การวิพากษ์ทักษิโณมิกส์จากกรอบ "หลังทันสมัยนิยม"
ในสายตาของผู้ที่มีระดับจิต สูงกว่า หลังทันสมัยนิยม (โพสต์โมเดิร์น) ขึ้นไป ซึ่งได้แก่ ปัญญาชนระดับแถวหน้า (จำนวนหนึ่ง) ของสังคมนี้ ทักษิโณมิกส์มีฐานะเป็น ประดิษฐกรรมทางวิชาการ (an academic construct) ชุดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่มีเหตุผลใดที่จะถูก "ถอดรื้อ" ไม่ได้
พวกเขาย่อมมองเห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว วาทกรรมแบบทักษิโณมิกส์ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมครอบโลกที่สำคัญในยุคนี้อยู่คือ "ระเบียบโลกใหม่" กับ "กระแสโลกาภิวัตน์" โดยที่ ประชานิยมของทักษิโณมิกส์เป็นแค่โครงการนำร่องไปสู่การสถาปนาความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) แต่ใช่ว่าจะยังมีความเป็นของแท้ (authenticity) ซึ่งเป็นระดับความลึกในระบบความเชื่อ ความศรัทธาอย่างแน่นแฟ้น ในขณะนี้แต่อย่างใดไม่ (แต่อาจจะมีในอนาคตข้างหน้าก็เป็นได้ หากทักษิโณมิกส์ประสบความสำเร็จในการก่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติของสังคมอย่างยั่งยืนและอย่างบูรณาการได้จริง)
อาวุธทางความคิดที่พวกโพสต์โมเดิร์นใช้ในการวิพากษ์ปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมทุกอย่างทุกเรื่อง ได้แก่ มโนทัศน์จำพวกพื้นที่ (place) วาทกรรม (discourse) พหุนิยม (pluralism) อัตลักษณ์ (identity) และกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ (marginalization)
พื้นที่หมายถึง ที่ทางทางภูมิศาสตร์ หน่วยการเมือง การปกครอง และถิ่นฐานของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความหมายทางสัญลักษณ์และวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นพื้นที่จึงเกิดจากการให้ความหมายของมนุษย์ โดยการเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ หรือปรับแปลงวัฒนธรรมใดๆ พื้นที่จึงสามารถปรากฏตัวอยู่ได้ในหลายรูปลักษณ์และรูปแบบ เช่น อุดมการณ์ ความคิด พันธะผูกพันทางอารมณ์ สินค้า ทรัพยากร พิธีกรรม ความเชื่อ ฯลฯ กล่าวโดยนัยนี้ ทักษิโณมิกส์จึงมี "พื้นที่" ของมันแล้วในสังคมนี้ ไม่ใช่แค่อาณาจักรเท่านั้น
วาทกรรม พวกโพสต์โมเดิร์นใช้การสนทนาตอบโต้ (วาทกรรม) เป็นเครื่องมือต่อต้าน ต่อรอง แข่งขัน ประชัน ประท้วง วาทกรรมชุดต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นและผลิตซ้ำโดยรัฐ สื่อมวลชน ตัวแทนของเศรษฐกิจทุนนิยม และกระแสโลกาภิวัตน์ โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาจะระแวงอำนาจและเทคโนโลยีของอำนาจรูปแบบต่างๆ พวกเขาพร้อมจะออกมาโวยวายอยู่ตลอดเวลาในทุกเรื่องว่า อะไรเป็นจริงหรือเป็นเท็จ อะไรเป็นเรื่องที่รับได้หรือรับไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวพันมาถึง "พื้นที่" ของพวกตน เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกโพสต์โมเดิร์นจะไม่ออกมาวิพากษ์และถอดรื้อทักษิโณมิกส์
พหุนิยม เป็นการตระหนัก ยอมรับและให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายทางชีวภาพ กายภาพและสังคมวัฒนธรรม พวกโพสต์โมเดิร์นยอมรับไม่ได้กับ ระบอบทักษิณที่ผู้นำเชื่อเฉพาะโลกทัศน์และฐานคิดที่ตัวเองมองเห็นเท่านั้น และขาดความเข้าใจที่ถูกต้องและใจกว้างต่อโลกทัศน์และฐานคิดที่มีระดับจิตสูงกว่าของตน
อัตลักษณ์ คือ จิตสำนึกส่วนตัวและจิตสำนึกร่วมในระดับสังคมที่เกิดจากการนิยามตัวเองว่า ตัวเองคือใคร มีความเป็นมาอย่างไร แตกต่างจากคนอื่น กลุ่มอื่นหรือสังคมอื่นอย่างไรและจะใช้อะไรเป็นเครื่องหมายในการแสดงออก ซึ่งอัตลักษณ์ดังกล่าวพวกโพสต์โมเดิร์นมองเห็นว่า ทักษิโณมิกส์ได้พยายามนิยามตัวเองในเชิงอุดมการณ์ชาตินิยม ที่เน้นความเข้มแข็ง ความก้าวหน้ารุ่งเรือง ศักดิ์ศรี และความอยู่รอดของชาติ และใช้วาทกรรมแบบนี้ครอบงำในทุกมิติของชีวิตของสมาชิกในรัฐไทย
ในขณะที่พวกโพสต์โมเดิร์นมองว่า อัตลักษณ์มิใช่สิ่งที่ตายตัวคงทน แต่เป็นสิ่งที่ลื่นไหลและซับซ้อน (ซึ่งทักษิโณมิกส์และผู้นำแห่งระบอบทักษิณยังไม่เข้าใจในประเด็นนี้) เพราะฉะนั้น โลกในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่ยุคของการเมืองแบบชาตินิยมอีกต่อไปแล้ว ในสายตาของพวกโพสต์โมเดิร์น แต่เป็นยุคของการเมืองของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ความผูกพันที่คนเรามีต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน สังคม ชาติ สถาบันศาสนา หรือมนุษยชาติ ล้วนเป็นสิ่งที่ "จินตนาการ" ขึ้นหรือถูกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น มิหนำซ้ำการจินตนาการนี้ยังแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วย กล่าวในแง่นี้ อัตลักษณ์ของระบอบทักษิณ มันก็ไม่มั่นคงตายตัวและยืนนานอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มแรก ยิ่งอยู่ในยุคสมัยนี้ระบอบทักษิณ จึงไม่ควรที่จะไปหวาดหวั่นนัก เมื่อเทียบกับระบอบสตาลินในอดีต
กระบวนการทำให้เป็นชายขอบ หมายถึง กลุ่มประชากร วิถีชีวิต พื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่ได้รับการนิยามจากรัฐ สื่อมวลชน ชนชั้นผู้ปกครองในสังคมว่า ตกอยู่ในสภาพชายขอบ เนื่องจากเหตุผลหลายประการเช่น อยู่ไกลจากความเจริญเป็นกลุ่มคนยากจน ขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้ทักษิโณมิกส์จะให้ความสนใจกับกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะชายขอบ เป็นอย่างมากก็จริง โดยผ่านนโยบายประชานิยมต่างๆ แต่พวกโพสต์โมเดิร์นก็ยังมองเห็นว่า ทักษิโณมิกส์เน้นการแก้ปัญหาภาวะชายขอบ ด้วยการใช้เงินหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยละเลยมิติที่หลากหลายด้านอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า กรอบความคิดแบบทักษิโณมิกส์ยังจำกัดแคบอยู่แค่ "สมัยใหม่นิยม" เท่านั้น
ข้อจำกัดของฐานคิดแบบสมัยใหม่นิยม ที่ทักษิโณมิกส์สังกัดอยู่ มีอยู่ 2 ประการคือ (1) วิธีคิดแบบประจักษ์นิยม กับ (2) วิธีคิดแบบสารัตถะนิยม
วิธีคิดเชิงประจักษ์นิยมเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เป็นความจริงนั้น จะต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สัมผัสตรวจสอบทาง "วิชาการ" ได้ สามารถประเมินคุณค่าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นรูปธรรมได้เท่านั้น ส่วนความจริงที่ได้มาด้วยวิธีการอื่นเช่น จินตนาการ การหยั่งรู้ ญาณทัสสนะ สมาธิหรือวิธีใดๆ ที่นอกเหนือจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (เชิงประจักษ์) จะต้องถูกปฏิเสธ ซึ่งวิธีคิดแบบเชิงประจักษ์นิยมเช่นนี้ เป็นการลดทอนความจริงที่หลากหลาย (ซึ่งมีถึง 4 มิติ) ให้เหลือความจริงที่มีมิติเดียวคือ มิติภายนอก (exterior) เท่านั้น ขณะที่ ความจริงเชิงโลกุตตระอย่างพุทธธรรม เป็นความจริงที่เข้าถึงได้ด้วย มิติภายใน (interior) เท่านั้น การที่ทักษิโณมิกส์มุ่งแก้ปัญหา โดยมุ่งสร้างความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นหลัก ขณะที่ละเลยหรือยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งทางจิตใจ ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม แม้นมุ่งแปรวัฒนธรรมให้เป็นทุน แต่กลับไม่ใส่ใจที่จะทำให้ทุนมีวัฒนธรรมเท่าที่ควร อีกทั้งไม่มีแนวทางที่สมบูรณ์ในการปฏิรูปการเรียนรู้ของประชาชน ในการปฏิรูปจิตสำนึกของประชาชน เป็นสิ่งชี้ว่า ระบอบทักษิณคงนำพาประเทศนี้ให้รุดหน้าไปได้อีกไม่ไกลหรือไม่นานนัก ก็จะประสบกับปัญหาที่เกิดจากการสะสมความไร้ดุลยภาพหลากมิติที่ทักษิโณมิกส์ละเลยเหล่านี้นี่เอง แค่นี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า ปัจจัยที่จะเป็นตัวบั่นทอนทำลายระบอบทักษิณนี้ มิใช่ศัตรูคู่ต่อสู้ของระบอบทักษิณเลย แต่เป็นข้อจำกัดในฐานคิดของทักษิโณมิกส์เองนี้ต่างหาก ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเปิดเผยออกมาให้เห็นในหลายจุดแล้ว
วิธีคิดเชิงสารัตถะนิยม เชื่อมั่นว่าสิ่งต่างๆ นั้น จะต้องมีแก่นแกน สาระหรือคุณลักษณะแบบตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การยึดมั่นถือมั่นและเชื่อแบบฝังใจในสถาบันอย่างชาติ ศาสนา เป็นการมองความจริงที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกยุคไร้พรมแดนอย่างในยุคปัจจุบัน ในสายตาของพวกโพสต์โมเดิร์น เพราะผู้คนในโลกทุกวันนี้ เริ่มมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า "ความจริง" ที่เราเคยเชื่อ "อำนาจ" ที่เราเคยยอมรับ "ประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติ" ที่เราคุ้นเคยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น หรือกำหนดขึ้นมาภายหลังโดยอำนาจและเทคโนโลยีของอำนาจทั้งสิ้น ถึงที่สุดแล้ว ระบอบทักษิณอย่างมากก็กำลังยัดเยียด "ความจริงชุดใหม่" "อำนาจชุดใหม่" และ "ธรรมเนียมปฏิบัติชุดใหม่" มาให้กับเหล่าสมาชิกในรัฐไทยเท่านั้น
เราสามารถสรุปจุดยืนทางปรัชญาของพวกโพสต์โมเดิร์นได้เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
(1) ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง กล่าวโดยนัยนี้ ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นยังมีระดับจิตต่ำกว่าปรัชญาของพุทธะ (ไม่ใช่ปรัชญาของชาวพุทธที่ไม่ปฏิบัติธรรม) ที่มีประสบการณ์โดยตรงในการเข้าถึง "ความจริงสูงสุด" พวกโพสต์โมเดิร์นเห็นว่า มนุษย์ต้องมองต้องคิดผ่านแว่นของภาษา จึงมองว่า ความจริงเป็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นโดยระบบของภาษา ซึ่งถูกต้องในระดับของความจริงเชิงสัมพัทธ์ แต่ไม่จริงในระดับความจริงเชิงสัมบูรณ์ แต่เนื่องจากพวกโพสต์โมเดิร์นไม่เคยปฏิบัติธรรม จนมีประสบการณ์โดยตรงในการเข้าถึงความจริงสัมบูรณ์แบบพุทธะ (เพราะพวกเขาไม่เชื่อตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า ความจริงสัมบูรณ์มีจริง) พวกเขาจึงไม่อาจก้าวข้ามพ้นปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นของตนไปได้ ทั้งๆ ที่ระดับจิตของพวกเราสามารถมีวิวัฒนาการสูงไปกว่านั้นได้ เหมือนอย่างที่ระดับจิตของทักษิโณมิกส์ก็สามารถมีวิวัฒนาการจนก้าวข้ามหรือข้ามพ้นระบอบทักษิณไปได้
ในเมื่อพวกโพสต์โมเดิร์นมองว่า ความจริงเป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้น โดยระบบภาษา โดยสำนวนโวหาร โดยการจูงใจ โดยการบิดเบือน โดยการหลอกลวงซ่อนเร้นภายใต้ความขลังของทฤษฎีหรือวาทกรรมแบบต่างๆ หรือภายใต้ระบบปรัชญาที่ซับซ้อนหรือด้วยภาพลักษณ์ที่ง่ายๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นพวกโพสต์โมเดิร์นจึงนิยมมองโลกข้างนอกทุกๆ อย่างเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่เราจะใส่ความคิด ความเชื่อของเราลงไปยังไงก็ได้ คือเติมตัวความหมาย (signifier) ลงไปได้ เพราะฉะนั้นในสายตาของพวกโพสต์โมเดิร์น โลกทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของมนุษย์จึงเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่มีการช่วงชิงกันเติมความหมาย ความคิดเห็นลงไป การเมืองในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการเมืองของการช่วงชิงพื้นที่ด้านต่างๆ ซึ่งระบอบทักษิณเป็นทั้งตัวกระทำ (ในเชิงการตลาด ในเชิงการแทรกแซงสื่อ) และตัวผู้ถูกกระทำ (ในเชิงถูกถอดรื้อฐานคิดความเชื่อ
(2) ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์น ไม่เชื่อว่ามีความจริงเพียงหนึ่งเดียวอยู่แล้ว แต่เห็นว่า "ความจริง" เป็นสิ่งที่มองได้หลายมุมมอง และควรผสมผสานมุมมองที่หลากหลายต่างๆ เข้าด้วยกัน
(3) ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์น ปฏิเสธอำนาจของกรอบ ระเบียบ โครงสร้าง รูปแบบจารีตเดิม และมุ่งแสวงหาการคิดนอกกรอบและแหวกแนวอยู่ตลอดในสายตาของพวกเขา นโยบาย "คิดใหม่ ทำใหม่" ของทักษิโณมิกส์เป็นการคิดนอกกรอบในระดับหนึ่งก็จริง แต่เป็นการคิดนอกกรอบแบบรัฐนิยม และอำนาจนิยม ซึ่งเป็นความคิดนอกกรอบแบบกลายพันธุ์ อย่างหนึ่งเท่านั้น
เหตุที่ผู้เขียนร่ายยาว วิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นในการวิพากษ์ทักษิโณมิกส์ ก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้กับผู้อ่านที่จะท่องไปกับผู้เขียนในการทำความเข้าใจ ข้อเสนอ "โรดแมปประเทศไทย" ฉบับธีรยุทธ บุญมี ตัวแทนสำนักโพสต์โมเดิร์น ที่ออกมาวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างเอาการเอางาน แต่ถูกมองข้ามจากสังคมไทย (เพราะไม่เข้าใจและตามความคิดไม่ทัน) และถูกตอบโต้อย่างกราดเกรี้ยวจากฝ่ายทักษิโณมิกส์ (เพราะไปจี้จุดอ่อนที่รับรู้ได้โดยสัญชาตญาณ แม้จะขาดความเข้าใจเชิงวิธีคิด) แต่เนื่องจากความยาวของเรื่องนี้ จึงขอนำเสนอเรื่องนี้ในตอนหน้า