เด็กปีศาจกับพฤติกรรมผีเจาะปากให้มาพูด
(บทความที่ปลื้มควรอ่าน)
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 10 ต.ค. 51
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คนๆนี้ ผีเจาะปากมาให้พูดหรือเช่นไร” สำนวนคนไทยโบราณ
การมีสื่อให้ได้แสดงความคิดเห็นของตนสู่สาธารณะ ถือเป็นอำนาจทางวาทกรรมชนิดหนึ่งซึ่งปัญญาชนที่ได้รับโอกาสและอภิสิทธิ์เช่นนี้พึงสังวรและตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ “ปาก”ของตนเองมีต่อสังคมให้มากๆ
ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าให้ฟังรายการ “เดอะนิวส์ โชว์” ของ ม.ล.ณัฐกรณ์ (ปลื้ม) เทวกุลที่ออกอากาศเมื่อ 9 ต.ค.51 ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 – 14.00 น. ทางคลื่น 97.0 MHz. พอได้ฟังแล้วผู้เขียนมีความรู้สึกทันทีว่า “ไม่ปลื้ม” ไปกับ ปลื้ม... คนๆนี้ “ผีเจาะปากให้มาพูดหรือเช่นไร”
มีประเด็นรายการดังกล่าวอยู่ 2 ประเด็นหลักที่เป็นสาเหตุของความ“ไม่ปลื้ม”ของผู้เขียน กล่าวคือ
1. หมอ และ นักบิน ไม่ใช่ เทวดา และ ไม่ใช่ เทวกุล
บุคคลที่อยู่ในอาชีพทั้ง 2 แบบหรืออาจจะรวมอาชีพอื่นๆ เช่น นักจัดรายการวิทยุ หรือพิธีกร ทางโทรทัศน์ เข้าไปด้วยก็ได้ โดยพื้นฐานเขาเหล่านั้นก็ยังมีความเป็น “คน” ซึ่งก็หมายความว่ายังมี รัก โลภ โกรธ และ หลงอยู่ การปฎิเสธการรักษาในกรณีที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน หรือ การมีความกังวลใจที่จะขับเครื่องบินให้นักการเมืองฝ่ายที่เหยียบย่ำกองเลือดเข้าสภา ในแง่มุมหนึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ที่ยังมีความรู้สึกแบบมนุษย์ปุถุชนอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่ประการใด
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการแสดงให้สังคมได้รับรู้ว่า หากคนใดประพฤติชั่ว แม้ว่าจะยังไม่ถูกฟ้องร้องลงโทษตามกฏหมาย แต่การกระทำดังกล่าวในฐานะที่เป็น “คน” ก็มีสิทธิที่จะแสดงออกถึง “อารยะขัดขืน” ว่าเขาเหล่านั้นมีความไม่พอใจมากน้อยเพียงใด แน่นอนเขาเหล่านั้นทราบว่าการขัดขืนของพวกเขาอาจติดตามด้วยการลงโทษหรือการตำหนิจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่เขาเหล่านั้นก็ยังกระทำตามสำนึกของตนเองที่มีอยู่ ทำไมหรือ นั่นก็เพราะว่านี่เป็นการแสดงออกของความเป็น “มนุษย์”ที่แท้ และเป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์แห่งการลงโทษทางสังคมต่อผู้ที่ทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมอำมหิต
ถ้า ปลื้ม จะ “ไม่ปลื้ม” เพราะเขาเหล่านั้น ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ผู้เขียนคิดว่า ปลื้ม คิดใหม่เสียดีกว่า
ผู้ป่วย ผู้โดยสาร มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันก็จริงอยู่ แต่ ปลื้มทำไมไม่บอกกับผู้ฟังไปด้วยว่า “สิทธิ” ต้องมาคู่กับ “หน้าที่” หรือแค่นี้ก็คิดไม่ออกแล้ว
ถ้าตำรวจอยากจะได้สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตำรวจก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้อง Serve and Protect ประชาชน มิใช่ไปรังแกเข่นฆ่าประชาชน ตำรวจมีสิทธิอะไรถึงไปทำเช่นนั้น นักการเมืองก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นพูดอยู่เสมอๆว่าผมได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนผู้ทรงเกียรติ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไม่เคยรักษาไว้ซึ่งเกียรติของความนักการเมืองที่ควรมีจิตสาธารณะและอุดมการณ์อันสูงส่งเพื่อส่วนรวมไว้เอาไว้เลย แต่กลับกระทำการไปในทางตรงกันข้าม ดังจะเห็นได้จากกรณีการรับฟังการแถลงนโยบายที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51ที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านั้นได้เข้ามาประชุมสภาพร้อมกับแขนขาและชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปทั้งในขณะที่เข้ามาและออกไปจากรัฐสภา จะมีการประชุมสภาอะไรที่ไหนในโลกนี้ที่สำคัญและมีค่ามากกว่าชีวิตของผู้คน
ปลื้มช่วยบอกให้ฟังหน่อยได้ไหม?
2. วันนี้ (9 ต.ค.51)ปลื้มบอกว่าปลื้มหมดศรัทธากับระบบจริงๆ
ปลื้มพูดอยู่หลายประเด็นในเรื่องที่ปลื้มมีศรัทธากับระบบ ตัวอย่างเช่น
ปลื้มมีศรัทธากับตำรวจเพราะอยากเป็นกำลังใจ(ให้ตำรวจเข่นฆ่าประชาชน)ต่อไป
ปลื้มหมดศรัทธาเพราะแกนนำพันธมิตรถูกยกเลิกข้อหากบฏโดยศาล
ปลื้มหมดศรัทธาเพราะนักบินไม่ยอมขับเครื่องบินให้กับ ส.ส.พรรคพลังประชาชน
ปลื้มหมดศรัทธาเพราะอาจารย์โรงเรียนแพทย์ 8 สถาบันที่ออกมาตอบโต้ว่าจะไม่รับรักษา คณะรัฐมนตรี ส.ส.ร่วมรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่แต่งเครื่องแบบและแจ้งชั้นยศเพื่อตอบโต้การกระทำรุนแรงโดยการเข่นฆ่าประชาชนของตำรวจเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ พิการ มากกว่า 400 คน
ดูเหมือนว่า ปลื้ม ไม่ปลื้มจริงๆ
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบที่ปลื้ม ไม่ปลื้มนั้น เป็นระบบเดียวกับระบบที่ ธงชัย วินิจจะกูล ประภาส ปิ่นตบแต่ง หรือ เหล่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่ปลื้มด้วยหรือไม่
เพราะหากปลื้ม ไม่ปลื้มเพราะบุคคลข้างต้นไม่รักษากฎหมาย และสร้างแต่ “อนารยะมวลชน” ผู้เขียนคิดว่า ปลื้ม คิดผิดก็คิดใหม่ได้มันไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่ประการใด แม้ปลื้มจะเรียนจบจากเมืองนอกมาก็ตาม
ระบบจะเป็นระบบได้ก็เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กติกาและเคารพกติกาเหมือนกัน หากฝ่ายหนึ่งไม่เคยเคารพกติกา จะหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องเคารพกติกาไปตลอดโดยไม่มีการขัดขืนเลยดูจะเป็นระบบที่ห่างไกลจากประชาธิปไตยไปไกลอยู่ทีเดียวมิใช่หรือ
ระบบไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตำรวจสามารถที่จะทำร้ายประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควรได้เพียงแค่รอฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแต่เพียงผู้เดียว ถ้าปลื้มจะบอกว่าตำรวจเป็นฝ่ายถูกกระทำก่อน ผู้เขียนและคงจะมีคนอีกมากกมายลุกขึ้นมาบอกว่าปลื้มพูดเท็จ
ระบบไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กล่าวหาใครที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลว่าเป็นกบฏโดยง่าย ศาลอุทธรณ์ก็ได้ให้เหตุผลที่ยกเลิกข้อหากบฏไว้ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย
ระบบไม่ได้ถูกออกแบบมาให้หมอและนักบินไม่สามารถที่จะปฏิเสธสำนึกความเป็น “มนุษย์”ที่มีอยู่ในตัวตน
ปลื้มควรมีสติในการพูดจาให้มากกว่านี้และจงรีบขับไล่ปีศาจให้ออกจากใจและปากของตนไปโดยเร็ว ถ้าหากปลื้มคิดจะเป็นปัญญาชนสาธารณะที่สมควรได้รับการยกย่องจากสังคม
*หมายเหตุ - เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด