(23/3/2554)
เหตุแห่งความล้มเหลวของการเมืองไทยน่าจะมาจากการ “ผูกขาด”ทางการเมืองของพรรคการเมืองเป็นสำคัญ
การส่งให้สภารับรองบันทึก JBC ของรัฐบาลอภิสิทธิ์อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของการเมืองเก่าแบบ “ผูกขาด” ก็เป็นได้
ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการของประเทศไทยในปัจจุบันดูจะไม่มีอนาคตและเป็นคำตอบให้กับสังคมไทยอีกต่อไป
ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่ากลไกการเมืองด้วยระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่มิได้เป็นคำตอบให้กับปัญหาของชาติแต่อย่างใด
แทนที่ปัญหาเรื่องการเสียดินแดนและอธิปไตยของชาติจะเป็นปัญหาสำคัญเหนือปัญหา น้ำมันปาล์ม หรือแม้แต่ปัญหา 6.8 หมื่นล้านบาทของภาษีบุหรี่นำเข้าที่หลีกเลี่ยง เพราะดินแดนและอธิปไตยของชาติซื้อหาไม่ได้ด้วยเงินไม่ว่าจะด้วยจำนวนเท่าใดก็ตามซึ่งสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาอภิปรายตรวจสอบและขอคำชี้แจงจากฝ่ายบริหาร
แต่กลไกทางการเมืองกลับสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของทั้ง (1) ตัวบุคคลคือผู้อภิปรายและรัฐมนตรีที่อ่อนด้อยขาดความรู้ที่แท้จริงไม่ทราบว่าเขตแดนไทยอยู่ที่ใด และ (2) ระบบรัฐสภาที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมิได้ทำหน้าที่ของตนเองแต่อย่างใด ต่างฝ่ายต่างฟอกผิดให้กับตนเองอย่างหน้าไม่อาย ประเด็นการเผาเมืองของคนเสื้อแดงจากสำนวนเดียวกัน คลิปวิดีโอเดียวกันแต่ต่างฝ่ายต่างพูดได้อย่างเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
ประเด็นสำคัญก็คืออำนาจของฝ่ายบริหารที่ไม่ถูกถ่วงดุลด้วยอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างถูกต้องชอบธรรมเพราะสภาผู้แทนเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นพวกเดียวกับเสียงข้างมากในสภา การตรวจสอบและถ่วงดุลจึงทำได้ยากเนื่องจากเป็นพวกเดียวกัน ผลที่ติดตามมาก็คือการแก่งแย่งเข้ามาเป็นรัฐบาลเพราะมีรางวัลสูงอันเนื่องมาจากอำนาจมากแต่การตรวจสอบถ่วงดุลต่ำ
แม้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ต่างก็เพิ่มเติมอำนาจการตรวจสอบให้กับองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. กกต. หรือ สตง. แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่คาดหวังเอาไว้ได้เท่าที่ควร อันเนื่องมาจากฝ่ายบริหารพยายามเข้ามาแทรกแซงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในองค์กรอิสระดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์จากอดีตที่ผ่านมา จึงมิใช่เรื่องที่น่าแปลกที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้เอาอำนาจดังกล่าวไปให้ศาลที่แม้จะไม่ใช่ first best เพราะขัดกับหลักการยึดโยงอำนาจของประชาชน แต่การให้ศาลเป็นผู้คัดเลือกแทนตัวแทนจากประชาชน เช่น จาก ส.ส.ในสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็น second best ที่น่าจะปลอดจากการแทรกแซงและการทับซ้อนของผลประโยชน์ได้มากที่สุด
การรวบอำนาจระหว่างรัฐบาลกับสภาเข้ามาด้วยกันจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่พรรคการเมืองในอดีตที่ผ่านมาจำเป็นต้องได้มาเพื่ออำนาจการปกครองอย่างไม่มีอุปสรรค ดูตัวอย่างของพรรคไทยรักไทยก็ได้ว่าแม้ชนะการเลือกตั้งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแต่ก็ยังไม่พอใจ พยายามจะรวบพรรคอื่นๆ เข้ามาให้มากที่สุดเพื่อให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติทำได้อย่างจำกัด การอยู่ในตำแหน่งครบวาระของรัฐบาลทักษิณและการทุจริตเชิงนโยบายจึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ากลไกการเมืองในระบบรัฐสภาไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชาติมากกว่าที่จะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาเพราะการเมืองถูก “ผูกขาด” ด้วยคุณลักษณะ 3 ประการคือ (1) ผูกขาดตำแหน่งนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง (2) ผูกขาดการเข้าสู่การเมืองโดยพรรคการเมืองเป็นผู้ส่งสมัคร ส.ส. และ (3) ผูกขาดควบคุมการทำงานของ ส.ส.ด้วยมติพรรค ทำให้ตัวแทนปวงชน เช่น ส.ส. ต้องอยู่ภายใต้อำนาจพรรคกลายเป็นทรัพย์สินที่มีชีวิตดุจดัง วัว ควาย ของเจ้าของพรรค
