คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (2) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (11 กันยายน 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (2) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (11 กันยายน 2556)




นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (2)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

11 กันยายน 2556





เงินเฟ้อเป็นเรื่องของความรู้สึกอย่างแน่นอน


       
       การแถลงข่าวของปลัดกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นราคาสินค้าของเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่าดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ เงินเฟ้อ ว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเพียงร้อยละ 1.59


       
       ดูช่างน่าภูมิใจที่กระทรวงพาณิชย์สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ นับเป็นข่าวดีเพียงชิ้นเดียวท่ามกลางข่าวร้ายที่รายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันที่ไม่เพิ่มเลยก็ว่าได้ หรือราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงแทบทุกตัว
       


       ประเด็นจากการแถลงข่าวข้างต้นก็คือ มันสวนทางกับการรับรู้ของประชาชนว่าราคาสินค้าอันเป็นที่มาของค่าครองชีพเพิ่มขึ้น


       
       ปลัดฯ ได้อธิบายว่า เป็นเพราะประชาชนคิดหรือรู้สึกไปเองว่าของแพง ไม่ใช่ภาวะที่ผิดปกติเพราะในความเป็นจริง รัฐบาล (โดยกระทรวงพาณิชย์-ผู้เขียน) ได้ควบคุมราคาสินค้าอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
       


       หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบแล้ว ที่ผิดปกติก็คือ ปลัดฯ และรัฐบาล


       
       เอาที่จุดเริ่มต้นก่อนเลยก็ได้ว่า เงินเฟ้อเป็นเรื่องของสินค้าโดยรวมมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดได้ทั้งจากด้านอุปสงค์รวมเพิ่มขึ้น เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และ/หรือจากอุปทานรวมลดลง เช่น ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าแพงขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วเงินเฟ้อส่วนใหญ่มักมีที่มาจากอุปสงค์รวมเพิ่มโดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน
       


       เงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องของสินค้าโดยรวมทุกตัว มิใช่บางตัว และเป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจมีปริมาณเงินมากกว่าจำนวนสินค้าที่มีอยู่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจเพิ่ม/ลดปริมาณเงินนั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมเงินเฟ้อ
       


       ดังนั้นหากเงินเฟ้อที่แสดงโดยดัชนีราคาข้างต้นที่เพิ่มขึ้นน้อยลงก็หาใช่ผลงานของปลัดฯ และกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใดไม่


       
       การควบคุมราคาสินค้า (บางตัว) จึงไม่ใช่การควบคุมเงินเฟ้อแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามนโยบายรัฐบาล เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการก่อนการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน หรือการรับจำนำข้าว ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อดังแสดงในภาพที่ 1 และ 2




 



 
       สิ่งที่ปลัดฯ และนักวิชาการแดงเข้าใจผิดหรืออาจจะไม่มีความรู้จริงๆ ก็คือ เงินเฟ้อเป็นเรื่องของความรู้สึกหาใช่เรื่องของข้อเท็จจริงแต่เพียงลำพังไม่


       
       เหตุก็คือ เงินเฟ้อในปัจจุบัน (ก.ย.) ไม่มี มีแต่ข้อเท็จจริงจากข้อมูลในอดีต (ส.ค.) ด้วยเหตุนี้โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มีทางที่จะรับรู้ได้เลยว่าเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นเท่าใด ต้องอาศัยแต่เพียงความรู้สึกรับรู้แล้วคาดการณ์ออกมา
       


       ดังนั้นจึงต้องมีการคาดการณ์เงินเฟ้อเพื่อนำมาประกอบในการตัดสินใจทำนโยบาย เช่น การขึ้น/ลดดอกเบี้ยนโยบาย วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การใช้ข้อมูลในอดีตมาทำนาย หรือหากเป็นปัจเจกบุคคลก็มักจะอาศัยการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเท่าที่มีอยู่เพื่อนำมาคาดการณ์เงินเฟ้อเพื่อการตัดสินใจของตนเอง


       
       การขึ้นราคาครั้งเดียวในปริมาณมากโดยไม่ทราบล่วงหน้า เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือจำนำข้าว หรือในอีกทางหนึ่ง การขึ้นราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็น ค่าทางด่วน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า แม้จะทราบล่วงหน้า แต่ในขณะที่รายได้ของตนเองคงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้บ่อยและรวดเร็วเท่าก็ทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้โดยความรู้สึกว่าของจะแพงขึ้นในอนาคต ย่อมก่อให้เกิดผลต่อความไม่มั่นใจของประชาชนในการรักษาระดับราคาสินค้าของรัฐบาล และทำให้คนมีการคาดการณ์หรือเชื่อว่าสินค้าจะมีราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ


       
       การคาดการณ์เงินเฟ้อนี้จึงมีน้ำหนักและบทบาทมากเสียยิ่งกว่าข้อเท็จจริงที่จะตามมาเสียอีก คนขายก๊าซก็จะขึ้นค่าก๊าซเพราะได้ข่าวว่าค่าแรงงานเพิ่ม คนขายข้าวแกงก็จะรับรู้และเพิ่มราคาข้าวแกง กลายเป็นการขึ้นราคาเป็นทอดๆ ไปในลักษณะของ งูกินหางวนเวียนขึ้นไปเรื่อยๆ ใน ค่าจ้าง-ราคา
       


       เหตุก็เพราะรัฐบาลมิได้มีมาตรการใดที่จะทำให้ผู้ผลิต/ประชาชนมั่นใจได้ว่า ค่าจ้าง-ราคา จะไม่วนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้แต่อย่างใด


       
       ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ รัฐบาล (โดยกระทรวงพาณิชย์-ผู้เขียน) ได้ควบคุมราคาสินค้าอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่เป็นการแสดงภูมิปัญญาออกมาอย่างชัดแจ้ง
       


       วิถีทางที่ยั่งยืนในการควบคุมราคาสินค้าซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์นั้นหาได้กระทำโดยการควบคุมราคาตามการกล่าวอ้างข้างต้นแต่อย่างใดไม่


       
       ร้านโชวห่วยหรือโชว์สวยแต่ที่จริงมันโชว์ “โง่” เป็นการแทรกแซงราคาเพื่อควบคุมราคาที่ปลายน้ำ หรือที่อ้างว่าเป็นการควบคุมราคาที่ต้นน้ำด้วยการขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคา แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการแทรกแซงที่ปลายเหตุ


       
       แต่ต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นได้ก็เนื่องมาจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาดทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคา/ปริมาณสินค้าที่จะนำออกขายได้ หากตลาดใดมีผู้ผลิตจำนวนมากก็หมายถึงว่าจะมีการแข่งขันในราคาและคุณภาพ การขึ้นราคาจึงทำได้ยาก ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องไปควบคุมราคาที่ปลายน้ำซึ่งไม่ได้ผลแต่อย่างใด ปลัดฯ และรัฐบาลได้เอาใจใส่ในหน้าที่โดยตรงของตนเองกำกับดูแลโครงสร้างผู้ผลิต/ตลาดให้มีการแข่งขันหรือไม่?
       


       ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่มากมาย จำนำข้าวเป็นตัวอย่างที่ดี นอกจากจะอาศัยการผูกขาดแล้วยังขัดต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การที่หัวหน้าแก๊งไอติมออกมา “แถ” ตอบโต้อดีตตุลาการศาลฯ ว่าการจำนำข้าวไม่ขัดนั้น
       


       หัวหน้าแก๊งไอติมและปลัดฯ น่าจะมีความรู้ว่า การที่รัฐบาลเข้ามาตั้งราคารับซื้อข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดกว่าครึ่งหนึ่งจะทำให้รัฐบาลเป็นผู้ซื้อข้าวแต่เพียงรายเดียวในตลาดไปโดยปริยาย แม้จะไม่มีการบังคับแต่เกษตรกรจะไม่นำเอาข้าวไปขายให้กับผู้อื่นที่รับซื้อต่ำกว่าอย่างแน่นอน รัฐบาลมีหน้าที่กำกับดูแล มิใช่เข้ามาดำเนินการเป็นพ่อค้าเสียเอง
       


       การจะมาอ้างความชอบธรรมว่าเป็นนโยบายทางการเมืองของพรรคที่จะทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาที่สูงคุ้มต้นทุนการผลิตนั้นไม่สอดคล้องกับความจริง หากสินค้าใดมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาตลาดก็มีทางเลือกอยู่สองทางคือ (1) ต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อที่จะลดราคาขาย หรือมิเช่นนั้น (2) ก็ต้องออกจากตลาดไป นี่คือความจริงที่เป็นอยู่
       


       มีแต่ปลัดฯ และรัฐบาลเท่านั้นที่ไม่ยอมรับจะมาโอบอุ้มด้วยเงินของคนอื่นจะเป็นไปได้อย่างไร? แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วต้นทุนการผลิตข้าวก็ไม่สูงกว่าราคาตลาดมิใช่หรือ? โครงสร้างตลาดข้าวที่ไม่แข่งขันต่างหากที่ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ต้องขายข้าวในราคาต่ำ แล้วเป็นหน้าที่ใครที่ดูแลโครงสร้างตลาด ถามปลัดฯ ได้ไหม?
       


       ความ “โง่” ไม่มีเพศสภาพ เมืองไทยจึงมี ไอ้และอี “โง่” นั่งหลังพวงมาลัยขับรถสร้างปัญหาบนท้องถนนหรือเที่ยวเร่ “ขายชาติ” มากพอแล้วไม่ต้องไปประกวดหาที่ใด
       


       ในทำนองเดียวกัน หากทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบแต่ไร้ซึ่งความรู้ความคิดเช่นนี้ “นรก” ของชนชั้นกลางล่างจึงมาเยือนแล้วอย่างแน่นอน




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้