ระดับจิตของทักษิโณมิกส์ จากมุมมองของทฤษฎี "เกลียวพลวัต"
เราได้ตรวจสอบ ประเภท (type) ของการนำในทักษิโณมิกส์ไปแล้ว คราวนี้ เราจะมาตรวจสอบ ระดับ (level) ของการนำในทักษิโณมิกส์กันบ้าง โดยใช้ทฤษฎี เกลียวพลวัต (spiral dynamic) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับคำอธิบายแบบ "จิตวิทยาบูรณาการ" (integral psychology) โดยที่เนื้อหานั้นเหมือนกัน
ทฤษฎี "เกลียวพลวัต" เป็นโมเดลวิวัฒนาการระดับจิตของมนุษย์ ที่ได้รับการยกย่องว่า เทียบเคียงได้กับงานชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่อย่าง Human Genome Project โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น Human Consciousness Project
ตามโมเดล "เกลียวพลวัต" นี้ ผู้บุกเบิกคนแรก คือ แกลร์ เกรฟส์ (Glare Graves) ที่ได้ทำการทดสอบ วิจัยรูปแบบพัฒนาของจิตมนุษย์กับคนจำนวนห้าหมื่นคนทั่วโลก แล้วไม่พบข้อขัดแย้งสำคัญแม้แต่กรณีเดียว ต่อมา ดอน แบ็ก (Don Back) และคริสโตเฟอร์ โควาน (Christopher Cowan) ได้นำโมเดลนี้มาปรับปรุง ทดสอบใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้เป็นผลสำเร็จ โดยทำการแบ่งระดับจิตของมนุษย์ออกเป็น 9 ระดับ แล้วใช้สีเก้าสีเป็นตัวแทนระดับจิตของมนุษย์ ซึ่งมีระดับต่างกัน ปรัชญาของการใช้สีแทนระดับจิต ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า "มีม" (meme) อันหมายถึง ระบบค่านิยมหลัก ที่กำหนดพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั้น มุ่งที่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า คนเรานั้น แตกต่างกันที่ภายในหรือที่ระดับจิต ไม่ใช่ที่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ตำแหน่ง หรือสีผิว นอกจากนี้ โมเดล "เกลียวพลวัต" ยังจำแนกระดับจิตทั้ง 9 ของเกลียวพลวัตออกเป็น สอง "ชั้น" (tier) ใหญ่ๆ โดย 6 ระดับแรกเป็น ชั้นที่หนึ่ง (first-tier thinking) อันเป็นระดับจิตแบบยังคิดเรื่องของตัวเองเป็นหลัก (subsistence levels) ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความอยู่รอดในเชิงปัจจัย 4 ความอยู่รอดทางธุรกิจของตนเอง หรือความอยู่รอดทางการเมืองของตนก็ตาม เพราะฉะนั้น จิตของคนใน 6 ระดับแรกนี้จึงมักขัดแย้งปะทะทางความคิดกันเสมอ เพราะต่างก็ยังยึดมั่นในตัวกู ของกูอยู่
ส่วนชั้นที่สอง (Second-tier thinking) ซึ่งมี 3 ระดับ (ระดับที่ 7-8-9) เป็นระดับจิตที่เริ่มข้ามพ้นตัวตน (transpersonal) สามารถพัฒนาภายในจิตใจได้อย่างเป็นองค์รวม และรอบด้าน (entire spectrum of interior development)
ระดับจิตทั้ง 9 หรือ แถบสีทางจิต (มีม) ทั้ง 9 มีรายละเอียดดังนี้
(1) มีมสีเบจ (Beige) เป็นจิตระดับสัญชาตญาณดั้งเดิม ที่มุ่งต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตให้รอด จิตจะคำนึงแต่การหาอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม และความปลอดภัยเป็นหลัก
มีมสีเบจ เป็นระดับจิตของฝูงชนที่อดอยาก ของผู้คนที่อยู่ระหว่างความตื่นตระหนกกับการสู้รบในสงคราม ของเด็กเกิดใหม่ ของคนชรา ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 0% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 0.1%
(2) มีมสีม่วง เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในไสยศาสตร์อย่างงมงาย เป็นระดับจิตที่โน้มเอียงในการมองทุกอย่างเป็นขาวกับดำอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นดี-เลว เทพ-มาร จิตของคนระดับนี้ยังเชื่อในเรื่องคำสาปแช่ง โชคลาง และวิญญาณของบรรพบุรุษ มีความผูกพันแบบชนเผ่า
ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีม่วงนี้ เห็นได้ในกลุ่มที่เชื่อในพิธีกรรมไสยศาสตร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น พวกพ่อมด หมอผี ซึ่งพบมากในโลกที่สาม พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 1% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 1%
(3) มีมสีแดง เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในอำนาจของเทพเจ้า (power Gods) มุ่งหวังการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เต็มไปด้วยแรงผลักดัน หลงใหลในความเป็นฮีโร่ ชอบแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังความรุนแรง เป็นโลกทัศน์ของคนที่เห็นว่า ชีวิตคือการต่อสู้เพื่อเอาชนะ ชิงไหวชิงพริบ หาความสุขทางผัสสะ (ทางกาย) อย่างสุดฤทธิ์ โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่สนใจเรื่องของอนาคต
ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีแดง เห็นได้ในพวกวัยรุ่นที่ชอบตีกัน นักพนัน พวกที่หลงใหลฮีโร่ นักกีฬา พวกคลั่งดารานักร้อง พวกนิยมพระเอกอย่าง เจมส์ บอนด์ หรือขุนแผน พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 5% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 20%
(4) มีมสีน้ำเงิน เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในเรื่องระเบียบวินัย กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามระเบียบ ธรรมเนียม กฎหมายที่สังคมวางไว้ให้โดยไม่ตั้งคำถาม มีความรู้สึกรักชาติ ยึดถือความถูกต้องตามคัมภีร์ตำราเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างเหนียวแน่น และไม่สามารถยอมรับวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากนั้นได้ เป็นจิตของคนระดับที่สามารถอุทิศชีวิตให้กับอุดมการณ์ความเชื่อของตนได้
ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีน้ำเงิน เห็นได้ในกลุ่มรักชาติ กลุ่มลูกเสือ พวกอำนาจนิยม พวกเชื่อในลัทธิศาสนาแบบสุดโต่ง (fundamentalist) และพวกที่เชื่อในเรื่องการจัดระเบียบสังคมอย่างเข้มงวด รวมทั้งพวกที่ยึดติดในขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเหนียวแน่น พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้ คือ 30% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 40%
(5) มีมสีส้ม เป็นระดับจิตที่เชื่อในความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ (scientific achievement) มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ยึดติดกับความเชื่อเป็นกลุ่ม (herd mentality) อย่างพวกมีมสีน้ำเงิน ชอบค้นหาความจริงด้วยตัวเอง ชอบตั้งสมมติฐาน หาคำตอบด้วยระบบเหตุผล และการทดลอง คิดแบบภววิสัย มองโลกแบบวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
เป็นระดับจิตของคนที่เน้นมุ่งไปที่ความสำเร็จภายนอก เพื่อได้มาซึ่งความสุขทางวัตถุ เป็นผู้ที่มุ่งใช้การบริหารการจัดการตามหลักวิชาการและวิทยาศาสตร์ในการกำหนดเศรษฐกิจ การเมือง และสภาวะของมนุษย์
เป็นระดับจิตของคนที่มองว่า โลกนี้คือกระดานหมากรุกสำหรับการเล่นแข่งขัน ชีวิตคือเกมการแข่งขันที่ผู้ชนะเป็นฝ่ายได้ และผู้แพ้เป็นฝ่ายเสีย เป็นจิตของคนที่หมกมุ่นแต่เรื่องกลยุทธ์ และชอบแสวงหาความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบรัฐบรรษัท (corporatist state)
ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีส้มเห็นได้ในภาคเอกชน พวกล่าความสำเร็จ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการเงิน นักการตลาด นักล่าอาณานิคม เป็นต้น พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 40% (มากที่สุดในขณะนี้) ขณะที่ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 30% และมีแนวโน้มมากขึ้นโดยกำลังค่อยๆ เข้ามาแทนที่กลุ่มมีมสีน้ำเงิน ซึ่งมีแนวโน้มลดลง
(6) มีมสีเขียว เป็นระดับจิตที่ใส่ใจในเรื่องความมีน้ำใจ ชุมชน ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ต้องการเห็นความผูกพันสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ต้องการให้มีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย คนระดับจิตนี้เห็นว่า การเติบโตทางจิตวิญญาณหมายถึงการพ้นไปจากความโลภ และการแบ่งพรรคแบ่งพวก
เป็นระดับจิตของคนที่ใช้หัวใจตัดสินใจมากกว่าใช้สมอง ต่อต้านโครงสร้างอำนาจการควบคุมและครอบงำ ใช้ความรู้สึกตัดสินการเลือกมีความสัมพันธ์ เชื่อมั่นการตัดสินปัญหาโดยใช้ประชามติและการเจรจา ยอมรับค่านิยมที่หลากหลายและแตกต่าง จึงเป็นพวกสัมพัทธ์นิยมแบบพหุนิยม (pluralistic relativism) ซึ่งไม่เชื่อว่ามีความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีเขียว เห็นได้ในพวกโพสต์โมเดิร์น หรือพวกหลังสมัยใหม่ พวกนิยมนิเวศวิทยาแนวลึก กลุ่มกรีนพีซ กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่นิยมงานของฟูโกลต์และแดริดา (Foucault and Derida) พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 15% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 5%
(7) มีมสีเหลือง เป็นระดับจิตแบบบูรณาการ (integrative) ที่มองเห็นความเชื่อมโยงของโลก จิต (mind) และธรรมจิต (Spirit) ตระหนักถึงกระบวนการอันยิ่งใหญ่ของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบสิ้น และสนองตอบต่อชีวิตอย่างเป็นไปเอง (spontaneity) อย่างเป็นธรรมชาติ จึงสามารถดำเนินชีวิตอย่างลื่นไหลดุจสายน้ำ
เป็นระดับจิตที่สามารถบูรณาการความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน เชื่อในเรื่องพลังปัญญาญาณ และความสามารถภายในตนเองว่า มีความสำคัญยิ่งกว่าการได้มาซึ่งอำนาจ ลาภยศสรรเสริญทั้งปวง พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 5% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 1%
(8) มีมสีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) เป็นจิตแบบองค์รวม (holistic) ที่สามารถผสานความรู้สึกและความรู้เข้าด้วยกัน สามารถใช้ความสมานฉันท์ของทุกระดับจิต สามารถใช้ปฏิสัมพันธ์ของจิตระดับต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เริ่มมีความเข้าใจเชิงรหัสนัย (mystic) และญาณ ทัศนะพลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 1% ทั่วโลกมีประชากรในระดับนี้ราวๆ 0.1%
(9) มีมสีคอรอล (Coral) เป็นจิตแบบองค์รวมบูรณา (integral and holistic) ที่พัฒนาต่อจากมีมสีเทอร์ควอยส์ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างช้า ก่อนอื่นต้องขอย้ำว่า มีมแต่ละสีล้วนมีด้านที่เป็นประโยชน์ในตัวของมันเอง และมีมสีระดับที่สูงกว่าย่อม "ก้าวข้ามและหลอมรวม" มีมสีระดับที่ต่ำกว่าเอาไว้ในตัวเอง
คนเราจำเป็นและสามารถใช้มีมแต่ละประเภทที่ตนเองบรรลุถึง ไปจัดการกับสถานการณ์ที่หลากหลายของชีวิตได้ เช่น ในสถานการณ์ที่ต้องเอาชีวิตรอดในยามคับขันเสี่ยงภัย เราอาจต้องใช้มีมสีแดง ในยามเจรจาตกลงทางธุรกิจ เราคงต้องใช้มีมสีส้ม ในยามบ้านเมืองวุ่นวาย เราคงต้องปลุกมีมสีน้ำเงินให้สำแดงบทบาทจัดระเบียบสังคม แต่ในยามคบหากับคนรักและเพื่อนสนิท ควรต้องใช้มีมสีเขียว (ถ้าหากคนผู้นั้น พัฒนาระดับจิตไปได้ถึงจนมีมสีนั้นเป็นคุณสมบัติหลักประจำตัวของคนผู้นั้น)
จะเห็นได้ว่า คนที่มีระดับมีมที่สูงกว่า (ระดับจิตที่สูงกว่า) จะเปล่งศักยภาพในการดำเนินชีวิตได้มากกว่าคนที่มีระดับมีมต่ำกว่าเสมอ
