เอา "มัน" แค่ครั้งเดียว แต่ประเทศล่มจมไปอีกนาน
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
10 ตุลาคม 2555
นโยบายจำนำข้าว ฤาจะเป็น “ชั่วฟ้าดินสลาย”
ที่รัฐบาลปูทำไว้กับคนไทย
“ชั่วฟ้าดินสลาย” เป็นนิยายเรื่องดังที่กล่าวถึงการเห็นผิดเป็นชอบ ลุ่มหลงแต่เพียงผลระยะสั้น มิได้คำนึงผลในระยะยาว เมื่อพะโป้ (สามี) ออกปากยกยุพดี (ภรรยา) ให้แก่ส่างหม่อง (ชายชู้) โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าพวกเอ็งอยากจะอยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน อยากอยู่ด้วยกันชั่วฟ้าดินสลาย ข้าก็จักให้พวกเอ็งได้สมมาตรปรารถนา โดยจับทั้งคู่ล่ามโซ่คล้องแขนไว้ด้วยกันตลอดเวลา กลายเป็นโศกนาถกรรมในบั้นปลายในที่สุด
นโยบายประชานิยมที่นำมาใช้หาเสียงไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน คืนภาษีรถคันแรก หรือนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์อยู่ในขณะนี้ก็ไม่แตกต่าง ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในระยะสั้น เอาใจคนบางกลุ่มบางพวกโดยอ้างว่าเป็นคนส่วนใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในระยะยาวแต่อย่างใด เอา “มัน” แค่ครั้งเดียว แต่ประเทศล่มจมไปอีกนาน
นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในขณะนี้ดูจะเป็น “ช้างตาย” ของรัฐบาลปู ที่ไม่สามารถหาใบบัวสักใบมาปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวไว้ได้
เว็บ insidethaigov ที่แพร่คำสัมภาษณ์บุญทรงแค่เริ่มคิดก็ผิดเสียแล้ว ในฐานะผู้ทำนโยบายบุญทรงคงเรียนหนังสือน้อยเกินไปจนไม่รู้ว่า นโยบายที่ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่งโดยที่อีกกลุ่มหนึ่งต้องเสียประโยชน์นั้นได้พิสูจน์ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติมาเป็นเวลานานแล้วว่าไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมแต่ประการใด ไม่ว่าจะโดยเอาประโยชน์ของคนสองกลุ่มมาหักลบกันหรือเอาจำนวนของแต่ละกลุ่มมาเป็นที่ตั้ง ตัวอย่างที่ผ่านมาคือการเปิดการค้าเสรีเฉพาะกลุ่มที่รู้จักในชื่อ FTA ทั้งหลายที่เอาผลประโยชน์ของกลุ่มส่งออกเป็นที่ตั้งโดยแลกกับการเปิดตลาดซึ่งกลุ่มที่ไม่ส่งออกจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
ดังนั้น ผลประโยชน์ที่นักการเมืองหรือนักวิชาการบางคนอ้างว่าชาวนาได้รับ “คุ้มค่า” เมื่อเปรียบเทียบกับผลเสียจากเงินที่คนทุกคนในประเทศเป็นผู้จ่ายให้ในรูปภาษีหรือหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ชาวนาได้ราคาข้าวที่แพงเกินจริง จึงไม่สามารถทำให้สังคมส่วนรวมมีสวัสดิการสังคมหรือ Social Welfare ที่ดีขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่าชาวนาจะมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรก็ตาม บุญทรง กิตติรัตน์ วัชรี โอฬาร หูกระต่าย และอีกหลายๆคน พึงสังวร
การจะไปอ้างโพลสำรวจความพึงพอใจในนโยบายนี้ของชาวนาจึงไม่สามารถอยู่เหนือความไม่พึงพอใจ (ที่ไม่ได้ไปสำรวจ) ของคนที่ต้องเสียภาษีเพื่อชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับบุญกับบาปที่ไม่สามารถหักกลบลบหนี้กันได้
คงมีศรีธนญชัยที่ตะแบงอ้างว่ามีนโยบายใดบ้างที่ทำแล้วไม่มีคนเสียประโยชน์ แต่พึงดูนโยบายที่ผ่านมาในอดีตกับที่รัฐบาลปูทำว่าแตกต่างกันอย่างไร การพยุงราคามิให้ชาวนาถูกเอาเปรียบนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อทุกเมล็ดในราคาที่สูงเกินจริงกว่าราคาตลาดแต่อย่างใด
ในอดีตที่ผ่านมา ราคาจำนำที่ต้องต่ำกว่าราคาตลาดเพราะรัฐบาลไม่ประสงค์ที่จะสร้างความเสียเปรียบไม่พอใจให้กับประชาชนกลุ่มอื่นจากหนี้สาธารณะที่จะต้องเพิ่มจากการขาดทุน เช่นเดียวกับการกำหนดโควตาจำนำหรือข้อจำกัดอื่นๆ ที่ไม่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ซื้อในตลาดแต่เพียงผู้เดียว
การรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดและไม่มีขีดจำกัดด้วยการรับซื้อแบบไม่อั้นทุกเมล็ดจึงเป็นการเล่นการเมืองหวังแต่เพียงผลแพ้ชนะเลือกตั้งโดยแทรกแซงและทำลายกลไกตลาดอย่างแท้จริง หาใช่ผู้ที่เอาเรื่องนี้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่
