ขายผ้าเอาหน้ารอด (18/5/2554)

ขายผ้าเอาหน้ารอด (18/5/2554)



ขายผ้าเอาหน้ารอด

(18/5/2554)




     หากจะประเมินผลงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ผ่านมา คำอุปมาอุปไมยที่สามารถเทียบเคียงได้ตรงจุดที่สุดก็คือ ขายผ้าเอาหน้ารอด
       


       ทำทุกอย่าง แม้จะยอมพายเรือให้โจรนั่ง เพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้
       


       อภิสิทธิ์ในสมัยเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านก็ได้กลายเป็นความหวังของหลายคนเพราะเพรียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ แม้จะมีข้อกังขาอยู่ลึกๆ ในเรื่องของคุณสมบัติบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประสบการณ์และความสำเร็จในหน้าที่การงานที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ได้ก็ตาม
       


       ระหว่างผลงานที่ได้ทำไปแล้วในอดีตกับการแสดงวิสัยทัศน์ว่าตนเองจะทำอะไรบ้างในอนาคต พลเมืองเข้มแข็งคิดว่าอดีตหรืออนาคตจะเป็นตัวชี้เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของความสำเร็จ แน่นอนว่าอดีตมีส่วนสำคัญเพราะผ่านมาแล้วแก้ไขไม่ได้ขณะที่อนาคตนั้นอาจไม่แน่นอนเพราะลิ้นคนไม่มีกระดูก
       


       กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อภิสิทธิ์ไม่เคยทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อนรับตำแหน่งที่สามารถจะประเมินความสำเร็จได้นั่นเอง
       


       แต่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็แอบให้กำลังใจในสถานการณ์ที่ประเทศบอบช้ำจากการก่อความวุ่นวายของกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย (บางคน) ที่อยู่ภายใต้การบงการของทักษิณ
       


       ประชาชนต้องการ Change โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างของประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
       


       ดังนั้น การเข้ารับตำแหน่งนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วยวิธีพิเศษจึงถูกมองข้ามไปเช่นเดียวกับการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของทักษิณที่มีมลทินในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการซุกหุ้นที่ถูกสังคมมองข้ามไปเช่นเดียวกัน
       


       สภาพของประเทศไทยในยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคของโลกาภิวัตน์ และการเมืองกำลังทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพของของ “การตกรถ” ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าเท่าเทียมกับเพื่อนบ้านที่เคยเป็นคู่แข่งและที่ไม่เคยเป็นคู่แข่งมาก่อน เพราะการเมืองซึ่งเปรียบได้กับ “สมอง” ของร่างกยหรือประเทศ ซึ่งเป็นกลไกเอาไว้ตัดสินใจที่ไม่สามารถทำงานแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตนได้อย่างถูกต้อง
       


       อภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขามิได้ตระหนักว่าตนเองมาด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ควรจะทำในเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงหรือวางรากฐานโครงสร้างประเทศไทยเพื่อมิให้เกิดข้อครหาได้ และก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถสร้าง Change ในการพัฒนาประเทศไทยได้ เนื่องจากคิดแต่จะฉวยโอกาสที่จะอยู่ในตำแน่งนายกฯ โดยไม่สนใจว่าประเทศจะเสียโอกาสมากเพียงใด
       


       อภิสิทธิ์เคยได้สาธยาย ณ ที่ใดหรือไม่ว่า ประเทศไทยจากอดีตที่ผ่านมาอาศัยปัจจัยใดในการพัฒนาประเทศ? คำตอบก็คือ ไม่พูดและ/หรือไม่รู้
       


       โจทย์ของประเทศไทยในยุคปัจจุบันก็คือ การพัฒนาประเทศที่เคยอาศัย “จำนวน” ไม่ว่าจะเป็น จำนวนแรงงาน จำนวนพื้นที่ป่าไม้เพื่อแลกกับพื้นที่เพาะปลูก จำนวนสินแร่ และจำนวนอื่นๆ อีกมากมายเพื่อแลกกับการเจริญเติบโตซึ่งไม่สามารถจะทำได้อีกต่อไปเพราะประเทศไทยกำลังเผชิญกับขีดจำกัดในเกือบทุกด้าน
       


