"อำนาจ" ในทักษิโณมิกส์
"อำนาจในการควบคุมกระแสเงินทรงพลังยิ่งกว่าอำนาจในการออกกฎหมาย"
คมวาทะของธนราชันย์แห่งยุโรป ในศตวรรษที่ 19
อำนาจมีที่มาได้จาก "ความรุนแรง" "เงิน" และ "ความรู้" ก็จริงอยู่ แต่ถ้าดูวิวัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะพบว่า การมีอำนาจในการควบคุมกระแสของเงินตราที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ คือต้นตอของการมีอำนาจที่แท้จริง อำนาจที่ครอบงำ ควบคุม เหนือ "ความรุนแรง" อีกทีหนึ่ง และเป็นอำนาจที่อาจก่อให้เกิดการสร้าง "ความรู้" ใหม่ก็ได้ด้วย ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ขณะนี้ ทักษิโณมิกส์กำลังพยายามสถาปนา "อำนาจที่แท้จริง" ในการบริหารประเทศนี้อยู่อย่างเอาจริงเอาจัง กว่ารัฐบาลใดๆ ที่ผ่านมา
หากเปรียบ พลวัตของกระแสเงินตรา เหมือนกับกระแสไฟฟ้า เราจะพบว่า ปัจจัยที่กำหนดพลังและความเร็วในการไหลเวียนของกระแสเงินตราในระบบมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ
(1) ระดับความคล่องตัวของ "สินเชื่อ" ธนบัตรความจริงเป็นเครดิตหรือสินเชื่ออย่างหนึ่งที่รัฐบาลผู้พิมพ์ธนบัตรเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น ธนบัตรเหล่านี้ หากผู้ครอบครองถือไว้เฉยๆ จะไม่เกิดการไหลเวียนของเงินต่อเมื่อมีผู้นำธนบัตรนี้ไปใช้จับจ่ายซื้อของ เงินในรูปของธนบัตรจึงจะเกิดการไหลเวียน ต่อให้เป็นการซื้อของด้วยเครดิตหรือสินเชื่อ ก็จะเกิดการไหลเวียนของเงิน (ที่เป็นตัวเลขบัญชี แต่ไม่ใช่ธนบัตร) เช่นกัน เพราะฉะนั้น ระดับความคล่องตัวในการมีสินเชื่อหรือเครดิต จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดพลวัตทางเศรษฐกิจ (กระแสเงิน) ในระบบทุนนิยม
(2) แรงต้านในการบริโภค สินค้าที่คนอยากได้ เมื่อซื้อสินค้านั้นไปครอบครองหรือบริโภค พลวัตของเงินถูกแปลงไปอยู่ในตัวสินค้านั้น หรือถูกดูดซับไปด้วยสินค้านั้น ทำให้ความอยากในการซื้อหรือบริโภคลดลงหรือหมดไป (อย่างน้อยชั่วคราว) จึงกลายมาเป็นแรงต้านต่อการไหลของเงิน ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่มีราคาแพงมากอย่างรถยนต์ หรือที่อยู่อาศัยนั้น หากได้ซื้อไปทีหนึ่งแล้วกว่าจะซื้อใหม่อีกครั้งจะกินเวลาพักใหญ่ เพราะฉะนั้น สินค้าคงทนที่มีราคาแพงเหล่านี้ ยิ่งแพงมากเท่าไหร่ แรงต้านต่อการไหลของเงินก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม สินค้าที่ต้องบริโภคทุกวันและราคาถูก แรงต้านต่อการไหลของเงินก็จะน้อยตามลงด้วย และหากเป็นสินค้าเสพติดอย่าง สุรา ยาเสพติด และ "เซ็กซ์ที่ซื้อขายได้" ซึ่งเสพเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ กระแสไหลเวียนของเงินในสินค้าเหล่านี้จะแทบไม่ตกลงเลยเพราะแรงต้านต่อการไหลของเงินมีน้อยกว่าสินค้าชนิดอื่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ระบบทุนนิยมวิตกมากที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้คน "อิ่มตัว" ต่อการบริโภคแล้ว คือมีของที่อยากได้หมดแล้ว แม้มีเงินแต่ก็ไม่ค่อยอยากซื้ออะไรแล้ว ซึ่งจะทำให้พลวัตของกระแสเงินเสื่อมถอยทันที เพราะแรงต้านต่อการไหลของกระแสเงินที่ทรงพลังที่สุด คือ การหมดความอยากในการบริโภค หรือการมีปัญญามองทะลุในตัวตนของลัทธิบริโภคนิยม ด้วยเหตุนี้เอง การโฆษณาและการตลาดในฐานะที่เป็นเครื่องมือกระตุ้นความอยากในการบริโภคของผู้คน จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการรักษาพลวัตทางเศรษฐกิจหรือกระแสเงิน
(3) ระดับความหนักแน่นมั่นคงในจิตใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ สังคมใดที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความหนักแน่นมั่นคงในจิตใจ คือไม่หวั่นไหวคล้อยตามไปกับ ปรากฏการณ์ที่กระแสเงินไหลเวียนขึ้นลงอย่างรวดเร็ว (เช่น ช่วงตลาดหุ้นถูกปั่นให้ "บูม") เสถียรภาพแห่งกระแสเงินของสังคมนั้น ย่อมมีมากกว่าสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพวก "ตื่นทอง" และ "กระต่ายตื่นตูม"