ดูตัวอย่างการแทรกแซงตลาดเงินด้วยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 3 หรือ QE3 ด้วยการรับซื้อคืนพันธบัตรในอัตราเดือนละไม่กี่หมื่นล้านนั้น เมื่อเทียบกับ 2 ครั้งที่ผ่านมาและขนาดของตลาดเงินแล้วมีปริมาณน้อยมาก แต่ครั้งนี้ที่ได้ผลเรียกความมั่นใจของทุกฝ่ายได้ก็เพราะการไม่ประกาศว่าจะเลิกรับซื้อคืนพันธบัตรเมื่อใดต่างหาก
รัฐบาลปูในขณะนี้จนมุมจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่เกินจริงนี้ เดินหน้าต่อไปก็ลำบากเพราะมันถูกออกแบบให้เอาใจคนเฉพาะกลุ่มเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งในระยะสั้นแต่มีผลขาดทุนมากหากทำไปนานๆ เอา “มัน” แค่ครั้งเดียวเพื่อให้ได้เข้าสู่อำนาจ แต่ประเทศจะย่อยยับไปอีกนาน
นางนายกฯ บุญทรง หรือวัชรี จะอ้างว่าขายข้าวที่ซื้อมาโดยไม่ขาดทุนนั้น ไม่มีใครเชื่อเพราะไม่โปร่งใสไม่สามารถให้ข้อมูลผู้ซื้อและราคาขายได้ ดังนั้นหากตลาดเชื่อว่ารัฐบาลขายข้าวที่อมไว้กว่า 12 ล้านตันข้าวสารในฤดูกาลที่ผ่านมาได้น้อยก็ยิ่งทำให้ตลาดเป็นของผู้ซื้อที่มีแต่จะกดราคา ในขณะที่ชาวนาก็จะเร่งผลิตเอาข้าวมาจำนำโดยไม่ใส่ใจคุณภาพเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียนมาซื้อในฤดูกาลใหม่อีกหรือไม่
การเบี่ยงประเด็นโดยอ้างว่าเป็นนโยบายที่ดีแต่มีข้อตำหนิเล็กน้อยในเรื่องโกงกินหรือคอร์รัปชันดังเช่น นางนายกฯ สุกำพล หรือ มติชน ดูจะไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างมาก นโยบายจำนำข้าวมิใช่ผิดที่โกงกินแต่เพียงลำพัง หากแต่ผิดที่ทำลายกลไกตลาดข้าวของประเทศ
การผูกขาดตัดตอนและการเข้ามาค้าขายแข่งกับเอกชนของรัฐนั้น เป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เพราะไม่ใช่หน้าที่ที่รัฐพึงกระทำ รัฐธรรมนูญยอมให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดได้ใน 3 กรณีก็คือ เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นสาธารณูปโภค การจะอ้างว่าเป็นนโยบายนั้นมิได้หมายความว่าอยู่เหนือกฎหมายได้
ข้าวไม่ใช่ไม่พอกิน มีเหลือส่งออก ไม่ได้เป็นสินค้าสาธารณะที่เป็นสาธารณูปโภค และจะเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มเดียวคือคนที่สามารถจำนำข้าวเท่านั้นซึ่งอาจไม่ใช่ชาวนาเสียทั้งหมด จะเรียกได้ว่าเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวมได้อย่างไร
การออกมาเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของนักวิชาการเมื่อเห็นการกระทำผิดต่อหน้าจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาสิทธิเสรีของคนส่วนใหญ่ในการรักษาไว้ซึ่งกลไกตลาดค้าข้าว มิให้เกิดการผูกขาดตัดตอนไม่รักษาประโยชน์ของประเทศโดยรัฐมาทำเสียเองจากการเข้ามารับซื้อทุกเมล็ด มิใช่เป็นเรื่องไม่มีงานทำดังเช่นที่วัชรีกล่าว
จะรับหรือไม่เป็นการวินิจฉัยของศาล แต่ก็อย่าลืมว่าด้วยกลไกระบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกัน ศาลจึงเป็นอำนาจเดียวที่เหลือให้ประชาชนพึ่งได้โดยสงบอหิงสาหากไม่เห็นพ้องกับที่รัฐบาลทำ จะให้ไปตัดสินที่สภาที่เป็นพวกเดียวกันจะหาความถูกต้องและเป็นธรรมได้ที่ใด
ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีประสบการณ์มาแล้วในการวินิจฉัยกรณี พ.ร.ก. 4 ฉบับเมื่อต้นปีที่รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก.ที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังเพราะไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วน ล่วงเลยมาอีก 1 ฝนแล้วยังไม่มีการใช้เงินที่ขอกู้แต่อย่างใด
บรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า นโยบายอยู่เหนือเหตุผลและความถูกต้อง คนบางกลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นสามารถบังคับจำกัดเสรีภาพให้คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องอยู่กับนโยบายประชานิยมที่ไร้สาระไม่คำนึงถึงเหตุและผล ไม่นึกถึงประโยชน์ระยะยาวของส่วนรวม ดุจดังยุพดีกับสางหม่องอย่าง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ที่จะนำมาซึ่งโศกนาถกรรมในบั้นปลายในหลายประเทศที่เคยประสบมารวมถึงประเทศไทยนี้หรือไม่ไม่ช้าคงรู้กัน แต่ที่แน่ๆ ในขณะนี้ก็คือ รถชื่อประเทศไทยนอกจากจะมีคนขับโดยประมาทแล้วยังไม่มี “เบรก” อีกด้วย