“ข้องใจ” ประชาธิปไตยของประภาส ปิ่นตบแต่ง 20 กันยายน 2551

“ข้องใจ” ประชาธิปไตยของประภาส ปิ่นตบแต่ง 20 กันยายน 2551


“ข้องใจ”ประชาธิปไตยของประภาส ปิ่นตบแต่ง



โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง/รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 20 กันยายน 2551



“อนาคตไม่ใช่สิ่งที่ไว้คาดการณ์ แต่อนาคตเป็นสิ่งที่พวกเราต้องสร้างขึ้นมาเอง” นักปราชญ์นิรนาม

ผู้เขียนชักไม่แน่ใจแล้วว่า ประชาธิปไตยของประภาส ปิ่นตบแต่ง เป็นแบบไหนกันแน่?

ทรรศนะของประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่มีต่อระบบการเมืองใหม่ของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เห็นได้จากบทความ “ข้อข้องใจประชาธิปไตยของแกนนำพันธมิตร” ของเขาที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อ 17 ก.ย. 51 ที่ผ่านมานั้นเป็นที่น่า “ข้องใจ”อยู่

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าประภาส มีความเห็นว่า การนำเสนอการเมืองใหม่ของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นมีที่มาจากความไม่ไว้วางใจของประชาชนในชนบท มีการออกแบบระบบดุลอำนาจใหม่ โดยการลดทอนอำนาจนักเลือกตั้งและประชาชนในชนบทด้วยระบบตัวแทนคัดสรร และเพิ่มดุลอำนาจใหม่ คือ บทบาทของทหารและตุลาการภิวัฒน์

ผู้เขียนใคร่ขอตอบสนองตามคำเชื้อเชิญของประภาส ปิ่นตบแต่งที่จะถกเถียงในประเด็นดังกล่าวดังนี้

1. ทำไมจึงเราจึงต้องมีการเมืองใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งการเมืองแบบเก่ามีข้อด้อยอย่างไร

จากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาหลายปี การเมืองแบบเก่าอาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยโดยแท้

สาเหตุก็เนื่องมาจากความชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่งและการใช้อำนาจตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้คำนึงถึงบรรทัดฐานของจริยธรรมแม้แต่น้อย การเลือกตั้งจึงคำนึงแต่ผลแพ้ชนะไม่สนใจว่าจะได้มาด้วยการโกงหรือไม่

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมไทยเข้าสู่ความวิปริต เอาเงินเป็นที่ตั้ง มองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาไป เพื่อสร้างค่านิยมในสังคมให้เห็นว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพื่อว่าเมื่อนักเลือกตั้งหรือใครก็ตามที่ทุจริตแล้วจะถือเป็นเรื่องที่ไม่ผิดแปลกแต่ประการใด ใครเห็นด้วยก็เป็นพวกได้ ผลประโยชน์ส่วนรวมจึงมาทีหลังผลประโยชน์ส่วนตนเสมอ โดยอาศัยเสียงข้างมากเป็นเครื่องชี้ถูกผิดมากกว่าระบบยุติธรรมตามหลักนิติธรรม

ประชาธิปไตยของประภาสเป็นการเมืองแบบเก่าหรือไม่? ทำไมเวลาประภาส “ข้องใจ” การเมืองใหม่ของแกนนำพันธมิตรจึงกลับละเลยไม่พูดถึงข้อด้อยของประชาธิปไตยของการเมืองแบบเก่าเลยแม้แต่น้อย

2. การลดทอนอำนาจนักเลือกตั้งและประชาชนในชนบทด้วยระบบตัวแทนคัดสรร 70/30ถือเป็นการเมืองจากพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจประชาชนในชนบทจริงหรือไม่

หากเราเชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะอยู่ในการเมืองแบบเก่าอีกต่อไปแม้แต่วินาทีเดียวแล้ว จะทำอย่างไรให้เราหลุดพ้น ตัวแบบที่ถูกกล่าวอ้างอยู่เสมอๆก็คือการลดอำนาจนักเลือกตั้งด้วยระบบสัดส่วนคัดสรรตามกลุ่มอาชีพที่ถูกทดลองเสนอโดยแกนนำพันธมิตร

หากมองอย่างผิวเผินนี่อาจเป็นระบบที่ไม่ไว้วางใจประชาชนจากชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และไม่เคารพหลักการของความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะละเมิดหลักการ 1 คน 1 เสียง

แต่หากมองประเด็นให้ทะลุจากสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะพบว่า ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันเป็นระบบที่ล้าหลังและไม่เคารพเสียงข้างมากอยู่แล้ว

เราใช้ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่คัดเลือกตัวแทนของเราจากพื้นที่ และเราก็พบว่าตัวแทนที่ได้ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่หรือจากกลุ่มผลประโยชน์แต่อย่างใด เพราะผู้แทนที่ชนะเลือกตั้งในเขตมักจะได้รับคะแนนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ชนะเลือกตั้งอยู่เสมอๆ ไม่เชื่อลองรวมคะแนนผู้ที่แพ้เลือกตั้งทุกคนมารวมกันดูก็ได้ หรือดูจากคะแนนรวมของพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าคะแนนเสียงที่ได้ต่างกันไม่มาก แต่จำนวนผู้แทนที่ได้ต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นประเด็นเรื่องระบบสัดส่วนคัดสรรตามกลุ่มอาชีพข้างต้นจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่ไว้วางใจคนในเมืองมากกว่าคนในชนบท หรือ ไม่เคารพหลักการของความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะละเมิดหลักการ 1 คน 1 เสียงตามที่ประภาสกล่าวโจมตีโดยไม่ลืมหูลืมตาแต่อย่างใด

