21 ตุลาคม 2551 วันชี้ชะตาประเทศไทยกับการล้มทุน ล้มปืน ล้มเจ้า
(บทความที่คนใส่เสื้อสีอะไรก็ควรอ่าน)
โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง,รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย 15 ตุลาคม 2551
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
1.อะไรคือการ “ล้มทุน”
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยใน พ.ศ. 2540 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก กลุ่มทุนเดิมเกือบทุกกลุ่มไม่เว้นแม้แต่ กลุ่มธนาคารอันทรงพลัง ได้ถูกมรสุมเศรษฐกิจพัดผ่านจนไม่สามารถเกาะกุมอำนาจทางเศรษฐกิจจากทุนที่ตนเองเคยมีอยู่ได้ พวกเขาเหล่านั้นได้กลายมาเป็น “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” ภายในชั่วเวลาข้ามคืน ยกเว้นแต่เพียงกลุ่มเดียวที่รอดอยู่ได้อย่างน่าประหลาดคือกลุ่มทุนสื่อสารซึ่งเป็นทุนสัมปทานผูกขาดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระบวนการ “ล้มทุน” จึงเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก่อตัวของระบอบทักษิณหรือทักษิโณมิคส์ใน พ.ศ. 2544
การเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทที่ได้เกิดขึ้นในช่วงกลาง พ.ศ. 2540 ไม่ได้มีผลในทางลบกับกลุ่มทุนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลุ่มทุนของเขากลับได้รับผลประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทอย่างเต็มที่ในขณะที่นักธุรกิจไทยและคนไทยหลายหมื่นหลายแสนคนกลับต้องรับผลกระทบดังกล่าว
เมื่อกลุ่มทุนเดิมถูก “ล้ม” ไป กลุ่มทุนใหม่ที่เป็นทุนสัมปทานผูกขาดอย่างกลุ่มทุนสื่อสารของทักษิณจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้เข้ามาใช้จังหวะในช่วงที่มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วง พ.ศ. 2541-2543 ที่อยู่ในช่วงรัฐบาล ชวน หลีกภัยโจมตีในประเด็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ จนทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2544 พรรคไทยรักไทยที่นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด
เพื่อให้สามารถ “ล้มทุน” ที่มีอยู่เดิมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รัฐบาลทักษิณในช่วง 4 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งจึงเป็นรัฐบาลที่นำเสนอนโยบายในลักษณะของ “ประชานิยม”ผ่านโครงการต่างๆมากมาย ลักษณะของนโยบายประชานิยมที่ทำก็คือการใช้เงินจากภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมในการทำโครงการที่ดูเผินๆ ในช่วงสั้นๆ เหมือนกับว่าประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ การเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดอย่างขาดตรรกะเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์รองรับจึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่พบเห็นได้อยู่เสมอๆ ในโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเพราะการแทรกแซงดังกล่าวสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและมีข้อจำกัดต่ำ
เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการ “ยาขม” ในการแก้ไขปัญหาโดยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านจากรัฐบาล ชวน หลีกภัยที่ได้กระทำมาในช่วง พ.ศ. 2541-43 และมาเริ่มมีผลในช่วงรัฐบาลทักษิณ ผลที่เกิดขึ้นก็คือเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และผู้ที่ชุบมือเปิบในผลสำเร็จดังกล่าวก็คือรัฐบาลทักษิณที่ได้โอ้อวดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นผลงานของตนเอง เฉกเช่นเดียวกับรัฐบาล พล.อ.ชาติชายที่ได้รับผลพวงจากรากฐานการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกว่า 7 ปีของรัฐบาลพล.อ.เปรม ด้วยเหตุนี้กลุ่มทุนเดิมจึงไม่สามารถมีที่ยืนในระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นได้
กระบวนการ “ล้มทุน”ยังได้แผ่ขยายจากกลุ่มทุนเดิมที่เป็นทุนใหญ่ลุกลามไปถึงทุนเล็กทุนน้อย อย่างร้านโชวห่วย ที่เป็นนายทุนย่อยที่ใกล้ชิดกับชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมไทยมากที่สุด โดยที่รัฐบาลทักษิณได้แต่ดูดายเพิกเฉย ปล่อยให้บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติสัญชาติต่างๆ เข้ามายึดครองและทำลายธุรกิจโชวห่วยอย่างไม่ไยดีตามนโยบายโลกาภิวัตน์อย่างหน้ามืดตามัวและขาดสติของรัฐบาลทักษิณ จะว่าไปแล้วการ “ล้มทุน”ที่เป็นทุนเล็กทุนน้อยอย่างร้านโชวห่วยเป็นกระบวนการที่โหดร้ายและเป็นโศกนาฏกรรมของสังคมเศรษฐกิจไทยยิ่งกว่าการล้มทุนเดิมที่เป็นทุนใหญ่เสียอีก เพราะมันหมายถึงการถอนรากถอนโคนความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่มีอยู่ในสังคมไทยให้ล่มสลายไปอย่างสิ้นเชิง และแปรเปลี่ยนผู้คนในสังคมไทยให้กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าที่ร้อนเงินและกระหายการบริโภคโดยไม่ยั้งคิด
อย่างไรก็ตาม ผลพวงของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณก็ปรากฏผลเสียที่เป็นหายนะทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงของมันออกมาเหมือนเช่นที่หลายประเทศในแถบภูมิภาคละตินอเมริกาได้เคยประสบมาก่อน ความยากจนที่ลดลงในช่วงแรกในรัฐบาลทักษิณก็กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนเสียอีกเมื่อหาที่ใส่เงินลงไปอีกไม่ได้ สาเหตุหลักก็คือการแก้ไขความยากจนไม่สามารถทำได้ด้วยการเอาเงินไปแจกแต่เพียงอย่างเดียว คนจนจะหายจนก็ต่อเมื่อรู้วิธีจับปลาแต่หากแบมือขอรับปลาไปวันๆ ดุจยาจกแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่มีวันหายจนได้
สิ่งที่รัฐบาลทักษิณได้ทิ้งเอาไว้ก็คือบรรดาโครงการประชานิยมต่างๆ ที่ปรากฏผลของความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงแบบน้ำลดตอผุดท่ามกลางโครงสร้างเศรษฐกิจที่มิได้มีการปฏิรูปให้มีความก้าวหน้าติดตามโลกที่เปลี่ยนไปแต่ประการใด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการศึกษาที่ควรจะเป็นพื้นฐานในการที่จะสร้างกระดานสปริงให้เกิดการก้าวกระโดด การปฏิรูปการศึกษาและการปฏิวัติการเรียนรู้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในรัฐบาลทักษิณเพราะการที่มีประชาชนที่ “รู้ทันทักษิณ”เป็นจำนวนมากจักเป็นอันตรายต่อตัวระบอบทักษิณดังเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
2.อะไรคือ “ล้มปืน”
กระบวนการ “ล้มปืน”ก็เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริงเช่นกัน โดยที่กระบวนการ “ล้มปืน”เป็นผลอีกอันหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณได้กระทำในช่วงที่ตนเองได้ครองอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินโดยผ่านการสร้างรัฐตำรวจขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือข่มขู่ฝ่ายตรงกันข้ามฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเมืองแบบเก่าที่ “ผู้ชนะกินรวบ”หรือ winner takes allของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ในอดีตที่ผ่านมาตัวอย่างของการสร้างรัฐตำรวจก็คือในยุคของอธิบดีกรมตำรวจที่ชื่อ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ที่มีอัศวินแหวนเพชรพร้อมกับคำขวัญที่ว่า “ไม่มีอะไรใต้ฟ้าที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” แต่การล้มปืนด้วยรัฐตำรวจในยุคนั้นก็มาสิ้นสุดเมื่อ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้บัญชาการทหารบกได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจและสถาปนารัฐเผด็จการทหารขึ้นมาแทน
ผลจากการผูกขาดทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามานย์ที่ใช้เงินเป็นใหญ่หรือธนาธิปไตยของกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้สามารถ “ล้มทุน” ได้อย่างนัยสำคัญ และทำให้การ “ล้มปืน” ได้กลายมาเป็นเป้าหมายต่อมาของระบอบทักษิณ แต่วิธีการ “ล้มปืน”ด้วยทุนสามานย์ของระบอบทักษิณได้มีการกระทำอย่างแนบเนียนด้วยการใช้เงินเข้าซื้อจิตวิญญาณความภักดีของทหารบางคน ทำให้ความฮึกเหิมอาจหาญของเหล่าทหารหาญเสื่อมถอยลงด้วยการปรนเปรอ ลาภ ยศ สรรเสริญ
ล่าสุดปรากฏการณ์ การยืนเคียงข้าง (ศพ) ประชาชนของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันที่ให้การสนับสนุนนายกฯ หุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยอาศัยตรรกะของความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด จึงเป็นหลักฐานที่ทำให้มองเห็นกระบวนการ “ล้มปืน”ของรัฐบาลทักษิณที่ได้ดำเนินมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เพราะการ “เป็นกลาง”โดยไม่ยอมทำอะไรขณะที่ฝ่ายตำรวจกำลังเข่นฆ่าประชาชนอย่างเมามันก็คือการเลือกข้างอยู่แล้วว่าตนเองสนับสนุนฝ่ายใด
3.อะไรคือ “ล้มเจ้า”