       “จำนวน” ที่เคยมีอยู่อย่างเหลือเฟือในอดีตได้กลายเป็นขาดแคลนในปัจจุบัน อัตราการเจริญเติบโตเมื่อวัดด้วย GDP จึงเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ดังที่เห็นและรัฐบาลที่มักง่ายจึงพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายลงทุนจากภาครัฐเป็นสูตรสำเร็จเพื่อสร้างภาพของการเจริญเติบโตที่ได้มาด้วยการใส่เงินเพิ่มเข้าไปแต่ไม่ยั่งยืน การลงทุนจากภาคเอกชนต่างหากจึงจะเป็นของแท้และยั่งยืน
       


       ปัญหาก็คือจะขายผ้าเอาหน้ารอดทำอย่างนี้ไปได้อีกนานเท่าใด ประเทศไทยกำลังมาถึงจุดที่ไม่สามารถเพิ่มปัจจัยเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อีกต่อไปแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยก็ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สามารถใช้ปัจจัยการผลิตเท่าเดิมแต่ได้ผลผลิตมากขึ้นหรือให้ได้ผลผลิตเท่าเดิมแต่ใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลงได้ โครงสร้างการผลิตยังพึ่งพิงวิทยาการแบบเดิมอยู่
       


       ดูตัวอย่างของเรื่องน้ำมันก็ได้ว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศเพิ่มจากอดีตมากขึ้นเพียงใด ต้องนำเอาสินค้าส่งออกเพิ่มทั้งชนิดและจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไปขายเพื่อแลกกับน้ำมันเพียงรายการเดียว ต้องปิดฟ้าด้วยฝ่ามือตรึงราคาน้ำมันด้วยข้ออ้างของการป้องกันมิให้สินค้าขึ้นราคาอีกนานเท่าใด
       


       อาจกล่าวได้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของประเทศโดยเฉลี่ยในระยะหลังๆ มีน้อยกว่าอัตราการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น หากเป็นรถยนต์ก็แสดงว่ากินน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่วิ่งได้ระยะทางลดน้อยลงใช่หรือไม่ อภิสิทธิ์จะทำอย่างไรกับรถคันนี้ในเมื่อราคาน้ำมันมีแต่จะเพิ่มราคาขึ้นไปเรื่อยๆ มิพักต้องพูดถึงเรื่องยากๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน หรือสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมไม่เอื้ออำนวยกับการดำรงชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ
       


       การเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศในการผลิตดูจะเป็นเป้าหมายที่สวยหรูแต่ขาดซึ่งนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้เกิดขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องของ Change ในโครงสร้างที่มิใช่แต่เพียงต้องมีวิสัยทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีการตัดสินใจวางรากฐานเนื่องจากเป็นเรื่องระยะยาวที่นักการเมืองมักรอไม่ได้
       


       การปฏิรูปศึกษาด้วยจำนวนหรือปริมาณแต่เพียงลำพัง เช่น เรียนฟรี 12 ปีหรือ 15 ปี 1 อำเภอ 1 ทุน แจกคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนทุกคน ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่านักการเมืองต้องการอะไรที่จับต้องได้เพื่อไปหาเสียงโอ้อวดแสดงความสำเร็จ แต่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มผลิตภาพของคนนั้นเป็นเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ
       


       ประเทศไทยต้องการจำนวนคนจบปริญญามากกว่าคนที่สามารถทำงานได้โดยไม่จบปริญญา เช่น ปวช.หรือ ปวส.จนต้องไปซื้อปริญญาอย่างนั้นหรือ เพราะความรู้กับปริญญาบัตรในยุคปัจจุบันที่มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 200 แห่งดูจะไม่ได้ไปด้วยกัน หรือการเหยียดหยามเรื่องความล้าหลังหากไม่ได้ใช้ 3จี ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของผู้ใช้ในปัจจุบันน่าจะมีไว้เพื่อเล่น (บีบี) มากกว่าทำงานจนนิ้วหัวแม่โป้งทำงานหนักจนอักเสบ สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของคุณภาพและค่านิยมของสังคมที่ต้องการ Change
       


       ความสามารถของคนจากการศึกษาจึงเป็นที่มาที่ยั่งยืนของการเพิ่มขึ้นในรายได้ แต่อภิสิทธิ์เลือกที่จะไปเพิ่มรายได้โดยมิได้คำนึงถึงขีดความสามารถของแรงงานว่ามีเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด จะมีพ่อค้านักลงทุนคนใดบ้างยอมจ่ายค่าจ้างเพิ่มโดยที่แรงงานยังผลิตสินค้าได้เท่าเดิม
       


       รัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกที่จะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดด้วยการควบคุมราคาสินค้าเกือบทุกประเภทแทนที่จะปรับโครงสร้างตลาดเพิ่มการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะการแทรกแซงทำได้ง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการปรับโครงสร้างใช่หรือไม่
       


       การควบคุมราคาหรือให้แจ้งต้นทุนก่อนปรับราคาสินค้าตามกฎหมายการค้ากำไรเกินควรเป็นตัวอย่างที่ดีของการแทรกแซงกลไกตลาดที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ดำเนินการมาโดยตลอด ในขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันหรือป้องกันการผูกขาดมิได้ถูกนำมาบังคับใช้เท่าที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด
       


       การอ้างการค้าที่ทำให้เกิด “กำไรเกินควร” เป็นข้ออ้างในการเข้าไปแทรกแซงดูเหมือนดีสมเหตุสมผล แต่การจะบอกว่ากำไรเท่าใดเป็น “กำไรเกินควร” นั้นบอกได้ยาก เพราะกำไรนั้นคู่กับความเสี่ยงซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่ากับกำไร การป้องกันมิให้มีกำไรเกิดกับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายใดที่อยู่ในตลาดมากไปก็ด้วยการเพิ่มผู้ผลิตให้มีมากขึ้น หาใช่ไปบอกว่าผู้ผลิตใดมี “กำไรเกินควร” จนรัฐต้องเข้าไปแทรกแซง
       


       โดยปกติทั่วไปหากรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงด้วยการให้สัมปทานหรือออกระเบียบในการกีดกันการเข้าตลาดก็จะมีผู้ผลิตผู้ขายหน้าใหม่อยากเข้ามาในตลาดที่มีกำไรสูงอยู่แล้ว ผู้ผลิตจะเข้าหรือออกจากตลาดก็ด้วยกำไรที่มีอยู่ว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงในการลงทุนหรือไม่ ไม่มีใครรู้ดีเท่าแม้แต่รัฐบาลก็ตาม นี่คือมือที่มองไม่เห็นที่ ทำงานอยู่ตลอดเวลา ซื่อสัตย์ ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ไม่ลำเลิกบุญคุณ
       


       ผลเสียของการแทรกแซงมิให้กลไกตลาดทำงานได้พิสูจน์มาแล้วโดยปราศจากข้อสงสัยมาตลอดไม่ว่ายุคนี้หรือก่อนหน้านี้ ว่าก่อให้เกิดผลประโยชน์สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น
       


       การแทรแซงตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นชัดว่ามีแต่ผู้ใช้น้ำมันดีเซลเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์ในระยะสั้นบนต้นทุนของผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ในขณะที่ในระยะยาวส่วนรวมเสียหายเนื่องจากทั้งพรรคการเมือง เช่น ประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างไม่จำกัดบทบาททางเศรษฐกิจของภาครัฐ เมื่อเป็นดังนั้นจะมีพ่อค้านักลงทุนหน้าไหนอยากจะมาประกอบการในตลาดที่มีการควบคุมราคาขายโดยรัฐ ในขณะที่จะมีผู้บริโภค เช่น ผู้ใช้น้ำมันดีเซลคนใดบ้างมีจิตสำนึกช่วยรัฐในการประหยัด
       


       การแถลงผลงานและเสนอนโยบายที่ได้ทำมาในวาระของการประกาศยุบสภาที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการเสนอ “ลูกกวาดหลากสี” ที่เอาไว้ล่อใจ แต่มิได้แก้ไขปัญหาอะไรให้กับส่วนรวมแม้แต่น้อย
       


       อภิสิทธิ์และนักการเมืองทั้งหลายประเทศไทยโปรดฟัง คนไทยต้องการ Change ครับ






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้