ระบอบทักษิณกับการพ่ายแพ้
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
5 มีนาคม 2557
ยิ่งลักษณ์อ้าง ต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ด้วยชีวิต
วาระสุดท้ายของยิ่งลักษณ์จะเป็นอย่างไร? ประชาชนอยากเห็น
การมองไปในประสบการณ์ของการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของญี่ปุ่นใน สงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าทำไมญี่ปุ่นจึงยอมและอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด เพื่อให้ข้อคิดบางอย่างกับบางคนเกี่ยวกับการยอมแพ้ของระบอบทักษิณในปัจจุบัน
ญี่ปุ่นภายหลังจากแพ้ศึกที่มิดเวย์ก็เริ่มประสบกับความพ่ายแพ้มาโดย ตลอด มิอาจพลิกฟื้นแต่อย่างใด ฟิลิปปินส์ อิโวจิมะ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็คือ โอกินาวา แต่ละพื้นที่แต่ละเกาะล้วนเป็นศึกที่นองเลือด
ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงครามก็คือสร้างความสูญเสียกับกอง กำลังสหรัฐฯ โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของฝ่ายตนเองเพื่อให้สหรัฐฯตระหนักว่าหากจะบุก เข้ามาในแผ่นดินใหญ่จะพบกับความสูญเสียเป็นเท่าทวีคูณ เป็นการสร้างเงื่อนไขในการเจรจาต่อรองสงบศึก
ทหารกว่า 7 หมื่นคนและพลเรือนอีกกว่า 3 หมื่นคนในเกาะโอกินาวาเพื่อแลกกับทหารสหรัฐฯ ประมาณ 2 หมื่นคน เครื่องบินอีกหลายร้อยลำจากแผ่นดินใหญ่ที่บินมาเที่ยวเดียวไม่หวนกลับเพื่อ ทำความสูญเสียให้เกิดกับกองเรือสหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่อ ลมของพระเจ้า หรือ คะมิคะเซะ จึงล้วนเป็นต้นทุนเลือดเนื้อและชีวิตที่ญี่ปุ่นได้ลงทุนจ่ายเพื่อส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ ได้รับรู้
หลายคนอาจยกเอาการทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกมาเป็นปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมรับเงื่อนไขยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการเจรจาต่อรอง แต่ระเบิดเพียง 2 ลูกที่ทิ้งห่างกัน 3 วัน ในวันที่ 6 และ 9 ส.ค. 1945 อาจไม่ใช่ปัจจัยยอมแพ้ที่แท้จริงของญี่ปุ่น
ยุทธศาสตร์ตั้งรับบนผืนแผ่นดินตนเองโดยอาศัยกองกำลังภาคพื้นดินแต่ เพียงลำพังนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การเป็นกลางไม่เข้ามาร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรของรัสเซียอันเนื่องมาจากมีสนธิ สัญญาไม่รุกรานระหว่างกันกับญี่ปุ่น
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ที่การประชุมของสัมพันธมิตรที่ยัลตาในเดือน ก.พ. 1945 รัสเซียให้สัญญาว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้าที่เตหะรานเมื่อ 2 ปีก่อนว่าจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นภายหลังจากที่เยอรมนียอมแพ้ การประชุมครั้งต่อมาที่พอสต์ดามเมื่อ ก.ค.-ส.ค. 1945 ภายหลังเยอรมนียอมแพ้จึงเป็นการประชุมเพื่อกำหนดเงื่อนไขการยอมแพ้ให้ ญี่ปุ่นเมื่อ 26 ก.ค. 1945 ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจทิ้งระเบิดลูกแรกเกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเพิกเฉย
ผลของระเบิดลูกแรกเมื่อ 6 ส.ค. 1945 สร้างความตื่นตระหนกในอานุภาพทำลายล้างของมัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมรับการยอมแพ้แบบไม่มีเงื่อนไข
การประกาศสงครามกับญี่ปุ่นของรัสเซียในวันที่ 8 ส.ค. 1945 และส่งทหารเข้าตีกองกำลังญี่ปุ่นในแมนจูเรียในวันถัดมาซึ่งเป็นวันเดียวกัน กับที่มีการทิ้งระเบิดลูกที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 9 ส.ค. 1945 ต่างหากที่สร้างความหวั่นไหวตกตะลึงให้กับจักรพรรดิฮีโรฮิโตและครม.ชุดเล็ก 6 คนที่มีบทบาทในการทำสงครามที่ประกอบด้วย นายกฯ รมต.ต่างประเทศ รมต.กระทรวงทหารบกและเรือ ผบ.ทหารบกและเรือ เป็นคล้ายดั่งการถูกหักหลังและสูญเสียความหวังสุดท้ายที่มีไป
แม้ว่ายุทธศาสตร์ตั้งรับสู้จนคนสุดท้ายบนแผ่นดินตนเองจะใช้ไม่ได้อีก ต่อไปจากระเบิดปรมาณูที่สามารถสร้างความเสียหายกับทหารและพลเรือนที่มาจาก ทางอากาศที่ญี่ปุ่นไร้ซึ่งความสามารถในการป้องกันโดยไม่ต้องมีการบุกเข้ามา ทางภาคพื้นดิน แต่ความคาดหวังว่าจะใช้รัสเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงสงบ ศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นคุณกับญี่ปุ่นที่ละลายหายไปต่างหากที่ทำให้ ยุทธศาสตร์การตั้งรับดังกล่าวใช้การไม่ได้โดยสิ้นเชิง
ญี่ปุ่นรับทราบถึงเงื่อนไขการสงบศึกตามข้อเสนอยอมแพ้พอสต์ดามเมื่อ 26 ก.ค. แต่ที่นิ่งเฉยก็เพราะครม.ชุดเล็ก 6 คนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยฝ่ายหนึ่งเสนอให้ยอมรับโดยเพิ่มเงื่อนไขการคงอยู่ของระบบจักรพรรดิ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเสนอให้มีการเจรจาเพิ่มเติมในเรื่อง การยึดครองญี่ปุ่น การวางอาวุธและการดำเนินคดีอาชญากรสงครามที่จะต้องดำเนินการโดยฝ่ายญี่ปุ่น ในขณะที่สัมพันธมิตรไม่ยอมเจรจาและไม่แยกการรับยอมแพ้เป็นรายประเทศ รับหรือไม่เท่านั้นเป็นคำตอบที่อยากได้ยิน
การนิ่งเฉยไม่ตอบรับอยู่ถึง 3 วันจนสหรัฐฯ ต้องตัดสินใจทิ้งระเบิดลูกที่สองเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่าระเบิดโดยลำพังไม่ ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันมายอมแพ้ตามข้อเสนอพอสต์ดาม ระเบิดลูกที่สองจึงไม่มีความจำเป็นเพราะยังไงผู้ปกครองญี่ปุ่นก็ไม่ยอมแพ้ แม้จะมีประชาชนสูญเสียมากเท่าใดก็ไม่ได้นำมาคำนึงถึง ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองรู้สึก “หลังชนฝา” แต่อย่างใด ขณะที่สหรัฐฯ จะกล้าทิ้งลูกที่สามที่โตเกียวหรือลูกที่สี่ในที่อื่นๆ ต่อไปที่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนมากขึ้นกว่านี้อีกหรือไม่หาก ญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ ใครจะตอบได้?
การเข้าร่วมสงครามของรัสเซียต่างหากที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ จักรพรรดิฮิโรฮิโต “หลังชนฝา” ต้องเข้ามามีบทบาทตัดสินใจชี้ขาดในครม.ชุดเล็กโดยเร็วเพื่อยอมรับข้อเสนอ พอสต์ดาม
เหตุก็คือ ก่อนหน้าการเข้าร่วมสงครามของรัสเซียเมื่อ 9 ส.ค. แม้จะทราบถึงการปฏิวัติบอลเชวิกเพื่อโค่นล้มระบบกษัตริย์ ผู้ปกครองญี่ปุ่นยังมีความหวังว่าด้วยความสัมพันธ์ตามสนธิสัญญาฯ ที่มีอยู่ รัสเซียน่าจะเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อเงื่อนไขการยอมแพ้ที่ดีกว่าได้ ยุทธศาสตร์ตั้งรับฯ จึงเกิดขึ้นบนเงื่อนไขหรือข้อสมมติดังกล่าว
แต่ภายหลังการฉวยโอกาสประกาศสงครามกับญี่ปุ่นของรัสเซีย ญี่ปุ่นจึง “หลังชนฝา” ตกอยู่ในระหว่างคมดาบของสัมพันธมิตรที่มาจ่อคอหอยอยู่ที่โอกินาวาห่างแผ่น ดินใหญ่ญี่ปุ่นไม่ถึง 500 ไมล์ ขณะที่รัสเซียที่อยู่ใกล้ยิ่งกว่ามีเพียงทะเลญี่ปุ่นขั้นกลางเอาไว้เท่านั้น การกลับลำรับข้อเสนอยอมแพ้กับสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขจึงเป็นทางเลือก ที่ดีกว่าในการรักษาระบบจักรพรรดิทั้งจากแรงกดดันภายนอกและภายในจากการ ลุกฮือของประชาชนเอาไว้และปกป้องการถูกยึดดินแดน เช่น ฮอกไกโด จากรัสเซีย
ระเบิดปรมาณูและรัสเซียจึงอาจเป็น “ของขวัญจากพระเจ้า” หรือ God-Given Gift ที่กลายเป็นทางออกทางลงที่ดีทำให้ผู้ปกครองญี่ปุ่นยอมแพ้ด้วยเงื่อนไขจากภาย นอกโดยไม่ต้องยอมแพ้ด้วยเงื่อนไขจากภายในประเทศตนเองที่จะแสดงถึงการไม่มี ศักยภาพความสามารถที่จะดำเนินสงครามต่อสู้เพื่อชนะสงครามอีกต่อไปได้
การที่ญี่ปุ่นสามารถหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการทหารกลายมาเป็นประเทศ ประชาธิปไตยที่เจริญก้าวหน้าในปัจจุบันได้ก็ด้วยการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แบบตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ของทั้งระเบิดปรมาณูและการฉวยโอกาสเข้ามาร่วม สงครามของรัสเซีย
ประเทศก็เป็นเช่นดังคนที่มีชีวิตและชะตาของมันเองที่ต้องเผชิญ
ระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขณะนี้ก็ไม่ต่างจากญี่ปุ่นในปี 1945 แต่อย่างใด พ่ายแพ้มาทุกแนวรบ ขาดความชอบธรรม ไร้ซึ่งขีดความสามารถและไร้พื้นที่/ผู้ที่จะถูกปกครอง ความพยายามในการใช้ความรุนแรงต่อ กปปส.และผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นเช่นการสร้างเงื่อนไขเพื่อสร้างโอกาสในการ เจรจาของผู้ที่กำลังจะพ่ายแพ้
เงื่อนไขที่กำลังทำให้ “หลังชนฝา” อยู่ในขณะนี้ก็คือ เวลาในฐานะผู้รักษาการรัฐมนตรีหมดลงแล้ว เจตจำนงของการเป็นผู้รักษาการต้องมีขอบเขตหาไม่แล้วจะต้องมีสภาฯ ไปทำไม หากปรากฏแล้วว่าจะไม่มีสภาฯ ก็จะไม่มีรัฐบาลตัวจริงจากการเลือกมารับช่วงต่อ ผู้รักษาการก็ต้องออกไปไม่สามารถชุบมือเปิบมาใช้อำนาจจากปวงชนชาวไทยเหมือน เช่นตัวจริงได้
นับจากนี้ไปสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งข้าราชการและประชาชนจึงมีสิทธิที่จะสงสัยในอำนาจรักษาการว่ามีอยู่หรือไม่
ใครที่เรียกร้องให้เจรจาควรใคร่ครวญดูให้ดี จะให้ใครกับใครมาเจรจา และเจรจาด้วยเรื่องหรือประเด็นใด ที่สำคัญก็คือผู้เจรจามีอำนาจเจรจาในเรื่องนั้นๆ หรือไม่ คู่ต่อสู้ของระบอบทักษิณแท้จริงแล้วคือจริยธรรมและคุณธรรมอันเป็นกฎกติกาของ สังคมไทยหาใช่ กปปส.ที่นำโดยสุเทพแต่เพียงลำพังไม่
สงครามจบที่การเจรจาก็จริง ผู้กำลังจะแพ้จึงมักเป็นผู้เรียกร้องต้องการเจรจา แต่ผู้ชนะต่างหากที่กำหนดเงื่อนไข หาใช่ผู้แพ้แต่อย่างใดไม่