ถ้าดูเผินๆ ในส่วนของกระบวนการ “ล้มเจ้า” ประจักษ์พยานอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนนักในช่วงแรกๆ ของการครองอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะมีก็เพียงแต่ความสงสัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลระดับแกนนำและผู้ใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่บางส่วนเป็นผู้ที่เคยเข้าป่าไปร่วมจับปืนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาแล้ว
อย่างไรก็ตามความชัดเจนของกระบวนการ “ล้มเจ้า” ก็เริ่มที่จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่พรรคพลังประชาชนได้เข้าบริหารประเทศแทนพรรคไทยรักไทยที่ได้ถูกยุบพรรคไปพร้อมกับการตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำพรรค 111 คน ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่มีการบรรจุเป็นญัตติแล้วโดย ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดยมีการนำเอาฉบับ พ.ศ. 2540 ที่เสนอโดยนายแพทย์เหวง โตจิราการ มาเป็นร่างเกือบทั้งฉบับยกเว้นแต่เพียงไม่ตัดหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ออก แต่ตัดในส่วนขององคมนตรีออกไป การไม่รับรององคมนตรีโดยกฎหมายสูงสุดให้ดำรงอยู่ก็เท่ากับเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจเพราะการแต่งตั้งองคมนตรีเป็นการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และหากไม่มีองคมนตรีใครเล่าจะเป็นผู้สนองงานระหว่างรัฐและประชาชน ให้กับพระมหากษัตริย์ นี่ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของ นปก.และแนวร่วมที่เคลื่อนไหวจาบจ้วงอย่างชัดเจนดังที่ปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ และการปราศรัยที่มีหลักฐานให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง
4. วันที่ 21 ตุลาคม 2551: สงครามครั้งสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ วันชี้ชะตาประเทศไทย
จากช่วงเวลานี้จนถึงวันที่ 21 ต.ค. 51 ถือเป็นช่วงเวลาอันตรายที่สังคมไทยควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะวันที่ 21 ต.ค.51 ที่จะถึงนี้เป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจะได้มีการอ่านคำพิพากษาคดีที่ดินย่านรัชดาฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและภรรยาถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตในการซื้อขายที่ดินดังกล่าว
ถึงแม้ว่าจำเลยทั้งสองจะได้หลบหนีการประกันตัวไม่มาฟังคำพิพากษาในครั้งแรกเมื่อปลายเดือนที่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าศาลฯ คงจะอ่านคำพิพากษาในวันดังกล่าวหลังจากที่ได้เลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งแม้จะมีจำเลยทั้งสองจะมาปรากฏตัวหรือไม่ก็ตาม
ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ผลของการอ่านคำพิพากษาจะทำให้สภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันที่จะหวนกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับจำเลยทั้งสองและพวก เพราะฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายโจทย์ก็ไม่สามารถอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวต่อไปได้อีก และหากถูกตัดสินว่ามีความผิด บุคคลทั้งสองก็จะเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกล่าวหามาเป็นจำเลยคดีอาญาที่ถูกตัดสินโดยศาลว่ามีความผิด การหลบหนีหรือการขอลี้ภัยก็จะมีความยุ่งยากเพราะเป็นความผิดส่วนบุคคลในการฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดส่วนตัว มิใช่ความผิดทางการเมืองดังที่ทั้งสองพยายามที่จะกล่าวอ้างกับสาธารณชนอยู่ตลอดเวลา
การต่อสู้ของฝ่ายทักษิณจึงนับได้ว่าเป็นสงครามครั้งสุดท้ายเช่นกัน มิใช่เป็นการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นของทักษิณและพวกด้วย
ความรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ที่ผ่านมาจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปิดฉากสงครามครั้งสุดท้ายของฝ่ายระบอบทักษิณที่กระทำต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นรุนแรงและแหลมคมเพียงใด และนี่คงเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย”ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะหงายเพื่อแพ้
หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด