของผู้คนภายใต้ระบบอุปถัมภ์จึงมีแนวโน้มทำให้ ผู้นำของไทย หลงตัวเอง คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษดังที่ลูกน้องของตนสรรเสริญ คิดว่าตนเองมีความรู้ดีกว่าคนอื่นๆ ทั้งสิ้น คิดว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำอะไรๆ ได้ทุกสิ่ง


ครั้นพอมีใครพูดอะไรหรือตักเตือนแม้ด้วยความหวังดีก็จะโกรธ และไม่พิจารณาคำตักเตือนเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้นำผู้นั้น หลุดจากความเข้าใจความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นหนทางที่นำไปสู่หายนะ


หากผู้นำในระบอบทักษิณ คิดว่า การปฏิรูปแบบอำนาจนิยมคือ หนทางที่ถูกต้อง เขาคงคิดผิดแล้ว เพราะอำนาจนิยมคือด้านลบของมีมสีน้ำเงิน ที่ต้องก้าวข้าม แต่หลอมรวมด้านบวกของมีมสีน้ำเงิน เช่น ความมีวินัย ความรักชาติเอาไว้ การมีวิชันที่ก้าวไกล (อาจใกล้เคียงกับระดับสีเขียวหรือสีเหลือง) โดยจำนนสมยอมกับระบบอุปถัมภ์ หรือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ คือ แก่นแท้ที่ทำให้เกิดเป็น "ปริศนา" ของระบอบทักษิณ


การกล้าประกาศ "ปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2" ด้วยตัวเองของ ผู้นำในระบอบทักษิณ จะเป็นหินลองทอง ที่พิสูจน์ความจริงใจของผู้นำ และความเป็นคนจริงกับความเป็นรัฐบุรุษของผู้นำคนนี้ได้เป็นอย่างดีว่า เขาจะสามารถก้าวข้าม "อำนาจนิยม" ด้วยตัวของเขาเองได้หรือไม่







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้