ปัญหานั้นอยู่ที่มีมในชั้นที่หนึ่ง (ระดับที่ 1 ถึงระดับที่ 6) ไม่สามารถที่จะเข้าใจโลกทัศน์ของมีมสีอื่นได้อย่างแท้จริง และต่อให้เป็นมีมสีส้มเดียวกันก็ยังอาจมีจุดยืนที่ต่างกันได้ เช่น พวกที่เลื่อมใสสังคมนิยมแบบมาร์กซ์ กับพวกที่เลื่อมใสทุนนิยม ความจริงต่างก็เป็นมีมสีส้มระดับเดียวกัน
พวกมีมสีน้ำเงินอาจไม่ยอมรับมีมสีส้ม โดยมองว่าพวกนี้เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน ขณะที่พวกมีมสีส้มเองก็มองพวกมีมสีน้ำเงินว่าไม่รักความก้าวหน้า ล้าหลัง ไม่ทันโลก และมองพวกมีมสีเขียวว่า เป็นแค่พวกเอ็นจีโอกวนเมืองที่ชอบทำให้รถติด พวกมีมสีต่างๆ ในชั้นที่หนึ่งยิ่งไม่เข้าใจพวกมีมในชั้นที่สอง ที่ยอมรับเรื่องของจิตวิญญาณ โดยมองว่าเป็นพวกมีมสีม่วงหรือมีมสีแดงที่งมงาย ซึ่งความจริงนั้นไม่ใช่
ระดับการวิวัฒนการของจิตจะเป็นไปตามตารางข้างล่างนี้
องค์ประกอบปัจจัยหลักที่สามารถช่วยให้บุคคลมีพัฒนาการยกระดับจิตใจ คือ ความอิ่มเต็ม ความคลาย ความแจ้งกระจ่างใจ และการเปิดใจกว้าง สี่องค์ประกอบนี้สามารถทำงานจากระดับมีมสีใดก็ได้ จนกระทั่งผู้นั้นเริ่มรู้สึกอิ่มเต็มกับบุคลิกภาพ วิถีชีวิต และความเป็นคนประเภทนั้นของตัวเอง จนเริ่มเข้าใจและเห็นข้อจำกัดจุดอ่อนของโลกทัศน์ ความเชื่อ ค่านิยมที่ตัวเองมีอยู่ในระดับมีมสีนั้น จนเริ่มคิดมองหาชุดความจริงใหม่ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม จึงเริ่มเบื่อหน่าย เริ่มคลายจากความยึดติดในวิธีคิดแบบเดิมที่ไม่สามารถอธิบายความจริงได้ครอบคลุมทุกด้าน
ความพยายามหาคำตอบใหม่ๆ อาจทำให้ได้รับความกระจ่างแจ้งขึ้นมาเอง บางครั้งก็ได้มาจากการเสวนา การอ่านหนังสือดีๆ การบำบัด การทำสมาธิ การออกกำลังกายแบบตะวันออก และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งใจเปิดกว้างยอมรับจนสามารถก้าวเข้าสู่ระดับจิตที่ลึกกว่าเดิมได้
****************
ถ้าผู้อ่านอ่านข้อเขียนนี้มาถึงตรงนี้ คงพอได้คำตอบแล้วกระมังว่า ระดับจิตของทักษิโณมิกส์ เมื่อดูจากชื่อหนังสือภาษาอังกฤษที่นายกฯ ทักษิณแนะนำให้คนไทยอ่านในช่วง 3 ปีมานี้ คือระดับมีมสีใด?
ถูกต้องแล้ว ใช่แล้วว่าคือ ระดับมีมสีส้ม อันเป็นระดับจิตที่มุ่งจะพัฒนาให้กลายเป็นทุนนิยมแบบเต็มตัว อันเป็นมีมสีที่ระดับสูงกว่ามีมสีน้ำเงินของระบบราชการและอดีตนายกฯ ชวน จึงมีความก้าวหน้ากว่า คิดเป็นระบบและเชิงกลยุทธ์มากกว่า แต่ก็ยังไม่ใช่ "บูรณาการ" ที่แท้จริงตามความหมายของมีมสีเหลือง
โครงการเอื้ออาทรของทักษิโณมิกส์ จะมองว่าเป็นนโยบายแบบมีมสีเขียวก็พอมองได้ แต่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบไทยๆ นี้ ดูแล้วจะกลายเป็นนโยบายแบบมีมสีแดง สำหรับคนจนในประเทศนี้ที่เป็นกลุ่มมีมสีแดงที่ต้องการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากผู้มีอำนาจ (และ "สมมติเทพ") มากกว่า
และไม่เป็นเรื่องแปลกใจที่ ทักษิโณมิกส์จะถูกมองด้วยสายตาที่หวาดระแวงจากพวกมีมสีเขียว และปัญญาชนชั้นนำที่เป็นโพสต์โมเดิร์นอย่างอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี แต่ ทักษิโณมิกส์ กลับได้รับการเห็นใจเข้าใจจากคนที่มีระดับจิตแบบมีมสีเหลืองอย่างอาจารย์ประเวศ วะสี ซึ่งแลเห็นด้านที่ก้าวหน้า ด้านที่เป็นบวกของทักษิโณมิกส์ แต่ก็ตระหนักถึงข้อจำกัด และจุดอ่อนของทักษิโณมิกส์ที่คงนำพาประเทศนี้ไปได้ไกลอีกอย่างมากไม่เกิน 5-10 ปี ก่อนที่จะเกิดปัญหารุนแรงปะทุออกมา เพราะทักษิโณมิกส์ขาดภูมิปัญญาในการจัดการ-พัฒนา "ระดับจิต" ของผู้คนที่เป็นมีมสีต่างๆ แต่มีความถนัดในการแข่งขันเพิ่มตัวเลข ดัชนีทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำประเทศนี้ให้พัฒนาแบบยั่งยืนได้