หากเข้าใจปัจจัย 3 ปัจจัยข้างต้นที่เป็นตัวกำหนดพลวัตของกระแสเงิน ซึ่งมาเป็นตัวกำหนด พลวัตทางเศรษฐกิจอีกทีหนึ่งดังนี้แล้ว เราจะได้ข้อสังเกตว่า
ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงของกระแสไหลเวียนของเงิน ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาของผู้คน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในที่สุด
ความสำเร็จ "เฉพาะหน้า" ของทักษิโณมิกส์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตฟองสบู่แตกให้กลับมาผงาดได้อีกครั้ง จึงแยกไม่ออกจากปฏิบัติการเชิง "บูรณาการ" ที่นายกฯ ทักษิณได้กระทำต่อคนไทยและสังคมไทย 3 ด้าน พร้อมๆ กันมาโดยตลอด นั่นคือ ด้านที่หนึ่ง เพิ่มระดับความคล่องตัวของ "สินเชื่อ" ในระบบด้วยการที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเอง เพื่อกระตุ้นกระแสไหลเวียนของเงินในระบบ โดยผ่านโครงการต่างๆ จำนวนมาก ทั้งโครงการในเชิงประชานิยม และโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ด้านที่สอง ปลดล็อกแรงต้านในการบริโภคของประชาชน ด้วยการสร้างความมั่นใจในอนาคตให้แก่ประชาชน ให้ความหวังแก่ประชาชน โดยผ่านการนำเชิงวิสัยทัศน์ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความอยากในการบริโภคสินค้าคงทนของประชาชน ได้ถูกกระตุ้นให้ฟื้นตัวอย่างคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง
ด้านที่สาม สร้างสภาวะ "ฟองสบู่ที่คิดว่าจะควบคุมได้" ขึ้นมาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้คนที่เข้าร่วมในกิจกรรมเก็งกำไรทางเศรษฐกิจ เนื่องเพราะกิจกรรมเก็งกำไรสามารถเพิ่มความเร็วและความแรงของพลวัตของกระแสเงินได้ทันควันที่สุด เมื่อเทียบกับกิจกรรมการผลิตในภาคเศรษฐกิจจริง
ผลพวงจาก "ความสำเร็จเฉพาะหน้า" ของทักษิโณมิกส์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมามีพลวัตได้อีกครั้งหนึ่งนี้คือ ระดับความเบ็ดเสร็จที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเชิงอำนาจและในเชิงอิทธิพลที่ระบอบทักษิณมีต่อประชาชนในประเทศนี้
อำนาจเบ็ดเสร็จที่เพิ่มพูนขึ้นมากมายในระบอบทักษิณนี้เกินกว่าอำนาจจากการเลือกตั้งหรืออำนาจเงิน หรืออำนาจจากอิทธิพลความคิดที่เคยแยกกันอยู่อย่างโดดๆ แต่ภายใต้ระบอบทักษิณนี้อำนาจต่างๆ ที่เคยแยกกันอยู่อย่างโดดๆ เริ่มถูกบูรณาการผนึกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว อำนาจทางการเมืองกับอำนาจเงิน และอำนาจทางความคิด ที่กระจุกตัวอยู่ในผู้นำอย่างนายกฯ ทักษิณ ได้เปิดโอกาสทางประวัติศาสตร์ให้แก่ ผู้นำคนนี้อย่างที่ไม่มีผู้นำคนไหนในโลกนี้ขณะนี้จะมีโอกาสมากเท่าตัวเขาอีกแล้ว ในการออกแบบดีไซน์ประเทศนี้ใหม่ทั้งหมด ในการปรับรื้อโครงสร้างระบบของประเทศนี้ใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการวางรากฐานแห่งอนาคตที่มีความหวังให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง
นั่นขึ้นอยู่กับว่า นายกฯ ทักษิณจะใช้ "อำนาจ" นี้อย่างไร? จะใช้มันเพื่อแค่เป้าหมายระดับมนุษย์ปุถุชน หรือเพื่อเป้าหมายที่สูงส่งกว่านั้นที่สามารถ "ข้ามพ้นตัวตน" อันเป็นเป้าหมายระดับ "ฟ้า" ด้วย
แม้ในขณะนี้ ทักษิโณมิกส์บนวิถีแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็ยังให้คำตอบที่กระจ่างชัดแก่คำถามข้อนี้ไม่ได้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอคำตอบต่อคำถามนี้จะกระจ่างชัดออกมาเรื่อยๆ บางทีคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวที่สุดของนายกฯ ทักษิณในขณะนี้ อาจเป็นตัวของเขาเอง หรือ ด้านมืด ในตัวเขาเอง (คนเราทุกคนมี ด้านมืด กันทุกคน) ก็เป็นได้