ผจญภัยสุดขอบฟ้า
(โดย สุวินัย ภรณวลัย)
ตอนที่ 1
ศัมภาลา
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ESOTERIC JOURNEY” (1937) ของ THEODORE ILLION นักผจญภัยชาวเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบให้สปีลเบอร์กนำไปสร้างเป็น อินเดียน่า โจนส์ ในเวลาต่อมา หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมเล่มบันทึกการผจญภัยในทิเบตของเขาในทศวรรษที่ 1930 จำนวนสองชิ้นด้วยกันชื่อ “IN SECRET TIBET” กับ “DARKNESS OVER TIBET”
ธีโอดอร์ อิลลิออน เป็นชาวตะวันตกเพียงไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสเข้า ไปในทิเบตในสมัยนั้นได้ เพราะในขณะนั้นประเทศทิเบตห้ามคนผิวขาวเข้ามาในประเทศของตน อิลลิออนได้ใช้เวลาเตรียมการลอบเข้าทิเบตเป็นเวลาถึงสองปี ก่อนที่จะปลอมตัวเป็นพระธุดงค์ชาวทิเบตลอบเข้าไปในประเทศทิเบตเพียงลำพังในปี ค.ศ.1934
เขาท่องเที่ยวอยู่ในทิเบตเป็นเวลาถึงสามปีเต็ม ผ่านการผจญภัยและประสบการณ์ลี้ลับหลายอย่าง ก่อนที่จะรอดชีวิตกลับประเทศเยอรมันได้ราวปาฏิหาริย์ หนังสือเล่มนี้ของอิลลิออนเมื่อตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1937 ได้มีอิทธิพลต่อฮิตเลอร์มาก จนฮิตเลอร์ถึงกับสั่งให้ส่งทีมสำรวจไปที่ธิเบตหลังจากนั้น และมีการสถาปนาความร่วมมือกันระหว่างกองทัพนาซีของฮิตเลอร์กับนิกายเร้นลับของทิเบตอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากมีการค้นพบศพของพระลามะชุดดำร่วมพันศพที่กรุงเบอร์ลินภายหลังจากที่กรุงแตก และฮิตเลอร์ฆ่าตัวตายเพราะพ่ายแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945
ทำไมอิลลิออนถึงต้องการไปทิเบต?
คำตอบก็คือ เขาต้องการไปค้นหาเมือง “ศัมภาลานคร” เมืองแห่ง ตำนานความเร้นลับที่กล่าวขานกันว่าเป็นที่อยู่ของผู้วิเศษหรือมนุษย์ต่างดาว เป็นที่น่าเสียดายว่าหนังสือเล่มนี้ของอิลลิออนส่วนใหญ่สูญหายไปในระหว่างสงคราม และไม่ได้มีการตีพิมพ์ออกมาใหม่อีกเลย จนกระทั่งมีนักผจญภัยชื่อดังชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ เดวิด ซิลเดรส ไปค้นเจอหนังสือเล่มนี้เข้าที่ห้องสมุดใหญ่ในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1991 จึงนำออกมาพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งเป็นวิทยาทานให้แก่ผู้ที่สนใจเรื่องธิเบต
ก่อนที่ผมจะถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นน่าสนใจยิ่งกว่า นิยายของอิลลิออนให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ ผมขออธิบายความเชื่อมโยงของ “ศัมภาลานคร” ในทิเบตกับชาวแอตแลนติสในทัศนะของนักโบราณคดีบางคนเสียก่อน
นักเขียนชาวเยอรมันชื่อ เค.เค. โดแบเรอร์ ได้เคยแสดงความคิด เห็นของเขาเอาไว้ว่า
“ในมุมมองของมนุษย์ผู้ชาญฉลาดแห่งแอตแลนติสแล้ว มีความเป็น ไปได้อย่างหนึ่งก็คือ การอพยพหนีภัยพิบัติจากน้ำท่วมโลกโดยผ่านไปยังเมดิเตอร์เรเนียนและเคลื่อนต่อไปทางตะวันออก เข้าไปยังแผ่นดินใหญ่แห่งเอเชียและก่อตั้งอาณานิคมบนหลังคาโลก (ทิเบต)”
จากหนังสือ “ATLANTIS : FROM LEGEND TO DISCO- VERY” ของแอนดรูว์ โทมัส เขาได้ขยายความคิดต่อจากโดแบเรอร์ว่า... เมื่อนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาเรืองนามสำนักหนึ่งรับรู้ความจริงที่ว่า วัฒนธรรมถูกกำหนดชะตากรรมไว้แล้ว และความก้าวหน้าของมนุษย์ชาติถูกทำลาย พวกเขาจึงตัดสินใจถอนตัวไปยังพื้นที่ที่ติดต่อได้ยาก มีการก่อสร้างที่กำบังภัยเร้นลับใต้พิภพ ในภูเขา หุบเขาเร้นลับในเทือกเขาหิมาลัยเป็นทำเลที่กำหนดไว้สำหรับคนที่ได้รับเลือกจำนวนไม่มากนัก ให้นำคบไฟแห่งความรู้แจ้งไปสู่อนาคต การหายลับไปในหุบเขาลับระหว่างเทือกเขาหิมะหรือซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใต้ภูเขา ทำให้ช่วยปกป้องชีวิตของเผ่าพงศ์มนุษย์เอาไว้ได้..
ดร.เฟอร์ดินันด์ โอสเซนเดอร์สกี้ ราชบัณฑิตแห่งประเทศฝรั่งเศส ได้เขียนเรื่องประหลาดที่เขาได้ฟังจากเจ้าชายจุลตุน เบย์ลี และพระลามะในมองโกเลียเมื่อหลายสิบปีก่อนความว่า
“...เคยมีทวีปสองแห่งในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งสองทวีปได้จมลงสู่ทะเลลึก แต่ประชากรบางส่วนในทั้งสองทวีปได้อพยพไปสู่ที่หลบภัยอันกว้างใหญ่ใต้พิภพ ถ้ำเหล่านั้นมีแสงประหลาดที่ให้การเติบโตแก่พืชพันธุ์และให้ชีวิตแก่เผ่าผู้สูญไปจากมนุษยชาติสมัยก่อนประวัติศาสตร์...”
หนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ในทศวรรษที่ยี่สิบได้ลงบทความของ ดร.เล่าจิน เกี่ยวกับการเดินทางของเขาไปยังเมืองในฝันในเอเชียกลาง เขาได้พรรณนาถึงการเดินทางที่อันตรายโดยใช้เกวียนไปกับโยคีชาวเนปาลถึงที่ราบสูงแห่งธิเบต ในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเทือกเขาที่แยกตัวออกมาอย่างโดดเดี่ยว เขาได้พบหุบเขาที่เร้นลับ มีสายลมทางเหนือที่พัดอย่างรุนแรงคอยขวางกั้นและสดชื่นรื่นรมย์กับสภาพ อากาศที่อบอุ่นกว่าภูมิภาคโดยรวม
เขาได้กล่าวถึงหอคอยศัมภาลาและห้องทดลองที่น่าสงสัย เขาได้เห็นการบรรลุผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงของผู้พำนักในหุบเขานั้น เพียงแต่เขาได้สัญญากับผู้คนที่นั่นว่าจะไม่เปิดเผยเรื่องทั้งหมดนั้น..
ไม่ว่า “ศัมภาลานคร” จะมีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ก็เป็นที่แน่ชัดอยู่ อย่างหนึ่งว่าในช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้น การเสาะหาเมืองๆ นี้ให้พบเป็นความใฝ่ฝันของนักผจญภัยและนักโบราณคดีเลยทีเดียว ผมคิดว่า ธีโอดอร์ อิลลิออน ก็คงเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
ศัมภาลา...นครใต้พิภพที่เชื่อกันว่ามี “เซียน” หรือผู้วิเศษที่รู้วิชา อมตะหรือชุบคนตายให้ฟื้นพำนักอาศัยอยู่ แต่บางคนก็เชื่อว่ามันเป็นดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยความน่ากลัวดุจนรกจริงๆ มีแต่ผู้ที่ผ่านการทดสอบความน่ากลัวสยอง ขวัญของศัมภาลาไปได้แล้วเท่านั้น ผู้นั้นถึงจะพบ “สัจจะ” หรือความจริงของการมีชีวิตอยู่ได้ อิลลิออนจึงเอาตัวเขาเข้าไปทดสอบคำร่ำลืออันนี้
ก่อนอื่นเขาได้เตรียมตัวด้วยการฝึกหัดพูดภาษาทิเบตจนคล่องแคล่ว และฝึกซ้อมเดินบนที่ราบสูงที่เต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ในแถบสแกนดิเนเวียเป็น เวลาถึงสองปีเต็มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 ก่อนที่จะลอบเข้าไปในธิเบตในปี ค.ศ. 1934 และรอดชีวิตกลับมาได้ดุจปาฏิหาริย์ในปี ค.ศ. 1936
ตอนที่ 2
เงื่อนไขเพื่อความสำเร็จในการผจญภัย
อิลลิออนได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ของเขาว่า
“หนังสือเล่มนี้ถ้าคนอ่านเป็นชาวตะวันออกก็จะปฏิเสธเรื่องราวบาง อย่างที่ผู้เขียนนำมาบอกเล่าว่าเป็นทัศนะแบบคริสต์หรือแบบตะวันตก โดยไม่ยอมรับใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้อ่านเป็นชาวตะวันตกก็คงจะยอมรับว่า หลายสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวในหนังสือเล่มนี้นั้นเป็นทัศนะแบบตะวันออกมาก แต่แท้ที่จริงแล้วสัจธรรมหามีตะวันตกหรือตะวันออกไม่ มีแต่ผู้ที่สามารถเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากอคติใดๆ ทั้งปวง แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถคว้าสัจธรรมมาเป็นของตนได้
การเดินทางไปธิเบตของผมนั้น ผมไม่ได้ไปในฐานะที่เป็นชาวคริสต์ และก็ไม่ได้ไปในฐานะที่เป็นชาวพุทธ และผมไม่ได้มองเรื่องราวต่างๆ ที่ผมได้ประสบพบเห็นจากสายตาของนักปราชญ์หรือนักวิทยาศาสตร์ด้วย ผมได้พยายามอย่างที่สุด ที่จะไม่ถูกครอบงำด้วยอคติใดๆ ในการสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆ ในธิเบต และตัวผมก็หาได้สังกัดในศาสนา นิกาย หรือพรรคการเมืองใดๆ ด้วย ผมเป็นมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น และผมจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ของผมในหนังสือเล่มนี้ให้ท่านผู้อ่านฟัง ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น
ผู้อ่านบางคนอาจจะอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะต้องการสืบสาวเรื่องราว โดยละเอียดว่าจริงแท้แค่ไหน และผู้อ่านบางคนอาจจะอ่านหนังสือเล่มนี้ในฐานะที่อาจเป็นกุญแจดอกหนึ่งในการไขปริศนาเกี่ยวกับความเร้นลับของโลก ปรากฏการณ์อันนี้ที่เป็นอนิจจังเปลี่ยนแปลงอยู่ชั่วกาลนาน สำหรับผู้อ่านประเภทหลังนี้ผมมีความเชื่อมั่นว่าหนังสือเล่มนี้ของผมจะสามารถจุดประกายความคิดของพวกท่านให้เข้าใจถึงความเร้นลับของธิเบตได้มากเลยทีเดียว”
อิลลิออนได้ฟังมาว่าสองในสิบของประชากรในทิเบตนั้นเป็นพระลามะ มิหนำซ้ำ เขายังได้ยินมาว่ามีคนที่มีอายุ 600 ถึง 900 ปี อาศัยอยู่ในที่นี้ด้วย ในวิหารลับของพวกลามะก็มีสถานฝึกฝนโทรจิต ที่ผู้ฝึกกับตัวอาจารย์นั่งอยู่ในห้องมืด สนิทเป็นเวลาหลายอาทิตย์หรือหลายเดือนหรือหลายปีเพื่อสื่อสารกันทางโทรจิต
และเรื่องที่เขาได้ทราบมาและอยากรู้มากที่สุดก็คือวิชา “รุมก็อนปา” หรือวิชาเดินบนอากาศของชาวลามะด้วยความเร็วราวๆ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้แค่การแกว่งแขนกับเท้า ศีรษะไม่ขยับ ลมหายใจไม่เหนื่อยหอบ ก็สามารถเดินโดยเท้าไม่แตะพื้นได้
อิลลิออนทราบเรื่องรุมก็อนปานี้จากรายงานของมาดามอเล็กซานดรา เดวิดนีล ซึ่งเธออ้างว่าได้เห็นพระลามะใช้วิชารุมก็อนปานี้ถึงสามครั้งด้วยกัน และได้เขียนบรรยายเรื่องราวทั้งหลายอย่างละเอียด ส่วนตัวอิลลิออนเองเมื่อเดินทางมาถึงธิเบตแล้ว เขาได้เห็นพระลามะใช้วิชารุมก็อนปานี้สองครั้งด้วยกัน
จากการบรรยายของอิลลิออนนั้น ผม (สุวินัย) อ่านแล้วรู้สึกว่าวิชารุมก็อนปานี้คล้ายคลึงกับวิชาตัวเบาประเภท “เหยียบหิมะไร้ลอย” ของพวกเซียนหรือ โยคีเต๋ามากเลย
อิลลิออนเดินทางมาธิเบตเพื่อเสาะหา “ความจริง” เกี่ยวกับความ เร้นลับของทิเบตกับปรากฏการณ์ประเภทอภิญญาของธิเบตว่ามีอยู่จริงหรือไม่เท่านั้น กล่าวในความหมายนี้เขาจึงต่างจากนักผจญภัยทั่วไปที่หวังมาหาสมบัติหรือ แหล่งแร่ทองคำ
อิลลิออนบอกว่าเขาไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลย และการเดินทางไปทิเบตของเขานั้นก็มิได้พกอาวุธติดตัวไปเลยแม้แต่ชิ้นเดียว การไม่พกอาวุธติดตัวไปเลย ของเขากลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันช่วยให้เขารอดตัวจากความระแวงสงสัยในเจตนาซึ่งจะนำภัยมาสู่ตัวเขา
เขาบอกว่าเงื่อนไขที่ทำให้ตัวเขาประสบความสำเร็จในการเดินทาง ผจญภัยในทิเบตได้โดยลำพังนั้นคือ ความสามารถในการเดินทางด้วยเท้าในภาวะที่อากาศเย็นจัดได้ 55 กิโลเมตร ถึง 130 กิโลเมตรภายในหนึ่งวัน ทั้งๆ ที่ต้องแบก สัมภาระจำพวกอาหารและเครื่องใช้หนักถึงสามสิบกิโลกรัมใส่หลัง
เขาทดลองฝึกเดินเช่นนี้ที่สวีเดนสามครั้ง และลองหัดเดินไกลเป็น ระยะทางถึงหกร้อยห้าสิบกิโลเมตร ภายในเวลาสิบสองวันในฤดูหนาวของสวีเดนได้ เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ.1933 เขาจึงมั่นใจว่าจะเดินทางไปทิเบตได้
เงื่อนไขอีกประการหนึ่งก็คือจะต้องแบกอาหารที่สามารถกินได้หลายวันในระหว่างที่เดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร โดยมีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาหารที่เขานำไปจึงเป็นอาหารที่กินได้โดยไม่ต้องปรุงหรือต้องใช้ไฟหุงต้ม ซึ่งมีข้อดีในแง่ที่ไม่ดึงดูดความสนใจของพวกโจรในเวลากลางคืนด้วย อาหารหลักของเขา จึงเป็นข้าวสาลีดิบๆ เหตุที่เขาทนกินอาหารชนิดนี้ได้นอกจากเพราะการฝึกแล้วยัง เป็นเพราะเขาเป็นนักมังสวิรัติด้วย
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขและการเตรียมตัวของอิลลิออนแล้ว ผม (สุวินัย) ต้องยอมรับว่าคนๆ นี้ทั้งฉลาด ทั้งเข้มแข็ง ทั้งมีความอดทนสูง และมีพรสวรรค์ในการเป็นนักผจญภัยระดับมืออาชีพอย่างเต็มเปี่ยมเลยทีเดียว มีแต่คนที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกด้านทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสมองเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถดั้นด้นไปพบ “ศัมภาลา” นครใต้พิภพของธิเบตได้
แผนการเดินทางในแต่ละวันของเขาเป็นดังนี้ ทุกเช้าจะใช้เวลาเพียงสองสามนาทีเท่านั้นในการเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทาง และชั่วโมงหนึ่งจะต้องเดินทางได้เจ็ดกิโลเมตร ถ้าเดินวันละแปดชั่วโมงก็จะเดินได้ราวๆ ห้าสิบห้ากิโลเมตร อุปกรณ์ที่เขานำไปมีเต็นท์ที่เบาแค่หนึ่งกิโลกรัมแต่สามารถกั้นลมไม่ให้เข้ามาข้างในได้เพราะใช้วัสดุที่ทนได้แม้แต่พายุพัด
นอกจากนี้ยังมีสมออันเล็กๆ กับเชือกที่ใช้ขณะข้ามแม่น้ำหรือลำธาร กับแพยางขนาดเล็กที่ใช้เป่าด้วยลมและมีกล้องถ่ายรูปขนาดเท่ากล่องไม้ขีด ไฟฉาย และกล้องส่องทางไกลขนาดเล็กด้วย เขาไม่สูบบุหรี่จึงไม่จำเป็นต้องพกบุหรี่เป็นห่อๆ ไปด้วย ทำให้ทุ่นน้ำหนักไปได้มาก สุราเขาก็ไม่ดื่มเช่นกัน.. เนื่องจากเขาเป็นคนผิวขาว เขาจึงต้องนำยาย้อมผิวที่เขาใช้ทาหน้ากับทามือติดตัวไปด้วย โดยซ่อนไว้ในที่ลับในเป้หลังของเขา
เคล็ดลับในการไปผจญภัยในธิเบตอีกอย่างหนึ่งของอิลลิออนก็คือ เขาสามารถหายใจได้ลึกมากแค่สามครั้งในหนึ่งนาทีเท่านั้น ในขณะที่คนฝรั่งทั่วไปจะต้องหายใจถึงสิบห้าครั้งต่อหนึ่งนาที
เขากล่าวว่าการจะหายใจลึกๆ เช่นนี้ได้ ไม่ควรไปบังคับหรือฝืนหายใจเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ควรจะหายใจลึกๆ เช่นนี้ได้อย่างเป็นไปเอง ด้วยการทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายอย่างแท้จริงได้เสียก่อน
ตอนที่ 3
ว่าด้วยเรื่อง “การเวียนว่ายตายเกิด”
อิลลิออนได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของชาวทิเบต ภายหลังจากที่เขาได้ประสบกับพิธีศพของชาวทิเบตในระหว่างการเดินทางว่า
“พระลามะส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์จากความเชื่อเรื่องการเวียนว่าย ตายเกิดของชาวธิเบตมาอ้างว่า ตัวเองก็สามารถรู้อดีตชาติของตัวเองได้ด้วยเช่นกัน... ตัวผมได้มีโอกาสสนทนากับนักปราชญ์ชาวธิเบตหลายคนที่ใช้ชีวิต นอกวัดวิหาร แต่ผมไม่เคยได้ยินพวกท่านเอ่ยถึงเรื่องอดีตชาติของตัวเองเลย ทั้งๆ ที่ผมคิดว่าพวกท่านรู้ แต่พวกท่านไม่ยอมพูดถึงมันเท่านั้น บุคคลเช่นนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นอริยบุคคลที่แท้จริง เพราะอริยบุคคลที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องทำตัวแสดงตนเป็นอริยชน หรือเล่าเรื่องอดีตชาติของตนเพื่อสำแดงอวดความเป็นอริยะของตน ให้ผู้อื่นรับรู้เลยแม้แต่น้อย”
ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของชาวตะวันออกนั้น มีพื้นฐาน อยู่ที่ใด? และมีเหตุผลทางตรรกะมารองรับหรือไม่? ต่อคำถามนี้ อิลลิออนได้ยกบทสนทนาระหว่างเขากับนักปราชญ์ชาวทิเบตผู้หนึ่งมาเป็นคำตอบดังต่อไปนี้
“พ่อหนุ่มเธอคิดว่าชีวิตจะบังเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตได้หรือไม่?” ท่านถาม
“ไม่ได้ครับ” เขาตอบ
“จริงหรือ วิญญาณของมนุษย์ ถ้าหากถูกสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีอะไรแล้ว มันก็จะต้องกลับไปสู่ความไม่มีอะไรจนได้ ถ้าหากพวกเราสามารถมีชีวิตอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์แม้ในอนาคตแล้ว ในอดีตพวกเราก็ต้องมีชีวิตมาแล้วเช่นกัน การเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ชั้นสูงที่แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตเท่านั้น... หากเธอใช้หัวใจและจิตใจที่เปิดกว้างมาพิจารณาเรื่องความหมายของการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว เธอก็จะพบว่าอวิชชาที่ชอบแบ่ง ‘ความเป็นตัวเรา’ กับ ‘ความไม่ใช่ตัวเรา’ ออกจากกันนั้น มันจะมลายหายไป”
“...”
“เพราะความจริงแล้ว ‘ความเป็นตัวเรา’ หรือ อัตตา กับ ‘สิ่งที่ไม่ใช่ ตัวเรา’ นั้น ที่แท้มันเป็นเพียงสิ่งเดียวกัน การจำแนกสิ่งเหล่านี้ออกจากกันคือความโง่เขลา ดุจการปฏิบัติต่อมือซ้ายกับมือขวาของเราอย่างไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง แต่การจะขจัดมายาที่เกี่ยวกับกับตัวตนหรือการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราให้หมดไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะอัตตาของเราย่อมต้องดิ้นรนต่อต้านอย่างสุดชีวิต โดยออกมาในรูปของการเข้าใจเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างผิดๆ”
“...”
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของคนเรานั้น เป็นการเชื่อเพื่อปลอบใจตัวเราเองว่า จิตวิญญาณของตัวเรายังจะคงอยู่แม้ได้ตายไปแล้ว ความรู้สึกที่ยึดติดเช่นนี้แหละที่จะไปทำให้การแบ่งแยกระหว่าง ‘ความเป็นตัวเรา’ กับ ‘สิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา’ รุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้น จะมีก็แต่เมื่อเราใช้หลักการเวียนว่ายตายเกิดอันนี้ไม่ใช่เพื่อปลอบใจอัตตาของเรา แต่ใช้มันเพื่อเป็น สัญลักษณ์ชั้นสูงแห่งการเลิกได้เลิกมีแล้วเท่านั้น ความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นเพื่อตัวเองอย่างผิดๆ เกี่ยวกับชีวิตจึงจะแตกสลายไปได้”
“ท่านกำลังจะบอกผมว่า การเข้าใจเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่าง ผิดๆ เช่นนี้ คือการนำหลักของวัตถุนิยมเข้ามาใช้ในเรื่องของจิตวิญญาณ หาใช่ความเป็นจิตวิญญาณที่แท้จริงใช่มั้ยครับ?”
“ใช่แล้ว เพราะแทบไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใดเลยระหว่างคนที่ ไม่กล้าทำความชั่วเพราะกลัวตกนรก กับคนที่ไม่กล้าทำความชั่วเพราะกลัวชาติหน้าจะเกิดมาลำบาก พวกเขาอยู่ในโลกแห่งกาลเวลาที่ยาวนานจนหาที่สุดไม่ได้ แต่พวกเขาหาได้เคยคิดที่จะมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างถึงที่สุดไม่”
ตอนที่ 4
สมาธิแท้กับสมาธิเทียม
ภายหลังจากการท่องเที่ยวในทิเบตและได้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรม ทางศาสนาของพระและผู้คนในดินแดนอย่างใกล้ชิด อิลลิออนได้ข้อสรุปกับตัวเองว่ามี สมาธิแท้ กับ สมาธิเทียม ดำรงปะปนอยู่ด้วยกัน
ศาสนาพุทธในฐานะที่เป็นสถาบัน ได้กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจาก คำสอนเดิมของพระพุทธเจ้า ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นเทพเจ้า พระองค์เพียงแต่สอนให้ผู้คนตระหนักถึงความเป็นพระเจ้าหรือพุทธภาวะที่ดำรงแฝงเร้นอยู่ในใจของคนทุกคนเท่านั้น แต่ศาสนาพุทธในทิเบตกลับกลายเป็นศาสนาพุทธที่มีเทพเจ้าไป สปิริตของพระพุทธเจ้าถูกลืมเลือนและมีการบิดเบือนคำสอน จนกระทั่งสถาบันศาสนากลายมาเป็นเครื่องมือในการขูดรีดทางจิตวิญญาณ และแสวงผลประโยชน์ใส่ตัวจากมวลชนผู้ไม่รู้
พระพุทธเจ้าความจริงเป็นเจ้าชายผู้มีอัจฉริยภาพในการตรัสรู้ แน่นอนว่าพระองค์ย่อมอ่านออกเขียนได้ แต่คนรุ่นหลังทำไมไม่รู้สึกแปลกใจบ้างหรือว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงมิได้เขียนคำสอนของพระองค์บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแม้แต่คำเดียว ใช่หรือไม่ว่า เพราะพระองค์ทรงรู้ดีว่า “สัจธรรมที่มีชีวิตชีวานั้นหาได้ สามารถบรรจุยัดเยียดลงในคัมภีร์ได้ไม่!”
แต่อนิจจาศาสนาพุทธที่เติบใหญ่จนกลายมาเป็นสถาบันในปัจจุบัน กลับใช้ความหวาดกลัวและความงมงายของผู้คนมาเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจ และค้ำจุนรัฐไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นอิลลิออนจึงมองการฝึกสมาธิของพระธิเบตด้วยสายตาที่ระแวงว่าเป็นการ “สร้างภาพ” ทำตัวเองให้ดูศักดิ์สิทธิ์น่าคารวะเลื่อมใส ศรัทธา
เขา (อิลลิออน) ถามตัวเองว่า
“มีสิ่งใดเกิดขึ้นในสมองของพระธิเบตขณะที่กำลังนั่งทางในอยู่? เป้าหมายของการนั่งทางในคืออะไร? ผมอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาไม่ได้เห็นอะไรเลย ในระหว่างการนั่งทางในที่พวกเขาแสร้งคร่ำเคร่งอยู่กับมันเป็นเวลาหลายชั่วโมงนี้ การนั่งทางในหรือการฝึกสมาธิสำหรับพวกเขาแล้ว น่าจะมีความหมายแค่การบำเพ็ญ ทุกขกิริยาเท่านั้น พวกเขาหาได้อะไรนอกจากนั้นจากการนั่งทางในไม่... แน่นอนผมไม่ได้คิดว่าพระธิเบตทุกคนจะเป็นเช่นนี้ ผมยอมรับว่ามีพระบางท่านที่มีจุดประสงค์แจ่มชัดในการนั่งสมาธิว่า เพื่อเพ่งจิตสะสมพลังงานทางจิตวิญญาณ”
อิลลิออนยอมรับว่า เขาไม่สามารถทำความเข้าใจอย่างกระจ่างเกี่ยว กับเป้าหมายและวิธีการฝึกสมาธิที่แท้จริงได้ จนกระทั่งเขาได้ไปพบกับพวกนักปราชญ์ชาวทิเบตซึ่งเป็นผู้ที่พยายามรักษาสปิริตของพระพุทธเจ้าเอาไว้ พวกท่านไม่ได้บอกกับอิลลิออนว่า วิธีการนั่งทางในของพระลามะนั้นเป็นวิธีการฝึกจิตวิญญาณที่ผิดพลาด เพราะความเป็นจิตวิญญาณควรจะต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏหรือผุดขึ้นมาเองจากภายใน อันเป็นผลจากท่าทีที่ถูกต้องของคนๆ นั้นในการดำเนินชีวิต (สัมมาทิฏฐิ) สิ่งนี้ควรจะเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ ไม่ควรจะไปบีบคั้นหรือเค้นมันออกมาด้วยวิธีการฝึกใดๆ
สมาธิที่แท้ต้องเป็นธรรมชาติ โดยไม่มีการบีบเค้น การเพ่งจิตใน ระยะเวลาที่แน่นอนหนึ่งๆ ก็ดี การพยายามที่จะขจัดความคิดทั้งปวงให้หมดไปจากใจก็ดี ยังไม่ใช่สมาธิที่แท้ แม้แต่การฝึกนั่งสมาธิเพื่อ ข่มอารมณ์แห่งกิเลสตัณหาที่แฝงเร้นอยู่ในใจเราโดยปราศจากปัญญาหรือความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็ยังไม่ใช่สมาธิที่แท้เช่นกัน
สมาธิเทียมมีแนวโน้มที่จะแยกจิตออกจากกาย ในขณะที่สมาธิแท้ ไม่แบ่งแยกจิตกับกาย แต่จะพยายามยกระดับกาย (รูป) ให้สูงขึ้นจนถึงระดับจิต มีแต่ผู้ที่เข้าใจชีวิตเท่านั้นถึงจะตระหนักถึงความสำคัญของวัตถุกับจิตอย่างเท่าเทียมกัน
ตอนที่ 5
ผู้สร้างปาฏิหาริย์
ในระหว่างทางอิลลิออนพบเห็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจเหตุการณ์หนึ่งคือ มีหินก้อนใหญ่กำลังกลิ้งตกลงมาจากไหล่เขาจะไปทับคนเดินทาง แล้วมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งแสดงความกล้าหาญเข้าไปกันคนเดินทางที่อยู่หน้าสุดให้พ้นอันตราย แต่การณ์กลับปรากฏว่าตัวเขาได้รับบาดเจ็บเสียเอง เป็นแผลลึกยาว อาการค่อนข้างสาหัส
ในตอนแรกอิลลิออนเตรียมจะควักยาห้ามเลือดในเป้ของเขาออกมาช่วยเด็กหนุ่มคนนี้ แต่ถูกชายธิเบตคนหนึ่งห้ามไว้ เพราะเขาอาสาที่จะรักษาอาการบาดเจ็บของเด็กหนุ่มคนนี้ให้เอง ชายคนนี้แค่ใช้มือโบกไปมาเหนือแผลไม่กี่ครั้งเท่านั้นเลือดก็หยุดไหลออกมาจากบาดแผลทันที รวมทั้งอาการปวดแผลด้วย ชายคนนี้ซึ่งดูหน้าแล้วน่าจะอยู่ในวัยกลางคนแต่ไม่มีรอยย่นที่ใบหน้า ดวงตาสีดำขลับแฝงแววอ่อนโยนได้บอกกับเด็กหนุ่มว่า
“ถ้าเธอรักษา ความคิดที่ดีงามเอาไว้ได้ ซึ่งฉันเชื่อว่าคนที่มีจิตใจงดงามอย่างเธอจะต้องทำได้ ฉันรับรองว่าแผลของเธอจะต้องหายภายในสองสามวัน อย่างแน่นอน”
“ขอบคุณมากครับท่าน”
“เธอไม่ต้องมาขอบคุณฉันหรอก เธอควรจะขอบคุณตัวเองน่าจะ เหมาะกว่า เพราะความรัก เป็นสิ่งที่ได้ช่วยเธอต่างหาก เธอให้ความรักแก่คนอื่น ดังนั้นความรักจึงช่วยเธอ ฉันจึงหวังว่าเธอจะใช้ชีวิตหลังจากนี้ของเธออย่างที่ไม่ทำให้ฉันต้องผิดหวังและเสียใจที่ได้ช่วยเธอในวันนี้นะพ่อหนุ่ม ลาก่อน”
อิลลิออนอยู่ในเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนจบ เขาคิดที่จะเดินเข้าไปหาชายผู้นั้น ทันใดชายผู้นั้นก็พูดกับเขาก่อนว่า
“เธอกำลังชมเชยฝีมือการรักษาของฉันใช่มั้ย?”
“ครับ” อิลลิออนยิ่งรู้สึกทึ่ง เมื่อตระหนักได้ว่าชายคนนี้อ่านใจของเขาได้ก่อนที่เขาจะพูดมันออกมาเสียอีก
“อันที่จริงฉันจะทำการรักษาโรคให้แก่คน ก็เฉพาะในกรณีที่พิเศษ อย่างกรณีเช่นนี้เท่านั้นหรอกนะ”
“ทำไมหรือครับ?”
“ก็ลองคิดดูซิว่า ถ้ามีใครคนหนึ่งตะกละมูมมามรับประทานอาหารเข้าไปมากเกินไปจนไม่สบาย การที่เราไปรักษาโรคให้คนประเภทนี้หายแล้วจะมีความหมายอันใด? พอเขาหายแล้ว เขาก็หันกลับไปกินมูมมามต่อมิใช่หรือ... ฉันจะรักษาโรคให้เขาก็ต่อเมื่อฉันพิจารณาแล้วเชื่อมั่นได้ว่า คนๆ นั้นจะเลิกกินมูมมามอีกต่อไปภายหลังจากที่หายแล้วเท่านั้น”
“ท่าทีเช่นนี้ของท่านไม่ขาดเมตตาไปหน่อยหรือครับ?”
“ถ้าดูเผินๆ ก็อาจจะใช่แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นหรอก เพราะเธอควรจะเข้าใจว่าเคราะห์กรรมทั้งหลายที่ตกมาใส่ตัวคนเรานั้น ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากกรรมเก่าที่พวกเราได้สร้างมาทั้งสิ้น เพียงแต่จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง”
“ถ้าเช่นนั้นผมขอถามท่านหน่อยได้มั้ยครับว่า คนเราไม่ควรต่อต้านกับสิ่งที่ชั่วร้ายหรือครับ อย่างเช่นสงคราม”
“สงครามเป็นผลผลิตของความเห็นแก่ตัวและความคิดที่ชั่วร้ายของมนุษย์ ผู้คนจำนวนมากได้ทำสงครามภายในจิตใจของเขาแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ทำ สงครามจริงๆ พวกเขาต่อสู้ขัดแย้งกับเพื่อนบ้านของพวกเขา ในขณะที่ปากของพวกเขาก็ยังเอ่ยถึงสันติภาพอยู่ ถ้าหากเธอต่อต้านสงครามด้วยเหตุผลที่ว่าเธอกลัว สงคราม การต่อต้านของเธอมันจะมีคุณค่าความหมายอะไร? เธออย่าคิดไปสู้กับโรค แต่จงคิดเปลี่ยนแปลงจิตใจของตัวเองและของผู้คนไม่ดีกว่าหรือ”
อิลลิออนรู้สึกทึ่งในทัศนคติของชายคนนี้ เขาสงสัยว่าจะมีประชาชน ไม่ว่าในประเทศไหนก็ตามสักกี่คนที่จะเข้าใจถึงความลึกซึ้งในทัศนะดังข้างต้นของ ชายคนนี้ได้
“ท่านคิดว่าตัวท่านเป็น คนที่ยิ่งใหญ่มั้ยครับ?” อิลลิออนถามชายคนนี้ เป็นคำถามสุดท้ายก่อนที่จะอำลาจากกัน ชายคนนี้รู้ดีว่าเขาเป็นคนต่างชาติ จึงแนะนำให้เขาไปจากที่นี่โดยเร็วก่อนที่คนอื่นหรือทางการธิเบตจะรู้เข้า
“เพื่อนเอ๋ยโลกนี้ไม่มีสิ่งสูงสิ่งต่ำอย่างแท้จริงหรอก แมลงตัวเล็กกับมนุษย์ที่ถูกเรียกว่าสัตว์ประเสริฐความจริงแล้วล้วนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน การเกิดขึ้นของจักรวรรดิ์และล่มสลาย การก่อเกิดของจักรวาลและจุดจบของมัน ความจริงแล้ว หาได้ต่างไปจากน้ำที่กำลังเดือดอยู่ในกาไม่ สรรพสิ่งล้วนเป็นแค่สิ่งสัมพัทธ์ โลกนี้มี แต่สิ่งที่เป็นอนิจจังกับสิ่งที่เป็นนิรันดร์ ถ้าเวลาผ่านไปถึงหกพันปี ต่อให้กระดูกของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็แทบไม่คงเหลือความทรงจำที่มีต่อคนผู้นั้นก็แทบไม่เหลือด้วย ฉันจึงไม่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ แม้จะเทียบกับนกที่บินอยู่บนท้องฟ้าหรือแมลงที่คลานอยู่บนพื้นดิน สิ่งที่จะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ก็มีแต่ชีวิตเท่านั้น ส่วนรูปลักษณ์กลับเป็นสิ่งที่ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้”
ภายหลังจากที่ได้พบกับชายผู้นั้นแล้วอิลลิออนจึงเข้าใจได้กระจ่างแจ้งถึงความหมายของ “ผู้สันโดษที่แท้จริง” ที่เป็นอริยบุคคล
บุคคลประเภทนี้เป็นบุคคลที่ไม่ต้องการให้ใครมาเคารพศรัทธาในตัวเขา แต่กลับได้รับความเคารพศรัทธาจากผู้อื่น พวกเขามีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เหมือนเด็กๆ และไม่ได้มีความจองหองหรืออหังการ์ทางจิตวิญญาณเหมือนกับผู้ฝึกฝนทางจิตโดยทั่วไปไม่ พวกเขาเป็นบุคคลที่หาพบได้ยาก เพราะพวกเขาจะ ปรากฏตัวเพื่อช่วยคนหรือสอนคนก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ แล้ว เท่านั้น
พวกเขาไม่จำเป็นต้องปลีกตัวเข้าไปอยู่ในห้องมืดเพื่อฝึกจิต ซึ่งยังเป็นการฝึกที่ยึดติดกับรูปแบบภายนอก ถ้าหากเขาจะปลีกตัวก็เพราะสาเหตุเดียวกันคือ พวกเขาไม่ต้องการสัมพันธ์กับมนุษย์ที่มีแค่ความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น พวกเขาไม่คิดจะทำให้ผู้คนเกรงกลัวหรือหลงเชื่อในฤทธิ์เดชของพวกเขา ถ้าหากมีคนไปหา พวกเขาเพื่อขอวัตถุบูชาหรือเวทมนตร์ หรือขอพรให้พวกเขาช่วย พวกเขาก็จะบอก กับผู้คนเหล่านี้ว่า
“พวกเธอจงดูโลกรอบๆ ตัวของพวกเธอให้ดีสิ พวกเธอไม่เห็นหรือว่าโลกนี้ได้กลายเป็น โรงละครตลก และ สถานลงโทษผู้คนที่ตกอยู่ในอวิชชาไปเสียแล้ว ทุกคนไม่ว่าใครต่างมีชีวิตอย่างเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น เพราะพวกเขาเข้าใจผิดคิดผิดว่า ความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งจำเป็นในการได้รับความสุข โดยหารู้ไม่ว่า การแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นนี้แหละที่ได้สร้างความทุกข์ทั้งปวงให้กับโลกนี้ไม่จบสิ้น จนทำให้โลกนี้กลายเป็น นรกบนดิน ถ้าหากพวกเธอสามารถได้ยินเสียงร้องด้วยความทุกขเวทนาที่ดังก้องโลกอยู่ในขณะนี้ พวกเธอจะทนได้หรือ พวกเธอจะทำเฉยโดยไม่คิดจะทำอะไรได้หรือ พวกเธอจะต้องไม่คิดบรรเทาอาการของโรค แต่พวกเธอจะต้องเข้าไปเผชิญหน้ากับสาเหตุของโรคโดยตรง เธอจะต้องเปลี่ยนจิตใจของเธอเอง ถ้าหากพวกเธอเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ เธอก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยคำสอนของตัวเธอเอง และเธอจะมีอิทธิพลต่อโลกนี้ได้ จากตัวอย่างที่เป็นจริงในการใช้ชีวิตของตัวเธอนั่นเอง”
ตอนที่ 6
เคล็ดลับของการไม่แก่ไม่ตาย
อิลลิออนมีความเห็นว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจะวิเศษไปกว่าความหนุ่มแน่น หรือความสามารถที่จะเสพความปิติในการมีชีวิตอยู่อย่างสดชื่นด้วยไฟในใจที่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอแล้ว
การสูญเสียความหนุ่มแน่นไปตามกาลเวลาเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษยชาติจริงหรือไม่? วิชาในการรักษาความหนุ่มแน่น ย่อมแตกต่างไปจากการยืดอายุ (ตายช้า) ใช่หรือไม่?
ในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้นเร้าและความบันเทิงอันดาษดื่น ดูเหมือนว่าทั้งชายและหญิงจะแก่ตัวอย่างรวดเร็วมาก การที่อิลลิออนได้มีโอกาสพบชายวัยกลางคนที่ก่อปาฏิหาริย์คนนั้น และชายวัยกลางคนอื่นๆ อีกหลายคนที่เขาได้ทราบอายุจริงของพวกท่านว่าล้วนมีอายุเกินร้อยปีทั้งสิ้น ทำให้อิลลิออนเชื่อว่าวิชาที่รักษาความหนุ่มแน่นไว้นานเท่านานนี้มีอยู่จริง
เขาจึงได้ไปสอบถามเคล็ดลับของการรักษาความหนุ่มแน่นจากพวกท่าน ในตอนแรกเขาตั้งข้อสังเกตว่า คนเหล่านี้ทานอาหารน้อยมากหรือแทบไม่ทานอาหารเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่าการอดอาหารกับการรักษาความหนุ่มแน่นนี้มีความเกี่ยวข้องกัน เพียงแค่เขาคิดชายวัยกลางคนผู้นั้นก็ยิ้มให้เขาแล้วบอกกับเขาว่า
“เพื่อนเอ๋ย เราไม่ได้รักษาความหนุ่มแน่นเอาไว้ด้วยการอดอาหารหรอกนะ”
“ถ้าเช่นนั้นทำไมท่านถึงทานอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้นล่ะครับ?”
“เพราะเราไม่รู้สึกหิวต่างหาก เธอจงฟังเราให้ดีนะ คนเราจะเริ่มแก่ในทันทีที่เขาพยายามจะรักษาความหนุ่มแน่นเอาไว้ เพราะในทันทีที่คนเราคิด พยายามจะได้อะไรมาเป็นของตน นั่นก็แสดงว่าเขากำลังกลัว ว่าจะสูญเสียสิ่งนั้นไป
ความกลัวอันนี้แหละที่จะกัดกร่อนคนผู้นั้นไม่ว่ายามตื่น ยามกิน หรือ ยามนอน เพราะฉะนั้นเธอจงรู้ไว้ด้วยเถอะว่า จิตใจที่เต็มไปด้วยความกลัวนี่แหละ คือตัวการในการบั่นทอนความหนุ่มแน่นของผู้คน ชีวิตของคนเราล้วนเป็นสิ่งสัมพัทธ์ทั้งสิ้น สิ่งที่มีคุณค่าสมบูรณ์หรือสูงสุดล้วนไม่มีเลย เธออย่าลืมข้อนี้
ความดี ความเลว เราเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ดำรงอยู่เช่นกัน เพราะว่า มันไม่มีความดีที่แท้และก็ไม่มีความเลวที่แท้ มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการเรื่องราวอย่างไรต่างหาก เธอจงอย่าเข้าใจผิดว่า ถ้าฝึกฝนวิชาใดแล้วจะทำให้รักษาความหนุ่มแน่นเอาไว้ได้ เพราะต่อให้เธอฝึกวิชาใดๆ หรือพยายามกินอาหารอะไรที่จะทำให้รักษาความหนุ่มแน่นเอาไว้ได้ แต่ถ้าหากใจของเธอเริ่มแก่ตัวแล้ว ร่างกายของเธอ ก็จะเริ่มแก่ตัวขึ้นมาทันทีเช่นกัน
ถ้าเช่นนั้นความหนุ่มแน่นคืออะไรเล่า?
สำหรับตัวเรา ความหนุ่มแน่นก็คือการเป็นอิสระจากอคติ เป็นอิสระจากวิธีคิดแบบเก่าๆ และเป็นอิสระจากการใช้ชีวิตแบบเก่าๆ นั่นเอง เพราะตราบใดที่ใจของเราเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือล้นและเปี่ยมไปด้วยความรักแล้ว เมื่อนั้นเราก็ยังหนุ่มแน่นเสมอ”
“ฟังดูแล้วง่ายจังเลยนะครับ แต่ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าการจะรักษาความหนุ่มแน่นเอาไว้ได้จะต้องกินยาวิเศษไม่ใช่หรือครับ?”
“ใช่แล้ว แต่เราขอบอกเธอตามตรงว่ายาวิเศษเช่นนั้นไม่มีหรอก เธออย่าผิดหวังหรือน้อยใจนะที่เราพูดความจริงของโลกอย่างที่มันเป็นเช่นนี้ออกมา
เธอลองคิดดูซิว่าต่อให้พวกเรามียาวิเศษเช่นที่ว่านั้นอยู่จริงและพวกเราให้ยาวิเศษนี้แก่ชาวโลกไปอะไรจะเกิดขึ้น มันกลับจะทำให้โลกนี้เลวร้ายยิ่งขึ้นกว่าเก่ามิใช่หรือ เพราะผู้คนส่วนใหญ่จะเลิกพยายามทำความดีหันไปทำความชั่วกันหมด แล้วปัญหาการจ้างงานเล่า ปัญหาประชากรล้นโลกเล่าจะทำยังไง
ในโลกที่มนุษย์เป็นปฏิปักษ์กันเองเช่นนี้ การที่คนเรามีอายุยืนยาว กลับจะกลายเป็นปัญหา เพราะตราบใดที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้นโดยไม่ได้เปลี่ยนจิตใจของตัวเองแล้ว ตราบนั้นมันก็รังแต่จะไปทำให้โลกนี้วุ่นวายยิ่งขึ้นและทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้มันเกิดขึ้นจากทัศนคติที่ผิดพลาดของมนุษย์ ที่มุ่งแสวงหาความสุขใส่ตัวบนกองทุกข์ของคนอื่นทั้งสิ้น”
“ท่านคิดว่าชีวิตนี้มีความหมายที่จะอยู่มั้ยครับ?”
“มีสิ พ่อหนุ่ม ชีวิตเป็นสิ่งที่วิเศษนัก ชีวิตเป็นความสว่าง มนุษย์มี สิทธิ์เลือกเสมอที่จะใช้ชีวิตแบบใด ตั้งแต่ชีวิตที่สูงส่งเทียมฟ้าหรือชีวิตที่ตกต่ำดุจขุมนรก เรื่องราวทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่แน่นอน ถ้าเธอเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว เธอจะสามารถใช้ชีวิตด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาดุจเด็กๆ ได้ เพราะมีแต่การมีชีวิตด้วยหัวใจที่ใสสะอาดดุจเด็กๆ เท่านั้น ชีวิตนี้ถึงจะมีคุณค่าความหมายที่จะดำรงอยู่ ถ้าทำได้เช่นนี้แล้วเราก็จะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นบุคคลพิเศษที่เหนือกว่าคนอื่น เราจะตระหนักได้ว่าคนเราเกิดมาเพื่อรับใช้ผู้คน คนเราเกิดมาเพื่อที่จะมีชีวิตและได้ รักผู้คน”
“พวกเราจะทำอะไรให้แก่โลกนี้ได้บ้างครับท่าน?”
“พวกเราคงทำได้แค่เป็นป้ายชี้ทาง ให้แก่ผู้คนที่ยังทุรนทุรายอยู่ใน ความมืดมิดอยู่เท่านั้น แต่ถ้าคนเหล่านี้มัวแต่งมงายไปหลงติดกับการบูชาบุคคล พวกเขาจะหมดหนทางที่จะช่วยตัวเองได้ เหมือนกับการเอาแต่นั่งรอให้ป้ายชี้ทางช่วย มันจะทำให้ป้ายชี้ทางนั้นกลายเป็นกำแพงขวางกั้นตัวเองไป”
“ในความเป็นจริง เราควรจะให้ผลสะเทือนแก่ผู้คนอย่างไรดีครับ?”
“โดยปกติคนส่วนใหญ่ มักจะเบียดเบียนโลกใบนี้หรือเพิ่มทุกข์ให้แก่โลกใบนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขายังไม่ค่อยรู้ตัวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่มีความจริงใจ สิ่งที่เขาจะทำได้ก็คือไม่ไปเบียดเบียน หรือไปร่วมกระทำในสิ่งที่ใจของตนเองก็รู้ว่าเป็นความโง่เขลา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น เรื่องอะไรก็ตาม และไม่ว่าสิ่งนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สมบัติของเรา”
“ยังไงก็ตามเราควรจะแนะนำให้ผู้คนแสวงหาความจนมั้ยครับท่าน?”
“ไม่จำเป็นหรอก ขอเพียงไม่มีใจที่ยึดติด จะรวยหรือจนก็ไม่เป็น ไร”
“ก้าวแรกเราไม่ควรเหยียดหยาม อำนาจ ความมั่งคั่ง และเกียรติยศ หรือครับ?”
“ไม่จำเป็นหรอก ขอเพียงเราเข้าใจชีวิต เราก็จะรู้คำตอบเอง”
“ถ้าเช่นนั้น สิ่งแรกที่เราควรจะกระทำคืออะไรครับ?”
“คือ การเข้าใจตัวเอง การเข้าใจคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการ เข้าใจตนเองมากยิ่ง ถ้าเราไปมีอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและเพิ่มอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวของเราในเรื่องนั้น มันจะทำให้การเข้าใจเรื่องนั้นของเราทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่มีเรื่องใดที่จะยากไปกว่าการตัดสินตัวเองอย่างเป็นภาวะวิสัย
เธอจะต้องพูดกับคนอื่นด้วยจิตใจที่ตื่นแล้วต่อตัวเอง เธอจะต้อง สัมพันธ์กับคนอื่นอย่างซื่อตรงต่อตัวเอง เธอจะต้องหมั่นตรวจสอบมูลเหตุจูงใจของ ตัวเธออยู่เสมออย่างมีสติ นี่แหละคือเงื่อนไขประการแรกที่จะทำให้เธอรู้ข้อบกพร่อง ของตัวเธอและมันจะนำไปสู่ความเข้าใจตัวเอง
สรุปแล้วความจริงเป็นเรื่องง่ายมากที่เธอจะเข้าใจตัวเองได้ ขอให้เธอรักมีความสามารถที่จะรักคนและรักตัวเองได้อย่างลึกซึ้งจริงจัง ถ้าหากรักนั้นเป็นรักที่อิสระจากยาพิษที่มีชื่อว่าความเห็นแก่ตัวแล้ว เธอก็จะมีความเข้าใจได้ลึกซึ้งเพียงนั้น และเธอจะไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นอีกต่อไป รักที่แท้จริงจะนำไปสู่ความเข้าใจและทำให้คนนั้นหลุดรอดจากกับดักของความอหังการ์ทางจิตวิญญาณ”
“ทำไมท่านถึงไม่อยากให้อารยธรรมตะวันตกรุกล้ำเข้ามาในทิเบตครับ?”
“ก็ไม่เชิงหรอกนะ เรามีความเห็นว่าโลกทั้งโลกกำลังต้องการชีวทัศน์อันใหม่ ตะวันตกละทิ้งจิตวิญญาณในขณะที่ตะวันออก (ทิเบต) ก็ละทิ้งวัตถุ มีชาว ตะวันตกจำนวนหนึ่งที่พยายามจะเป็นตะวันออกโดยหันมาสนใจเรื่องจิตและทอดทิ้งวัตถุ ขณะเดียวกันก็มีชาวตะวันออกที่กลายเป็นนักวัตถุนิยมเช่นเดียวกับชาวตะวันตก แต่ตราบใดที่เราไม่สร้างชีวทัศน์ใหม่ขึ้นมาเราคิดว่าทั้งตะวันตกและตะวัน ออกคงจะเผชิญวิกฤติของการล่มสลายเหมือนกัน
เราต้องการมนุษย์ประเภทใหม่ ที่มีทั้งด้านวัตถุและด้านจิตวิญญาณอย่างพร้อมสมบูรณ์เสมอกัน นี่แหละถึงจะเป็นมนุษย์ที่แท้ในความหมายของเรา ผู้ที่ละทิ้งวัตถุ (กายรูป) และผู้ที่ละทิ้งจิตวิญญาณ ล้วนไม่อาจเป็นมนุษย์ที่แท้ได้”
“ท่านค้นพบ ความจริง แล้วใช่มั้ยครั้บ?”
“ความจริง สัจธรรม ชีวิต พระเจ้า ความเป็นนิรันดร์ ความรักอัน ยิ่งใหญ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเดียวกันทั้งสิ้น แต่เธอจะค้นพบความจริงไม่ได้หรอก เพราะเมื่อใดก็ตามที่เธอคว้าความจริงเอามาเป็นของเธอในฐานะที่เป็นปัจเจกได้ เมื่อนั้นมันจะไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงควรที่จะต้องแสวงหาต่อไป ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ หากชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตายตัว ชีวิตเช่นนั้นจะมีความหมายประการใดเล่า คนเราไม่ควรพอใจกับชีวิตโดยเฉพาะพอใจกับตัวเอง เพื่อมิให้กลายเป็น คนอหังการ์ทางจิตวิญญาณ”
อิลลิออนรู้สึกทึ่งในตัวคนเช่นนี้ ซึ่งดูเหมือนข้ามพ้นทั้งคำสรรเสริญ และคำนินทาไปได้แล้ว ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ถูกอิทธิพลของ “ความเห็น” ของ สังคม อคติของยุคสมัยที่พวกเขามีชีวิตอยู่ครอบงำ แต่คนเช่นนี้จะไม่ได้รับผลสะเทือนจาก “ความเห็น” ของคนอื่นเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งหาได้ภาคภูมิใจในความ ไร้อัตตาของตนแต่อย่างใดไม่
ความอ่อนโยน เมตตา มีน้ำใจ ของคนเช่นนี้เกิดขึ้นเองจากภายในตามธรรมชาติ เพราะเป็นเช่นนี้แหละอิลลิออนจึงคิดว่า บุคคลเช่นนี้สามารถเอาชนะความตายได้ เนื่องจากแนวความคิดเรื่อง “เวลา” จะดำรงอยู่ก็สำหรับผู้คนที่ขีดเส้นแบ่งแยกระหว่าง “ตัวเราของเรา” กับ “สิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราของเรา” เท่านั้น หรือจะดำรงอยู่สำหรับผู้ที่หมกมุ่นอยู่กับอัตตาที่เล็กจิ๋วเดียวของตัวเองไม่ว่าจะทำเรื่องราวใดๆ เท่านั้น
แต่สำหรับคนเช่นนี้ “เวลา” จะไม่ดำรงอยู่ เมื่อ “เวลา” ไม่ดำรงอยู่ คนเช่นนี้จึงเป็น “นิรันดร์” ถ้าหากความเป็นนิรันดร์คือสิ่งที่มีความหมายเช่นนี้ คนแบบนี้จะไม่กลัวความตายและไม่เชื่อว่าจะมี “สวรรค์” ที่รอการมาเยือน ของ “อัตตา” ของเขาด้วย
แน่นอนเขาตระหนักดีถึงความเป็นตัวตนที่เอกเทศของตัวเขาและไม่เคยคิดที่จะทอดทิ้งวิญญาณของตัวเขา คนเช่นนี้จึงรักษาบุคลิกภาพที่โดดเด่น ของเขาเอาไว้ได้ ในขณะที่เขาแปรความรักของเขาให้เป็นปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือ ผู้คนนี่แหละคือสภาวะ “นิพพาน” ที่แท้จริง หาใช่สภาวะ “นิพพานจอมปลอม” แบบที่ปฏิเสธชีวิตหรือหนีจากชีวิตไม่
นิพพานที่แท้จริงจะได้มาก็ต่อเมื่อใช้การพัฒนาจิตวิญญาณมาทำให้ชีวิตบรรลุความสมบูรณ์แล้วเท่านั้น สภาวะนิพพานที่แท้จริงคือสภาวะที่คนเป็นทั้งหมดของจักรวาล ในขณะเดียวกัน คนก็เป็นความว่างเปล่าหรือสุญญตาด้วย สภาวะอันนี้คือสภาวะที่เหนือความตาย และเอาชนะความหวาดกลัวในเรื่องความตายได้
การจะเข้าใจความหมายของนิพพานที่แท้จริงเช่นนี้ได้จำเป็นจะต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจควบคู่กัน ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับของการไม่แก่ไม่ตายที่อิลลิออนได้เรียนรู้จากการไปผจญภัยที่ทิเบตในครั้งนั้น
ตอนที่ 7
สนทนาเรื่องพระเจ้ากับจิตวิญญาณ
ในระหว่างการเดินทางในทิเบต มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อิลลิออนถูกโจรป่ากลุ่มหนึ่งพยายามจะเข้ามาปล้นชิงทรัพย์เขา หลังจากปะทะกันด้วยมือเปล่าอยู่ชั่วครู่ การณ์กลับเป็นว่าอิลลิออนได้ไปช่วยชีวิตของโจรป่าคนหนึ่งให้รอดตายจากการถูกทรายดูด เขากับโจรกลุ่มนี้จึงกลับมาเป็นมิตรกัน..
ภายหลังจากที่แยกทางกันแล้ว เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ เคชคาล ที่อยู่ในกลุ่มของโจรป่านั้นเกิดความเลื่อมใสในตัวเขา และไม่ต้องการยึดอาชีพเป็นโจรอีกต่อไป (อันที่จริงเขาไม่ได้อยากเป็นโจรอยู่แล้ว แต่พี่ชายของเขาซึ่งเป็นหัวหน้าโจร ได้ดึงเขาเข้ามาอยู่ในกลุ่มด้วย) จึงแอบหนีพี่ชาย และโจรกลุ่มนั้นมาหาอิลลิออนและขอติดตามเขาไปด้วย
“พี่ครับ ทำไมพี่ถึงไม่กลัวล่ะครับตอนที่พวกโจรบุกมา? ผมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมในตอนนั้นของพี่ตลอดเลย พี่เยือกเย็นมากเลยนะครับ”
“เคชคาล ถึงกลัวแล้วจะได้อะไรขึ้นมาเล่า? เวลาคนเราเผชิญกับเรื่องราวใดๆ ก็ตาม เราควรจะเผชิญมันและต้อนรับมันอย่างที่มันเป็น การขัดขืน ต่อต้านอันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามา เป็นความไม่ฉลาดเท่าไหร่หรอกนะ สู้การเผชิญกับมันอย่างเยือกเย็นไม่ได้หรอก”
“ตรงนี้สิครับที่ผมทึ่งในตัวพี่ แต่ที่ผมประหลาดใจที่สุดก็คือ ตอนที่พวกโจรคนหนึ่งในแก๊งค์ของผมถูกพี่ตีตกลงไปในหล่มทรายดูด แต่แล้วตัวพี่เองกลับเป็นคนโยนเชือกไปช่วยชีวิตของเขาไว้”
“ก็เพราะผมคิดว่าเขาคนนั้นยังเป็นคนที่มีจิตวิญญาณอยู่ในตัวนะสิ พี่ถึงช่วยเขา”
“จิตวิญญาณ ที่พี่พูดนี่หมายถึงอะไรเหรอครับ?”
“จิตวิญญาณก็คือ สิ่งที่ดีที่สุดที่ดำรงอยู่ในตัวของมนุษย์ หรือเป็นตัวตนที่แท้จริงของคนเรานั่นเอง เคชคาล คนที่มีจิตวิญญาณนั้น จะปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างอ่อนโยนและเมตตาเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าหากเธอได้ช่วยชีวิตของศัตรู และถ้าศัตรูคนนั้นเป็นคนที่มีจิตวิญญาณละก็ เขาจะต้องทิ้งอาวุธและไม่คิดทำร้าย เธออีกต่อไปอย่างแน่นอน เพราะจิตวิญญาณจะทำให้คนๆ นั้นไม่คิดร้ายต่อคนที่ ช่วยชีวิตตนเองหรอก”
“พี่หมายความว่าถ้าเราทำความดี มีความจริงใจ ให้ความรัก ความเมตตาต่อคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแล้ว เขาก็จะทิ้งอาวุธไม่คิดทำร้ายเราหรือครับ?”
“ไม่ใช่เช่นนั้นหรอกเคชคาล มันเป็นเรื่องน่าเสียใจจริงๆ ที่ไม่ใช่คนทุกคนที่จะเป็นเช่นนั้น พี่หมายถึงคนที่มีจิตวิญญาณอยู่ในใจเท่านั้นหรอกที่จะเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ในโลกนี้ พี่ยังเชื่อว่ามีผู้คนที่มีจิตวิญญาณดำรงอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เช่นนั้นแล้วโลกนี้ก็คือนรกบนดินเราดีๆ นี่เอง”
“สมมุตินะครับว่า ถ้าหากเจ้าโจรคนที่พี่เพิ่งช่วยชีวิตของเขาเอาไว้นั้น จะคิดทำร้ายพี่อีก พี่จะทำอย่างไรครับ?”
“ในตอนนั้นเราจะรู้ได้ทันทีว่าคนๆ นั้น เป็นคนที่ไม่มีจิตวิญญาณ พี่ก็จะตีเขาให้ตกลงไปที่หลุมทรายดูดอีกครั้ง”
“พี่ครับ พี่คิดว่าตัวผมมีจิตวิญญาณมั้ยครับ?”
อิลลิออนมองตา เด็กหนุ่มก่อนที่จะยิ้มตอบเขาไปว่า
“แน่นอนซิเคชคาล เธอเป็นคนมีจิตวิญญาณและยังเป็นจิตวิญญาณที่งดงามด้วย”
“พี่ครับ คนเรามีโอกาสเสียจิตวิญญาณไปมั้ยครับ?”
“อืม บางทีก็มีโอกาสนะเคชคาล แต่มันจะไม่สูญเสียไปในทันที หรอกนะ มันจะค่อยๆ สูญเสียไปอย่างช้าๆ โดยผ่านกระบวนการที่น่ากลัวมากเลย”
“คนเราสูญเสียจิตวิญญาณได้อย่างไรครับ?”
“ก็เมื่อคนๆ นั้น กระทำบาปต่อจิตวิญญาณน่ะซิ”
“ขอให้พี่ยกตัวอย่างด้วยครับ?”
“อย่างเช่น การทำให้จิตวิญญาณสกปรก หรือการใช้พระเจ้าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง”
“พี่ครับ อะไรคือพระเจ้าครับ?”
“สิ่งที่สร้างเธอขึ้นมาคือพระเจ้า”
“ไม่ใช่หรอกครับ พ่อผมต่างหากที่เป็นผู้ให้กำเนิดผม”
“พ่อของเธอเป็นคนสร้างร่างกายเธอต่างหากเล่า แต่พระเจ้าท่านเป็นผู้สร้างจิตวิญญาณของเธอ ท่านจึงเป็นบิดาในทางจิตวิญญาณของเธอ”
“และท่านก็เป็นบิดาในทางจิตวิญญาณของพี่ด้วยหรือครับ?”
“ถูกแล้ว”
“ถ้าเช่นนั้นพวกเราก็เป็นพี่น้องกันน่ะสิครับ?”
“ใช่แล้วเคชคาล เพราะบิดาคนเดียวกันเป็นผู้สร้างจิตวิญญาณของพวกเราขึ้นมา”
“ผมดีใจจริงๆ ครับที่ได้คนอย่างพี่มาเป็นพี่ชายของผม”
หลังจาก พักผ่อนชั่วครู่ เคชคาลได้ถามอิลลิออนอีกว่า
”พี่ครับแล้วคนที่ไม่มีจิตวิญญาณล่ะครับ ใครจะเป็นบิดาของพวก เขา?”
“ความจริงคนเหล่านี้ เขาก็เป็นบุตรของพระบิดาคนเดียวกับของพวกเรา แต่บัดนี้ซาตาน (เทพดำ) ได้ครอบงำจิตวิญญาณของพวกเขาอยู่”
“ซาตานแย่งชิงจิตวิญญาณของพวกเขาไปหรือครับพี่?”
“ก็ทำนองนั้นแหละ แต่ถ้าจะพูดให้ถูกยิ่งขึ้นก็คือ พวกเขาขายจิตวิญญาณให้แก่ซาตานต่างหาก”
“ซาตานจะมาแย่งชิงจิตวิญญาณจากพวกเราไหมครับพี่?”
“ไม่หรอกเคชคาล ถ้าหากเราไม่เป็นคนขายจิตวิญญาณของเราออกไปเองแล้ว ซาตานจะไม่มีวันแย่งชิงจิตวิญญาณไปจากตัวเราได้”
“แล้วพี่ว่าใครมีฤทธิ์มากกว่ากันครับ ระหว่างบิดาผู้สร้างจิตวิญญาณ ของพวกเรากับซาตาน?”
“แน่นอน ย่อมเป็นพระบิดาของพวกเราซิ”
“ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระบิดาจึงไม่จัดการเจ้าซาตานล่ะครับ?”
“ซาตานเกลียดพระบิดา แต่เพราะความเกลียดของมันจึงทำให้สายตาของมันมัวเมา กลายเป็นทำหน้าที่ปกป้องบ้านของพระบิดาไป กล่าวคือถ้าหากมีใครก็ตามที่คิดจะเป็นพระผู้สร้างเหมือนพระบิดา มันจะเข้าไปเป็นมารผจญและพยายามแย่งชิงจิตวิญญาณไปจากคนผู้นั้น”
เคชคาลหยุดนิ่งคิดไปสักครู่ เขาพยายามทบทวนสิ่งที่อิลลิออนได้บอกกับเขาไปเมื่อครู่ ก่อนที่จะหันกลับมาถามเขาต่อไปอีกว่า
“พี่ครับ พี่ไม่รู้สึกกลัวตายบ้างหรือครับ?”
“ไม่หรอก เพราะ ถึงพี่จะตายไป แต่จิตวิญญาณของพี่จะไม่เคย ห่างจากพระบิดาเลย ความตายทางจิตวิญญาณต่างหากคือความตายที่แท้จริง ดังนั้น เมื่อเปรียบกับความตายทางจิตวิญญาณแล้ว ความตายทางร่างกายหาใช่ปัญหาใหญ่แต่ประการใดเลย แน่ล่ะคนที่รักเราย่อมเสียใจเป็นธรรมดาหากเราตายจากพวกเขาไป”
“พี่เคยรักใครบ้างหรือเปล่าครับ?”
“เคยสิ เวลาพี่รักใครแล้วจะทุ่มเทชีวิตไปรักเขาเลยแหละ”
“พี่คิดว่าชีวิตเป็นสิ่งวิเศษมั้ยครับ?”
“แน่นอน แต่บางคราวก็ทุกข์บ้าง”
“ทุกข์ในวันนี้คือสิ่งที่จะไปเพิ่มสุขในวันหน้า” เคชคาลพึมพำออกมาเบาๆ
อิลลิออนอดทึ่งในเด็กหนุ่มคนนี้ไม่ได้ เขาถามกับตนเองว่ามีเยาวชนตะวันตกสักกี่คนกันที่จะตอบเช่นนี้ได้
“พี่มีคนที่ชอบอยู่หรือเปล่าครับ?” อยู่ดีๆ เคชคาลที่ถามโพล่งขึ้นมาอีก
“มีซิ”
“ใครครับ?”
“ใครก็ตามที่เป็นคนที่มีจิตวิญญาณ พี่จะชอบเขาทั้งนั้นแหละ”
“แล้วคนที่พี่ชอบมากเป็นพิเศษล่ะครับ?”
“ตอนนี้ไม่มี”
“เพื่อนก็ไม่มีหรือครับ?”
“ผมมีเพื่อนเป็นร้อยๆ เลย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวอ้าง ว้างเสมอ... ผมชอบพี่มาก รู้มั้ยครับ”
“ทำไมล่ะ”
“พี่เป็นคนดี ใช้ชีวิตเรียบง่าย จริงใจ มิหนำซ้ำยังฉลาดมากด้วย พี่เป็นคนใจดีอ่อนโยนก็จริง แต่ก็มีพลังความเข้มแข็งหาได้อ่อนแอไม่ ผมดูออกนะ อีกอย่างแม้พี่จะเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ก็ยังมีลักษณะเหมือนเด็กๆ อยู่เลย”
ใจความหลักๆ ในการสนทนาระหว่างอิลลิออนกับเคชคาลเรื่อง พระเจ้ากับจิตวิญญาณก็มีเท่านี้ อิลลิออนเอ็นดูเคชคาลมากจนถึงกับคิดจะพากลับไปเยอรมันด้วยกันด้วย แต่เป็นเคราะห์ร้ายของเคชคาลที่พลัดหลงไปในทะเลทราย จนอิลลิออนไม่สามารถตามตัวเขาได้พบ แต่อิลลิออนก็ไม่เคยลืมเด็กหนุ่มคนนี้และ การสนทนากับเขาในวันนั้นเลย
ตอนที่ 8
หุบเขาลึกลับ
ทิเบตในสมัยนั้นมีวัดหรือวิหารลึกลับอยู่หลายแห่งที่คนผิวขาวไม่เคยมีโอกาสได้เหยียบย่างไป เวลาที่อิลลิออนลักลอบปะปนกับฝูงชนผู้ที่ไปนมัสการที่วิหารเหล่านี้ เขาจะแสร้งทำตัวเป็นใบ้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพูดกับใคร จะได้ไม่มีใครสงสัยว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาจำต้องเอ่ยปากพูดออกมา ในตอนนั้นเขาปะปนกับฝูงชนเข้าไปดูพิธีเข้าทรงของพระลามะโดยยืนอยู่แถวหน้า ฝูงชนด้านหลังได้เบียดเข้ามาจนทำให้ผู้คนที่ยืนอยู่แถวหน้าเกือบกระแทกโดนปะรำพิธี พวกทหารยามที่เฝ้าอยู่ข้างๆ ปะรำพิธีจึงใช้แส้ฟาดฝูงชนที่อยู่แถวหน้า
ในขณะที่ปลายแส้จะหวดไปโดนเด็กและสตรีที่อยู่แถวหน้า อิลลิออนได้ก้มศีรษะหลบแส้แล้วใช้ตัวเองเข้าไปบังสาวน้อยชาวทิเบตที่มีหน้าตาสวยงามมากผู้หนึ่ง ที่ยืนอยู่ข้างๆ เขา โดยสัญชาตญาณสาวน้อยผู้นั้นก็ยกแขนขึ้นบังใบหน้าของเธอด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่วายที่ปลายแส้จะฟาดเฉี่ยวไปโดนแขนของนาง อิลลิออนจึงเผลอตัวถามอาการบาดเจ็บของนาง แต่นางกลับยิ้มตอบให้เขา และแนะนำตัวเองให้เขารู้ว่าเธอชื่อ โดลมา
ในตอนนั้นอิลลิออนก็ยังนึกไม่ถึงหรอกว่า การที่เขาได้มีโอกาสพบปะและรู้จักกับสาวงามที่ชื่อโดลมาในครั้งนั้น ได้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้ตัวเขาสามารถเดินทางไปถึงนครใต้พิภพที่เขากำลังเสาะหาอยู่ได้
ภายหลังจากที่ได้คุยกับโดลมาไม่นาน อิลลิออนก็รู้สึกทึ่งในความรู้อันกว้างขวางของโดลมาที่สูงกว่าชาวทิเบตทั่วไปเป็นอย่างมาก เธอบอกกับเขาว่า เธอเป็นศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งที่ชื่อ นาลปะ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและมั่งคั่งที่สุดในดินแดนแถบนี้
นาลปะ เป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงมากและพูดได้หลายภาษา นาลปะเป็นผู้ที่พาโดลมาไปเยือนอินเดียด้วยกันเมื่อสองปีก่อน มิหนำซ้ำนาลปะผู้นี้ยังเป็นผู้ที่มีพลังจิตอีกด้วย โดลมาถามเขาว่าเขาเชื่อเรื่องวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ กล่าวคือเขาเชื่อว่าในที่สุดแล้วชีวิตทุกชีวิตจะสามารถพัฒนาไปเป็นเทพได้หรือไม่ เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
อิลลิออนตอบเธอว่า
“โดลมา ถ้าหากชีวิตไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกระหว่างความมืดกับแสงสว่างได้แล้ว ชีวิตเช่นนั้นจะมีความหมายอันใดครับ ในความเข้าใจของผมชีวิตหาได้เป็นเส้นตรงเส้นเดียวไม่ แต่มันเป็นกระแสสองกระแส กระแสหนึ่งไหลขึ้นสูง อีกกระแสหนึ่งไหลลงต่ำ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ทำร้ายจิตวิญญาณของตัวเอง เมื่อนั้นคนผู้นั้น ก็จะถูกฉุดลงกระแสเบื้องต่ำทันทีครับ”
“ในกรณีไหนที่คุณเรียกว่า เป็นการทำร้ายจิตวิญญาณคะ?”
“เมื่อยามที่คุณสร้างบาปให้แก่จิตวิญญาณของคุณ”
“คุณหมายถึงการใช้ชีวิตเพื่อเสพกามเป็นหลักยังงั้นหรือคะ?”
“ก็ยังไม่ใช่ครับ เพราะมีหลายกรณีที่การเบียดเบียนเช่นนั้นไม่ได้เป็นการสร้างบาปให้แก่จิตวิญญาณครับ”
“แล้วกรณีไหนที่คุณถึงจะเรียกว่าเป็นการสร้างบาปให้แก่จิต วิญญาณล่ะคะ?”
“หนึ่ง การนำเอาจิตวิญญาณมาหากินหรือใช้เพื่อการพาณิชย์หรือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
สอง การนำเอาพระเจ้ามาเกลือกกลั้วบนดิน
สาม การยกตัวเองให้อยู่ในอันดับแถวเดียวกับพระเจ้าครับ”
“ถ้ากล่าวตามนิยามอันนี้ของคุณ คนประเทศนี้ส่วนใหญ่ก็สร้างบาปให้แก่จิตวิญญาณแล้วล่ะค่ะ”
“ไม่ใช่แค่ประเทศนี้ประเทศเดียวหรอกครับ ประเทศอื่นก็เช่นกัน”
“พอฉันได้ฟังคุณพูดเช่นนี้แล้ว ฉันอยากให้คุณได้พบกับท่านนาลปะ อาจารย์ของฉันจังเลยค่ะ”
“ตอนนี้ท่านอยู่ไหนครับ?”
“ท่านมักเดินทางเป็นประจำค่ะ ตัวท่านเองเพิ่งกลับมาจากเมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบตเมื่อสามอาทิตย์ก่อนนี่เอง อีกไม่นานท่านก็จะเดินทางไปหุบเขาลึกลับแล้วล่ะค่ะ”
“อะไรคือหุบเขาลึกลับครับ?”
“ถ้าหากคุณไม่รู้จักหุบเขาลึกลับ ฉันก็ไม่อาจเล่าให้ฟังมากไปกว่านี้ได้แล้วค่ะ”
เมื่อโดลมาเห็นอิลลิออนมีสีหน้าผิดหวัง เธอจึงปลอบเขาว่าเธอจะเขียนจดหมายแนะนำเขาให้ไปพบกับท่านนาลปะอาจารย์ของนาง บางทีท่านอาจจะยอมพาเขาไปที่หุบเขาลึกลับก็เป็นได้ เพราะตัวท่านเองมีฐานะสูงส่งไม่น้อยในสมาคมลับนั้น
เมื่อได้ฟังเช่นนั้นอิลลิออนถึงกับตาลุก ที่ตัวเขาได้พบหนทางไปนครใต้พิภพได้โดยบังเอิญ... เอ! หรือว่าในโลกนี้ความบังเอิญไม่มีอยู่จริงๆ สิ่งที่เราคิดว่าบังเอิญนั้น ความจริงมีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังแล้ว เขานึกอยู่เช่นนั้นในใจขณะที่เดินทางไปพบท่านนาลปะ พร้อมกับถือจดหมายแนะนำจากโดลมาไปด้วย
ในขณะที่อิลลิออนกำลังรอการปรากฏตัวของท่านนาลปะที่ห้องรับแขก เขาหวนรำลึกถึงบทสนทนาครั้งสุดท้ายระหว่างตัวเขากับโดลมาก่อนจากกัน
“คุณคิดว่าการมองโลกนี้ว่าเป็นทุกข์ และยอมละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ หาทางทำตัวเองให้หลุดพ้น นี่เป็นคำสอนที่ถูกต้องหรือเปล่าคะในทัศนะของคุณ?”
“ผมคิดว่าไม่ถูกต้องครับโดลมา โลกนี้ไม่ใช่มีแต่ทุกข์เท่านั้น มันยังมีความงาม ความปิติ ความเบิกบานดำรงอยู่ด้วยครับ”
“คุณหมายความว่าทัศนะเช่นนี้เป็นทัศนะที่เห็นแก่ตัวหรือคะ การที่คนเรามุ่งจะทำความดีเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือคะ?”
“โปรดอย่าเข้าใจในตัวผมผิดสิครับโดลมา ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นหรอกนะครับ ผมเพียงแต่ต้องการจะบอกว่า การที่คนเราจะทำตัวเหมือนกับเป็นพระเจ้าหรือเทพเจ้าเสียเองนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องครับ”
“พระเจ้าหรือเทพเจ้าคือตัวแทนแห่งความดีไม่ใช่หรือคะ การจะทำตัวให้เหมือนกับเทพเจ้า มิใช่เป็นการมุ่งไปสู่ความดีหรือคะ?”
“มนุษย์คือสิ่งที่พระเจ้าสร้างมาครับโดลมา สิ่งที่ถูกสร้างมา หาควรที่จะก้าวล่วงขอบเขตของตนเองจนถึงกับพยายามทำตัวเป็นเทพเจ้าไม่ ถ้ามนุษย์เราทำตัวเช่นนั้นเราจะไม่ต่างกับพวกเทพที่กบฏต่อพระผู้สร้างแต่อย่างใดเลย ในความเข้าใจของผมนะครับ ‘ความไม่เป็นปัจเจก’ มีอยู่สองประเภทด้วยกัน
ประเภทแรก คือ Being ประเภทหลังคือ Beness Being คือ สิ่งที่ดำรงอยู่อันเป็นคุณลักษณ์ของผู้ที่ถูกสร้าง แต่ Beness เป็นคุณสมบัติของ พระผู้สร้าง Beness จึงเป็นความไม่เป็นปัจเจกอย่าง ‘สัมบูรณ์’ อันเป็นสภาวะ ที่การแบ่งแยกระหว่างตัวเรากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราด้สลายไปแล้ว สภาวะเช่นนี้จึงเป็น สภาวะที่เกินความเป็นผู้ถูกสร้างครับ”
โดลมาตกอยู่ในความครุ่นคิด เหมือนยังไม่เข้าใจในคำพูดข้างต้นของอิลลิออน จากนั้นเธอหันไปถามเขาว่าเขาทานเนื้อสัตว์หรือไม่ เมื่อเขาตอบเธอว่า เขาเป็นนักมังสวิรัติ เธอจึงถามเขาว่าไม่ชอบทานเนื้อสัตว์หรืออย่างไร
“ก็ไม่เชิงไม่ชอบหรอกครับ”
“ถ้าเช่นนั้น ทำไมไม่ทานเนื้อล่ะคะ?”
“ผมรู้สึกว่าการทานเนื้อเข้าไป เป็นเหมือนกับการกินแขนข้างซ้ายของตัวเองครับ”
“ฉันเคยเจอคนที่ไม่ทานเนื้อเลยมากเหมือนกัน แต่เหตุผลที่พวกเขาไม่ทานเนื้อเพราะกลัวบาปค่ะ”
“บางทีเหตุผลในการกระทำ ก็มีความหมายมากกว่าตัวการกระทำนั้นเองนะครับ”
“ถ้าเช่นนั้นอย่างเรื่องการพูดปดล่ะค่ะ ท่านอาจารย์นาลปะเคยสอนฉันว่า ถ้าหากเราต้องการพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงส่งแล้ว จะต้องห้ามพูดปดอย่างเด็ดขาด แต่ตัวฉันไม่มีความมั่นใจเลยค่ะว่าจะสามารถฟันฝ่าชีวิตในโลกที่เป็นโลกีย์เช่นนี้ได้โดยไม่ต้องพูดปดเลย”
“โดลมาครับ ในโลกนี้มีคนที่ไม่ได้พูดความจริงอยู่ไม่น้อยก็จริงแต่คนที่เลวกว่านั้นคือ คนที่บิดเบือนข้อเท็จจริงแล้วสร้างภาพพจน์ว่าตัวเองไม่ได้โกหกต่างหากครับ การกระทำเช่นนี้ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นการลบหลู่พระผู้สร้างยิ่งกว่าการพูดปดในเชิงรูปแบบเสียอีกครับ
และอีกอย่างหนึ่งพอคนเราเข้าถึงเรื่องจิตวิญญาณแล้ว มาตรฐานหรือ มาตรวัดทางคุณค่าที่เป็นภาษาหรือรูปแบบภายนอกมันจะเริ่มไร้ประโยชน์แล้วล่ะครับ ถ้าไปมัวยึดติดอยู่กับมันบางทีอาจทำให้เราไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำ”
“...”
การปรากฏตัวของท่านนาลปะที่ห้องรับแขกทำให้อิลลิออนดึงตัวเองกลับมาสู่ปัจจุบันอีกครั้ง นาลปะบอกกับเขาว่า โดลมาได้เขียนจดหมายเล่าให้เขาฟังว่า คุณเป็นนักแสวงหาสัจธรรมที่มีทัศนะต่อเรื่องจิตวิญญาณอย่างเป็นตัวของตัวเอง
“โดลมาเป็นหญิงสาวที่ฉลาดมาก เธอมองใครแล้ววินิจฉัยไม่ค่อยผิดหรอก เธอยังบอกด้วยว่าคุณได้เดินทางมาจากที่ไกลมากและไม่แน่ใจว่าคุณเป็นชาวทิเบตหรือไม่ด้วย ขอให้คุณเล่าเรื่องของคุณให้ผมฟังโดยละเอียดจะได้มั้ย ผมรับรองว่าเรื่องที่ผมได้ยินจะไม่มีทางไปถึงหูคนอื่นเด็ดขาด”
อิลลิออนจึงเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับตัวเขาให้นาลปะทราบ
ภายหลังจากการคุยเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองของโลกในขณะนั้นแล้วนาลปะก็วกมาคุยเรื่องสิ่งเร้นลับและนิกายเร้นลับที่มีที่ตั้งอยู่ใน “หุบเขาลึกลับ” เขาถามอิลลิออนว่า
“คุณสนใจในเรื่องสิ่งเร้นลับมั้ย?”
“ผมสนใจครับ ถ้าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณแล้วผมสนใจทั้งนั้นแหละครับ แต่ผมได้ตั้งใจไว้ว่าตัวเองจะไม่เข้าไปสังกัดในนิกายหรือกลุ่มสมาคมใดๆ ครับ”
“ทำไมล่ะ?”
“เพื่อรักษาจุดยืนที่เป็นเอกเทศของตัวเองครับ”
“แต่สมาคมลับของพวกผมก็เคารพในเสรีภาพส่วนบุคคลนะ เพราะเสรีภาพทางจิตวิญญาณเป็นหลักการชี้นำของสมาคมลับของพวกเรา”
“สมาคมของพวกท่านมีผู้นำมั้ยครับ?”
“มี ท่านเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่มาก ผมคิดว่าท่านเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในโลกนี้ แต่พวกเราเต็มใจเชื่อฟังท่านเองนะ ท่านหาได้บังคับพวกเราไม่”
“ผมอยากทราบว่าแขกที่จะไปเยือนหุบเขาลึกลับนี้ได้ ใครเป็นคนเชิญครับ?”
“สมาชิกของสมาคมลับที่มีตำแหน่งสูงเป็นผู้เชิญ และเขาจะต้อง รับผิดชอบต่อแขกที่เขาเชิญมา ผมก็เป็นคนหนึ่งในสมาคมที่มีสิทธิ์เชิญแขกไปที่นั่นได้”
“แขกที่จะได้รับเชิญไปนั้น มีข้อผูกมัดอันใดหรือไม่ครับ?”
“ไม่มีเลย ตราบใดที่เขายังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมลับ เขาไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบใดๆ”
“คุณสมบัติของแขกที่จะได้รับเชิญไปล่ะครับ?”
“ผู้ที่มีความคิดและเจตนาที่จะช่วยเหลือมนุษย์ชาติอย่างจริงจังและจริงใจ”
“ท่านคิดว่าผมเป็นคนเช่นนั้นหรือเปล่าครับ?”
“ใช่ เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณต้องการจะไปเยือนหุบเขาลึกลับจริงๆ ผมจะขอรับผิดชอบในการเชิญคุณเป็นแขกเอง”
ตอนที่ 9
ลองภูมิ
ภายหลังจากที่นาลปะรับปากกับอิลลิออนว่า จะเชิญเขาไปเป็นแขกที่หุบเขาลึกลับแล้ว เขาก็ได้ทำการลองภูมิอิลลิออนทันทีด้วยการตั้งคำถามว่า
“ตั้งแต่คุณมานั่งรอผมที่ห้องรับแขกนี่ คุณได้ดื่มน้ำชาไป เก้า ถ้วยแล้ว คุณเคยคิดบ้างมั้ยครับว่าตัวเลขเก้า นี้เป็นเลขที่จะนำโชคมาให้”
“ตัวผมเองได้ค้นคว้าศาสตร์เร้นลับมาไม่น้อย รวมทั้งวิชาเลขศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ ทำให้ผมมีข้อสรุปของตัวผมเองว่า เลขเก้า ไม่ใช่เลขที่จะนำโชคมาให้ในทัศนะของผมครับ”
“ทำไมหรือ?”
“ผมได้ข้อสรุปว่า มนุษย์เราไม่ควรคิดอะไรเลยเถิดไปกว่า เลขห้า ครับ”
“เพราะอะไรหรือ?”
“เลขห้า เป็นเลขของมนุษย์ครับ ส่วนเลขที่เกินกว่านั้นจะนำมนุษย์เราไปสู่ความวุ่นวายและความเสื่อมสลาย ส่วนเลขที่ต่ำกว่านั้นเป็นเลขที่จะนำพาเราไปสู่พระผู้เป็นเจ้าครับ”
“แต่เลขเก้าเป็นเลขที่ดำรงอยู่จริงๆ ไม่ใช่หรือ?”
“นั่นก็เพราะว่า การคำนวณในหลักวิชาเลขศักดิ์สิทธิ์นั้นได้นับถึงเลขเก้าเป็นหนึ่งหน่วยต่างหากเล่าครับ ถ้านับโดยวิธีนี้เลขสิบก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยต่อไป แต่อันที่จริงการนับตัวเลขถึงเลขสี่เป็นหนึ่งหน่วยก็ทำได้เช่นกันนี่ครับ เลขหนึ่ง เลขสอง เลขสาม เลขสี่ ครั้นพอถึงเลขห้าก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยต่อไป ในกรณีนี้เลขเก้าจะไม่ดำรงอยู่นะครับ เลขหก เลขเจ็ด เลขแปด ก็เช่นกัน เลขเหล่านี้ในสายตาของผม มันไปเพิ่มความซับซ้อนและการยั่วยวนกิเลสของผู้คนมากกว่าครับ”
“ความคิดเช่นนี้ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ตัวผมเองก็ได้ค้นคว้าวิชาเลขศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จนตระหนักถึงความน่าอัศจรรย์ของมัน ผมได้ค้นพบว่า ตัวเลขเป็นสิ่งที่เชื่อมแนวคิดในเชิงนามธรรมกับคำสอนที่เร้นลับเข้าด้วยกัน หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า ตัวเลขเป็นตัวกลางชนิดหนึ่งที่เชื่อมมนุษย์กับพระเจ้าเข้าด้วยกันได้”
“ท่านนาลปะครับ บางคนอาจจะมองว่าวิชาเลขศักดิ์สิทธิ์ไม่มีพิษภัยก็จริง แต่สำหรับตัวผมแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นดาบสองคมนะ ครับ”
“ถ้าคุณพูดเช่นนี้ ผมก็ต้องขอตรวจสอบความเข้าใจในเรื่องตัวเลขของคุณทีละตัวว่า เห็นตรงกันกับผมหรือไม่แล้วละ เมื่อกี้คุณบอกว่าคุณไม่ชอบ ที่จะหาความหมายเลขที่เกินกว่าห้าขึ้นไป เพราะฉะนั้นผมจะถามความหมายของเลขหนึ่งถึงเลขห้าเท่านั้นตกลงมั้ย... เลขหนึ่ง เลขอันนี้หมายถึงเลขที่แสดงความเป็น หนึ่งเดียว เป็นตัวเลขของพระเจ้าที่ยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้ง คุณเห็นด้วยกับผมมั้ย”
“เห็นด้วยครับ เหมือนกับที่เราพิจารณาจุดๆ หนึ่งในอวกาศ จุด เป็นความคิดเชิงนามธรรมเท่านั้น เพราะจุดหาใช่มวลสารที่ดำรงอยู่จริงไม่ เลขหนึ่ง จึงเป็นเลขของสิ่งที่เป็นนามธรรมที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ครับ”
“ผมแปลกใจจริงๆ ที่คุณเอาวิชาเรขาคณิตมาใช้ในการศึกษาวิชาเลขศักดิ์สิทธิ์ด้วย นับเป็นมุมมองที่แปลกใหม่ทีเดียว แล้ว เลขสองล่ะ เราลองมาคิดกัน... เลขสองนี้เป็นตัวเลขที่แสดงการเปรียบเทียบระหว่างจิตวิญญาณกับวัตถุ คุณจะว่ายังไง”
“ผมมองต่างมุมกับคุณในเรื่องนี้ครับ”
“คุณไม่เห็นว่าเลขสองเป็นตัวเลขของการเปรียบเทียบหรือ?”
“ผมเห็นว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขของการเปรียบเทียบครับ แต่ไม่ใช่การเปรียบเทียบอย่างที่คุณเพิ่งกล่าวมาเมื่อครู่ เพราะถ้าเราเขียนจุดสองจุดลงในอวกาศ เราจะได้ตำแหน่งของเส้นตรง ครับ สิ่งนี้ก็ยังไม่ใช่มวลสารเช่นกัน ถ้าเช่นนั้นแล้ว เลขสองเป็นเลขของการเปรียบเทียบอะไร?... เมื่อกี้คุณบอกว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างจิตวิญญาณกับวัตถุ แต่ผมเห็นว่าไม่ใช่ครับ เพราะจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่วัตถุไม่ใช่ครับ ผมจึงเห็นว่า เลขสองหมายถึงการเชื่อมจุดสองจุดที่ต่างก็ไม่ใช่มวลสารวัตถุเข้าด้วยกัน กลายเป็นเส้นนามธรรมซึ่งทำการเปรียบเทียบลักษณะจิตวิญญาณสองชนิดที่แตกต่างกันครับ... เพราะผมมีความเชื่อว่า ในโลกนี้จะต้องมีลักษณะจิตวิญญาณที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเป็นปฏิปักษ์กันดำรงอยู่แน่ๆ และนี่แหละครับคือความหมายของเลขสองในวิชาเลขศักดิ์สิทธิ์ในทัศนะของผม”
“โอ ผมไม่เคยฟังการตีความเช่นนี้มาก่อนเลย ถ้าคุณไปที่นครใต้พิภพในหุบเขาลึกลับ คุณจะต้องทำประโยชน์ให้แก่พวกเรามากแน่ๆ”
หลังจากนั้นอิลลิออนได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องเลขกับนาลปะ ต่อไปอีกว่า... เลขสามเป็นตัวเลขที่พลวัต (Dynamic) ที่สุด... ในขณะที่เลขสี่เป็น ตัวเลขของวัตถุ เพราะเลขสามซึ่งเป็นจุดสามจุดในอวกาศที่สามารถเขียนเป็นรูปสามเหลี่ยมได้นั้น ยังจัดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรมอยู่ แต่ เลขสี่ เป็นตัวเลขแรกที่เข้าสู่ส่วนที่เป็นรูปธรรมแล้ว เลขสี่จึงเป็นเลขของจักรวาลที่มองเห็นได้ มันจึงเป็นเลขของวัตถุ อิลลิออนกล่าวต่อไปว่า
“ส่วน เลขห้า นั้นขอให้เราลองจิตนาการถึงจุดห้าจุดในจักรวาลดูสิครับ สมมุติว่าเป็น จุด A จุด B จุด C จุด D จุด E นะครับ ความจริงมีแค่ ABCD เราก็ได้วัตถุอันหนึ่งเชิงเรขาคณิตแล้ว และ ABCE ก็เป็นวัตถุอีกอันหนึ่งในเชิงเรขาคณิตด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเราสามารถได้วัตถุถึงห้าชนิดที่แตกต่างกันขึ้นมาเลยทีเดียว คือ ABCD , ABCE , ABDE , ACDE , BCDE... เลขห้า จึงเป็นเลขของสิ่งที่ถูกสร้างครับ สิ่งที่ถูกสร้างจึงบรรลุถึงจุดสุดยอดของความมีตัวตน ด้วยเลขห้าอันนี้ เลขห้าจึงเป็น ตัวเลขของชีวิต ที่ดำรงอยู่ในห้าโลกหรือห้ามิติพร้อมๆ กันในขณะเดียว กล่าวคือ มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ในโลกของผัสสะทั้งห้า ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส หรือจะกล่าวได้ว่า มนุษย์เราอยู่ในโลกของกาย อารมณ์ ความรู้สึก (เวทนา) สติปัญญา และเจตนารมณ์ ที่ซ้อนกันอยู่ครับ”
“.....”
“คราวนี้ลองมาดู เลขหก กันนะครับ จุดหกจุดในอวกาศจะให้แนวคิดในเชิงเรขาคณิตที่เกินความเข้าใจของเรา เพราะฉะนั้นผมจึงมีความเห็นว่า ถ้าพิจารณาในวิชาตัวเลขศักดิ์สิทธิ์แล้ว ตัวเลขที่เกินกว่าเลขห้าขึ้นไปจะก่อผลให้เกิดความแตกแยกในคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ครับ ตัวเลขที่เกินกว่าห้าขึ้นไปจึง เป็นตัวเลขของความวิบัติหรือหายนะครับ”
“โอ ผมนึกไม่ถึงเลยว่าผมจะได้เรียนรู้อะไรมากถึงขนาดนี้ภายใน เวลาแค่สี่ห้านาทีนี้ ทัศนะของคุณต่างจากวิธีคิดที่พวกผมเคยชินมากเลย ผมจึงอยากจะถามคุณอีกข้อว่า ตัวคุณได้นิยาม ความหมายของวัตถุไว้อย่างไร?”
“วัตถุ คือ สนามรบของลักษณะจิตวิญญาณที่แตกต่างกันสองชนิดครับ”
“นิยามอันนี้พวกผมก็มองต่างไปจากของคุณ พวกเรามีทัศนะว่ามีลักษณะจิตวิญญาณเพียงอันเดียวเท่านั้นครับ และมันเป็นปรปักษ์กับวัตถุ”
“เรื่องนี้เป็นเรื่องทางประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนครับ ท่าน นาลปะ เราคงไม่อาจหาคำตอบได้จากการสนทนาเท่านั้นหรอกครับ”
“เอาไว้ผมพาคุณไปที่นครใต้พิภพแล้ว เราค่อยสนทนาเรื่องนี้กันต่อก็แล้วกันนะ”
ตอนที่ 10
นครใต้พิภพ
นครใต้พิภพที่อิลลิออนติดตามนาลปะไปเยือนนั้น อยู่ในระหว่าง หุบเขาแห่งหนึ่งของทิเบตตอนกลาง บริเวณที่เรียกกันว่าหุบเขาซันโป ตรงกลางมีหลุมลึกกว้างราวๆ 10 เมตร รายรอบด้วยเพดานกระจกที่ตีกรอบเป็นรั้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 40 เมตร มีอยู่เจ็ดแห่งด้วยกัน
ใกล้ๆ กับรั้วไม้ที่มีความสูง 2.5 เมตร นี้ มีบันไดหินสำหรับลงไปใต้ดิน ห่างจากนครออกไปทั้งสองด้านราวๆ 400 เมตร มีแผ่นหินใหญ่สีขาวตั้งอยู่ด้านละสามแผ่นบอกเขตทางเข้าสู่นครใต้พิภพที่เชื่อกันว่า อาจเป็นที่ตั้งของ ‘ศัมภาลา’
เพียงเข้ามาพำนักอยู่ในนครใต้พิภพนี้ได้ไม่ถึงหนึ่งวัน อิลลิออนก็เริ่มตระหนักถึงความผิดปกติในบรรยากาศของเมืองใต้ดินแห่งนี้ที่ทำให้ความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเฉื่อยชาลง แขกที่มาเยือนที่นี่พร้อมกับเขามีหลายคนเหมือนกัน ส่วนใหญ่ต้องการได้ “อภิญญา” หรือฤทธิ์เดช จึงเข้ามาเยือนและสมัคร เป็นสมาชิกของนิกายเร้นลับที่นี่
อิลลิออนได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ต่อให้ได้อภิญญาไปแล้วจะเกิดประโยชน์อันใด ถ้าหากคนผู้นั้นสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะที่คนในนิกายนี้มองว่าโลกนี้เป็นการต่อสู้ทางจิตวิญญาณ ระหว่างวัตถุกับจิต แต่ตัวเขากลับเห็นว่าการต่อสู้ทางจิตวิญญาณที่แท้จริงกลับเป็นการต่อสู้ระหว่างจิตวิญญาณ 2 ประเภท คือ จิตวิญญาณที่ใฝ่ดี กับ จิตวิญญาณที่ใฝ่เลว ต่างหาก โดยที่วัตถุ (รูป) เป็นเพียง สนามรบ ของสงครามนี้เท่านั้น..
ในคืนนั้น ที่เขาพักแรมอยู่ในนครใต้พิภพ อิลลิออนรู้สึกเป็นไข้ และฝันร้ายทั้งๆ ที่เขาไม่เคยเจ็บไข้มาก่อนในช่วงหลายปีมานี้ อย่างไรก็ดีเขาก็ยังรอโอกาสที่จะได้เจอตัวของ “ผู้นำ” นิกายเร้นลับแห่งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย และเมื่อเขาได้เจอกับผู้นำนิกาย คำแรกที่ผู้นำนิกายเอ่ยปากกับเขาก็คือ
“พ่อหนุ่ม เธอมีจิตใจที่แข็งแกร่งดุจเหล็กกล้า แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอหรอก เธอมีพลังที่ไม่รู้จักหมดสิ้นในการบรรลุความสำเร็จในด้านต่างๆ ที่เธอคิดจะกระทำ แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอหรอกนะ เธอจะต้องได้ พลังอำนาจ ที่สามารถ ทำให้โลกธรรมชาติเชื่อฟังคำสั่งของเธอได้ด้วย เพราะเธอต้องไม่ลืมว่าการมีความต้องการในวัตถุกับการสั่งให้วัตถุเป็นดังใจของตนมันเป็นคนละสิ่งกัน”
ข้อเสนอของท่านผู้นำนิกายเร้นลับนี้ฟังดูแล้วมีเสน่ห์ยั่วยวนใจก็จริง แต่อิลลิออนได้ตัดสินใจแล้วที่จะใช้ชีวิตในฐานะ “ผู้ที่ถูกสร้าง” อย่างมีคุณค่าที่สุด หาใช่เป็นตัวพระผู้สร้างเองไม่ เขาตระหนักดีว่า “ผู้นำ” คนที่เขากำลังพูดจาอยู่ด้วย นี้เป็นผู้ที่มีอำนาจพิเศษหรืออภิญญาจริง เพียงแต่ลึกๆ แล้วเขาไม่แน่ใจว่าท่าน “ผู้นำ” หรือท่าน “อาจารย์ใหญ่” ผู้นี้รับใช้ “แสงสว่าง” หรือว่ารับใช้ “ความมืด” กันแน่..
เช้าวันที่สามที่เขาพำนักอยู่ในนครใต้พิภพ อิลลิออนตัดสินใจลอบออกไปอาบฝนที่กำลังตกกระหน่ำอยู่เหนือพื้นดิน เพราะ “น้ำ” มีคุณสมบัติพิเศษ ในการชำระคราบไคลของมนต์ดำหรือคุณไสย
ภายหลังจากที่อาบน้ำฝนอยู่เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเต็ม สมองและจิตใจของเขาก็กลับคืนสู่สภาพที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เหมือนเดิม และค้นพบความจริงว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในนครใต้พิภพนี้รวมทั้งตัวนาลปะด้วย ล้วนตกอยู่ภายใต้มนต์ดำของคุณไสยจนขาดอิสรภาพทางจิตวิญญาณกันทั้งสิ้น เขาจึงได้คำตอบแล้วว่าผู้นำนิกายเร้นลับผู้นี้คือ ซาตาน ที่แฝงอยู่ในคราบร่างของ “เทพแห่งแสงสว่าง” ผู้ปรารถนาจะกอบกู้โลกต่างหาก
เขาจึงตัดสินใจลอบออกจากนครใต้พิภพแห่งนั้น แต่กว่าจะเดินทางออกมาจนพ้นเขตของอิทธิพลแห่งอำนาจมืดของนิกายเร้นลับแห่งนี้ได้ เขาก็แทบเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว
อิลลิออนได้ทราบในภายหลังว่า หลังจากที่เขาออกจากนครใต้พิภพได้ไม่นาน นาลปะก็เสียชีวิตอย่างกระทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ เขาจึงกล้าเปิดเผยเรื่องราวของนครใต้พิภพออกมาโดยไม่ต้องห่วงความปลอดภัยของนาลปะ ประสบการณ์ในช่วงเวลาสามวันในนครใต้พิภพได้ให้บทเรียนอันล้ำค่าแก่อิลลิออนว่า
“ไม่มีใครหรอกที่สามารถจะเป็นแสงแห่งพระจิตให้กับตัวเราได้ เราจะต้องเป็นผู้นำตัวของเราเอง และความสูงส่งทางจิตวิญญาณมิใช่สิ่งที่ใครคน อื่นจะมาทำให้ได้หรือยกระดับให้ได้ เพราะพวกเราแต่ละคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ภายในตัวของพวกเรา
ขอเพียงแต่เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น เราก็จะได้มันมาโดยวิธีการวิปัสสนา ด้วยการมีความเข้าใจในตนเอง และพบเห็นธาตุแท้ของสรรพสิ่ง ผู้ใดก็ตามที่มุ่งหวังจะฝึกอภิญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งความสามารถทางจิตแต่เพียงอย่างเดียว มีโอกาสง่ายมากที่จะตกไปสู่บ่วงของมนต์ดำหรือคุณไสยได้
ทางรอดที่แท้จริงจึงมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือการขจัดอวิชชา ในตัวของเราให้หมดไปด้วยการวิปัสสนา ประสบการณ์สามวันในนครใต้พิภพแห่งนั้นมีค่าเท่ากับสิบปีในการฝึกฝนทางจิตวิญญาณของผม ถ้าผมไม่ผ่านประสบการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น ผมก็คงไม่พบคุณค่าที่แท้จริงของจิตวิญญาณได้
ปัญหาทั้งหลายในโลกนี้เป็นปัญหาส่วนบุคคลพร้อมๆ กับที่เป็น ปัญหารวมหมู่ คนเราสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ด้วยแบบอย่างที่ตนเองดำเนินชีวิตและก็ได้รับผลสะเทือนจากสิ่งแวดล้อมนั้น การรักษาความเป็นปัจเจกโดยตระหนักถึงหน้าที่ที่ตัวเองมีต่อชีวิต และพระผู้สร้างจึงน่าจะมีคุณค่ามากกว่าการ ทำลายความเป็นปัจเจกภายใต้ชื่อของการแสวงหาความหลุดพ้นทางศาสนา”
บทส่งท้าย
...หนังสือบันทึกการผจญภัยที่เร้นลับเล่มนี้ของ ธีโอดอร์ อิลลิออน ได้ส่งผลสะเทือนต่อฮิตเลอร์มากจนถึงกับมีการส่งคณะสำรวจเดินทางไปทิเบตทุกปีหลังจากนั้น จนกระทั่งก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
เท่าที่ผ่านมาเวลานักประวัติศาสตร์กล่าวถึงฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขา มักจะวิเคราะห์ในด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยละเลยด้านที่คลั่งไคล้ในอภิญญา (OCCULT) ของตัวฮิตเลอร์ และพรรคนาซีไปอย่างน่าเสียดาย
ในบันทึกอัตชีวประวัติของฮิตเลอร์ มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าได้พบกับผู้วิเศษที่โลกใต้พิภพ” ฮิตเลอร์หมายถึงนครใต้พิภพที่อิลลิออนเคยไป ใช่หรือไม่? เป็นไปได้หรือไม่ว่าฮิตเลอร์ได้ขายจิตวิญญาณของเขาให้กับผู้นำนิกายเร้นลับผู้นี้เพื่อแลกมากับความมักใหญ่ใฝ่สูงในการครองโลกของตน? ฮิตเลอร์ ได้ตายจากโลกนี้ไปเป็นเวลาห้าสิบปีแล้วก็จริง แต่โลกนี้ยังหาได้รอดพ้นไปจากเงื้อมมือหรืออำนาจมืดภายใต้คำสาปแช่งของเขาก่อนตายแต่อย่างใดไม่
ผม(สุวินัย) ชื่นชมใน จิตใจที่เข้มแข็งและมีความเป็นตัวของตัวเอง ในทางจิตวิญญาณของ ธีโอดอร์ อิลลิออน เป็นอย่างมาก เพราะผมเชื่อว่าคุณสมบัติเช่นนี้แหละที่สำคัญที่สุดที่คนเราทุกคนควรจะมีในยุคปัจจุบัน