พรรคการเมืองจึงกลายเป็นดังเช่นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทส่วนตัวที่อำนาจการบริหารขึ้นอยู่กับเจ้าของผู้ที่นำเงินมาลงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั่นคือ ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง พรรคใดมีทรัพย์สินมากก็สามารถนำเอาทรัพย์สินไปหาประโยชน์จัดตั้งหรือต่อรองเป็นรัฐบาลได้ต่อไป การทุจริตซื้อเสียงจึงเป็นหนทางที่สำคัญในการได้มาซึ่ง ส.ส. และในทำนองเดียวกันการเป็นรัฐบาลเพื่อเพิ่มโอกาสทุจริตเพื่อให้ได้เงินมาซื้อเสียงจึงเป็นเสมือน “ไก่กับไข่” ที่ไม่สามารถจำแนกออกได้ว่าอะไรเกิดก่อนกัน การจะบอกว่าการทุจริตไม่จำเป็นต้องมาจากการซื้อเสียงก็ได้ หรือประชาชนจำนวนมากก้าวข้ามพ้นการซื้อเสียงไปแล้วดูจะเป็นตรรกะที่อ่อนด้อยด้วยเหตุผลเพราะการทุจริตกับการซื้อเสียงเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นด้วยแรงจูงใจของผลประโยชน์
ปัญหาเชิงโครงสร้างของการ “ผูกขาด” ทางการเมืองนี้แหละที่น่าจะเป็นปัญหาที่ทำให้กลไกทางการเมืองในระบอบรัฐสภาไม่สามารถเป็น “คำตอบ” หรือ “ทางออก” ให้กับสังคมได้ ทำให้การเมืองกลายเป็นกลไกที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าของชาติในปัจจุบันมากกว่าปัญหาโครงสร้างอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา หรือปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพราะหากการเมืองซึ่งเป็นเสมือนกลไกการตัดสินใจของสังคมทำงานบกพร่อง สังคมก็จะได้คำตอบที่ผิดและไม่สามารถใช้ไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง
การ “ผูกขาด” ทางการเมืองมักจะถูกซ่อนเงื่อนและปิดบังโดยเจ้าของพรรคการเมืองภายใต้ข้ออ้างของการยึดโยงกับประชาชน ทั้งที่พรรคการเมืองในปัจจุบันหาได้มีสภาพของพรรคการเมืองตามความหมายที่ควรจะเป็นไม่ ขาดทั้งอุดมการณ์และการยึดโยงกับประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะจากจำนวนสมาชิกพรรคที่มีน้อยไม่สอดคล้องกับจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ ที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายที่มิได้มาจากสมาชิกพรรคอุปถัมภ์ค้ำชูหากแต่มาจากนายทุน ทำให้พรรคมิได้เป็นของสมาชิกพรรคแต่อย่างใด หรือการบริหารงานที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้า นายทุน และบริวารเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยจึงถูกจำกัดวงหรือ “ผูกขาด” ให้อยู่เพียงแค่กลุ่มคนหน้าเดิมไม่เกิน 2-3 พันคนเท่านั้นที่จะมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนใช้อำนาจมหาชนของคนอีก 60 ล้านคนเพื่อสูบเอาประโยชน์จากชาติไปเป็นของส่วนตน
การประณามหนทางการเข้าสู่อำนาจที่นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งว่าเป็นเผด็จการไม่เป็นประชาธิปไตยจึงมักเป็นวาทกรรมหรือมายาคติของ “นักเลือกตั้งอาชีพ” และเจ้าของพรรคพยายามสร้างขึ้นมาให้สังคมเห็น เพราะการเลือกตั้งจะนำมาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะเข้ามาสู่อำนาจของเจ้าของพรรคการเมืองโดยอ้างความเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมที่ผูกขาด และไม่สนใจว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยวิธีใด ยิ่งเป็นระบบเขตเล็กเบอร์เดียวที่อภิสิทธิ์ยอมตระบัดสัตย์แก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ใหม่ก็จะยิ่งทำให้การแข่งขันดุเดือดมากยิ่งขึ้นเพราะไม่มีที่สำหรับที่สองหรือผู้แพ้แต่อย่างใดแต่ที่สำคัญกว่าก็คือสามารถใช้เงินซื้อเสียงได้ง่ายและประหยัดเงินซื้อเสียงมากขึ้น
การเข้าสู่การเลือกตั้งของรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงมิใช่ทางออกของชาติแต่อย่างใด เพราะพลเมืองเข้มแข็งย่อมคาดการณ์ได้ว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์จะได้เสียงข้างมาก การแก้ไขปัญหาของชาติที่มีอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใดเพราะการเมืองได้ถูก “ผูกขาด” โดยพรรคการเมืองที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของไปแล้วที่จะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะกีดกันรายใหม่ไม่ให้เข้าสู่ตลาดการเมืองโดยเสรี
ปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอันเนื่องมาจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำหลักเขตทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่ากลไกทางเมืองในระบบรัฐสภาไทยไม่สามารถทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศได้อีกต่อไป เพราะ MOU 2543 มีคุณลักษณะเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่สัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และการมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตซึ่งไทยมีสิทธิอธิปไตยที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 ได้บัญญัติเอาไว้ว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา แต่สภาในชุดก่อนหน้าและในชุดปัจจุบันก็เพิกเฉยมิได้ใส่ใจเข้าตรวจสอบรัฐบาลในเรื่องนี้แต่อย่างใด เหตุก็เพราะ “นักเลือกตั้ง” ต่างฝ่ายต่างก็ผลัดกันมาเป็นรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติสลับกันไปมา และเลือกที่จะละเลยไม่ทำหน้าที่ที่ตนเองมีโดยใช้มติพรรคมากำกับการทำงานของ ส.ส.
รัฐบาลอภิสิทธิ์เจ้าเล่ห์ไม่ซื่อสัตย์พยายามที่จะเรียนลัด ไม่จดทะเบียนสมรสกับ “ภรรยา” คือ MOU 2543 ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เลือกที่จะรับรอง “ลูก” คือการรับรองบันทึกการประชุมทั้ง 3 ครั้งของคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชาหรือ JBC อันเป็นกลไกที่เกิดขึ้นจาก “ภรรยา” MOU 2543 ดังกล่าวแทน อย่าไปติดที่ชื่อเพราะสนธิสัญญาอาจเป็นในชื่อใดก็ได้ แม้แต่แถลงการณ์ร่วมฯ ของนพดลก็เป็นสนธิสัญญา หากบันทึกการประชุม JBC ดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาแล้วจะนำมาให้รัฐสภารับรองไปเพื่ออะไร? ทำไมฮุนเซนจึงต้องให้รัฐสภาไทยรับรองจึงจะยอมร่วมประชุมต่อทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็ประชุมกันมาได้
การส่งบันทึกดังกล่าวให้สภารับรองจะก่อให้เกิดผลเสียหายกับประเทศไทยอย่างมากเพราะจะเป็นการไปรับรองแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่มีเส้นเขตแดนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคือมิได้ยึดเอาสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตามที่ไทยได้เคยตกลงทำไว้กับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมกัมพูชาในอดีตเมื่อ 100 ปีเศษที่ผ่านมาว่าเป็นเส้นเขตแดน ทำให้แผนที่ดังกล่าวมีสถานะและมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศกับกัมพูชา ก่อให้เกิดผลเสียจากการสละเส้นเขตแดนเดิมตามสันปันน้ำแล้วมาจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ที่สุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดน ทำให้ต่างชาติเข้าใจผิดได้โดยง่ายว่าไทยกำลังจัดทำหลักเขตแดนใหม่ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่ปรากฏเป็นเงื่อนไขใน MOU 2543
การรับรองบันทึกการประชุม JBC ดังกล่าวของสภาอาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของระบบการเมืองเก่าแบบผูกขาดใครจะไปรู้เพราะ ฮุ้นปวยเอี้ยง นกฟีนิกส์ หรือ ประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกหรือหลังสึนามิ ที่ต้องตายก่อนจะเกิดใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม