เมื่อพันธมิตรฯ จะ Vote “No” ตอนที่ 2 (6/4/54)

เมื่อพันธมิตรฯ จะ Vote “No” ตอนที่ 2 (6/4/54)


เมื่อพันธมิตรฯ จะ Vote “No” ตอนที่ 2










 
      ตารางข้างต้นเป็นการวิเคราะห์สรุปสถานการณ์ที่เป็นไปได้ทั้งหมดของข้อเสนอที่จะไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No” ของแกนนำพันธมิตรฯ ที่กำลังรณรงค์บนเวทีมัฆวานฯ ต่อการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาในขณะนี้
       


       ในกรณีที่ 1 หากแกนนำพันธมิตรฯ สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้ง 2 แบบมากกว่าร้อยละ 50 หรือ 16.4 ล้านคนให้ Vote “No” ได้สำเร็จ ผลก็จะเป็นไปตามสดมภ์ที่ 2 ของตารางคือคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.รวมกันทั้งหมดจะได้รับน้อยกว่าหรือแพ้ Vote “No”
       


       ในทำนองเดียวกันหาก Vote “No” ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ก็อาจจะชนะผู้สมัคร ส.ส. เช่น มีผู้มา Vote “No” ร้อยละ 49 ซึ่งมากกว่าผู้สมัคร ส.ส. คนใดคนหนึ่งแต่ยังได้คะแนนรวมน้อยกว่ากึ่งหนึ่งซึ่งจะเป็นไปตามกรณีที่ 2 หรือความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็อาจจะได้คะแนนน้อยกว่าผู้สมัคร ส.ส.ซึ่งจะเป็นไปตามกรณีที่ 3
       


       นัยสำคัญของแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีดังต่อไปนี้คือ
       


       1.ในเชิงจำนวน หาก Vote “No” ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาลงคะแนนหรือเป็นไปตามกรณีที่ 2 หรือ 3 จะไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับพันธมิตรฯ ไปอ้างได้เลยว่า “คนส่วนใหญ่” ไม่ชอบระบบการเมือง “เก่า” หรือไม่พอใจทั้งระบบการเมืองและนักการเมืองที่เป็นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งคือเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ เพราะคะแนน Vote “No” ที่ได้มีน้อยกว่าคะแนนที่เลือก ส.ส.หรือ Vote “Yes” ที่ได้รวมกันทั้งหมด
       


       คะแนน Vote “No” นี้ไม่สามารถนำไปรวมกับผู้ไม่มาออกเสียงลงคะแนนเสียงซึ่งมีอยู่ประมาณ 12 ล้านคนเพื่ออ้างความชอบธรรมได้ เพราะไม่สามารถทึกทักเอาตามอำเภอใจได้ว่าผู้ไม่มาออกเสียงที่คูหาเลือกตั้งเป็นกลุ่มที่ต้องการ Vote “No” มิเช่นนั้นทุกพรรคก็สามารถอ้างคะแนนส่วนนี้ว่าเป็นของตนได้หมด
       


        ไม่มาออกเสียงคือไม่มา หาได้เห็นด้วยกับใครไม่ หากผลออกมาเป็นกรณีที่ 2 และ 3 หรือได้น้อยกว่า 16.4 ล้านเสียงก็ต้องถือว่าพันธมิตรฯ “แพ้” ในประเด็นที่รณรงค์
       


       หากจะโต้แย้งในเรื่องการซื้อเสียงก็ดี คะแนนจัดตั้งก็ดี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างที่รับฟังได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเลือกตั้งที่อ้างอิงจำนวนเสียงข้างมากที่ได้ เพราะพันธมิตรฯ ก็คาดหวังที่จะชนะดังเช่นกรณีที่ 1 ซึ่งก็ต้องอ้างอิงตรรกะเรื่องจำนวนเสียงข้างมากนี้เช่นกันมิใช่หรือ
       


       2. สิ่งหนึ่งที่แกนนำพันธมิตรฯ มิได้นำเสนอออกมาอย่างชัดแจ้งต่อสาธารณชนก็คือ ในเรื่องอำนาจนอกสภาไม่ว่าจะมาจากประชาชน การรัฐประหาร หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะหากผลออกมาเป็นกรณีที่ 1 แล้วจะดำเนินการอย่างไร
       


       เนื่องจากโดยนัยของการเรียกร้องให้ผู้มาเลือกตั้งออกเสียงในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” หรือ Vote “No” นั้นก็เป็นเสมือนหนึ่งพันธมิตรฯ เสนอตัวเป็นอีกพรรคการเมืองที่มิได้จดทะเบียนตามกฎหมายแต่ประสงค์จะเข้ามาทำงานทางการเมืองโดยอาศัยความชอบธรรมจากผู้ไปเลือกตั้งออกเสียงในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” หรือ Vote “No” ให้พรรค “พันธมิตรฯ” ที่ไม่มีหมายเลขพรรคเป็นทางการนั่นเอง
       


       แต่หากผลออกมาเป็นกรณีที่ 2 หรือ 3 ที่ Vote “No” พรรค “พันธมิตรฯ” อาจแพ้ทุกเขตเลือกตั้งและแพ้ในภาพรวมทั้งหมด จะทำให้ข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการเมืองโดยอำนาจนอกสภากลายเป็นเสียงส่วนน้อยหรือน้อยมาก ขาดแรงกดดัน ขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง
       


       ดังนั้น ข้อเสนอ Vote “No” ของแกนนำพันธมิตรฯ จะประสบผลสำเร็จหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับผลของคะแนนที่ได้เป็นหลักนั่นคือต้องมีคนเห็นด้วยมากกว่า 16.4 ล้านคน ท่านทั้งหลายคิดว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นกรณีใดมากกว่ากัน?
       


       แต่ที่สำคัญก็คือยังไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขการเมืองที่ล้มเหลวจากการ “ผูกขาด” ทางการเมืองแต่อย่างใด จะจัดการอย่างไรกับพลังประชาชนหากได้มา?
       


       3. โดยเปรียบเทียบ หากไม่ Vote “No” และหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นลูกในไส้ของพันธมิตรฯ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่ขึ้นอยู่กับผลของคะแนนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นในกรณี 1 หรือ 2 หรือ 3 พันธมิตรฯ จะอยู่ในสถานการณ์ที่ “ชนะ” ทั้งหมด
       


       อย่างแย่ที่สุดที่เป็นไปได้ในกรณีที่ 3 ก็คือมีแต่ ส.ส.บัญชีฯ เพราะหากได้คะแนนรวมมากกว่า 262,000 คะแนน (32.8 ล้าน/125 คน) ก็น่าจะได้แล้ว 1 คน หรือหากเป็นกรณีที่ 1 น่าจะได้คะแนนเฉลี่ย ส.ส.เขต 375 เขตเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ 8.7 หรือ 4.4 หมื่นคะแนนต่อเขต (32.8 ล้าน/375 เขต) และคะแนน ส.ส.บัญชีเกินกว่า 16.4 ล้านเสียงก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ในทันทีเพราะจะได้ ส.ส. เกินกว่า 250 คนและสามารถแก้การเมืองที่ล้มเหลวจากการ “ผูกขาด” ทางการเมืองโดย “ถูกกฎหมาย”ได้จากการไม่เอาคะแนนไปทิ้งน้ำ!
       


       การนำคนของพันธมิตรฯ เข้าสภาจึงเป็นทางแก้การเมืองที่ล้มเหลวจากการ “ผูกขาด” ทางการเมืองที่ถูกจุด เป็นจริง และรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
มิใช่เป็นเพียงแค่คำขวัญหรือคำพูดที่สวยหรูดูดีอย่างแน่นอน แม้อาจจะได้ ส.ส.จำนวนน้อยหากสถานการณ์เป็นไปตามกรณีที่ 3 แต่อย่าลืมว่า ส.ส.เป็นคนมิใช่สารละลายที่จะได้แปรเปลี่ยนไปตามส่วนใหญ่ได้โดยง่าย ยิ่งเป็น ส.ส.บัญชีฯ ยิ่งควบคุมได้ง่ายเพราะพรรคสามารถขับออกและแทนที่ด้วยคนใหม่ได้โดยง่าย สิ่งที่กลุ่มมวลชนเช่นพันธมิตรฯ ทำได้ยากอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าจะเรื่องของวีระและราตรี หรือเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา ก็มิใช่เพราะขาดอำนาจรัฐ ไม่มีตัวแทนเป็นกลไกใช้อำนาจรัฐดังกล่าวไปอยู่ในสภามิใช่ดอกหรือ
       


       4. ข้อเสนอให้พรรคการเมืองใหม่ “รอ” เพื่ออดเปรี้ยวไว้กินหวานในภายหลังจึงไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นคุณกับพรรคการเมืองใหม่เป็นอย่างยิ่ง หากพรรคการเมืองใหม่หลีกทางไม่ส่งคนลงเลือกตั้งก็เท่ากับไม่ทำหน้าที่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาอำนาจรัฐ ที่สำคัญก็คือไม่สามารถแจ้งเกิดได้ ต้องรอ 1 ถึง 4 ปีจึงจะมีการเลือกตั้งใหม่ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่โดยลำพังจะรักษาพรรคการเมืองที่ไม่มีผลงานและขาดการสนับสนุนไปได้นานสักเท่าใด
       


       สถานการณ์เลือกตั้งที่จะถึงนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อเมษายน 2549 ที่มีเพียงพรรคเดียวลงสมัคร ทางเลือกสำหรับผู้มาลงคะแนนจึงมีเพียง 2 ทางคือ มาลงคะแนนเพื่อ “รับ” กับ “ไม่รับ” เช่นเดียวกับการลงประชามติเพื่อรับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ขณะที่ในปัจจุบันเป็นการออกเสียงลงคะแนนเพื่อ “เลือก” มิใช่เพื่อ “รับ” กับ “ไม่รับ” แต่ประการใดตามที่กล่าวอ้าง
       


       คำอธิบายที่น่าจะเป็นได้มากที่สุดจากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้างต้นก็คือ ความต้องการให้พรรค “พันธมิตรฯ” เข้าแข่งแทนในการเลือกตั้งคราวนี้
       


       แต่ผลของการเลือกตั้งไม่ว่าพรรค “พันธมิตรฯ” จะชนะ (กรณีที่ 1) หรือแพ้ (กรณีที่ 2 หรือ 3) หากปราศจากพรรคการเมืองใหม่ ก็เท่ากับไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้
อันเนื่องมาจากไม่มีตัวแทนเป็นกลไกใช้อำนาจรัฐดังกล่าวไปอยู่ในสภาที่จะทำหน้าที่บริหาร หรือ ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือเรียกร้องต่อรัฐบาลในระยะยาว
       


       กลุ่มมวลชนเช่นพันธมิตรฯ จึงมีสถานะในกรณีนี้ที่ด้อยกว่าพรรคการเมือง จะอาศัยการชุมนุมปักหลักค้างคืนยาวนานเป็นกลไกสนับสนุนข้อเรียกร้องของตนได้สักเพียงใด แม้จะทำได้แต่ก็มีแนวโน้มที่จะถูก “อุ้ม” ขึ้นรถเมล์ส่งกลับเหมือนเช่นที่สมัชชาคนจนโดนนายสมัครทำในยุคต้นระบอบทักษิณ หรือไม่ก็จะถูกบีบให้ต้อง “พลีชีพ” ใช้กำลังกับรัฐบาลในที่สุด
       


       เพราะความชอบธรรมที่ต้องขึ้นอยู่กับคะแนน Vote “No” ที่พรรค “พันธมิตรฯ” ต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ 16.4 ล้านเสียงจึงจะ “ชนะ” ได้เท่านั้น ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถานะพันธมิตรฯ ที่มีพรรคการเมืองใหม่จะแตกต่างจากโดยสิ้นเชิง ด้วยคะแนนเพียง 262,000 คะแนนก็ได้ ส.ส.บัญชีหรือมากกว่า 4.4 หมื่นต่อเขตของ ส.ส.ก็ได้ ส.ส.และมีความชอบธรรมที่จะไปทำงานได้แล้ว
       


       พลเมืองเข้มแข็งทั้งหลายท่านคิดว่าบรรดานักการเมืองเก่าจะกลัวอะไรมากกว่ากันระหว่างพันธมิตรฯ เลือก Vote “No” หรือ Vote “Yes” กับพรรคการเมืองใหม่
       


       5. พันธมิตรฯ ควรจะก้าวข้ามมายาคติโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงโดยรอบด้าน
       


       การเลือกตั้งคราวที่จะถึงนี้มิใช่เลือกผู้สมัครจากพรรคเดียว หากแต่มีหลายพรรค Vote “No” จึงไม่ได้แก้การเมืองล้มเหลวจากการ “ผูกขาด” แต่อย่างใด เพราะไม่มีคนดีเข้าไปแก้ไขกลไกที่ชำรุด แม้จะชนะ ข้ออ้างของการมีโอกาสไปใช้อำนาจรัฐของพรรค “พันธมิตรฯ” เช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.ภาคประชาชนเพื่อแก้ไขการผูกขาดทางการเมืองก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่กล่าวอ้างเพราะกฎหมายไม่ได้ออกแบบเอาไว้ให้ใช้อำนาจจากนอกสภา หากจะอ้างว่าเมื่อมีอำนาจแล้วก็แก้กฎหมายจะยากอะไร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสถานะเมื่อมีพรรคการเมืองใหม่เป็นกลไกอะไรจะง่ายและสะดวกมากกว่ากัน
       


       การจะหวังให้มี “ใคร” มาเปลี่ยนน้ำให้ “ดี” ทั้งหมดอ่างเสียก่อนที่จะปล่อย คน/ปลา “ดี” เข้าสู่การเมืองจึงเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยาก พฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่ดีมิใช่มาจาก “ตัวคน” แต่เพียงลำพัง มิเช่นนั้นแกนนำพันธมิตรฯ ที่ไปเป็น ส.ส.ก็ต้องไม่ดีไปด้วยใช่หรือไม่ “ระบบ” การเมืองที่ “ผูกขาด” ที่มิได้เอื้ออำนวยให้คนดีเป็นน้ำ “ดี” เข้าสู่สภาต่างหากที่ทำให้น้ำ “เสีย”
       


       การรณรงค์ให้ประชาชนถอยออกมาไม่เลือกใครเลยจึงมิได้ทำให้นักการเมืองสะดุ้งสะเทือนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเป็นการเปิดโอกาสพิเศษให้นักการเมืองน้ำเน่าเข้ามาสู่อำนาจรัฐได้มากขึ้นโดยปราศจากการขัดขวางจากประชาชน 
       


       ร้านค้าจะเจริญ เจ้าของต้องลงไปดูแลเอง การเมืองจะก้าวหน้าท่านต้องลงไปทำเอง ในระบบการเมืองแบบตัวแทน สถานะของพันธมิตรฯ ที่ส่งพรรคการเมืองใหม่ไปทำงานในสภาแทนจึงดีกว่าส่งพรรค “พันธมิตรฯ” ลงไปทำเองแน่นอน



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้