การแก้ ม.190 กับการผ่าทางตันปราสาทพระวิหารของอภิสิทธิ์ 1/12/53

การแก้ ม.190 กับการผ่าทางตันปราสาทพระวิหารของอภิสิทธิ์ 1/12/53


การแก้ ม.190 กับการผ่าทางตันปราสาทพระวิหารของอภิสิทธิ์

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



อภิสิทธิ์กำลังทำ สองผิดให้เป็นหนึ่งถูก เมื่อรู้ตัวว่าผิดไปแล้วก็ยังไม่ถอย หากแต่ยังดันทุรังเดินหน้าในทางที่ผิดอยู่ ชีวิตจริงจึงไม่ใช่ตรรกะที่สองลบคูณกันแล้วได้หนึ่งบวก


แม่ยกของอภิสิทธิ์ทั้งหลายสมควรอ่านและไตร่ตรอง


ดูก่อนแม่ยกอภิสิทธิ์และประชาชนทั้งหลาย อย่าเพิ่งตกหลุมไปกับทวิตเตอร์ของกรณ์ผู้นับถือจริยธรรมน้อยกว่ากฎหมายที่ตนเป็นผู้ออกหรือการออกมาใส่ร้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของสุเทพ “เชิญแขก” ว่าเป็นปัญหาของชาติเช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อแดง เพราะนั่นคือ การเบี่ยงประเด็นให้อภิสิทธิ์ที่กำลังจะจนมุมได้มีเวลาหายใจ เป็นมุกเช่นที่ทักษิณให้พับนกกรณีกรือเซะ หรือการซื้อสโมสรลิเวอร์พูล ก็เท่านั้นเอง


เพราะหากสุเทพจะกล่าวให้ร้ายว่า การเคลื่อนไหวของแกนนำ เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเพื่อประโยชน์ของตนเองมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมกับประเทศแต่อย่างใดนั้น สุเทพก็ควรจะลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเสียแต่บัดนี้ เพราะตั้งแต่รับตำแหน่งนี้มาสุเทพได้ทำให้เกิดความมั่นคงอะไรบ้างที่เป็นที่ประจักษ์โดยชัดแจ้งกับประชาชนหรือประเทศไทย


สุเทพบกพร่องไร้ประสิทธิภาพในหน้าที่จนเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ที่ทำให้ผู้นำอาเซียนต้องวิ่งหนีกลุ่มคนเสื้อแดงที่พัทยาเมื่อปีพ.ศ. 2552 หรือ บอกแต่เพียงว่า “เอาอยู่” เมื่อปีถัดมาจนราชประสงค์และอีกหลายพื้นที่ต้องมอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง หรือแม้แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ของสุเทพเองต้องถูกฟ้องยุบพรรคก็มิใช่ฝีมือของสุเทพดอกหรือที่ไม่สามารถคุ้มครองแม้แต่ กกต.ให้ปลอดภัยจากการคุกคามของกลุ่มเสื้อแดง จนทำให้ต้องถูกกดดันให้ยื่นเรื่องฟ้องยุบพรรคประชาธิปัตย์เพื่อปัดสวะออกจากตนเอง หากไร้ซึ่งความสามารถจะดำรงตำแหน่งไปทำไม ลาออกไปเถิดสุเทพ ไป๊ไปๆ


ประเด็นที่เป็นเงื่อนไขของการเผชิญหน้ากับประชาชนของอภิสิทธิ์ ก็คือ การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ใน 2 ประเด็นคือ (1) แก้ไขมาตรา 190 และ (2) วิธีการเลือกตั้งนั้น ได้คลี่คลายออกมาให้เห็นตัวตนของอภิสิทธิ์อย่างชัดเจนว่ามีเป้าหมายอยู่ที่มาตรา 190 มากกว่า ส่วนวิธีการเลือกตั้งนั้นเป็นเป้าล่อของแถมที่เสนอเพื่อทำให้พรรคร่วมรับรู้ว่าได้ทำแล้วแต่จะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นไปตามยถากรรม


มาตรา 190 อยู่ในหมวดที่ 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรีของรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ที่บัญญัติไว้เพียงว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”


มาตรา 224 ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมาตรา 190 ปัจจุบันจึงไม่ครอบคลุมการไปทำสัญญาผูกพันทางเศรษฐกิจการค้า เช่น การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลทักษิณได้ไปทำไว้และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง อาศัยช่องว่างที่หากไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายภายในให้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้กับต่างชาติ ก็ไม่ต้องไปขอความเห็นชอบของรัฐสภา ประชาชนจึงตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบเพราะขาดข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจ


มาตรา 190 นี้ จึงกำหนดขอบเขตให้รวมไปถึงหนังสือสัญญาด้านเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ยังได้กำหนดกลไกในการควบคุมฝ่ายบริหารและข้าราชการเป็นการเพิ่มเติมกล่าวคือ ก่อนทำสัญญาคณะรัฐมนตรีต้องมา (1) ให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนการชี้แจงต่อรัฐสภาเพื่อ (2) ขอความเห็นชอบ


เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะลงนามในสัญญาฯ ก็ต้องให้ประชาชนสามารถรับรู้ด้วยการเปิดโอกาสให้ (3) เข้าถึงเนื้อหารายละเอียดในสัญญาที่จะไปลงนาม และเมื่อลงนามไปแล้วหากมีผลกระทบต่อประชาชนก็ต้องให้ (4) มีการเยียวยาผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม


มาตรา 190 จึงมีผลทำให้ฝ่ายบริหารคือรัฐบาลและฝ่ายข้าราชการมีความอึดอัดเพราะถูกจำกัดอำนาจที่ตนเองเคยมีอยู่ ดุลอำนาจจึงเปลี่ยนไปในทางที่ถูกถ่วงดุลจากภาคประชาชนมากขึ้นเพราะต้องมาดำเนินการตามกระบวนการข้างต้นทั้งก่อนและหลังการขอความเห็นชอบ


การเสนอขอแก้ไขมาตรา 190 จึงแสดงให้เห็นถึงอัตตาของนักการเมืองว่าอยู่เหนือประชาชนผู้เป็นเจ้านายของพวกเขา เนื่องจากไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ว่า สัญญาที่ต้องนำมาขอความเห็นชอบนั้นต้องเป็นสัญญาที่มี “ผลกระทบอย่างกว้างขวางและมีนัยสำคัญ” ต่างหาก มิใช่ข้อตกลงเล็กน้อยขนาดไหนก็เอาเข้ามาขอความเห็นชอบหมด ไม่ยอมใช้วิจารณญาณหรือมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบเช่นวิญญูชนในระดับรัฐมนตรีที่พึงกระทำแต่อย่างใด


กล่าวสั้นๆ ง่ายๆ ก็คืออยากจะมีเสรีทำตามอำเภอใจโดยมีกฎหมายรองรับ อะไรที่ได้ทำไปจะได้ไม่ผิดกฎหมาย นั่นคือชนชั้นนักการเมืองเป็นผู้ออกกำหมาย ต้องถูกเสมอจะผิดได้อย่างไร? การที่อภิสิทธิ์แก้กฎหมายเช่นนี้ แม่ยกว่ามักง่าย “อภิสิทธิ์” เกินไปหรือไม่?


พฤติกรรมในเรื่องปราสาทพระวิหารและดินแดนที่เกี่ยวเนื่องจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากดุลอำนาจที่เปลี่ยนไป การที่ต้องเปิดเผยแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อปีพ.ศ. 2551 ที่นายนพดล ปัทมะไปลงนามในฐานะฝ่ายบริหารยินยอมสนับสนุนให้ฝ่ายกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงเป็นคุณูปการของกลไกในมาตรา 190 นี้ที่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนจากฝ่ายบริหาร/ข้าราชการที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน


บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตทางบกที่ทำไว้เมื่อปีพ.ศ. 2543 สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เพราะหากไม่มีมาตรา 190 นี้ อภิสิทธิ์จะนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่ เพราะการรับรองบันทึกการประชุมคณะกรรมการดังกล่าวก็เท่ากับว่าเป็นการรับรองบันทึกข้อตกลงฯ ปีพ.ศ. 2543 ไปโดยปริยายเนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวเกิดจากบันทึกข้อตกลงฯ ปีพ.ศ. 2543 ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำตามกฎหมาย ที่สำคัญก็คือประชาชนคนไทยจะได้ทราบหรือไม่ว่าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศพยายามจะปักปันเขตแดนไทยกัมพูชาขึ้นมาใหม่ในช่วงที่ไม่จำเป็นต้องใช้หลักเขตแดนมากำหนดนั่นคืออาศัยหลักสันปันน้ำได้ และได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อกว่า 100 ปี


จากพฤติกรรมติดหล่มของอภิสิทธิ์ที่พยายามแก้ไขข้อผิดพลาดเรื่องปราสาทพระวิหารด้วยการเดินหน้าไม่ยอมถอยหลังและขอโทษ จึงเริ่มที่จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นทุกที ทั้งจากการยืนยันในความถูกต้องที่จะใช้บันทึกความเข้าฯ ปีพ.ศ. 2543 เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหากับฝ่ายกัมพูชาทั้งๆ ที่ในทางนิตินัยหลายฝ่ายได้ตักเตือนถึงความเสียเปรียบในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้มิพักที่กล่าวถึงในทางพฤตินัยที่ฝ่ายกัมพูชาได้ครอบครองทั้งตัวปราสาทและดินแดนโดยรอบไปหมดแล้วโดยรัฐบาลไทยมิได้แสดงอำนาจเหนือดินแดนที่เป็นของตนเองแต่อย่างใด แต่กลับปล่อยให้กัมพูชาทำ หรือจากการต่อต้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนต้องซื้อเวลาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา ทั้งๆ ที่จะพิจารณาอะไรได้ในเมื่อบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับถูกเสนอมาให้รับรองหรือไม่เท่านั้น มิใช่กฎหมายที่จะสามารถแก้ไขแต่อย่างใดไม่ หากแต่มันเป็นบันทึกสิ่งที่ได้เกิดมาแล้ว มิใช่สิ่งที่ยังไม่เกิด แล้วจะไปแก้ไขอะไรได้


จะเป็นความดีใจอย่างมากและเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศ หากพันธมิตรฯ คิดผิดและอภิสิทธิ์เป็นฝ่ายถูกในแนวทางที่ได้ทำไปโดยเฉพาะเรื่องการใช้บันทึกความเข้าฯ ปีพ.ศ. 2543 เพราะดินแดนโดยรอบปราสาทพระวิหารยังเป็นของไทย แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม ความสูญเสียจะเป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์รับผิดชอบไม่ไหว สิ่งนี้จึงเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ไม่จำเป็นของอภิสิทธิ์ที่ดันทุรังทำอยู่


การผ่าทางตันของอภิสิทธิ์ด้วยการแก้มาตรา 190 โดยคิดว่าเมื่อมาตรานี้เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้ตนเองและพรรคต้องถูกไล่ล่าและจับผิดก็แก้มันเสีย แทนที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมรดกโลก และแสดงอำนาจเหนือดินแดนที่มีอยู่ ที่ล้วนเป็นเหตุที่แท้จริง จึงเป็นการทำสองผิดให้เป็นหนึ่งถูกโดยแท้จริง


หากเปรียบเทียบกับวิธีการเลือกตั้งที่ขอแก้ไข การแก้มาตรา 190 นี้มีผลกระทบ “อย่างกว้างขวางและมีนัยสำคัญ” ต่อผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์เองและประชาชน อภิสิทธิ์กำลังจะจนมุมหากไม่แก้มาตรา 190 นี้ไม่ช้าก็เร็ว การเข้าสู่การเมืองมากว่า 16 ปีจนได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นนายกฯ ตามความฝันและหวังจะได้เป็นต่อไป มิใช่เป็นผลประโยชน์ของตนเองดอกหรือที่ทับซ้อนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190?


แต่สำหรับประชาชนละ การแก้ไขมาตรา 190 นี้เป็นเสมือนการถอยหลังเข้าคลองอย่างแท้จริง เพราะอำนาจของประชาชนที่จะรับรู้และมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อตนเองนั้นได้ถูกนักการเมืองและข้าราชการแย่งกลับเอาไปอีกครั้งหนึ่ง


ผลของการแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้สนธิสัญญาดังเช่นบันทึกความเข้าใจฯ ปีพ.ศ. 2543 ไม่ต้องชี้แจงกับรัฐสภา ไม่ต้องให้ประชาชนรับรู้ ไม่ต้องให้รายละเอียด และไม่ต้องเยียวยาเมื่อเกิดผลกระทบ ฝ่ายรัฐบาลสามารถไปลงนามได้เลย มันเป็นความก้าวหน้าทางการเมือง เพิ่มอำนาจและให้ประชาชนมาก่อนไปได้อย่างไร?


การออกมารับสมอ้างเมื่อถูกทักท้วงว่าเป็นข้อผิดพลาดจากผู้ร่างที่ไม่ใช่ตนเองที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 อย่างที่ปรากฏและรับปากว่าในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขฯ ดังกล่าวว่าจะไปเสนอแก้ไขในวาระ 2 ในชั้นแปรญัตตินั้นด้วยตนเองอีกครั้ง จะมีอะไรรับประกันว่าคุณจะมีความรับผิดชอบ หากกรรมาธิการร่วมรัฐสภาในวาระ 2 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคุณ จะกล้าโหวตให้ตกไปในวาระ 3 ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วจะรับผิดชอบอย่างไร อภิสิทธิ์ขณะนี้กำลังขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรงเพราะการกระทำของตนเองที่ผ่านมากลับกรอก


ดูแล้วช่างน่าหดหู่อดสูเสียเหลือเกินสำหรับการไร้ซึ่งความเป็นผู้นำในตำแหน่งนายกฯ ของอภิสิทธิ์ ใครจะเป็นผู้เขียน จะผิดหรือถูกไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นก็คือใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในความผิดพลาดนั้น หากผู้นำเช่นคุณไม่รับผิดชอบตั้งแต่แรกแล้วจะหาใครมารับผิดชอบ จะให้ประชาชนผู้เลือกคุณและพรรคคุณเข้ามารับผิดชอบเสียเองว่า “อยากโง่” ที่เลือกเข้ามาหรืออย่างไร








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้