แต่เป็นความพยายามที่จะหลุดออกจากระบบการเลือกตั้งอย่างหยาบๆและล้าหลังที่อารยะประเทศเขาเลิกใช้แล้วต่างหาก ประภาสไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลยหรือ? ทั้งๆที่ตัวเองก็หาเลี้ยงชีพโดยเป็นนักรัฐศาสตร์อยู่แล้ว

สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง

อังกฤษที่เป็นประเทศแม่แบบของประชาธิปไตยไทยก็มีสภาขุนนางที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง

แต่ไม่มีนักรัฐศาสตร์ที่มีสามัญสำนึกคนใด “ข้องใจ” ว่าประเทศทั้ง 2 เป็นประชาธิปไตยหรือไม่แต่ประการใด

และที่สำคัญนี่ไม่ได้เป็นประเด็นแต่เฉพาะแกนนำพันธมิตรฯแต่เพียงพวกเดียวเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันนำเสนอมิใช่หรือ

ประชาธิปไตยของประภาสเป็นแบบไหนหนอ ช่างน่า “ข้องใจ” จริงๆ

3. สังคมไทยในปัจจุบันมีทางเลือกทางใดบ้าง

ผลพวงจากการเมืองแบบเก่าทำให้กลุ่มทุนสามารถเข้ามายึดกุมการเลือกตั้งแบบตัวแทนพื้นที่ได้โดยง่าย เพราะโครงสร้างอุปถัมภ์ในชนบททำให้ประชาชนต้องพึ่งพาผู้นำท้องถิ่น ผนวกกับการตื่นตัวทางการเมืองต่ำเพราะขาดข่าวสารข้อมูล การซื้อขายเสียงจึงทำได้โดยง่าย

เราก็ได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าระบบการเลือกตั้งที่ประภาสปกป้องนักปกป้องหนาว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นมันไม่ได้ผลและล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการบรรลุเจตจำนงของหลักการประชาธิปไตย ยกตัวอย่าง องค์กรอิสระที่ถูกออกแบบให้ต่อต้านการซื้อเสียง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าประสงค์ที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากกรอบแนวคิดยังคงเดินตามระบบเลือกตั้งแบบเดิมที่ล้าหลัง ซ้ำร้ายในบางชุดหรือบางคนก็สมคบกับนักเลือกตั้งเป็นพวกเดียวกันไปเลยจะได้ไม่ต้องเป็นศัตรูกันให้ลำบาก ก็เป็นที่เห็นกันอยู่

การเมืองใหม่จึงเป็นทางเลือก เพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถมีส่วนร่วมโดยผ่านการคัดเลือกตัวแทน และสร้างจริยธรรมในการใช้อำนาจของประชาชนเพื่อประชาชนหรือประชาภิวัฒน์นั่นเอง

เพราะสาเหตุหนึ่งของทุนนิยมที่กลายเป็นความชั่วช้าก็เพราะขาดซึ่งจริยธรรม ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่มีบทบาทเกี่ยวกับทุนนิยมก็คือ อดัม สมิธ ที่รู้จักกันดีจากหนังสือนามอุโฆษของเขาเรื่องThe Wealth of Nations ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1776 ก่อนหน้านั้น อดัม สมิธ ก็ได้เผยแพร่หนังสือเล่มหนึ่งของเขาที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ The Theory of Moral Sentiments ในปี ค.ศ.1759 ที่ว่าด้วยคุณธรรมและจริยธรรม โดย อดัม สมิธ ชี้ให้เห็นว่าการใช้ทุนนิยมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเครื่องกำกับอยู่เสมอ หาไม่แล้วก็จะกลายเป็นทุนสามานย์

ข้อเสนออันหนึ่งที่แกนนำพันธมิตรได้ทดลองนำเสนอขึ้นมาก็คือ การลดทอนการเลือกตั้งตัวแทนตามพื้นที่และหันมาเพิ่มระบบสัดส่วนคัดสรรตามกลุ่มอาชีพ จึงเป็นเพียงข้อเสนออันหนึ่งในหลายข้อเสนออันหลากหลายที่อาจมีต่อไปในอนาคต

นี่จึงเป็นข้อเสนอให้คิดให้เลือกก่อนที่จะไม่มีให้คิดให้เลือก ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะแกนนำพันธมิตรหรือผู้หนึ่งผู้ใด เพราะระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนตามพื้นที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีปัญหาอย่างร้ายแรงและเป็นที่มาของวิกฤตทางการเมืองของประเทศในขณะนี้

อีกทั้งไม่ได้เป็นไปตามทัศนะของประภาสที่มีต่อแกนนำพันธมิตรที่มองเห็นว่า ข้อเสนอของแกนนำพันธมิตรนั้นเป็นการมองคนชนบทว่าเป็นแค่ไพร่ในระบบอุปถัมภ์ของนักเลือกตั้ง โดยผ่านการขายเสียงและใช้เงินฟาดหัวผ่านโครงการประชานิยม เพราะฉะนั้นคนชนบทพวกนี้จึงร่วมมือกับนักเลือกตั้งขายชาติ ทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือเป็นฐานค้ำยันให้ระบอบทักษิณที่เป็นระบอบทุนนิยมสามานย์ดังที่เข้าใจและอ้างโดยประภาสแต่อย่างใด

ผู้เขียนไม่แน่ใจแล้วว่าประชาธิปไตยของประภาสเป็นแบบไหนกันแน่ ช่างน่า “ข้องใจ”จริงๆ








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้