"ประชานิยม" ในทักษิโณมิกส์
"ความล้มเหลวทางการเมืองของอาร์เจนตินา ถ้าศึกษาให้ลึกจะเห็นว่าเกิดจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดพลาดติดต่อกันหลายๆ ปี มุ่งผลประโยชน์การเมืองจนเสียหลักการของเศรษฐศาสตร์ โดยการใช้นโยบายประชานิยม (Populism) บวกกับนโยบายชาตินิยมและระบบอำนาจนิยม จนทำให้อาร์เจนตินาต้องกลายสภาพจากการเป็นประเทศที่ร่ำรวยและรุ่งเรืองที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง มาเป็นประเทศที่อ่อนแออย่างไม่น่าเชื่อ"
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี "สาเหตุแห่งความหายนะที่ยั่งยืนของอาร์เจนตินา" (2546)
ประชานิยม (populism) เป็นอุดมการณ์และแนวทางทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในรัสเซีย (ที่เรียกกันว่า ขบวนการนารอดนิก) อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ "ประชานิยม" ที่อิงอยู่กับฐานชาวนาจนนี้จัดได้ว่าเป็นอุดมการณ์และแนวทางทางการเมืองที่แพร่หลายที่สุดในโลกที่สาม ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะในจีนแดงสมัยเหมาเจ๋อตุง (การปฏิวัติวัฒนธรรม, แนวทางมวลชน) หรือแถบละตินอเมริกา ซึ่งผลของแนวทางทางการเมืองแบบประชานิยมนี้ ไม่ว่าจะนำไปใช้ในภูมิภาคไหน ล้วนมีจุดจบเหมือนกันคือ ความล้มเหลวทั้งในการพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจ
จึงแทบไม่เป็นการกล่าวเกินเลยว่า แนวทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชานิยมคือ ฝันร้ายของนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ทั่วโลก
ฝันร้ายในความหมายที่ว่า เหตุใดและทำไม อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชานิยมที่แนวคิดเข้าท่าดี มีความหวังดีต่อคนยากคนจน และต่อให้ทุ่มเทนำไปปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่น จึงล้มเหลวไม่เป็นท่า ทุกที่โดยไม่มีข้อยกเว้น?
ทำไมแค่ความพยายามทางอัตวิสัย (ลัทธิอัตวิสัย) ของมนุษย์ จึงไม่สามารถสรรค์สร้างหรือเนรมิตระบอบสังคมเศรษฐกิจในเชิงอุดมคติขึ้นมาได้?
จึงไม่น่าแปลกใจที่นักวิชาการส่วนใหญ่ จึงมีท่าทีในเชิงลบต่อประชานิยม เพราะในโลกของวิชาการ ประชานิยมมีความหมายเชิงลบมากกว่าเชิงบวกนั่นเอง
ทักษิโณมิกส์ที่ผลักดันนโยบายประชานิยมจะเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ หรือว่าจะตกในหลุมพรางกับดักของประชานิยม เช่นเดียวกับท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในอดีตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตุงหรือนายพลเปรอง?
นี่เป็นประเด็นปัญหาทางวิชาการที่สำคัญมากในการตรวจสอบทักษิโณมิกส์อย่างรอบด้าน ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย
ประชานิยมหมายถึง นโยบายที่สนับสนุนประชาชนคนยากคนจน เพื่อมุ่งหวังความนิยม โดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์รองรับเสมอไป และไม่จำเป็นต้องเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศในขณะนั้นด้วยประชานิยมมีความหลากหลายในรูปแบบที่ปรากฏ แต่ก็มีลักษณะร่วมกันตรงที่เป็นนโยบายที่มุ่งเอาอกเอาใจประชาชน แต่ผลสำเร็จที่เป็นประโยชน์กลับตกแก่ตัวผู้นำที่เอานโยบายประชานิยมไปใช้มากกว่าตัวประชาชนเอง โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า
นโยบายประชานิยม ต่อให้เป็นการเคลื่อนไหวจากประชาชนคนชั้นล่างเอง ก็ยังล้มเหลวมาแล้ว ยิ่งถ้าเป็นการจัดตั้งจากรัฐหรือเป็นแค่การจัดสวัสดิการจากรัฐบาลที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้รัฐต้องเข้าไปช่วยใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเพิ่มอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศ และมีเหตุผลทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลด้วยแล้ว ก็จะยิ่งล้มเหลวหนักขึ้นและสร้างปัญหาหนักหน่วงตามมาอีกมากมาย
ยกตัวอย่างเช่น ภาคสังคมจะอ่อนแอยิ่งขึ้น ขณะที่ภาครัฐและเข้มแข็งเกินไป ขาดการคานอำนาจที่เหมาะสม และขาดการเข้ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน ซึ่งเป็นแค่ผู้รับสวัสดิการจากภาครัฐเท่านั้น ไม่แต่เท่านั้น นโยบายประชานิยมยังอาจไปบ่อนทำลายประชาธิปไตยทางอ้อม เพราะพลังแห่งปัจเจกที่ยืนหยัด พึ่งตนเองได้ และตระหนักในคุณค่าแห่งเสรีภาพของการวิพากษ์วิจารณ์จะถูกบั่นทอนลง ภายใต้บรรยากาศแห่งการ "มอมเมา" ประชาชนด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ภาครัฐใช้นโยบายประชานิยมเข้าล่อ นอกจากนี้ วงจรของประชานิยมยังก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ชนิดใหม่ขึ้นมา นั่นคือในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ แต่ละพรรคการเมืองจะแห่กันคิดค้นนโยบายประชานิยมใหม่ๆ ขึ้นมาหาเสียงเอาใจประชาชน โดยไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแท้จริง
ยิ่งหากประชานิยมเป็นแบบประเภทที่เน้นสไตล์หรือบุคลิกท่าทางของผู้นำมากกว่าเนื้อหาสาระเชิงทฤษฎีและนโยบาย ด้านลบของประชานิยมก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ผู้นำแบบประชานิยมที่พูดเก่ง มีบารมี และชอบให้สัญญาไม่หยุดว่า ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นตามที่ปรารถนา โดยที่ไม่ได้เป็นผลจากการมีวินัย ประหยัด ทำงานหนัก คร่ำเคร่งกับการศึกษา ค้นคว้าพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องของตัวประชาชนเอง แต่ขึ้นอยู่กับความหวังลมๆ แล้งๆ แบบ "ฟองสบู่" ที่เป็นความคาดหวังในแง่ดีต่ออนาคตแบบรวมหมู่ (อุปทานรวมหมู่) ของประชาชนทั้งประเทศ คือ ประชานิยมที่เสี่ยงต่อความหายนะมากที่สุด ซึ่งจะโทษผู้นำฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องโทษสื่อมวลชนที่เออออห่อหมก ต้องโทษ ปัญญาชนอิสระที่ขาดพลังในการออกมาทัดทาน ต้องโทษเทคโนแครตที่ไม่กล้าออกมาพูดความจริง และต้องโทษประชาชนส่วนใหญ่ที่งอมืองอเท้าไม่ยอมพึ่งตนเอง
ประชานิยมมีแง่ดีเพียงประการเดียวคือ ทำให้คนจนมีพื้นที่ทางการเมือง เนื่องจากได้รับความสนใจและมีความหมายในสังคมมากขึ้น เพราะประชานิยมเป็นการเล่นการเมือง โดยใช้คนจนเป็นฐานอำนาจ แต่ก็มีผลเสียอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วคือ มันเป็นการสร้างจิตสำนึกจอมปลอม และขาดความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การพังทลายของระบบเศรษฐกิจมหภาคในที่สุด
คำถามทางวิชาการที่เราต้องตั้งต่อไปก็คือ นโยบายของรัฐบาลทักษิณเป็นประชานิยมแบบไหน และผลของการดำเนินนโยบายจะเป็นอย่างไร?
กล่าวโดยสรุป "ประชานิยม" ของทักษิโณมิกส์ต่างกับประชานิยมยุคคลาสสิกในละตินอเมริกา ตรงที่มิได้ดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างโง่เขลาจนถึงกับใช้เงินสำรองของประเทศจำนวนมากจนหมดสิ้นภายในเวลา 1 ปีเศษ อย่างของรัฐบาลเปรองของอาร์เจนตินา ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ประชานิยมของทักษิโณมิกส์กลับเป็นการใช้นโยบายประชานิยมแบบ "นำร่อง" ที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็น "สินค้า" ทำให้ชาวนาหมดสิ้นความเป็นชาวนาที่ยังชีพได้ตัวเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็นปัจเจกที่หลุดจากพันธะชุมชน ปัจเจกที่ต้องลงสนามแข่งขันและเสี่ยงในตลาด ปัจเจกที่ฝักใฝ่กับ "บริโภคนิยม" มากยิ่งขึ้น และเสี่ยงกับการมีหนี้สินที่เกิดจากการถูกกระตุ้นให้บริโภคอย่างเกินตัว
พูดง่ายๆ ก็คือ "ประชานิยม" ของทักษิโณมิกส์ มิใช่ประชานิยมที่จะนำไปสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจแบบอาร์เจนตินา แต่เป็นประชานิยมที่รับใช้ตรรกะแห่งเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างเต็มตัว
เพราะฉะนั้น ถ้าจะวิพากษ์ทักษิโณมิกส์จึงต้องวิพากษ์ในเชิงระบบทุนนิยม ถึงจะตรงประเด็น มิใช่วิพากษ์ในเชิงประชานิยมคลาสสิก ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของทักษิโณมิกส์ เพราะเม็ดเงินที่รัฐบาลทักษิณใช้ไปเพื่อเอาใจประชาชนแบบ "ประชานิยม" นั้นเทียบไม่ได้เลยกับเม็ดเงินที่ใช้ไปเพื่อผลักดันปฏิรูประบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยให้กลายเป็นทุนนิยมเต็มรูป (อย่างในกรณีของระบบขนส่ง)
อย่างไรก็ดี แม้ในการดำเนินนโยบายแบบ "ประชานิยม" ของทักษิโณมิกส์เอง ก็มีข้อพึงระวังหลายประการที่ควรคำนึงให้มากดังต่อไปนี้
(1) หากรัฐบาลจะผลักดันนโยบาย "ประชานิยม" ต่อไป รัฐจะต้องคำนึงเรื่องรายรับควบไปกับรายจ่าย มิฉะนั้นรัฐจะไม่สามารถช่วยคนจนได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากขาดเงินงบประมาณ
(2) การใช้เงินของรัฐ ควรมีลักษณะเป็นสวัสดิการให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชาชนที่โชคร้ายได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ตนเองไม่ได้กระทำเป็นหลัก มากกว่าเป็นการหว่านเงินแบบเบี้ยหัวแตก
(3) ต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาดมากเกินไป เช่น บิดเบือนราคาสินค้าเพื่อหวังผลประโยชน์ทางด้านคะแนนเสียงเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว
(4) การช่วยคนจนในหลายๆ ด้าน สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เช่น การส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ทำสมาธิโดยไม่คิดพึ่งยาพึ่งหมอเป็นหลัก การส่งเสริมให้ปัญญาความรู้ รักการอ่านหนังสือ การกระตุ้นจิตสำนึกเชิงคุณธรรมศีลธรรม ฯลฯ
(5) การใช้นโยบายประชานิยมต้องมีความโปร่งใส และไม่ควรเน้นการสร้างภาพ ซึ่งเป็นการปลูกฝังความเชื่อผิดๆ แก่ประชาชน
(6) ต้องเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาดในการหยุดใช้นโยบายประชานิยมในเวลาอันสมควร เพื่อมิให้ประชาชนหลง "เสพติด" ในประชานิยม