19 แนวทางแบบบูรณาการกับการข้ามพ้นทักษิโณมิกส์

19 แนวทางแบบบูรณาการกับการข้ามพ้นทักษิโณมิกส์


แนวทางแบบบูรณาการกับการข้ามพ้นทักษิโณมิกส์



ในปัจจุบัน ผู้ที่ออกมาวิพากษ์ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณนั้น นอกจากกลุ่มปัญญาชนฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม กับกลุ่มปัญญาชนฝ่ายโพสต์โมเดิร์นแล้วก็แทบไม่มีกลุ่มอื่นเลยที่สามารถวิพากษ์ได้อย่างมีพลัง จะว่าไปแล้วฐานคิดในการวิพากษ์ ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณของปัญญาชนเหล่านี้ ทั้งที่ปรากฏในนิตยสาร "ฟ้าเดียวกัน" (มกราคม-มีนาคม2547) และในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ" (มีนาคม 2547) จะไม่ต่างกันมากนัก กล่าวคือ ส่วนใหญ่จะเป็นการวิพากษ์ในระดับ legitimacy หรือระดับความชอบธรรม ซึ่งเป็นการวิพากษ์ "มาตรการ" ที่ทำให้แนวทางหรือโลกทัศน์หนึ่งๆ (ในกรณีนี้คือ ทักษิโณมิกส์ และ ระบอบทักษิณ) สามารถทำงานได้ดีในระดับจิต (ระดับมีม) ของมันหรือไม่


ยกตัวอย่างเช่น ในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ" (สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน)


บทความ "7ปมปริศนาในยุคทักษิณานุวัตร" ของ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ


บทความ "รัฐบาลทักษิณกับการ (ไม่) ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ" ของ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์


บทความ "การผูกขาดกับระบบทุนนิยมไทย" ของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ล้วนเป็นการวิพากษ์ในระดับ legitimacy ทั้งสิ้น


ลำพังแค่การวิพากษ์ในระดับ legitimacy อย่างเดียว ย่อมไม่สามารถ "ก้าวข้าม" หรือ "ข้ามพ้น" สิ่งที่ถูกวิจารณ์นั้นได้ ไม่ว่าจะวิพากษ์อย่างรุนแรงเพียงใดก็ตาม นานแค่ไหนก็ตาม


การจะ "ข้ามพ้น" ทักษิโณมิกส์ได้ จะต้องเป็นการวิพากษ์ในระดับ authenticity หรือระดับความเป็นของแท้ของแนวทางหรือโลกทัศน์นั้นด้วย ซึ่งเป็นการวิพากษ์จากระดับจิตที่สูงกว่าที่สามารถเสนอชี้แนะ "หนทาง" ที่มีด้านลึก หรือมีระดับความลึกที่จะทำให้สิ่งที่ถูกวิจารณ์นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือยกระดับตัวเอง วิวัฒนาการตัวเองไปสู่ระดับจิตหรือโลกทัศน์ที่สูงกว่าเดิม


งานวิพากษ์ทักษิโณมิกส์แบบนี้ เท่าที่เห็นตอนนี้ก็มีแค่

(1) "โรดแมปประเทศไทย" (สำนักพิมพ์สายธาร, กุมภาพันธ์ 2547) ของ ธีรยุทธ บุญมี จาก มีมสีเขียว

(2) "การจรรโลงจริยธรรมภายใต้อำนาจการเมืองขั้วเดียว" (ใน "รู้ทันทักษิณ") ของ ส.ศิวรักษ์ จาก มีมสีเขียวอมเหลือง

และ (3) "รัฐบาลทักษิณกับความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์" (ใน "รู้ทันทักษิณ") ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จาก มีมสีเหลือง เท่านั้น


อย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปแล้วในตอนก่อนๆ ของข้อเขียนชุดนี้ว่า ในการตรวจสอบระดับ "ขาลง" ของแนวทางใดๆ ก็ตาม ปัญหาความรุนแรงในระดับ legitimacy จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเสมอ เพราะมันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า สุดท้ายแล้ว สังคมนั้นจะยินยอม พร้อมใจ ยอมรับแนวทางนั้นหรือไม่ แต่การที่สังคมนั้น ยอมรับอย่างท่วมท้นในแนวทางหนึ่งๆ (กรณีนี้คือ ทักษิโณมิกส์) ในช่วงขณะหนึ่ง มันก็มีความหมายแค่แนวทางนั้น มี legitimacy สูงมากเท่านั้น ยังมิได้มีเครื่องรับประกันว่า แนวทางนั้นจะมี authenticity ที่ลึกมากตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ข้อสรุปของข้อเขียนชุดนี้ก็คือ


(1) ทักษิโณมิกส์ ยังไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับ authenticity เลย แม้จนบัดนี้ มิหนำซ้ำระดับ legitimacy ก็ลดลงไปไม่น้อยด้วย ภายหลังย่างเข้าปี 2547 เพราะจุดอ่อนต่างๆ ในระบอบทักษิณ เริ่มเผยออกมาให้สังคมเห็นชัดมากขึ้นในหลายจุด ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวอย่างครอบคลุมไปแล้วในตอนก่อนๆ


(2) แต่แนวทางของพรรคฝ่ายค้าน ในขณะนี้และแม้จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีทั้งระดับ legitimacy และระดับ authenticity ที่สมควรกลับมาครองอำนาจอีก จะว่าไปแล้ว ข้อเขียนชุดนี้ เริ่มต้นจากการรับรู้เช่นนี้ การรับรู้ที่ว่า แนวทางของพรรคฝ่ายค้านในขณะนี้ มิใช่เป็นความหวังที่ผู้คนจะฝากความหวังและอนาคตของประเทศนี้เอาไว้ได้


(3) หากระบอบทักษิณและผู้นำมีศักยภาพที่จะยกระดับทางจิตให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้ เขาจะต้องเป็นผู้ริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของตัวเอง "ข้ามพ้น" ข้อจำกัดเชิงอำนาจนิยมและการทับซ้อนผลประโยชน์ กับการมองว่าเงินสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง รวมทั้งการมุ่งเน้นการพัฒนาทางวัตถุจนเกินพอดีให้ได้เสียก่อน


เขาจะต้องใช้แนวทางแบบโพสต์โมเดิร์น ในการพัฒนาประเทศ มิใช่แนวทางแบบโมเดิร์นกลายพันธุ์ (อำนาจนิยม) อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เขาควรเป็นผู้ริเริ่ม "การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2" ด้วยตัวของเขาเอง


เขาจะต้องเอา "มรรค 8 แห่งการพัฒนา" ของ น.พ.ประเวศ วะสี (ใน "รู้ทันทักษิณ") มาเป็นแนวทางหลักแทนทักษิโณมิกส์ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เพราะโครงสร้าง "ฟองสบู่" (ที่ควบคุมไม่ได้หรอก) ที่ทักษิโณมิกส์กำลังปลุกให้คืนชีพอยู่นี้ พร้อมที่จะกลายเป็น "โครงสร้างมรณะ" ได้ทุกเมื่อ


(4) หาก ผู้นำในระบอบทักษิณสามารถยกระดับจิต เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของตนเองได้ หนทางของสังคมไทยที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนคงไม่ยากลำบากหรือยาวนานเกินไปนัก แต่ถ้าเขาทำไม่ได้และกว่าที่ พลังที่สาม (พลังการเมืองที่ไม่ใช่พรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นพลังที่มีศักยภาพพอที่จะแบกรับ ความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์แทนทักษิโณมิกส์) จะเติบโตขึ้นมาได้ทัน (อย่างเร็วคงอีกสิบถึงยี่สิบปีหลังจากนี้) บ้านเมืองนี้คงจะเกิดความวุ่นวายหรือเกิดวิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้นเสียก่อนเป็นแน่


(5) เพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า การปูพื้นฐานโลกทัศน์แบบบูรณาการที่แท้จริงของมีมสีเหลือง (มิใช่ของมีมสีส้มของทักษิโณมิกส์) เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสังคมนี้จำเป็นต้องมี ผู้นำจากระดับจิตมีมสีเหลืองในทุกวงการ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับสังคมนี้


********************
 


อะไรคือแนวทางแบบบูรณาการขนานแท้? แนวทางแบบบูรณาการของมีมสีเหลือง ที่มีระดับความลึกของ authenticity อย่างแท้จริง?


"บูรณาการ" หมายถึง "หลอมรวม, มีสมดุล, ครอบคลุม"


แนวทางแบบบูรณาการ จึงแตกต่างจากแนวทางอื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ แนวทางแบบ mythic (ตามตำนานความเชื่อ), แนวทางแบบ rational-scientific (ตามตรรกะเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์) และแนวทางแบบ pluralistic (พหุนิยม, โพสต์โมเดิร์น) (อนึ่งจะใช้คำว่า โลกทัศน์ แทนคำว่า แนวทาง ก็ได้เช่นกัน) เพราะแนวทางเหล่านี้ "กีดกัน" (exclude) แนวทางอื่น โดยเห็นว่าด้อยกว่าหรือถูกต้องน้อยกว่าแนวทางของตน


เป็นที่เห็นได้ชัดว่า แนวทางของทักษิโณมิกส์ เป็นแนวทางแบบ rational-scientific ที่แปลงโฉมอยู่ในรูปของ "บูรณาการ" แต่มันไม่บูรณาการจริง เพราะมันมีลักษณะที่ "กีดกัน" แนวทางอื่นสูงมาก


ปัจจุบัน วิธีคิดแบบ rational-scientific และ pluralistic มีฐานะครอบงำในโลกตะวันตก ซึ่งก่อให้เกิดการวิเคราะห์แบบแยกส่วน และไม่สมบูรณ์ในการเข้าใจปัญหาและแก้ปัญหา แนวทางแบบนี้จึงด้อยประสิทธิภาพและด้อยประสิทธิผล รวมทั้งขาดสมดุลกว่าแนวทางแบบบูรณาการ


แนวทางแบบบูรณาการอาจดูซับซ้อนในตอนแรกเริ่มเรียนรู้ แต่ภายหลังจากที่ได้เข้าใจหลักการของมันแล้ว ผู้นั้นจะพบว่า มันง่ายและตรงไปตรงมาดีเหลือเกิน


วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความเข้าใจแนวทางแบบบูรณาการก็คือ ก่อนอื่นผู้นั้นต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่า แนวทางแบบบูรณาการถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมเกี่ยวกับรูปแบบองค์ความรู้ต่างๆ ของมนุษยชาติเกือบทั้งหมดเท่าที่รับรู้ได้ในปัจจุบัน (a cross cultural comparison of most of the known forms of human inquiry)


ผลลัพธ์แห่งการศึกษาที่ได้ออกมาก็คือ แผนที่เกี่ยวกับความสามารถต่างๆ ของมนุษย์ที่ครอบคลุมอย่างบูรณาการ (integral map of human capacities) ซึ่งมีอยู่ 5 ด้านหลักๆ ด้วยกัน


ไม่ว่านักคิดสาขาใดก็ตาม หากเอา 5 ด้านของแผนที่เชิงบูรณาการเกี่ยวกับความสามารถของมนุษย์นี้ มาพิจารณาประกอบในทุกๆ ปัญหาที่นักคิดผู้นั้นสนใจ นักคิดผู้นั้นย่อมสามารถค้นพบ วิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมได้ ที่ครอบคลุมกว่าเดิมได้


5 ด้านของแนวทางแบบบูรณาการนั้้น ได้แก่

(1) ภาค (quadrants)

(2) ระดับ (levels)

(3) เส้น (lines)

(4) สภาวะ (states)

(5) ประเภท (types)


ทั้ง 5 ด้านนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนอย่างไม่มีข้อยกเว้น สิ่งที่แนวทางแบบบูรณาการเรียกว่า"ภาค" นั้น หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ว่าภาษาหลักของมนุษย์ล้วนมีสรรพนามบุคคลที่หนึ่ง บุคคลที่สอง และบุคคลที่สามดำรงอยู่ (เช่น ฉัน, เรา/ท่าน และมัน) ซึ่งสะท้อน 3 มิติแห่งความจริง (I, We และ it) ที่แสดงออกมาในรูปขององค์ความรู้ที่เรียกว่า ศิลปะ (art), คุณธรรม (moral) และศาสตร์ (science) โดยที่ศิลปะเป็นการแสดงออกในเชิงความงามของ "ฉัน" (I)


คุณธรรม เป็นการแสดงออกในเชิงความดีของ "เรา" (We)


ศาสตร์ เป็นการแสดงออกในเชิงความจริงของ "สิ่งต่างๆ " (its)


อนึ่งตัว "สิ่ง" (it) เป็นได้ทั้งเอกพจน์ และพหูพจน์ เพราะฉะนั้นจาก 3 มิติจึงกลายเป็น 4 มิติ หรือ จตุรภาคแห่งความจริง (reality) ของมนุษย์ หรือ 4 มิติของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ มิติทางเจตนารมณ์ มิติทางวัฒนธรรม มิติทางพฤติกรรม และมิติทางสังคม (ดังตารางต่อไปนี้)


แนวทางแบบบูรณาการเพียงแค่ต้องการบ่งชี้ให้เห็นว่า ความจริงหลากมิติเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่แล้วในทุกๆ วัฒนธรรม การแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ จึงต้องสัมผัสให้ถึงรากเหง้าในทุกมิติเหล่านี้ เพราะมิติทุกมิติเหล่านี้ ล้วนทำงานของมันอยู่ตลอดเวลาต่อทุกผู้คน และในทุกเหตุการณ์


ยกตัวอย่างเช่น แนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ ในช่วงแรกๆ ของรัฐบาลเห็นได้ชัดว่า มุ่งด้านนอก แต่เพียงอย่างเดียว (ออกกฎอัยการศึก, อุ้ม, ทุ่มเงินพัฒนา) โดยละเลยด้านใน ทั้งในแง่ความรู้สึกของผู้คน และความเชื่อทางศาสนาอิสลามของผู้คน เหล่านี้เป็นต้น (ดูตารางตัวอย่างโมเดลการบริหารเศรษฐกิจแบบบูรณาการด้วยหลักจตุรภาคประกอบ)



สิ่งที่แนวทางบูรณาการเรียกว่า "ระดับ" นั้นหมายถึง ระดับโครงสร้างของจิต ซึ่งมีอยู่ 10 ระดับ ตั้งแต่ (1) sensorimotor (ผัสสะ) (2) emotional sexual (จิตที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ ความรู้ หรือแรงผลักดันทางฮอร์โมน โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล หลักศีลธรรม) (3) rep-mind จิตในระดับ มายาศาสตร์ (magic) (4) rule/role mind จิตในระดับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (mythic)


(5) formal-reflexive จิตในระดับใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์


(6) vision-logic จิตในระดับพหุนิยมแบบปัญญาชนที่ยอมรับเข้าใจความเห็น ความเชื่อที่ต่างไปจากตนอย่างเคารพซึ่งกันและกัน และอย่างไม่มีอคติ


(7) psychic จิตที่เริ่มข้ามพ้น "ตัวกู-ของกู" (transpersonal) ขั้นแรก (nature mysticism)


(8) subtle จิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เป็นระดับจิตที่เคยมีประสบการณ์โดยตรงทางจิตวิญญาณแบบ มีรูป (deity mysticism)


(9) causal จิตที่ละเอียดถึงขั้น นิรรูป (formless mysticism)


(10) Nondual จิตที่ข้ามพ้นความเป็นคู่ (อทวิภาวะ) (nondual mysticism)


คนเราจะคิดแบบบูรณาการได้จะต้องมีระดับจิตสูงกว่าระดับที่ 6 ขึ้นไป ปัญหาของระบอบทักษิณก็คือ ตัวผู้นำเองก็ยังมีระดับจิตอยู่ในระดับ 5 ใกล้ 6 ขณะที่กลไกระบบราชการที่เป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนใหญ่ (ระดับล่าง) ยังอยู่แค่ระดับ 4 ส่วนบน (ไม่ทั้งหมด) ก็แค่ระดับ 5 เท่านั้น


สิ่งที่แนวทางบูรณาการเรียกว่า "เส้น" นั้นหมายถึง เส้นแห่งพัฒนาการความเป็นมนุษย์อันหลากหลายของคนคนหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากคนอื่นๆ เช่น บางคนอาจฉลาดแต่เลว หรือบางคนทั้งแข็งแรง ทั้งฉลาด ทั้งนิสัยดี แต่ขาดมนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น ปัญหาของผู้นำแห่งระบอบทักษิณก็คือ เส้นแห่งการพัฒนาความรับรู้ (cognitive development) กับเส้นแห่งการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ และศีลธรรมนั้น ไม่สมดุลกัน แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ และจะว่าไปแล้ว คนเราทุกคนต่างก็บกพร่องในบางเส้นแห่งพัฒนาการความเป็นมนุษย์กันทั้งนั้นแหละ สำคัญอยู่ที่ว่า ผู้นั้นจะยอมรับข้อบกพร่องของตนเองแล้วพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่เท่านั้น


สิ่งที่แนวทางบูรณาการเรียกว่า "สภาวะ" นั้นหมายถึง สภาวะในขณะตื่น ขณะฝัน และขณะนอนหลับ ซึ่งสะท้อน สภาวะของจิตที่แตกต่างกันในคนคนเดียวกัน (ระดับของความมีสติรู้ตัว รู้ทันความคิดของตัวเอง ซึ่งนำไปสู่ระดับความสามารถในการควบคุม กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของผู้นั้น) สุดท้ายสิ่งที่แนวทางบูรณาการเรียกว่า "ประเภท" นั้นหมายถึง ประเภทของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ประเภทของการเรียนรู้ในแบบของผู้ชาย ซึ่งต่างไปจากในแบบของผู้หญิง ซึ่งทำให้วิธีการจัดการกับปัญหาไม่เหมือนกันเหล่านี้ เป็นต้น


ด้วยความเข้าใจ 5 ด้านดังข้างต้น แนวทางแบบบูรณาการจึงยอมรับว่า "ไม่มีความเห็นใดผิดทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด" ความเห็นใดๆ ที่สะท้อนชุดความรู้ชุดใดชุดหนึ่งของมนุษยชาติ ย่อมมีความจริง-ความถูกต้องดำรงอยู่เสมอ เพียงแต่แค่บางส่วนไม่ทั้งหมดเท่านั้น (ถูกเฉพาะจากมุมมองของตัวเองเท่านั้น แต่ยังไม่ถูกทั้งหมด)


แนวทางแบบบูรณาการจึงสำคัญมากในยุคนี้ อันเป็นยุคที่ความต่างทางความเห็น ความเชื่อรุนแรงจนแทบสุดขั้ว เพราะ มีแต่แนวทางนี้เท่านั้น ที่จะสถาปนา อหิงสาธรรม และสันติประชาธรรมให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้