ระบอบทักษิณวิพากษ์ปริทรรศน์ (1)
ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2547 นิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเรื่อง "ระบอบทักษิณ ความเป็นมา และความเป็นไปในอนาคต" ถึงสองวันเต็ม และถือเป็นงานสัมมนาที่ระดมนักคิดปัญญาชนหัวก้าวหน้าชั้นนำของประเทศนี้มากที่สุดร่วม 30 คน มาช่วยกันวิเคราะห์ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ นี้ (ใจความทั้งหมดของสัมมนาปรากฏในนิตยสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2547 ไม่น่าพลาด สำหรับผู้สนใจปัญหาบ้านเมือง)
ทำไมถึงต้องพูดเรื่อง "ระบอบทักษิณ?"
พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า สังคมการเมืองไทย ภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนในตัวรัฐบาลทักษิณที่ดูเหมือนลักลั่น ไม่ลงตัว หากใช้กรอบวิเคราะห์ การจัดแบ่งประเภทแบบเดิมๆ มาเข้าใจและวิพากษ์วิจารณ์
ยกตัวอย่างเช่น
จากที่รัฐบาลก่อนหน้า มักถูกโจมตีว่า เน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ลำเอียงเข้าหาเมืองมากกว่าชนบท แต่รัฐบาลชุดนี้กลับถูกโจมตีจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งด้วยข้อหา เอาใจชนบทมากเกินไป จนละเลยวินัยทางการเงินการคลัง
แม้กระทั่ง นักพัฒนาเอกชนและนักคิดกระแสรองบางส่วน ที่ประกาศต่อต้านแนวทางเสรีนิยมใหม่มาโดยตลอด ก็ยังใช้ตรรกะชุดเดียวกันกับพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ในการโจมตีรัฐบาลทักษิณในหลายโอกาส
จากที่รัฐบาลก่อนหน้ามักถูกโจมตีว่า เป็นรัฐข้าราชการ การวางนโยบายบริหารประเทศถูกครอบงำโดยระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่รัฐบาลชุดนี้กลับสามารถบูรณาการอำนาจในการกำหนดนโยบายได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกเช่นกันจากนักคิดบางท่าน ราวกับต้องการให้บรรดาข้าราชการหรือขุนนางนักวิชาการกลับมานำสังคมอีกครั้ง
จากที่รัฐบาลก่อนหน้าถูกโจมตีว่า ไม่สนใจคนจน แต่รัฐบาลทักษิณกลับถูกโจมตีว่า มุ่งโฆษณานโยบายเพื่อหาเสียงทางการเมืองจากคนจน และถึงแม้ผู้ที่มีจุดยืนเคียงข้างคนจนที่แลเห็นปัญหาของทักษิโณมิกส์ แต่ก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างจับใจมวลชน อีกทั้งไม่สามารถเสนอเค้าโครงการทางเลือกที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาประชันได้ชัดเจน
พูดง่ายๆ ก็คือ กรอบการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ มีความลักลั่น ไม่ลงรอยในวิธีคิด จึงขาดพลังในการทำความเข้าใจระบอบทักษิณ รวมทั้งขาดพลังในการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาระดมความคิดจากบรรดานักคิดปัญญาชนหัวก้าวหน้าระดับชั้นนำของสังคมนี้
ผู้เขียนได้พยายามปะติดปะต่อกรอบความคิดที่หลากหลายที่บรรดานักคิดปัญญาชนหัวก้าวหน้าได้ใช้ในการวิเคราะห์วิพากษ์ ระบอบทักษิณ แล้วมานำเสนอให้เป็นภาพเดียวกันในที่นี้ โดยจะวงเล็บชื่อของนักคิดไว้ข้างท้ายในส่วนที่เป็นการวิเคราะห์แบบของเขา หลังจากนำเสนอภาพรวมหมดแล้ว ผู้เขียนขอสะท้อนทัศนะของผู้เขียนเพื่อแลกเปลี่ยน หรือใช้ในการถกเถียงอภิปรายต่อยอดความคิดกันในอนาคต
เหตุที่ต้องการนำเสนอเช่นนี้ ก็เพราะผู้เขียนเห็นว่า คนไทยทั่วไปควร "รู้ทัน" กรอบวิธีคิดของรัฐบาลทักษิณ และกรอบวิธีคิดของผู้วิพากษ์ระบอบทักษิณไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ตกลงใน "กับดักทางความคิด" ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
1. บริบทแห่งการก่อเกิดของระบอบทักษิณ (ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ)
เงื่อนไขสำคัญที่สุด ประการหนึ่งที่นำไปสู่การสถาปนาระบอบทักษิณคือ ความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาระบอบเลือกตั้งขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ และทำให้ประชาธิปไตยมีความหมายเพียงการเลือกตั้ง หรือการได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากประชาชนเท่านั้น
แต่เดิมพรรคประชาธิปัตย์สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นจากภาพลักษณ์แบบเสรีนิยมที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร ภาพลักษณ์นี้เองที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการและไม่มีนโยบายที่ชัดเจน มุกหาเสียงที่พรรคนี้นิยมใช้เป็นมุกของพรรคที่พยายามโฆษณาตัวเองว่า "เลวน้อยกว่า" พรรคอื่นๆ
ครั้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์และชวน หลีกภัย ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลถึงสองสมัย มีโอกาสเต็มที่ในการปฏิรูประบบการเมืองไทย ส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคประชาชน แต่ก็ไม่ได้ทำเท่าที่ควรในเรื่องการปฏิรูปการเมืองและยังปฏิเสธการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด เพราะรัฐบาลชวนเชื่อว่า รัฐบาลคือ เวทีการเมืองเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการตัดสินใจในกิจการสาธารณะต่างๆ ของประเทศ
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยสนใจคนรากหญ้า คนด้อยสิทธิและเดือดร้อนจากโครงการของรัฐ ไม่เคยแก้ปัญหาเดือดร้อนให้กับประชาชนตัวเล็กๆ หากแต่ตะบันอ้างกฎหมายและหลักการเป็นสรณะ จึงทำให้ชวน หลีกภัย มีภาพลักษณ์ของลูกชาวบ้านที่เข้าข้างนายทุนมาโดยตลอด
เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์สูญเสียแรงศรัทธาจากชนชั้นกลาง เพราะไม่สามารถแก้วิกฤตฟองสบู่ บริหารจัดการเศรษฐกิจของชาติไม่เข้าตาประชาชน ครั้นจะหันกลับไปหาชาวบ้านระดับล่างก็ไปไม่ได้เสียแล้ว
ระบอบเลือกตั้งที่รัฐบาลชวน พัฒนาขึ้นมาอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ กลับกลายเป็นพื้นฐานให้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงชิงอำนาจไปได้โดยง่าย ด้วยการสร้างจุดขายแนวประชานิยม และนำเสนอออกมาเป็นนโยบายที่ "โดนใจ" ประชาชน
พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้สร้างภาพลักษณ์แต่เฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กลับเน้นการสร้างภาพลักษณ์อย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาระบอบเลือกตั้งของชวน หลีกภัย ให้กลายเป็น การเมืองเรื่องภาพลักษณ์ขึ้นในสังคมไทย
2. การ "ถอดรื้อ" ระบอบเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย (รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ)
ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ทำให้กลุ่มทุนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น ขณะที่นักการเมือง-นักเลือกตั้งลดอำนาจลง ส่วนเสียงประชาชนชาวเมืองก็มีน้ำหนักมากขึ้นในการเมืองระดับชาติ ขณะที่ประชาชนชาวชนบทได้เปลี่ยนฐานะบทบาทจากผู้รับการอุปถัมภ์ในเครือข่ายอุปถัมภ์-เลือกตั้งของระบอบเลือกตั้งเดิม กลายมาเป็น ผู้บริโภคนโยบาย ที่กำหนดมาจากส่วนกลางเบื้องบนอย่างเซื่องๆ
พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณได้ "ถอดรื้อ" ระบอบเลือกตั้งเดิมๆ ที่เป็นเหมือนร้านค้าโชวห่วยรายย่อยของ ส.ส.ผู้มีอิทธิพลสังกัดมุ้งนักเลือกตั้งต่างๆ ที่ "ขายปลีกอุปถัมภ์" แก่ชาวบ้านให้กลายเป็นเหมือนซูเปอร์สโตร์อย่างโลตัส คาร์ฟูร์ โดยเดินแนวทางมวลชนแบบ 3 เหมาที่ปรับแก้เข้ากับโมเดลองค์การธุรกิจทุนนิยมคือ เหมาซื้อ, รับเหมาทำแทน และเหมาลูกค้าหมด
แทนที่พรรคไทยรักไทย ซึ่งแกนนำเป็นนายทุนใหญ่ระดับชาติที่มีฐานในกรุงเทพมหานคร จะพึ่งพาเส้นสายนักเลือกตั้งเป็นนายหน้าคนกลางทางการเมือง เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะจำกัดอำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่เจ้าของพรรค พวกเขากลับทำการเมืองเป็นเรื่องนโยบายระดับชาติ ทำการตลาดแบบขายตรงนโยบายให้ชาวบ้าน โดยมีนโยบายเป็นตัวสินค้า และการอุปถัมภ์เป็นบริการหลังการขาย
จากนั้นก็ค่อยๆ กดดันลดทอนอิทธิพลของนายหน้าคนกลางทางการเมืองตัวใหญ่ๆ เจ้าของร้านโชวห่วยทั้งหลาย (เจ้าพ่อ, หัวคะแนน) จึงค่อยๆ แปรสภาพไปเป็นแค่เซลส์แมนและผู้จัดการสาขาของพรรค ซึ่งเปรียบเหมือนสำนักงานใหญ่ของซูเปอร์สโตร์ โดยมีนายกฯ ทักษิณเป็นซีอีโอ (เถ้าแก่) ของพรรค
3. การกลายเป็น "พรรคชนชั้น" ของพรรคไทยรักไทย (รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ)
ก่อนการเถลิงอำนาจของพรรคไทยรักไทย การเมืองไทยมีแต่พรรคอุปถัมภ์ แต่ไม่เคยมีพรรคชนชั้น เพราะระบอบเลือกตั้งบนฐานรัฐรวมศูนย์ได้กลายเป็นตัวการขัดขวางและสลายการเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มมวลชน และชนชั้นต่างๆ ในสังคมอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง หากกลุ่มชนและชนชั้นใด ไม่มีเส้นสายอุปถัมภ์กับนักเลือกตั้ง พวกเขาก็จะประสบปัญหาที่จะเรียกร้องและนำเสนอผลประโยชน์ของตนให้เข้าถึง และเข้าสู่ระบบการเมือง ความนี้เป็นจริง แม้ในกรณีชนชั้นนายทุนเอง เพราะ
"การไม่มีทั้งลักษณะประชาชาติ และลักษณะทางชนชั้น
ทำให้พรรคการเมืองในประเทศไทย กลายเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์โดยตัวเอง
เป็นแค่เครือข่ายอุปถัมภ์ของบุคคลจากชนชั้นต่างๆ
ที่มุ่งดูดถ่ายผลประโยชน์ที่รัฐเอามาจากสังคมมาสู่กลุ่มของตน
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกอะไรเลยที่พรรคการเมืองในประเทศไทยก่อนหน้านี้มักไม่มีนโยบายที่ต่างกันชัดเจน"
(ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
พรรคไทยรักไทยได้ "ทำใหม่" ทางการเมืองใน 3 เรื่อง ซึ่งมีผลทำให้พรรคนี้เปลี่ยนแปลงสภาพจากพรรคอุปถัมภ์ไปสู่พรรคชนชั้นของกลุ่มทุนใหญ่โดยตรงคือ
(1) สร้างนโยบายประชานิยมเพื่อทุนนิยม ที่ขายตรงให้ทั้งคนชนบทรากหญ้ายากไร้กับกลุ่มทุนไทยติดหนี้เอ็นพีแอลในกรุง โดยนโยบาย 2 ด้าน ถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วย วาทกรรมชาตินิยม ที่ป่าวร้องผลประโยชน์ไทยทั้งในชนบท และธุรกิจเมืองต่อสู้กับ IMF
(2) แปลงสูตรผสมรัฐบาลไปเป็นยุทธศาสตร์ ยำใหญ่ ด้วยการดึง ส.ส.ต่างพรรคต่างมุ้งเข้าร่วมรัฐบาลให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่มากได้
(3) เปลี่ยนเป็นการอุปถัมภ์โดยรัฐอย่างถูกกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ พรรคไทยรักไทยจึงนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย เพื่อชนชั้นนายทุนใหญ่ไทยและโดยชนชั้นนายทุนใหญ่ไทยอย่างแท้จริง
4. ทุนนิยมแบบประชานิยม (ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา)
สภาพปัจจุบัน นับเป็นระยะที่ 3 ของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไทยสืบต่อจาก
ระยะที่ 1 ทุนนิยมระบบราชการ ซึ่งอำนาจการจัดสรรทุนอยู่ที่ระบบราชการตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2488 ถึงการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในพ.ศ. 2500
ระยะที่ 2 ทุนนิยมนายธนาคาร ซึ่งอำนาจการจัดสรรทุนอยู่ที่นายธนาคารตั้งแต่เริ่มการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เต็มตัวในพ.ศ. 2501 มาสิ้นสุดลงในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดของไทย เมื่อปีพ.ศ. 2540
"ในความคิดของผม ทุนนิยมระบบนายธนาคารจะไม่หวนกลับคืนมาอีกแล้วสำหรับระบบเศรษฐกิจไทย" (อัมมาร)
ระยะที่ 3 ทุนนิยมแบบประชานิยม เป็นชื่อที่อัมมารเรียกแบบจำลองการพัฒนาของรัฐบาลทักษิณ แต่อัมมารยังไม่ด่วนสรุปว่า อำนาจจัดสรรของทุนอยู่ที่ใครกันแน่
ขณะที่ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เปรียบเทียบอำนาจโดยเปรียบเทียบของกลุ่มทุนต่างๆ เอาไว้ว่า ในระบบทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ ทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและทุนจากหุ้น จะเป็นทุนที่มีอำนาจมากที่สุด ขณะที่ทุนล้าหลังอย่างทุนที่เกิดจากการค้ายาเสพติด ทุนของบ่อนของซ่อง ของหวยเถื่อนจะตกเป็นเป้าของการโจมตีจากทุนใหญ่ซึ่งเป็นทุนหุ้น ส่วนระบบธนาคารก็พังทลายไป
ดังนั้น ในขณะนี้จะมีทุนใดที่จะมีอำนาจทัดเทียมทุนหุ้น จึงไม่มี (ชัยอนันต์) เพราะฉะนั้น จึงอาจสันนิษฐานหรือตั้งข้อสมมติฐานเอาไว้ก่อนได้ว่า ภายใต้ทุนนิยมแบบประชานิยมนี้ ทุนใหญ่ซึ่งเป็นทุนหุ้น คือผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรทุน โดยทุนใหญ่ซึ่งเป็นทุนหุ้นในรัฐบาลไทยรักไทย ประกอบด้วยตระกูลชินวัตร, ตระกูลวงศ์สวัสดิ์, ตระกูลโพธารามิก, ตระกูลมาลีนนท์, ตระกูลเจียรวนนท์, ตระกูลสิริวัฒนภักดี, ตระกูลมหากิจศิริ และตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ (สถาบันวิจัยพระปกเกล้า)
(โปรดติดตามต่อในตอนหน้า)