คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (12) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (13 มีนาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (12) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (13 มีนาคม 2556)


นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (12)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

13 มีนาคม 2556



 
ชาเวซ ประชานิยมตัวพ่อตายไปแล้ว
คนชั้นกลางล่างจะเรียนรู้อะไรบ้าง



จบสิ้นไปแล้วสำหรับประชานิยมตัวพ่อ ฮูโก ชาเวซ ผู้ที่ในมุมมองแบบฝ่ายซ้ายเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ชาติเขามี แต่ในอีกด้านหนึ่งโดยเฉพาะทุนนิยมแบบเสรี ชาเวซอาจเป็นเผด็จการผู้ทำลายกลไกตลาดและความรุ่งเรืองของเวเนซูเอลา



หากจะให้ปลอดจากอคติจุดยืนส่วนตน การตัดสินก็คงจะต้องดูที่ผลงานจากมรดกทางเศรษฐกิจที่เขาได้ทิ้งเอาไว้จะเป็นเครื่องชี้และเตือนสติให้อีกหลายคนรวมถึงคนชั้นกลางล่างได้รับรู้ถึงผลลัพธ์ในบั้นปลายของประชานิยมว่าจะเป็น “นรก” สำหรับพวกเขาในอนาคตหรือไม่



ชาเวซครองอำนาจระหว่างปี ค.ศ. 1999-2013 ด้วย Bolivarian Revolution อันเป็นโยบายปฏิรูปแบบฝ่ายซ้าย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การรักษาฟรี การปฏิรูปที่ดิน การแทรกแซงอุดหนุนราคาสินค้า รวมถึงการยึดหรือแปรรูปกิจการเอกชนให้เป็นของรัฐการเลือกตั้งโดยเฉพาะกิจการเกี่ยวกับน้ำมัน



เศรษฐกิจเวเนซุเอลาก่อนยุคชาเวซแม้จะมีน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด แต่ในยุคชาเวซครองเมืองน้ำมันได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดที่มีมูลค่าเกือบร้อยละ 100 ของทั้งหมด ในขณะที่การผลิตสินค้าอื่นๆ ที่แม้ไม่ได้ส่งออกแต่ก็ถูกแทรกแซงหรือควบคุมราคาโดยรัฐบาล ดังนั้นชาเวซจึงนำเศรษฐกิจเวเนซุเอลาไปพึ่งพิงราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าจากภายนอกประเทศอย่างไม่จำเป็น



เมื่อราคาน้ำมันผันผวนลดลงจากประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี ค.ศ. 2008 มาเหลือเพียงครึ่งเดียวในปีถัดมา จึงส่งผลต่อรายรับของประเทศและรัฐบาล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจประเทศเนื่องจากผูกติดรายได้ประเทศกับสินค้าเพียงชนิดเดียว ในขณะที่การนำเงินที่ได้จากการขายน้ำมันไปลงทุนในโครงการประชานิยมต่างๆ ที่ขาดประสิทธิภาพในการใช้เงินซึ่งไม่ได้ก่อให้ผลผลิตต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด



แนวทางการดำเนินการทางเศรษฐกิจด้วยการแทรกแซงตลาดและยึด/แปรรูปกิจการเอกชนที่แข็งขืนหรือไม่ต้องตามความต้องการของตนไปเป็นของรัฐ ดูแล้วอาจทำให้คนชั้นรากหญ้าพอใจและสะใจในระยะสั้นที่กิจการเอกชนที่ผูกขาดเอาเปรียบพวกตนถูกเล่นงาน แต่การดำเนินงานแทนโดยรัฐก็ไม่ได้ทำให้การผูกขาดนั้นหายไปหรือมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใดไม่ คนชั้นกลางล่างก็ยังถูกเอาเปรียบอยู่ดีเพียงแต่เปลี่ยนผู้เอาเปรียบและวิธีการก็เท่านั้นเอง



การที่รัฐบาลควบคุมราคาหรือเข้าไปดำเนินการแทนเอกชนนั้นจะส่งผลให้การลงทุนโดยเอกชนเพื่อผลิตสินค้าทั้งหลายภายในประเทศรวมถึงการจ้างงานไม่เกิดขึ้น เงินเฟ้อจึงเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากมีแต่เงิน (money) ที่เพิ่มจากที่รัฐบาลจ่ายผ่านโครงการประชานิยมแต่รายได้ (income) หรือสินค้าไม่เพิ่มตาม



เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นปีละกว่าร้อยละ 20 ที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายปีมากกว่าประเทศละตินอเมริกาโดยทั่วไปเพราะมีแต่เงินเพิ่มแต่ไม่มีสินค้าเพิ่ม อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ได้เดินหน้าไปถึงไหนเลยแถมยังต่ำกว่าหลายประเทศในละตินอเมริกาที่ไม่มีทรัพยากรเช่นน้ำมันดังแสดงในรูปที่ 1 ที่รายได้ต่อหัวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหนเลยในช่วงชาเวซครองอำนาจจากปี ค.ศ. 1999 ขณะที่ชิลีที่มีเศรษฐกิจเปิดและใช้กลไกตลาดกลับทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังแสดงโดยรูปที่ 2 ที่การเจริญเติบโตมีต่ำแม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตามแสดงถึงการไร้ประสิทธิภาพจากการใช้ทรัพยากรอย่างชัดเจน



การยึด/แปรรูปกิจการมาเป็นของรัฐทำให้เอกชนพากันหลบไม่ลงทุนปล่อยให้รัฐบาลเข้ามารับภาระแต่เพียงลำพัง แม้จะมีผลงานอ้างได้ว่าทำให้ความไม่เท่าเทียมกันลดลงระหว่างคนในประเทศแต่ก็อย่าลืมว่าความเท่าเทียมนี้เกิดขึ้นภายใต้ขนาดของเศรษฐกิจที่เท่าเดิมไม่ได้โตเพิ่มแต่อย่างใดกว่า 10 ปีที่อยู่ในอำนาจชาเวซทำอะไรให้ดีขึ้นบ้าง



ชาเวซจึงสอบตกในด้านเศรษฐกิจเพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร และไม่แก้ปัญหาในทิศทางที่ถูกต้องหวังผลแต่การเมือง ประชานิยมโดยพื้นฐานจะแบ่งสังคมเป็น 2 ขั้วให้ขัดแย้งกัน เช่น ไพร่-อำมาตย์ หรือ กรรมกร-นายทุน แล้วอุปโลกน์ตั้งตัวเป็นผู้นำในการต่อสู้ให้กับอีกขั้วหนึ่งเพื่อเข้าสู่อำนาจ อุดมการณ์จึงมักเป็นเรื่องหลอกคนอื่นๆ สำหรับผู้นำประชานิยม การตั้งตนเป็นเผด็จการตัดสินใจโดยใช้มาตรฐานตนเองก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาเศรษฐกิจหมดไปแต่อย่างใด



การมีทรัพยากรอย่างน้ำมันดูจะไม่ใช่ “แต้มต่อ” แต่น่าจะเป็น “คำสาป” เสียมากกว่าสำหรับเศรษฐกิจเวเนซุเอลาและเศรษฐกิจใดที่หวังพึ่งพาทรัพยากรที่เป็น “แต้มต่อ” เช่นนี้



ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันจะมีผลอย่างมากต่อการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของตนเอง เอกชนจะไม่มีความกระตือรือร้นและความอุตสาหะที่จะผลิตสินค้าอื่นๆ รัฐบาลก็ขาดซึ่งการประหยัดและความคุ้มค่าในการลงทุนเพราะได้รายได้มาอย่างง่ายๆ นี่ต่างหากที่น่าจะเป็น “คำสาป” รูปที่ 2 จะเป็นตัวอย่างอธิบายได้ดี



ความมั่งคั่งของชาติ (The Wealth of Nation) นั้นมิได้มาจากการครอบครองโลหะที่มีค่าหรือน้ำมันในกรณีปัจจุบันอย่างแน่นอน ข้อเท็จจริงพิสูจน์แล้วว่า แนวทางของพวกพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ในยุคล่าอาณานิคม หรือเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในยุคปัจจุบัน มีประเทศใดบ้างที่สามารถยกตนเองให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้บ้าง ประเทศเจ้าอาณานิคม เช่น อังกฤษ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักในการสร้างชาติหาใช่ทองคำหรือน้ำมัน



ในทางกลับกันประเทศสี่เสือเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่ก่อให้เกิด “มหัศจรรย์แห่งเอเชีย” จนแม้แต่ประเทศไทยก็พยายามลอกเลียนแบบ มีประเทศใดบ้างที่มีและใช้ “แต้มต่อ” ที่ว่านี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบ้าง



หากประเทศไทยพบน้ำมันจำนวนมากในอ่าวไทยหรือที่ใดในประเทศก็ได้ คนไทยจะสมควรได้ใช้น้ำมันราคาถูกกว่าราคาที่จะสามารถส่งออกไปขายหรือไม่ ระหว่างนักการเมืองที่หาเสียงว่าจะให้ใช้ราคาถูกกับผู้ที่ให้ใช้ในราคาตลาดโลก คนไทยควรเลือกใครมาบริหารจัดการทรัพยากรเช่นนี้ คำตอบจึงอยู่ที่คนไทยว่าได้ล่วงรู้ถึงบทเรียนที่ชาเวซทำกับประเทศของเขาหรือไม่? เป็นสำคัญ



บางทีอาจเป็นการดีที่จะได้เห็นประชาชนเลือกคนของชาเวซมาทำงานต่อเพราะจะได้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้างอันเป็นผลกรรมที่ชาเวซได้ทำเอาไว้ บทเรียนบางบทก็ต้องซื้อหามาด้วยราคาที่แพงแสนแพงจึงจะเข้าใจ ว่าแต่คนชั้นกลางล่างของไทยจะเข้าใจบ้างไหม หรือจะซื้อบทเรียนราคาแพงเช่นเขา?





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้